1 ปี ‘วันเฉลิม’ หาย: สืบสวนไม่คืบหน้า ไม่รู้ชะตากรรม แต่พบร่องรอยชีวิตในกัมพูชาเพิ่ม 

ชิ้นข่าวสืบสวนสอบสวนข้ามแดนในวาระหนึ่งปีการหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยชาวไทยในกรุงพนมเปญ แม้ภาครัฐยังไม่ยืนยันว่าเหตุเกิดในกัมพูชา แต่ร่องรอยชีวิตตั้งแต่วันแรกที่กระโดดกำแพงหนีการจับกุมของทหาร ไปจนถึงช่วงสุดท้ายก่อนที่จะถูกลักพาตัวยังคงหลงเหลืออยู่

‘ซก เฮง’

ชื่อภาษากัมพูชาถูกเรียกด้วยน้ำเสียงร่าเริงในคลิปวิดีโอที่ถ่ายเมื่อเดือน ก.พ. 2563 คลิปที่คนถ่ายกำลังถือเบียร์อยู่ในมืออีกข้างจะเห็นว่ามีเพื่อนอีกสองคนนั่งอยู่ริมสระน้ำสีน้ำเงินในอพาร์ทเมนท์แห่งหนึ่งในกรุงพนมเปญ กล้องค่อยๆ หันไปหาซก เฮงที่ยิ้มเบาๆ และพยายามชูสองนิ้วเพื่อปกปิดใบหน้า แต่ก็ยังพอเห็นเสื้อแขนกุดสีแดงและแว่นตากรอบสีดำอยู่บ้าง ก่อนที่วิดีโอความยาว 15 วินาทีจะจบลงด้วยการยกแก้วฉลอง

สี่เดือนหลังจากปาร์ตี้ริมสระน้ำในวิดีโอ แว่นตาคู่นั้นและใบหน้าของซก เฮงไปปรากฏอยู่บนแผ่นป้ายรณรงค์ตามที่ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศไทยนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2563 เพื่อเรียกร้องให้มีการตามหาตัวและชะตากรรมของ ‘ซก เฮง’ หรือที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางกว่าในชื่อ ‘วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 มิ.ย. 2563 วันเฉลิม ขณะนั้นอายุ 37 ปี ได้หายตัวไปขณะที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศกัมพูชา ครอบครัว เพื่อนฝูง องค์กรสิทธิมนุษยชนรวมถึงหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ (UN) อ้างว่าวันเฉลิมถูกลักพาตัวโดยกลุ่มบุคคลติดอาวุธในช่วงเย็นวันดังกล่าวขณะซื้ออาหารอยู่ด้านนอกอาคาร ‘แม่โขงการ์เด้น’ ที่อยู่อาศัยของเขา ที่เดียวกันที่วันเฉลิมฉลองปาร์ตี้ริมสระกันเมื่อเดือน ก.พ. 

ฟุตเทจจากกล้องวงจรปิด กับรถที่คาดว่านำตัววันเฉลิมออกจากพื้นที่แม่โขงการ์เด้นเมื่อ 4 มิ.ย. 2563 เผยแพร่โดยประชาไท

สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิมเล่าว่าเธอกำลังคุยโทรศัพท์กับเขาในขณะเกิดเหตุ และได้ยินวันเฉลิมพูดว่า “โอ๊ย หายใจไม่ออก” ก่อนที่สายจะตัดไป ภาพกล้องวงจรปิดที่เผยแพร่ในวันถัดมาเผยให้เห็นรถยนต์ SUV สีน้ำเงินเข้มยี่ห้อโตโยต้า ไฮแลนเดอร์ ที่คาดว่ามีวันเฉลิมอยู่ด้านใน ปรี่ออกจากแม่โขงการ์เด้น ในฟุตเทจยังเห็นคนอีกสองคนที่คาดว่าน่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่พยายามจะเข้าไปช่วยเหลือแต่ไม่สำเร็จ

“พี่จะนึกเสมอว่า ไอ้ต้าร์ (ชื่อเล่นของวันเฉลิม) หายไปทำไม จะบ่นเสมอ คือหายไปแล้วชีวิตพี่เปลี่ยนเลย” สิตานันกล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์เมื่อเดือน เม.ย.

 "ทุกวันนี้ ถ้าถามว่า ถ้าคุณเป็นผู้ที่สูญเสีย เป็นผู้ที่เสียหาย จะกี่ปีก็ลืมไม่ลง ช่วงที่ผ่านมาพี่ไปสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ บางคน 18 ปี 17 ปี เขาไม่เคยลืม เหมือนพี่อังคณา (นีละไพจิตร) ถามสิ ผู้เสียหายไม่มีใครลืมได้ ถ้าพูดถึงก็ทรมานทุกครั้งที่พูด”

สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ยืนอยู่หน้าคอนโดมิเนียมแม่โขงการ์เด้นในเขตชรอยชางวารของกรุงพนมเปญเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2563 (ชอน จันทร์เร็น/VOD)

ในช่วงปีที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐของไทยและกัมพูชายังไม่ได้มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยหรือเปิดเผยข้อมูลว่าวันเฉลิมอยู่ที่ไหน เมื่อยังไม่ยืนยันว่าเหตุลักพาตัวเกิดขึ้นในแผ่นดินกัมพูชา ทางฝั่งไทยก็ยังไม่สามารถฟันธงว่าสำนักงานอัยการสูงสุด ที่มีหน้าที่รับผิดชอบสืบสวนคดีต่อคนไทยนอกราชอาณาจักรจะต้องรับผิดชอบในเหตุลักพาตัวนี้หรือไม่

สุนัย ผาสุก นักวิจัยอาวุโสขององค์กรฮิวแมนไรท์วอช มองว่าการไม่มีการสืบสวนสอบสวนเช่นนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติเมื่อเกิดการ ‘บังคับให้บุคคลสูญหาย’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยยังไม่ระบุให้เป็นความผิดตามกฎหมาย 

“พวกเจ้าหน้าที่ที่เป็นอันธพาล...จะใช้มันในฐานะเครื่องมือที่ใช้ได้สะดวก เพราะว่าเมื่อไม่เจอตัวคน ก็ไม่เป็นอาชญากรรม คุณไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นเสียชีวิตแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่ จึงยังไม่มีการสืบสวนสอบสวน”

ด้านไชย คิมเขื่อน (Chhay Kim Khoeun) โฆษกตำรวจแห่งชาติกัมพูชาระบุว่า “เราไม่มีหลักฐานหรือพยาน ที่จะบ่งชี้ว่าคดีนี้เกิดขึ้นในกัมพูชา”

