Skip to main content
sharethis
  • โรงพยาบาลหลายแห่งเลื่อน-ปรับนัดฉีดวัคซีนโควิด-19 ผ่านระบบหมอพร้อม เหตุได้รับจัดสรรวัคซีนน้อยกว่าที่คาดหวัง
  • อธิบดีกรมควบคุมโรคเผยแผนกระจายวัคซีน ตั้งเป้าหาได้ 100 ล้านโดสในปี 2564 เตรียมทำสัญญาซื้อไฟเซอร์-จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน รวม 25 ล้านโดส
  • ชี้แอสตราเซเนกาและซิโนแวคใช้ได้ในผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และเป็นการใช้ในภาวะฉุกเฉิน หากได้รับมอบจะกระจายต่อทันที คาดกระจายวัคซีนได้ต่อเนื่องทุกสัปดาห์ ปัจจุบันมีวัคซีนพร้อมกระจายกว่า 3.5 ล้านโดส
  • กระจายวัคซีนตามจำนวนประชากร แต่เสริมเป็นพิเศษในจังหวัดที่มีพื้นที่ระบาดหนัก แหล่งท่องเที่ยว มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และชายแดน มีจุดบริการฉีดวัคซีนทั่วประเทศมากกว่า 1 พันจุด
  • สหรัฐฯ เตรียมส่งมอบวัคซีน 7 ล้านโดสให้ประทศในเอเชีย รวมถึงไทย ภายในเดือน มิ.ย. เพิ่มเติมจากความช่วยเหลือในโครงการโคแวกซ์ (COVAX)

ศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 หลายแห่งเลื่อนนัด เหตุได้รับวัคซีนน้อยกว่าที่คาด

4 มิ.ย. 2564 ข่าวหลายสำนักรายงานว่า โรงพยาบาลที่เป็นศูนย์บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 หลายแห่งทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด แจ้งเลื่อนนัดหมาย หรือปรับตารางการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากโรงพยาบาลบางแห่งอ้างว่า ไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนครบตามจำนวน เช่น ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และโรงพยาบาลในเครือบางปะกอก และโรงพยาบาลปิยะเวท เป็นต้น

เวิร์กพอยต์ทูเดย์ยังรวบรวมข้อมูลเพิ่มด้วยว่า สำนักงานสาธารณสุข จ.ลำปาง ออกประกาศเลื่อนฉีดวัคซีนในโรงพยาบาล 13 แห่ง ได้แก่ รพ.ลำปาง, รพ.แม่เมาะ, รพ.เกาะคา, รพ.เสริมงาม, รพ.งาว, รพ.แจ้ห่ม, รพ.วังเหนือ, รพ.เถิน, รพ.แม่พริก, รพ.แม่ทะ, รพ.สบปราบ, รพ.ห้างฉัตร และ รพ.เมืองปาน โดยระบุว่าเนื่องจากการระบาดในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ทำให้จังหวัดได้รับการจัดสรรวัคซีนน้อยกว่าที่คาดหวังไว้ จึงขอยกเลิกวันนัดหมายกับประชาชนที่ลงทะเบียนฉีดวัคซีนผ่านระบบหมอพร้อม หรือ ผ่าน อสม. และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขออกไปก่อน พร้อมยืนยันว่าคิววัคซีนยังคงอยู่และเมื่อจังหวัดได้วัคซีนแล้วโรงพยาบาลที่ลงทะเบียนจะทำการติดต่อนัดหมายวันฉีดต่อไป

ขณะที่ จ.เชียงใหม่ โรงพยาบาลหลายแห่งประกาศเลื่อนฉีดวัคซีนที่จองผ่านระบบหมอพร้อม ได้แก่ รพ.สันป่าตอง, รพ.เชียงใหม่ ราม, รพ.กรุงเทพ เชียงใหม่, รพ.ลานนา, รพ.แมคคอร์มิค, รพ.เชียงใหม่เมดิคอลเซ็นเตอร์, รพ.ดอยสะเก็ด, รพ.เชียงใหม่ฮอสพิทอล และ รพ.เซ็นทรัลเชียงใหม่ เมโมเรียล

