Skip to main content
sharethis

พบแรงงานหญิงภาคเกษตรกรรมในตูนิเซียพบความเสี่ยงจากการเดินทาง ด้านสหภาพแรงงานผลักดันให้มีการปรับปรุงสภาพการทำงานของคนทำงานภาคการเกษตรให้ดีขึ้น รวมทั้งปฏิรูประบบขนส่งแรงงานและขจัดการคุกความทางเพศ

แรงงานหญิงภาคเกษตรกรรมในตูนิเซีย พบความเสี่ยงจากการเดินทาง
ที่มาภาพประกอบ: الشاهد

ในขณะที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ใช้เวลาตัดสินใจไม่นานนักในการเลือกมะเขือเทศ องุ่น หรือผลิตผลทางการเกษตรที่หาได้ทั่วไปในซูเปอร์มาเก็ต แต่คนทำงานในภาคเกษตรกรรมจำนวนมากทั่วโลก ใช้เวลาไปเกือบทั้งวันไปกับการเก็บผัก ผลไม้ และธัญพืชต่าง ๆ เพื่อเติมจานอาหารของผู้อื่น แต่พวกเขาและเธอมักจะไม่มีเงินพอที่จับจ่ายสำหรับอาหารมื้อดี ๆ 

"บางครั้งฉันอาจมีเงินพอที่จะซื้อขนมปังจากคนขายของข้างทาง แต่บางครั้งฉันก็ไม่มี" มาบรูกา ยายาโออุย หญิงวัย 73 ปี ซึ่งทำงานในไร่เกษตรกรรมของตูนิเซียกล่าว

ยายาโออุย เป็นหนึ่งในคนทำงานภาคเกษตรกรรมเกือบ 1.5 ล้านคนในตูนิเซีย ในจำนวนนี้เป็นแรงงานหญิงมากกว่า 600,000 คน ที่ต้องทนทุกข์จากความร้อนสูงในฤดูร้อนและฝนตกในฤดูหนาวมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน ค่าจ้างรายวันของพวกเขาและเธออยู่ระหว่าง 5.50-6 ดอลลาร์ (ประมาณ 171.48-187.07 บาท) แรงงานเหล่านี้ยังต้องจ่ายเงินสำหรับการขนส่งรายวันไปยังไร่นาด้วยยานพาหนะที่ทรุดโทรม ซึ่งผู้หญิงบอกว่าพวกเธอต้องเบียดเสียกันอย่างไม่ปลอดภัย อาจถูกล่วงละเมิดทางเพศ ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิต คนทำงานภาคการเกษตรหลายร้อยคนต้องเสียชีวิตในแต่ละปีขณะที่พวกเขาและเธอเดินทางไป-กลับจากการทำงาน

อาเฟฟ ฟายาชี คนทำงานภาคการเกษตรหญิงชาวตูนิเซียอีกรายกล่าวว่า "บนรถนั้น เราถูกอัดแน่นเหมือนกระสอบมันฝรั่ง และที่แย่กว่านั้นคือ ผู้ชายมักจะคุกคามเรา" เธอกล่าวต่อไปว่า "พวกเขาจะแตะต้องเรา ใช้คำสบถและหยาบคาย ผู้ชายรังแกผู้หญิงทุกวิถีทาง และสิ่งที่เราทำได้คืออดทนและเงียบไว้"

แต่ด้วยการสนับสนุนของสหภาพแรงงานตูนิเซีย (UGTT) คนทำงานภาคการเกษตรในตูนิเซีย ได้ยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิในการขนส่งที่ปลอดภัย ค่าแรงที่ยุติธรรม และงานที่มีคุณค่า 

คนทำงานต้องการสภาพการทำงานที่ปลอดภัย 

คลิปวิดีโอที่อธิบายถึงสภาพที่ไม่ปลอดภัยและเป็นอันตรายที่แรงงานหญิงในตูนีเซียต้องทนทุกข์จากการเดินทางเพื่อไปทำงานและกลับบ้าน

ในขณะที่โลกเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของ "ผู้ปฏิบัติงานที่จำเป็น" ในช่วงการระบาดใหญ่ของ COVID-19 แต่คนทำงานหลายคนก็ยังคงไม่อยู่ในสายตาของสาธารณชน พวกเขาและเธอได้แต่พยายามดิ้นรนเพื่อช่วยเหลือตนเองด้วยการป้องกันเพียงเล็กน้อยจากการติดเชื้อ COVID-19

"ฉันไม่สามารถซื้อหน้ากากอนามัยราคา 4 ดีนาร์ (ประมาณ 52.07 บาท) ต่อวันได้" เมย์ยา ฟายาชิ กล่าว เธอก็เหมือนกับคนทำงานภาคเกษตรกรรมส่วนใหญ่ที่ต้องเสี่ยงต่อสุขภาพเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว ส่วนยัสมินา ยายาโออุย กล่าวว่า "เราจะทำมาหากินได้อย่างไร ถ้าเราอยู่แต่ที่บ้าน"