นอกจากนั้น ทางการกัมพูชายังไม่ยอมรับหลักฐานต่างๆ ที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะไปแล้วว่าวันเฉลิมได้อาศัยอยู่ในกรุงพนมเปญก่อนที่จะถูกลักพาตัว

หลักฐานที่สำนักข่าวนิวนาราทีฟ ประชาไท และวอยซ์ออฟเดโมเครซีได้รับมา ได้แก่ วิดีโอริมสระน้ำ บัญชีเงินฝากธนาคารในกัมพูชาของวันเฉลิมที่ใช้ชื่อซก เฮง รวมถึงข้อมูลจากปากของเพื่อนและครอบครัว บ่งชี้ว่าหลังจากวันเฉลิมได้หลบหนีออกจากประเทศไทยเมื่อปี 2557 เขาได้ใช้ชีวิตในกรุงพนมเปญอย่างที่ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยคนอื่นเคยได้ใช้และได้มี แต่แม้จะใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงของประเทศเพื่อนบ้านที่นับว่าปลอดภัยกว่าอีกหลายๆ ที่ วันเฉลิมก็รับรู้ถึงการตอบโต้จากทางการไทยที่มีต่อการรณรงค์ทางการเมืองของเขาในเมืองหลวงของประเทศกัมพูชา

แคทเธอรีน เกอร์สัน นักรณรงค์จากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุว่าแรงจูงใจทางการเมืองเป็นปัจจัยหลักในการดำเนินการที่ล้มเหลวอย่างต่อเนื่องจากทางฝั่งรัฐ 

“มีรูปแบบที่น่าตกใจมากๆ ของการที่ผู้เห็นต่างและนักกิจกรรมทางการเมืองชาวไทยถูกบังคับให้สูญหายจากประเทศเพื่อนบ้านพร้อมภาวะลอยนวลพ้นผิดอย่างสมบูรณ์”

ปีนข้ามกำแพงบ้าน สู่เส้นทางผู้ลี้ภัย

ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข แฟนเก่าของวันเฉลิม ที่แม้จะเลิกรากันไปก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ แต่ช่วงเวลาที่ได้อยู่ด้วยกันก็ยาวนานจนถึงขนาดที่เธอสามารถเรียกได้ว่าเธอเป็นหุ้นส่วนชีวิตของเขาได้อย่างเต็มปาก 

ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข อดีตคนรักของวันเฉลิม ในกิจกรรมรำลึกที่จัดขึ้นในกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2564 (อันนา หล่อวัฒนตระกูล/ประชาไท)

ทั้งสองรู้จักกันเมื่อปี 2556 ขณะที่ทำงานอยู่ในทีมแข่งขันรับสมัครผู้ว่าฯ กทม. ของพงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย หลังจากนั้น ลูกสาวของนักกิจกรรมทางการเมืองชื่อดัง และนักกิจกรรมด้านความเท่าเทียมหลากหลายทางเพศจึงได้เริ่มพูดคุยกัน 

“ตอนนั้นเราอยู่ ม.6 เขาก็หาเด็กฝึกงานมาช่วยมอนิเตอร์เฟซบุ๊ค รุ่นพี่ที่รู้จักกันก็เลยชวนไปฝึกงาน พี่ต้าร์ก็อยู่ในทีมด้วย ตอนนั้นเขาทำด้านข้อมูล พอเราเข้าไป ทีมแคมเปญก็เล็กๆ ก็คุยกัน เขาก็เข้ามาจีบ ช่วงปีนั้นก็เริ่มคบกัน”

“เขาเป็นคนที่มีภาวะผู้นำสูง กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ เป็นคนมีไดนามิค ร่าเริง มีเอเนอร์จี้สูง ไม่รู้จักเหนื่อย จะเป็นคนที่เข้ากับคนทุกรูปแบบได้หมดเลย ตั้งแต่ผู้ลูกเล็กเด็กแดง ผู้หลักผู้ใหญ่ คนรวย คนจน เป็นคนเฟรนด์ลี่มาก ขนาดเราอายุห่างกัน 12 ปี เขาก็เข้ากับเพื่อนเทียนได้หมด” ประกายดาวกล่าว

แม้การลงสมัครรับเลือกตั้งจบลงด้วยการพ่ายแพ้ แต่ความสัมพันธ์ของประกายดาวและวันเฉลิมยังดำเนินต่อไป วันเฉลิมย้ายไปอาศัยกับประกายดาวที่บ้านของครอบครัวพฤกษาเกษมสุข จนกระทั่งมีเหตุรัฐประหารในปี 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และมีการตามตัวบุคคลเข้ารายงานตัวและคุมขังในค่ายทหาร หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า ‘ปรับทัศนคติ’ 

สามวันหลังรัฐประหาร ทหารได้เดินทางไปยังบ้านพฤกษาเกษมสุขที่เป็นที่รู้จักในฐานะครอบครัวนักกิจกรรม ด้วยความเข้าใจว่าใครสักคนในบ้านหลังนั้นเป็นแอดมินเพจ ‘กูต้องได้ร้อยล้านจากทักษิณแน่ๆ’ เพจล้อเลียนการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาลเพื่อไทยและทักษิณ ชินวัตร ที่วันเฉลิมเป็นแอดมินเพจ 

ประกายดาวเล่าว่า ทหารติดตามการใช้งานของเพจจากที่อยู่ IP Address ซึ่งระบุตำแหน่งจากการใช้อินเทอร์เน็ตของเพจมาที่บ้านของเธอ แต่ตอนนั้นทหารยังไม่รู้ว่าวันเฉลิมเป็นแอดมิน ทั้งนี้ วันเฉลิมที่ทำงานการเมืองมาก็ได้รับการเตือนให้ระวังการตกเป็นเป้าหมายและได้เตรียมกระเป๋าเพื่อหลบหนีเอาไว้แล้ว และนาทีที่ทหารกำลังเข้าค้นบ้าน ประกายดาวบอกเขาให้หนีไป

“ทหารคิดว่าเป็นพี่ไท (พี่ชายประกายดาว) แต่ไม่รู้ว่าเป็นต้าร์ ที่มาได้เพราะว่าจับจาก IP ของ wi-fi แต่ตัวเรารู้อยู่แล้วว่าคนทำเป็นใคร ตอนนั้นพี่ต้าร์ยังโนเนม ทหารก็ไม่รู้ แต่ก็บอกว่าทุกคนต้องไปค่ายทหาร ก็เลยคุยกันว่าให้เตรียมของที่ย้ายเลย เขาก็ปีนกำแพงหนีไปเลย พวกนั้นก็ไม่รู้ว่าเป็นเขา เขาก็ถามว่าแฟนหายไปไหน ก็บอกว่าไม่รู้”