เตรียมทำสัญญาซื้อวัคซีนไฟเซอร์-จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 25 ล้านโดส

เอชโฟกัสและมติชนออนไลน์รายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการกระจายวัคซีนโควิด-19 ในเดือน มิ.ย. 2564 ซึ่งจะเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมกันวันที่ 7 มิ.ย. 2564 ว่า เป้าหมายสำคัญของการฉีดวัคซีนโควิดที่ท่านนายกรัฐมนตรีให้นโยบายไว้ว่า คนไทยทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยที่สมัครใจต้องได้รับวัคซีนโควิดทุกคนโดยไม่คิดมูลค่า แต่หากเป้าหมายเพื่อฉีดวัคซีนให้เกิดภูมิคุ้มกันระดับประเทศ เพื่อให้ประเทศปลอดภัย ชีวิตเดินต่อไปได้ ต้องฉีดอย่างน้อยให้ได้ 50 ล้านคน การจัดการเรื่องนี้จะประกอบด้วยการจัดหา กระจายวัคซีน การเตรียมพร้อมจุดวัคซีน

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-พ.ค. มีการฉีดวัคซีนซิโนแวคทั้งสิ้น 3,644,859 โดส เฉพาะกรุงเทพมหานครฉีดไปแล้วกว่า 1 ล้านโดส อย่างไรก็ตาม สำหรับการจัดหาวัคซีนปี 2564 เป้าหมายที่นายกฯ ให้ไว้คือ 100 ล้านโดส และปี 2565 หาเพิ่มอีก 50 ล้านโดส รวมเป็น 150 ล้านโดส ทั้งนี้ เนื่องจากข้อมูลวิชาการที่มีอาจจำเป็นต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นอีก 1 เข็ม รวมทั้งต้องมีแผนเตรียมไว้กรณีวัคซีนสำหรับเชื้อที่กลายพันธุ์ ในรุ่นใหม่ๆ ซึ่งตรงนี้จะอยู่ในส่วนหาเพิ่มอีก 50 ล้านโดส ขณะนี้มีการจัดหาตามแผนวัคซีน 100 ล้านโดส แบ่งเป็นจัดหาวัคซีนของซิโนแวค 6 ล้านโดส วัคซีนแอสตราเซเนกา 61 ล้านโดส ส่งมาแล้ว 2 ล้านโดส รวมกันจะเป็น 67 ล้านโดส

ดังนั้น ในปี 2564 ยังขาดวัคซีนอีก 33 ล้านโดส ซึ่งต้องจัดหาเพิ่มเติม ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนลงนามในสัญญากับบริษัทไฟเซอร์ซึ่งเป็นไปด้วยดี คาดว่าจะลงนามในสัปดาห์หน้า ส่วนวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน อยู่ในขั้นตอนการเตรียมทำสัญญา ซึ่งวัคซีน 2 บริษัทนี้จะได้รวม 25 ล้านโดส และจะมีแผนจัดหาวัคซีนซิโนแวคอีก 8 ล้านโดส เมื่อพิจารณาตัวเลขจะครบ 100 ล้านโดส ซึ่งเดือนนี้น่าจะมีข่าวดีต่อไป

ชี้ภาวะฉุกเฉิน เตรียมกระจายวัคซีนที่ได้รับมอบต่อเนื่องทุกสัปดาห์

อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า วัคซีนที่ใช้ในประเทศไทย ทั้งซิโนแวค และแอสตราเซเนกา ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมทั้งคณะกรรมการวิชาการทบทวนข้อมูลวิชาการ พบว่า วัคซีนทั้ง 2 ชนิดสามารถให้ได้ในประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป และสามารถให้ได้ในกลุ่มอายุเกิน 60 ปีเช่นกัน ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้การบริหารจัดการวัคซีนได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม นพ.โอภาส กล่าวว่า การกระจายวัคซีนโควิด-19 ยังเป็นการใช้ในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งเป็นแบบเดียวกันทั่วโลก ดังนั้น การมีวัคซีนจำนวนมากรอไว้ค่อยไปซื้อ คงไม่ทัน กระบวนการ คือ หากผลิตเสร็จจะส่งมอบ รับ และกระจายวัคซีนทันที เพราะฉะนั้น ตามแผนจะกระจายวัคซีนทุกสัปดาห์

“รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ให้แนวว่าจะต้องกระจายต่อเนื่องอย่างน้อยทุกสัปดาห์ เมื่อไหร่มีวัคซีนผลิตในไทยได้ ทุกสัปดาห์ก็จะทบทวนและกระจายอย่างต่อเนื่อง“ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

มีวัคซีนในมือแล้ว 3.5 ล้านโดส พร้อมฉีด 7 มิ.ย.

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สำหรับเดือน มิ.ย. เป็นช่วงการฉีดวัคซีนตามแผนหลัก ส่วนเดือน มี.ค., เม.ย., และ พ.ค. มีเหตุการณ์ระบาดจึงต้องจัดหาเพิ่มเติม ในสัปดาห์นี้มีวัคซีนแอสตราเซเนกา 2 ล้านโดส โดย 2 แสนโดสแรกส่งไปแล้ว กระจายแต่ละจังหวัดได้ 3,600 ล้านโดส แต่เมื่อมีอีก 1.8 ล้านโดสก็จะส่งเพิ่มเติมในจังหวัดต่างๆ เข้าไป และจะมีวัคซีนซิโนแวคอีก 1.5 ล้านโดส

ขณะนี้มีวัคซีนในมือที่จะฉีดตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. 2564 เป็นต้นไป รวมจำนวน 3,540,000 โดส และหลังจาก 2 สัปดาห์แรกแล้ว ในสัปดาห์ที่ 3 เราจะมีวัคซีนอีกอย่างน้อย 840,000 โดส และสัปดาห์ที่ 4 อีกจำนวน 2,580,000 โดส ซึ่งเป็นตัวเลขที่มีการตกลงกับทางบริษัทเบื้องต้น อาจมีการเพิ่มหรือลด ในภาพรวมเดือน มิ.ย.จะมีวัคซีนมากกว่า 6 ล้านโดส ปลายเดือนนี้จึงคาดว่าจะฉีดให้ได้ 10 ล้านโดสรวมจากฉีดไปก่อนแล้วเกือบ 4 ล้านโดส

กระจายวัคซีนตามสัดส่วนประชากร แต่บางพื้นที่อาจได้เสริมเป็นพิเศษ ยันไม่เลื่อนฉีด

ส่วนการกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ อธิบดีกรมควบคุมโรคชี้แจงดังนี้

1. แต่ละจังหวัดต้องมีวัคซีนแอสตราเซเนกาและซิโนแวคเพื่อบริการพี่น้องประชาชน เฉลี่ยเป็นพื้นฐานตามจำนวนประชากรในพื้นที่และประชากรแฝง หรือหารเฉลี่ยตามจำนวนประชากร

2. จังหวัดที่มีการระบาดมาก อย่างกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล หรือ จ.เพชรบุรี จะมีการจัดวัคซีนเสริมเข้าไป ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครฉีดแล้ว 1 ล้านโดส ตามแผน มิ.ย. จะฉีดให้ได้อย่างน้อย 2.5 ล้านโดส รวมทั้งนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ซึ่งเป็นปริมณฑล แต่การระบาดค่อนข้างรวดเร็ว หากสัปดาห์หน้ามีการปรับเปลี่ยนก็ต้องปรับเรื่องการเสริมวัคซีนด้วย รวมทั้งกรณีเรือนจำเช่นกัน

3. จังหวัดที่เป็นกลุ่มเป้าหมายพิเศษ อย่างจังหวัดท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต เมื่อเทียบอัตราประชากร จะพบว่ามีพี่น้องประชาชนฉีดมากที่สุด ขณะนี้เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งภูเก็ตจะเปิดจังหวัดรองรับนักท่องเที่ยวก็จะมีแผนพิเศษ รวมทั้งกลุ่มแรงงาน ที่ต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งกลุ่มชายแดนและเศรษฐกิจก็จะใส่วัคซีนเสริมเติมเข้าไป เช่น จ.ชลบุรี จ.ระยอง จ.ตาก เป็นต้น