ในเมืองซิเลียนา เมืองเกษตรกรรมทางตอนเหนือของตูนิเซีย สหพันธ์การเกษตรซึ่งเป็นองค์กรในเครือของสหภาพแรงงาน UGTT กำลังช่วยเหลือคนทำงานในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิในการขนส่งที่ปลอดภัยและการคุ้มครองทางสังคม เช่น มาตรการด้านความปลอดภัยและสุขภาพเพื่อป้องกันโรคระบาดร้ายแรง ร่วมกับ Solidarity Center สาขาแอฟริกาเหนือ สหภาพแรงงานทำงานร่วมกับผู้หญิงที่นั่น โดยการใช้คลิปวิดีโอที่อธิบายถึงสภาพที่ไม่ปลอดภัยและเป็นอันตรายที่พวกเธอต้องทนทุกข์จากการเดินทางเพื่อไปทำงานและกลับบ้าน

"ความเจ็บปวด ความเศร้าโศก และความขาดแคลนของผู้หญิงที่ขยันและยอดเยี่ยมเหล่านี้ สามารถถ่ายทอดเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ด้วยความตั้งใจอย่างท่วมท้นที่จะเอาชนะปัญหาที่พวกเธอเผชิญ" คาลทูม บาร์คัลลาห์ ผู้จัดการโครงการอาวุโสของ Solidarity Center สาขาแอฟริกาเหนือ ระบุ

คลิปวิดีโอนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ของสหภาพแรงงานเพื่อสร้างการสนับสนุนสาธารณะสำหรับการปรับปรุงสภาพการทำงานของคนทำงานภาคการเกษตร และกระตุ้นให้รัฐบาลดูแลให้มีการขนส่งที่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น การให้สินเชื่อธุรกิจขนาดเล็กแก่ผู้ประกอบการในท้องถิ่นเพื่อใช้งานยานพาหนะที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย เป็นต้น

ทั้งนี้ข้อบังคับใหม่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) (อนุสัญญา 190) ซึ่งครอบคลุมถึงความรุนแรงทางเพศและการล่วงละเมิดในที่ทำงาน แสดงให้เห็นชัดเจนว่านายจ้างและรัฐบาลต้องใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าคนงานจะปลอดภัยในการเดินทางไปทำงาน รวมทั้งในพื้นที่ทำงาน 

นับตั้งแต่การรณรงค์เปิดตัว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้เริ่มดำเนินการเกี่ยวกับการขนส่งคนงานเกษตรอย่างเป็นทางการ และเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาระดับภูมิภาคเพื่อออกใบอนุญาตประเภทใหม่สำหรับการขนส่งในภาคเกษตรกรรม

รัฐบาลและสหภาพแรงงานยังได้หารือกันในเดือน มี.ค. 2564 ในการจัดการประชุมครั้งแรกที่จัดขึ้นโดยกระทรวงกิจการสังคม โดยเนื้อหาเป็นการหารือว่าด้วยการเจรจาทางสังคมและการจ้างงานในภาคเกษตร 

ค่าจ้าง ความเสมอภาค และความเคารพ

การรณรงค์เพื่อการปรับปรุงสภาพการทำงานของคนทำงานภาคการเกษตรนี้นั้น ได้รวบรวมข้อมูลจากคนทำงานในเมืองสำคัญหลายเมืองของตูนีเซีย เกี่ยวเกี่ยวกับเงื่อนไขที่พวกเขาและเธอเผชิญในการทำงาน รวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศและรูปแบบอื่น ๆ ของความรุนแรงทางเพศที่มีต่อแรงงานหญิง

คนทำงานที่ให้ข้อมูลยังได้ช่วยจัดทำข้อเสนอการเจรจาต่อรองเกี่ยวกับค่าจ้างและสภาพการทำงาน กลไกในการระงับข้อพิพาท การส่งเสริมสถานที่ทำงานที่ปราศจากความรุนแรงและการล่วงละเมิด ตลอดจนกลไกสำหรับการเจรจาทางสังคมในระดับที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง

ส่วนในระดับชาติ สหภาพแรงงาน UGTT และพันธมิตรภาคประชาสังคมกำลังผลักดันให้บังคับใช้กฎหมายการตรวจสอบความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน ซึ่งนายจ้างมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องดำเนินการ

คนทำงานภาคเกษตรหญิงยังชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการจัดการกับค่าแรงและโอกาสในการทำงานที่แตกต่างกันระหว่างชายและหญิง "จำนวนชั่วโมงที่ผู้หญิงต้องทำงานในแต่ละวันต้องชัดเจน และเธอจะได้รับเงินเท่าไหร่สำหรับงานนั้นก็ต้องมีความชัดเจนด้วยเช่นกัน" คนทำงานภาคเกษตรหญิงรายหนึ่งกล่าว

"ทำไมผู้ชายถึงได้รับเงินขั้นต่ำ 25 ดีนาร์ (ประมาณ 280.60-311.78 บาท) ในขณะที่ฉันได้รับเงินเพียง 15 ดีนาร์ (ประมาณ 171.48 บาท) นี่ก็ยังไม่ได้จ่ายค่ารถมาทำงานเลยนะ" คนทำงานภาคเกษตรหญิงอีกรายหนึ่งตั้งคำถาม

"สิ่งที่สำคัญที่สุด" เมย์ยา ฟายาชิ กล่าวเกี่ยวกับความเคารพกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ "ฉันไม่ขออะไรนอกจากสิทธิ์ของฉัน" 


ที่มาเรียบเรียงจาก
WOMEN AGRICULTURAL WORKERS PUSH FOR SAFE TRANSPORT IN TUNISIA (Solidarity Center, 20 May 2021)

*อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 4 มิ.ย. 2564

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net