วันเฉลิมกระโดดกำแพงบ้านหนีไปได้แบบฉิวเฉียด ก่อนจะจับเที่ยวบินที่ออกจากประเทศไทยที่เร็วที่สุด มุ่งหน้าไปยังประเทศมาเลเซีย

หลังจากนั้น มีคำสั่ง คสช. เมื่อ 1 มิ.ย. เรียกตัววันเฉลิมไปรายงานตัวที่หอประชุมกองทัพบก หลังจากนั้นราว 1 สัปดาห์ วันเฉลิมถูกออกหมายจับในความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์) จากการเป็นแอดมินเพจดังกล่าว

นับแต่นั้น วันเฉลิมไม่เคยกลับมารายงานตัวและรับการดำเนินคดีอีกเลย 

หนีแล้วหนีอีก

วันเฉลิมเดินทางไปยังกรุงพนมเปญ หลังจากอาศัยอยู่มาเลเซียอยู่พักหนึ่ง ประกายดาวเล่าว่าเขาใช้ชีวิตอยู่ที่โรงแรมในเมืองหลวงของกัมพูชาอยู่ราวหนึ่งเดือนก่อนที่จะได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่กัมพูชาให้ไปอยู่ในแม่โขงการ์เด้น สถานที่ที่เคยเป็นที่พักพิงของผู้ลี้ภัยไทยคนอื่นๆ

ประกายดาวที่เคยไปอาศัยที่นั่นขณะเรียนต่อในระดับปริญญาโทในปี 2561-2562 เล่าว่าชีวิตที่แม่โขงการ์เด้นนั้นสะดวกสบายมาก พวกเขาอาศัยอยู่ในห้องขนาดใหญ่ที่มี 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ โดยในช่วงแรกยังมีการเสิร์ฟมื้อเช้าและเที่ยงให้ด้วย ก่อนที่จะลดลงเป็นค่าอาหารรายเดือนแทน 

แต่บนความสะดวกสบายนี้ มีความรู้สึกของความไม่ปลอดภัยอยู่

“ตลอดชีวิตลี้ภัยเขา (วันเฉลิม) ก็จะมีลักษณะแบบ ต้องระวังตัวบางช่วง แบบว่ามีข่าวทหารไทยเข้าไปในกัมพูชา (เจ้าหน้าที่กัมพูชา) ก็จะขอให้ทุกคนอยู่ในคอนโด ห้ามออกไปไหน มันมีเหตุการณ์แบบนี้ออกมาเรื่อยๆ เราก็เลยรู้สึกว่ามันไม่ได้ปลอดภัยขนาดนั้น แต่เราไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นกับใคร เมื่อไหร่”

คอนโดมิเนียมแม่โขงการ์เด้นในเขตชรอยชางวารของกรุงพนมเปญเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2563 (ชอน จันทร์เร็น/VOD)

เทย์เลอร์ (นามสมมติ) ชาวไทยที่เคยลี้ภัยอยู่ในกัมพูชาเล่าว่าเขาเคยถูกติดตามจากทางการไทยและกัมพูชาเช่นกันในขณะที่ลี้ภัยอยู่ในพนมเปญ

“เราต้องทำเหมือนมีคนติดตามเราอยู่ตลอดเวลา” เทย์เลอร์กล่าว

เทย์เลอร์ระบุว่าแม่โขงการ์เด้นเคยเป็นสถานที่หลบภัยสำหรับผู้ลี้ภัยการเมืองไทยที่มีจุดยืนสนับสนุน ทักษิณ เนื่องจากประวัติสายสัมพันธ์อันดีระหว่างทักษิณกับนายกฯ ของกัมพูชา ฮุนเซน เขาเล่าด้วยว่า คนที่อาศัยในกัมพูชา “ภายใต้การคุ้มครองของฮุนเซน” ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ทักษิณ ผู้เคยเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชาในปี 2552-2553 ได้

มีครั้งหนึ่งที่ประกายดาวโดยสารด้วยเครื่องบินเพื่อไปเยี่ยมวันเฉลิมเมื่อราวปี 2558-2559 แล้วมารู้ตัวทีหลังไม่นานว่าถูกติดตาม ในวันที่เธอเดินทางไปถึง วันเฉลิมมารับเธอจากสนามบิน แล้วพาไปนั่งเล่นที่บาร์ชื่อ Duplex ที่เขาสนิทกับพนักงานประจำ หลังจากทั้งคู่ออกจากร้าน ก็ได้รับโทรศัพท์จากบาร์เทนเดอร์ที่ร้านว่ามีกลุ่มชายฉกรรจ์ บางคนตัดผมเกรียน พยายามจะนั่งรถตุ๊กๆ ตามทั้งสองไป แต่ว่าต้องกลับมาที่ร้านเพราะมีคนในกลุ่มหนึ่งคนลืมหยิบโทรศัพท์มือถือออกมาจากร้าน

ฉากไล่ล่าเปลี่ยนเป็นการสอบปากคำพนักงานร้าน โดยกลุ่มชายฉกรรจ์ได้เปิดภาพประกายดาวพร้อมกระเป๋าเดินทางที่นำมาด้วยขณะอยู่ที่สนามบินให้พนักงานร้านดู แล้วถามว่ารู้จักคนในภาพหรือไม่ อาศัยอยู่ที่ไหน

เมื่อเปรียบเทียบกับการหายตัวไปอย่างไม่ทราบชะตากรรมของผู้ลี้ภัยไทยในประเทศเพื่อนบ้านอีก 8 รายก่อนหน้านี้ที่พบว่าเสียชีวิตอย่างเป็นทางการไปแล้วอย่างน้อย 2 ราย (ไกรเดช ลือเลิศ และชัชชาญ บุปผาวัลย์) การหลบหนีของทั้งสองถือว่าฉิวเฉียดมาก

Wanchalearm's NN Map

ต่อการหายตัวไปของวันเฉลิม ประกายดาวมองว่า “น่าผิดหวังมากเลย ปฏิกิริยาจากทั้งสองฝั่ง คุณทำอย่างงี้กับประชาชนของตัวเองได้ยังไง ไม่รู้สึกอะไรบ้างเหรอที่ทำแล้วยังทำตัวปิดหูปิดตา ไม่รู้อะไรทั้งสิ้น”