“อีกประการหนึ่งเพื่อให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานผู้ประกันตนประกอบกิจกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยจะมอบให้สำนักงานประกันสังคมอีก 1 ล้านโดสไปฉีดแก่ผู้ประกันตน รวมทั้งผู้ที่ขึ้นทะเบียนจองฉีดวัคซีนในระบบหมอพร้อม ซึ่งยืนยันว่าไม่มีการเลื่อนฉีดแต่อย่างใด” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

กระจายจุดฉีดวัคซีนมากกว่า 1 พันแห่งทั่วประเทศ

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สำหรับจุดฉีดวัคซีนจะต้องอยู่ภายใต้การกำกับของแพทย์ สถานพยาบาล ภายใต้มาตรการกำหนด มีระบบติดตามภายหลังฉีดวัคซีน 30 วัน เป็นไปตามมาตรฐานที่กรมควบคุมโรคกำหนด โดยขณะนี้มีจุดฉีดในต่างจังหวัดรวม 993 จุด พร้อมให้บริการในวันที่ 7 มิ.ย. 2564 ส่วนกรุงเทพมหานครมีจุดฉีด 25 จุด สำนักงานประกันสังคมมี 25 จุด

อีกจุด คือของทางมหาวิทยาลัยต่างๆ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยรามคำแหง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี จ.สมุทรปราการ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ รวม 11 แห่ง โดยมหาวิทยาลัยมีโควต้าวัคซีนประมาณ 5 แสนโดส สำหรับบุคลากรของตนเอง และอาจเพิ่มเติมในประชาชนกลุ่มรอบๆ ซึ่งจะมีจุดฉีดมากกว่านี้

นอกจากนี้ ยังมีจุดฉีดกลางอีก 10 แห่ง เช่น สถานีกลางบางซื่อ สถาบันราชานุกูลสำหรับเด็กพิเศษและผู้ด้อยโอกาสผู้พิการ ศูนย์กลางแพทย์บางรัก จุดฉีดสำหรับต่างชาติ เป็นต้น จะมีการประกาศออกไป โดยแต่ละจุดฉีดอาจจะมีการปรับเปลี่ยนได้ต่อไป โดยสามารถติดตามได้จากพื้นที่จังหวัดนั้นๆ

สหรัฐฯ เตรียมมอบวัคซีน 7 โดสภายในเดือน มิ.ย. ให้ประเทศในเอเชีย รวมถึงไทย

ด้านเว็บไซต์สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เผยแพร่ข้อเท็จจริงในการสนับสนุนไทยต่อสู้โควิด-19 ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศกรอบความร่วมมือเพื่อแบ่งปันวัคซีนจำนวน 80 ล้านโดสทั่วโลกภายในสิ้นเดือนมิ.ย. 2564 ในแผนการส่งมอบวัคซีน 25 ล้านโดสแรก จะมีวัคซีนจำนวน 7 ล้านโดสที่มอบให้กับประเทศต่างๆ ในเอเชีย รวมถึงประเทศไทย โดยเพิ่มเติมจากความช่วยเหลือมูลค่า 4,000 ล้านเหรียญที่สหรัฐฯ ได้ประกาศว่าจะมอบให้กับโครงการ COVAX

นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ยังมอบความช่วยเหลือให้ไทยเพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 รวมมูลค่า 30 ล้านเหรียญ (ประมาณ 934 ล้านบาท) โดยในจำนวนนี้เป็นการบริจาคเครื่องช่วยหายใจ หน้ากากอนามัย แว่นตานิรภัย และอุปกรณ์ป้องกันรวมมูลค่า 17.5 ล้านเหรียญให้กับแพทย์และพยาบาลไทย รวมทั้งความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยในค่ายตามแนวชายแดน และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ สหรัฐฯ (U.S. CDC) มอบความช่วยเหลือเพิ่มเติมมูลค่า 13 ล้านเหรียญ (ประมาณ 405 ล้านบาท)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net