หลังสำเร็จการศึกษาในสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ประกายดาวกลับมาทำงานที่เมืองไทย ในช่วงนี้เป็นช่วงที่เธอและวันเฉลิมเลิกรากัน แต่ก็ยังมีการติดต่อกันอยู่เดือนละ 2-3 ครั้ง เธอเล่าว่า บทสนทนาสุดท้ายก่อนเกิดเหตุ วันเฉลิมถามเธอว่าจะกลับมาคืนดีกันหรือไม่หากเขาหาทางกลับประเทศไทยได้

การหายตัวไปของวันเฉลิมส่งผลกระทบทางใจต่อประกายดาวอย่างมากถึงขั้นที่ไม่สามารถมองภาพของวันเฉลิมในโปสเตอร์รณรงค์ตามที่ชุมนุมทั่วประเทศไม่ได้ในช่วงแรก เพราะการถือภาพของคนแบบนั้นชวนให้คิดถึงการถือภาพในงานศพ

“เธอ (ประกายดาว) ดูสูญเสียหนักมาก” มิกกี้ (นามสมมติ) เพื่อนชาวต่างชาติของวันเฉลิมและประกายดาวในพนมเปญกล่าว

“ฉันรู้จักเขา แล้วก็รู้จักเธอด้วย และตอนนั้นพวกเขาก็รักกัน”

เป้านิ่ง

วันเฉลิมรู้ว่าเขาถูกจับตามอง แต่เขาก็พยายามไม่ให้เกิดผลกระทบขึ้นกับความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือการทำกิจกรรมของเขา มิกกี้ (นามสมมติ) ซึ่งได้รู้จักกับวันเฉลิมหลังย้ายไปอยู่พนมเปญในพ.ศ. 2558 เล่าว่าพวกเขาสนิทกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามเวลาที่ผ่านไป โดยพวกเขาเคยพบปะสังสรรค์กันที่สระว่ายน้ำของแม่โขงการ์เด้นอย่างน้อยสิบครั้ง แต่หลังจากรู้จักกันมานานหลายปี มิกกี้ก็ยังไม่เคยรู้เหตุผลจริง ๆ ที่วันเฉลิมไม่สามารถกลับประเทศไทยได้ ไม่ว่าเมื่อใดที่พวกเขาเข้าใกล้หัวข้อนี้ วันเฉลิมก็มักจะเล่นมุกตลกพร้อมกับเปลี่ยนเรื่องคุย 

Wanchalaerm's NN info

มิกกี้กล่าวว่า “เชื่อว่าเขาไม่อยากให้ใครเข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานการณ์นี้” 

อย่างไรก็ตาม วันเฉลิมเปิดเผยเรื่องความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดของเขากับชนชั้นปกครองของไทยกับเพื่อนคนอื่น ๆ “ส่วนใหญ่เขามักบ่นเรื่องราชวงค์...เขาไม่ชอบกษัตริย์” เจสซี่ (นามสมมติ) เพื่อนของวันเฉลิมซึ่งได้รู้จักกันเมื่อสองหรือสามปีก่อนในพนมเปญเล่า 

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2561 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับเทคโนโลยีออกหมายจับวันเฉลิมใบที่สองในข้อหาตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ สองปีต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจไปเยี่ยมบ้านของครอบครัววันเฉลิมในจังหวัดอุบลราชธานีเพื่อสอบถามถึงที่อยู่ของเขา โดยเจ้าหน้าที่เดินทางกลับหลังญาติคนหนึ่งบอกพวกเขาว่าพวกเขาไม่สามารถค้นบ้านได้ถ้าไม่มีหมายค้น 

วันเฉลิมเริ่มแสดงความกังวลที่มากขึ้นเกี่ยวกับความปลอดภัยของเขาในกัมพูชาในช่วงเวลานี้ โดยเขาบอกเจสซี่ครั้งหนึ่งหรือสองครั้งว่าเขากำลังเสี่ยงต่ออันตรายที่มาจากประเทศไทย

“เขาเคยพูดว่ามีคนกำลังตามหาเขาอยู่ และเขาก็บอกว่าอย่าไปบอกใครว่าเขาพักอยู่ที่ไหน” เจสซี่กล่าว ในตอนนั้น เจสซี่เข้าใจว่าคำพูดของวันเฉลิมเป็นเพียงมุกตลก 

หนึ่งสัปดาห์ก่อนที่วันเฉลิมจะหายตัวไป มิกกี้ย้ายไปอยู่ในระแวกเดียวกับวันเฉลิมในเขตชรอยชางวาร์ของกรุงพนมเปญ พื้นที่ที่เป็นแหลมซึ่งอยู่ระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำโตนเลสาบ มิกกี้ดีใจที่จะได้ใช้เวลาร่วมกับวันเฉลิมมากขึ้นที่คอนโดแม่โขงการ์เด้นเนื่องจากว่าในปีก่อนหน้านั้น วันเฉลิมดูไม่ค่อยอยากออกไปไหนเท่าใดนัก

“เขาส่งข้อความมาหาประมาณสองวันก่อนเขาจะถูกอุ้ม ที่จริงเรานัดเจอกัน” มิกกี้เล่า 

วันที่ 3 มิถุนายน 2563 หนึ่งวันก่อนเขาจะหายตัวไป วันเฉลิมโพสต์คลิปวีดิโอในเฟซบุ๊คกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่าเป็น “นักกู้แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา” และ “บริหารประเทศบ่ได้ (บริหารประเทศไม่ได้)” 

เจสซี่กล่าวว่าพวกเขาได้เจอกันวันนั้นและได้กอดกันระหว่างนั้น 

“ไม่รู้จะพูดยังไง เราทุกคนตกใจกันหมด” เจสซี่กล่าวถึงการได้รับข่าวการหายตัวไปของวันเฉลิมในอีกสองวันให้หลัง 

“ยังคิดอยู่ว่าตอนนั้นเราอาจจะอยู่ด้วยกัน และบางทีก็อาจจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็ได้เพราะเราเป็นคนต่างชาติ และพวกเขาก็คงจะไม่ [ลักพาตัวเขาไป]” มิกกี้กล่าว “เราหงุดหงิดนิดหน่อยเพราะถ้าเขาบอกเราทุกอย่าง เราอาจจะช่วยเขา [ให้ไปต่างประเทศ] ได้” 

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการวัย 50 ปีซึ่งหลบหนีออกจากประเทศไทยเมื่อปี 2557 เชื่อว่าทางการไทยอยู่เบื้องหลังการหายตัวไปของวันเฉลิมและเชื่อว่าการเดินทางออกนอกประเทศก็คงช่วยเขาไม่ได้ ปวินผู้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์อยู่เป็นประจำเล่าว่าเขาก็เคยถูกชายแปลกหน้าตามหลายครั้งในเมืองเกียวโต หนึ่งในนั้นยังบุกเข้าไปในอพาร์ตเม้นท์ของปวินและทำร้ายเขาด้วยสเปรย์สารเคมี ชายสองคนถูกจับกุมตัวในเวลาต่อมา แต่ไม่มีข้อมูลว่าแรงจูงใจของคนกลุ่มดังกล่าวคืออะไรหรือใครเป็นผู้จ้างวาน

“กรณีของผมในญี่ปุ่นแสดงให้เห็นว่าถึงแม้ว่าผมจะไม่ได้อาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านของประเทศไทย ผมก็ยังตกเป็นเป้าได้” ปวินกล่าว 

อย่างไรก็ตาม ปวินก็ยังคงสงสัยว่าเหตุใดจึงเป็นวันเฉลิมที่ตกเป็นเหยื่อของการบังคับสูญหาย 

“เท่าที่รู้จักต้าร์ เขาไม่ใช่คนหัวรุนแรงเลย” ปวินเล่าโดยใช้ชื่อเล่นของวันเฉลิม “เขามักพูดถึงแต่ คสช. และไม่ได้พูดถึงสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา กิจกรรมที่เขาทำไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองและสถาบันกษัตริย์เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับประเด็นสังคมอื่นๆ เช่นความหลากหลายทางเพศและเพศศึกษาด้วย เราไม่รู้เลยว่าทำไมเขาถึงกลายเป็นเป้า” 

ปวินระบุว่าวันเฉลิมถูกลักพาตัวไปเพียงไม่กี่วันหลังนักกิจกรรมฉายภาพข้อความต่อต้านกองทัพและสถาบันกษัตริย์ลงบนอาคารโรงแรมที่พักของรัชกาลที่ 10 ในบาวาเรีย โดยปวินสันนิษฐานว่าเหตุการณ์ทั้งสองเกี่ยวข้องกัน 

“ต้าร์อยู่ในกัมพูชา ถือเป็นเป้านิ่งสำหรับพวกเขา” ปวินระบุ 

มิกกี้เล่าว่าเขาเคยอ่านข่าวเกี่ยวกับการพบศพของนักกิจกรรมไทยรายอื่นที่ถูกยัดด้วยแท่งปูน เขาสงสัยว่าวันเฉลิมอาจต้องพบกับชะตากรรมเดียวกันหรือไม่ 

“เป็นเรื่องที่บ้ามาก เขาเป็นคนน่ารักที่สุดที่เรารู้จัก เขาทำร้ายใครไม่ได้หรอก” มิกกี้กล่าว “อาวุธที่ดีที่สุดของเขาคือความคิดของเขา”

มิกกี้เสริมว่าความคิดถึงวันเฉลิมเป็นสิ่งที่ยากจะทนได้ “เรานึกไม่ออกเลยว่าพี่สาวเขาจะเป็นยังไง...เมื่อคนๆ หนึ่งหายไปและเราไม่พบร่างเขา...ขั้นตอนที่ต้องทำเมื่อมีคนตาย คุณไม่สามารถทำขั้นตอนเหล่านั้นได้เมื่อไม่มีร่าง” 

ภารกิจของพี่สาว 

สิตานันนำของส่วนตัวบางส่วนของน้องชายติดตัวมาด้วยในการสัมภาษณ์ในเดือน เม.ย. สิ่งของเหล่านี้เป็นสิ่งที่อดีตเพื่อนร่วมห้องของวันเฉลิมที่แม่โขงการ์เด้นนำออกมา เธอวางแว่นตากรอบกลมคู่หนึ่งและเสื้อฮาวายสีแดงตัวโปรดของวันเฉลิมลงบนโต๊ะตรงหน้า เสื้อตัวดังกล่าวต่อมากลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของการต่อต้านในหมู่ผู้ชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย 

“ก็ดีใจนะที่น้องเราเป็นคนที่หลายๆ คนรัก แต่ดูแล้วก็เสียใจ” สิตานันกล่าว “คนไม่น่าทำกับต้าร์ได้ เพราะต้าร์มันไม่ได้มีพิษมีภัยกับใคร”

หลายเดือนที่ผ่านมา สิตานันเป็นผู้นำการค้นหาน้องชาย โดยเธอถึงกับเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิตเพื่อนำเงินมาใช้เป็นทุนในการค้นหา

สิตานันกล่าวว่าเธอใช้เงินไปราวห้าแสนบาทในการเดินทางไปกรุงพนมเปญเพื่อให้การต่อทางการกัมพูชาเกี่ยวกับชีวิตของวันเฉลิมในกรุงพนมเปญซึ่งใช้เวลาถึงสองเดือน โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าวยังไม่ร่วมถึงค่าทนายจำนวน 5,000 เหรียญสหรัฐ

ในจดหมายถึงคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายขององค์การสหประชาชาติเมื่อ ส.ค. 2563 รัฐบาลไทยอ้างว่ากรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมได้ “ดำเนินการประสานงานกับสำนักงานกองทุนยุติธรรมเพื่อจัดหาที่ปรึกษาทางกฎหมายและการสนับสนุนทางการเงินให้กับครอบครัวของนายวันเฉลิมเพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการติดตามคดี”

อย่างไรก็ตาม สิตานันระบุว่าได้ติดต่อขอรับการสนับสนุนจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพแล้วแต่ได้รับการปฏิเสธ

หนึ่งปีที่ผ่านมาหลังการหายตัวไปของน้องชาย สิตานันได้พบกับครอบครัวของผู้ถูกบังคับสูญหายรายอื่นๆ รวมถึงครอบครัวของผู้สูญหายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลย์มุสลิมและเป็นพื้นที่ที่การควบคุมตัวโดยพลการ การทรมานและการบังคับสูญหายมักถูกใช้ในปฏิบัติการต่อต้านการก่อความไม่สงบของกองทัพอยู่เป็นประจำ สิตานันรู้สึกว่ามีความรู้สึกร่วมกับครอบครัวของผู้สูญหายรายอื่นในฐานะผู้เสียหาย แต่ก็กล่าวว่าตนเองมีโอกาสในการพูดมากกว่าผู้เสียหายรายอื่นที่เป็นบุคคลชายขอบ 

“ถ้าคุณเป็นผู้ที่สูญเสีย เป็นผู้ที่เสียหาย จะกี่ปีก็ลืมไม่ลง” สิตานันกล่าว “ช่วงที่ผ่านมาพี่ไปสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ บางคน 18 ปี 17 ปี เขาไม่เคยลืม” 

สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พร้อมด้วยของส่วนตัวของวันเฉลิม ในการสัมภาษณ์ในเดือน เม.ย. 2564 (อันนา หล่อวัฒนตระกูล/ประชาไท)

สิตานันเล่าว่าไม่กี่วันก่อนหน้าที่จะให้สัมภาษณ์ในเดือนเมษายน เธอเห็นหน้าเฟสบุ๊คโปรไฟล์ของอดีตเพื่อนร่วมงาน และมีชั่วขณะหนึ่งที่เธอสงสัยว่าจะเป็นอย่างไรถ้าเธอกลับไปทำงาน 

“ทุกคนสบายกันหมดแล้ว เงินเดือนหลักหลาย ๆ แสนกันหมดแล้ว แต่ก็มีอีกแว้บว่าฉันเลือกแล้ว จะไม่เสียใจกับตรงนั้นอีกแล้ว” สิตานันกล่าว

"สิ่งที่เขาทำกับเราคืออนาคตเราไม่มีแล้ว แล้วถ้าเราจะไม่ลุกขึ้นมาต่อสู้ ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาทำ พี่ถามหน่อยว่าใครจะทำ เพราะไม่มีใครพูดเรื่องของเราได้ดีเท่ากับเรา และไม่มีใครมาพูดเรื่องของเราได้ทุกวัน นักข่าวพูดได้ไม่เกินสามวัน พี่ก็ต้องลุกขึ้นมาพูดเอง"

นอกการคุ้มครองของกฎหมาย 

ระหว่างการเดินทางไปกรุงพนมเปญในเดือนธันวาคม 2563 และมกราคม 2564 สิตานันและทนายของเธอเข้ายื่นเอกสารต่อศาลแขวงพนมเปญ เอกสารดังกล่าวเป็นสำเนาหนังสือเดินทางกัมพูชาที่มีรูปของวันเฉลิมและใช้ชื่อภาษาขแมร์ว่า ซก เฮง นอกจากนี้สิตานันยังให้ข้อมูลกับศาลว่ามีการเปิดบัญชีธนาคาร ABA ภายใต้ชื่อเดียวกัน บัญชีดังกล่าวยังสามารถค้นหาได้ในแอปพลิเคชั่นมือถือของธนาคาร 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีหลักฐานว่าวันเฉลิมลงหลักปักฐานในกัมพูชาจริง แต่ก็ยังคงไม่มีความชัดเจนว่าทางการกัมพูชาได้ดำเนินการใด ๆ กับข้อมูลดังกล่าวหรือไม่

เมื่อ ส.ค. 2563 ทางการกัมพูชาระบุว่าได้ “เริ่มดำเนินการสืบสวนสอบสวนโดยทันที” หลังได้รับรายงานเกี่ยวกับการหายตัวไปของวันเฉลิมจากผู้ไม่ประสงค์ออกนามในช่วงต้นเดือนมิถุนายน รัฐบาลระบุว่าผลการสืบสวนสอบสวนเบื้องต้นพบว่าวันเฉลิมไม่ได้พักอาศัยอยู่ที่แม่โขงการ์เด้น ส่วนรถโตโยต้าไฮแลนเดอร์ที่เห็นในภาพจากกล้อง CCTV ก็ไม่ได้เป็นพาหนะที่จดทะเบียนกับกระทรวงคมนาคม

นอกจากนี้ทางการยังระบุว่าได้มีการสอบปากคำพยานสามคน ซึ่ง “ยืนยันว่าไม่มีรายงานว่ามีการลักพาตัวเกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว”  

เมื่อเดือน พ.ค. ไชย คิมเขื่อน โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกัมพูชากล่าวว่าตำรวจได้รับคำสั่งศาลให้เริ่มสืบสวนอย่างเป็นทางการในเดือน ม.ค. และขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการ 

อย่างไรก็ตาม แซม จำเริญ ทนายของสิตานันตั้งข้อสงสัยว่าศาลได้มีคำสั่งให้ทำการสืบสวนสอบสวนอย่างเป็นทางการจริงหรือไม่และตำรวจได้ทำการสอบปากคำพยานหรือผู้ต้องสงสัยแล้วหรือยัง 

“ผมไม่ได้รับข้อมูลใด ๆ ผมได้ทำหนังสือ [ถึงศาล] เพื่อขอสำเนาคำสั่งให้ทำการสืบสวน [เพื่อจะดูว่า] มีความคืบหน้าหรือไม่” จำเริญกล่าว 

โฆษกศาลคนหนึ่งระบุว่าผู้พิพากษาการสืบสวนกำลังติดตามขั้นตอนทางกฎหมาย แต่ไม่สามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้เนื่องจากข้อมูลคดีดังกล่าวเป็นความลับ

ชิน มาลิน โฆษกกระทรวงยุติธรรมกัมพูชาและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนกัมพูชาส่งคำถามเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนดังกล่าวต่อไปให้กระทรวงมหาดไท อย่างไรก็ตาม โฆษกกระทรวงมหาดไทไม่ได้ตอบกลับคำขอสัมภาษณ์​ของผู้สื่อข่าว 

เกือบหนึ่งปีหลังการหายตัวไปของวันเฉลิม ไชย คิมเขื่อนระบุว่าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นยังคงพยายามยืนยันว่าการลักพาตัวเกิดขึ้นในเขตพนมเปญหรือไม้

“เรายังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเขาหายตัวไปในกัมพูชาจริงหรือว่าถูกลักพาตัวไปในกัมพูชาจริงหรือไม่” โฆษกสำนักงานตำรวจฯ กล่าว “ผู้เชี่ยวชาญกำลังทำการสืบสวนสอบสวนอยู่ แต่ขั้นตอนดังกล่าวยังไม่ทำให้พบข้อมูลที่เป็นประโยชน์” 

เมื่อ 2 มิ.ย. 2564 สิตานันเข้ายื่นหนังสือถึงทางการไทยเพื่อขอทราบความคืบหน้าของคดี พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ระบุว่าทางดีเอสไอได้ตั้งคณะทำงานอย่างไม่เป็นทางการขึ้นเพื่อพิสูจน์ว่า “เหตุเกิดที่กัมพูชา” จริงหรือไม่ พ.ต.ท. กรวัชร์กล่าวว่าถ้าหากสามารถยืนยันได้แล้ว สำนักงานอัยการสูงสุดจะสามารถเริ่มการสืบสวนคดีได้ 

อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท. กรวัชร์ปฏิเสธที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับหนังสือเดินทางกัมพูชาและบัญชีธนาคารภายใต้ชื่อซก เฮง ชื่อภาษากัมพูชาของวันเฉลิม โดยกล่าวว่า “เรื่องบางเรื่องก็คงจะไม่เอามาพูดในที่สาธารณะ” 

ด้าน ชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา สำนักงานอัยการสูงสุดกล่าวว่าศาลกัมพูชาจะต้องพิสูจน์ว่า “มีความผิดอาญาเกิดขึ้นที่กัมพูชาแล้วหรือไม่” ก่อนที่ทางการไทยจะสามารถทำการสืบสวนได้

ผู้ดูแลอาคารแม่โขงการ์เด้นต่างก็พยายามไม่ข้องเกี่ยวกับกรณีวันเฉลิมเช่นกัน ถึงแม้จะมีข้อมูลจากหลายแหล่งว่าเขาพักอาศัยอยู่ที่นั่นก็ตาม

เมื่อถามถึงกรณีการหายตัวไปของชายชาวไทยที่ด้านหน้าอาคารแม่โขงการ์เด้นเมื่อเกือบหนึ่งปีก่อน มา เสทธา ผู้จัดการทั่วไปของคอนโดมิเนียมระบุว่ากล้องนิรภัยได้บันทึกภาพชายคนหนึ่งกำลังถูก “จับกุม” และนำตัวเข้าไปในรถเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2563 เขากล่าวว่าเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นได้ขอภาพดังกล่าว ซึ่งถูก “ลบไปโดยอัติโนมัติ” หลังจากนั้น 

“นั่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นนอกเขตของแม่โขงการ์เด้น ดังนั้นรายละเอียดจึงไม่ [ชัดเจน]” เสทธากล่าว 

เมื่อถามว่ามีคนไทยอาศัยอยู่ที่แม่โขงการ์เด้นอีกหรือไม่ เสทธาตอบว่ามีผู้เช่าบางรายเป็นชาวจีน เมื่อถามถึงผู้อยู่อาศัยชาวไทยอีกครั้ง เขาตอบว่า “ผมไม่ได้รับอนุญาตให้ตอบ” 

“ผมคิดว่าผู้ถูกบังคับสูญหายส่วนใหญ่มักจะถูกอนุมานว่าเสียชีวิตแล้ว [ผู้กระทำ] ต้องการที่จะรักษาความกลัวอย่างที่สุดว่าเมื่อคุณขวางทาง สิ่งที่เลวร้ายที่สุดอาจเกิดขึ้นกับคุณและครอบครัว นั่นคือการที่คุณจะถูกทำให้หายไปอย่างถาวร และไม่มีใครรู้ว่าคุณยังอยู่บนโลกนี้หรือไม่ หลังจากนั้นครอบครัวของคุณก็จะต้องทุกข์ทรมานไปตลอดชีวิตของพวกเขาและะตลอดไปเพราะพวกเขาไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับคุณ” สุนัย ผาสุกจากองค์กรฮิวแมนไรท์วอชกล่าว 

“ผลที่ตามมาอีกอย่างก็คือ [การที่หลายคดี] เกิดขึ้นนอกประเทศไทยนั้นหมายความว่าไม่มีที่ไหนที่ปลอดภัยให้คุณได้หนีไปซ่อนตัว ไม่ว่าคุณจะไปที่ไหน คุณก็ยังสามารถถูกตามหาจนเจอ” 

แต่ถ้าหากไม่พบร่างหรือหลักฐานอื่นๆ ที่ยืนยันว่าเหยื่อเสียชีวิตแล้ว กรณีที่อาจเป็นการบังคับสูญหายก็จะไม่สามารถถูกสืบสวนในฐานะคดีฆาตกรรมได้ “นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมการบังคับสูญหายถึงกลายเป็นกลยุทธ์ที่เป็นที่นิยม” สุนัยกล่าว 

ในเดือนมิถุนายน 2563 คณะกรรมการว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหายขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งติดตามการทำงานของรัฐบาลต่างๆ ในการนำอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญไปปฏิบัติ ได้เรียกร้องให้กัมพูชา “เร่งค้นหาตัว” วันเฉลิม 

อนุสัญญาดังกล่าวให้คำนิยามการบังคับสูญหายว่าเป็นการ “การจับกุม กักขัง

ลักพาตัว หรือการกระทำในรูปแบบใดๆ ก็ตามที่เป็นการลิดรอนเสรีภาพ” โดยเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลที่กระทำโดยได้รับการอนุญาตหรือการยอมรับจากรัฐ ซึ่งตามด้วยการปฏิเสธที่จะยอมรับว่ามีการสูญหายหรือ “การปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลที่หายสาบสูญ” การบังคับสูญหายมีผลให้เหยื่อ “ตกอยู่ภายนอกการคุ้มครองของกฎหมาย”

อนุสัญญาฉบับนี้ยังระบุอีกว่ารัฐภาคีจะต้องตรวจสอบกรณีที่อาจเป็นการบังคับสูญหาย “โดยพลันและอย่างเป็นกลาง...และเมื่อจำเป็น ต้องดำเนินการสอบสวนอย่างละเอียดและเป็นกลางโดยไม่ประวิงเวลา”

กัมพูชาได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญในปี 2556 ส่วนประเทศไทยลงนามในอนุสัญญาฉบับดังกล่าวในปี 2555

อย่างไรก็ตาม นักสิทธิมนุษยชนระบุว่ากฎหมายระดับประเทศเกี่ยวกับการบังคับสูญหายมักไม่ได้รับการบังคับใช้ หรือไม่ก็ไม่มีอยู่เลย 

“อุปสรรคที่ชัดเจนที่สุดก็คือการที่ความพยายามที่จะทำให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการบังคับสูญหายที่ตรงตามมาตรฐานสากลถูกขัดขวาง” สุนัยกล่าว “เมื่อมองจากระดับโครงสร้างภาพใหญ่แล้ว นั่นคือการขัดขวางความยุติธรรมที่โจ่งแจ้ง มีการวางแผนและเป็นระบบที่สุด คือการทำให้แน่ใจว่าประเทศไทยจะไม่มีวันมีกฎหมายที่ดีเพื่อเอาผิดอาชญากรรมนี้”

ความเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้น

การหายตัวไปของวันเฉลิมจุดประกายให้เกิดคลื่นของการเรียกร้องที่ไม่เพียงแต่จะมุ่งเป้าไปที่ผู้ถูกกระทำที่ยังไม่ทราบตัวตนแต่ยังมุ่งเป้าไปที่วัฒนธรรมทางการเมืองของไทยที่ทำให้การบังคับสูญหายกลายเป็นเรื่องปกติเช่นกัน 

ผู้ชุมนุมสวมหน้ากากรูปหน้าวันเฉลิมในระหว่างการชุมนุมที่หน้าสถานทูตกัมพูชาในกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2563 หกเดือนหลังการหายตัวไปของวันเฉลิม (ภาพจากแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย)

วันที่ 5 มิ.ย. 2563 หนึ่งวันหลังการหายตัวไปของวันเฉลิม สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทยจัดการประท้วงขึ้นในใจกลางเขตเศรษฐกิจกลางกรุงเทพมหานคร โดยมีการผูกริบบิ้นสีขาวเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องความยุติธรรมให้วันเฉลิมและผู้ถูกบังคับสูญหายรายอื่นๆ สองวันต่อมา กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยและเครือข่ายนักเรียน นิสิต นักศึกษาเคียงข้างประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (คนป.) ได้จัดประท้วงเพื่อต่อต้านการบังคับสูญหายขึ้นในบริเวณเดียวกัน 

สัปดาห์ต่อมา นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยรวมตัวกันหน้าสถานทูตกัมพูชาในกรุงเทพมหานครเพื่อยื่นจดหมายเรียกร้องให้มีการสืบสวนสอบสวนกรณีการหายตัวไปของวันเฉลิม 

วันที่ 7 มิ.ย. 2563 โปสเตอร์สีเหลืองปรากฎขึ้นทั่วกรุงเทพมหานครในชั่วข้ามคืน โดยมีภาพของผู้ถูกบังคับสูญหายและระบุว่าพวกเขา “ถูกรัฐไทยอุ้ม” กลุ่ม Spring Movement กลุ่มนักกิจกรรมนักศึกษาที่เป็นผู้จัดทำโปสเตอร์ดังกล่าวระบุว่าพวกเขาจัดทำโปสเตอร์ดังกล่าวขึ้นเนื่องจากสื่อกระแสหลักในไทยไม่รายงานข่าวการหายตัวไปของวันเฉลิม นอกจากนี้พวกเขายังสร้างแฮชแทค #Thaicantbreathe ขึ้นเพื่อให้เกิดการสนทนาเกี่ยวกับการปราบปรามการเรียกร้องทางการเมืองและความรุนแรงจากรัฐ

ผู้ชุมนุมชูโปสเตอร์ที่ทำโดยกลุ่ม Spring Movement ในการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อเดือน ก.ค. 2563 (อันนา หล่อวัฒนะตระกูล/ประชาไท)

“รู้สึกว่าความเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย” นักกิจกรรมกลุ่ม Spring Movement กล่าวในการให้สัมภาษณ์ร่วม พวกเขาระบุว่าการเรียกร้องความเป็นธรรมให้วันเฉลิมเกิดขึ้นก่อนการประท้วงต่อต้านเผด็จการและเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่เขย่าภูมิทัศน์การเมืองไทยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 โปสเตอร์ตามหาคนหายดังกล่าว รวมถึงภาพของวันเฉลิม กลายเป็นภาพที่พบเห็นได้เสมอในการชุมนุมเหล่านี้

“การออกมาเรียกร้องครั้งนี้ของพวกเราอย่างน้อยทำให้เราเห็นว่าเราไม่ยอมให้เรื่องนี้เกิดขึ้นเป็นปกติของสังคมอีกต่อไป” พวกเขากล่าว 

ประกายดาว อดีตคนรักของวันเฉลิม กล่าวว่าขบวนการต่อต้านการบังคับสูญหายช่วยให้เธอหลุดพ้นจากความเศร้าที่ครอบคลุมชีวิตของเธอในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา เธอรู้สึกหมดจิตหมดใจและต้องหยุดความใฝ่ฝันด้านหน้าที่การงานของเธอไว้ชั่วคราว แต่ในขณะที่ขบวนการขยายตัวขึ้น ความสนใจในการเมืองของเธอก็กลับคืนมา โดยครั้งนี้เธอหันไปให้ความสนใจกับการที่ประเทศไทยยังคงไม่มีกฎหมายที่ทำให้การทรมานและบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรม 

“รู้สึกว่าไปทำงานการเมืองเผื่อจะช่วยเยียวยาได้ในแบบหนึ่ง" ประกายดาวกล่าว 

ปัจจุบัน ประกายดาวทำงานให้กับมูลธินิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นมูลนิธิที่มีสำนักงานอยู่ในกรุงเทพมหานครและคอยติดตามการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ในวีดิโอที่จัดทำโดยมูลนิธิและเผยแพร่ในเดือนพฤษภาคม ประกายดาวกล่าวว่า “หนูคงจะย้อนเวลากลับไปไม่ได้ แต่หนูอยากให้พี่รู้ว่าหนูขอโทษที่ไม่ได้อยู่ข้างๆ พี่ในตอนนั้น” 

ในวีดิโอเดียวกัน สิตานันสวมเสื้อยืดสีดำที่มีข้อความว่า “เราทุกคนคือวันเฉลิม” เธอมองตรงมาที่กล้องและกล่าวว่า “เราจะค้นหาความจริงตราบที่พี่ยังมีลมหายใจ จนกว่าเราจะพบกันใหม่” 

*มีการใช้นามสมมติกับผู้ให้สัมภาษณ์บางรายเนื่องจากความกลัวว่าจะได้รับผลกระทบ 

บทความโดย เจคอป โกลด์เบิร์ค แดเนียล คีตัน-โอลเซน อันนา หล่อวัฒนตระกูล แมท เซอร์รัสโค และ เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา 

ผู้เขียนทำงานร่วมกับผู้สื่อข่าวชาวกัมพูชาอีกหนึ่งคนซึ่งไม่ประสงค์ออกนามเนื่องจากกลัวว่าจะได้รับผลกระทบ 

ภาพประกอบโดย Pssyppl 

อินโฟกราฟฟิคโดยเอลเลน่า เอคาราเฮนดี้ และแมท เซอร์รัสโค 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท