Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในการพิจารณาพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีพ.ศ. 2565 ที่มีการอภิปรายงบประมาณในวันที่ 31 พฤษภาคมถึง 2 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้าน ได้ลุกขึ้นทำหน้าที่ในการอภิปรายว่าควรจะมีมติเห็นชอบและอนุมัติให้งบประมาณพ.ศ. 2565 ฉบับนี้ผ่านหรือไม่ การพิจารณางบประมาณในครั้งนี้เป็นการพิจารณางบประมาณที่มีความสำคัญอย่างมากต่อคนไทยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคธุรกิจภาคสังคม และสุขภาพของประชาชน ดังนั้นการพิจารณาพระราชบัญญัติงบประมาณพ.ศ. 2565 จึงเป็นตัวชี้ชะตาอนาคตของเศรษฐกิจและสังคมไทยว่าจะทรงตัวหรือแย่ลงชนิดที่เรียกว่าดำดิ่งลงเหวลึกไปมากกว่านี้ เพราะเบื้องหลังของตัวเลขทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นอัตราการว่างงาน การลดลงของรายได้ ภาวะหนี้ครัวเรือน และหนี้สาธารณะ ตลอดจนตัวเลขการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มสูงขึ้นติดต่อกันหลายปี หมายถึงชีวิตของประชาชนนับล้านที่ต้องเผชิญกับทั้งเชื้อไวรัสที่มีความเสี่ยงที่จะคร่าชีวิตพวกเขาและยังต้องเผชิญกับการดำรงชีวิตในสภาวะที่เศรษฐกิจถดถอย ซึ่งทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนย่ำแย่ และไม่มั่นคง อีกทั้งสภาวะทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านโรคระบาดเช่นนี้ยังส่งผลให้ประชาชนสูญเสียศักยภาพและโอกาสที่จะกลับมามีชีวิตที่เป็นปกติในเร็ววัน

ภายหลังการอภิปรายสิ้นสุดลง ถึงจุดนี้จะเห็นว่างบประมาณส่วนใหญ่ที่ถูกจัดสรรไปสู่หน่วยงานต่างๆยังคงไม่ได้มีการปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดความสอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันแต่อย่างใด แต่ยังคงเป็นการจัดสรรงบประมาณในรูปแบบเดิม ทำให้สัดส่วนการจัดสรรเพื่ออัดฉีดงบประมาณเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชนถูกตัด ภายใต้กลไกการจัดสรรงบประมาณที่ให้ความสำคัญกับเรื่องที่สามารถชะลอออกไปก่อนได้ เช่น กลไกการจัดสรรงบประมาณดังกล่าวของรัฐบาลที่ผ่านมามักเป็นการนำงบประมาณไปใช้ในการจัดซื้อจัดจ้าง อาวุธยุทโธปกรณ์ การปกป้องความมั่นคงของชาติ การพัฒนาระบบขนส่งมวลชน โครงสร้างพื้นฐาน การตัดถนน หรือการส่งเสริมภาคธุรกิจขนาดใหญ่ รวมถึงกระแสข่าวเกี่ยวกับการใช้งบประมาณจำนวนหนึ่งไปช่วยพยุงบริษัทการบินไทยที่กำลังจะล้มละลาย ซึ่งไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนเท่ากับการจัดสรรงบประมาณทางด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้

ขณะที่งบประมาณที่นำมาจัดสรรในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในปัจจุบัน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด กลับไม่ได้อยู่ในความสนใจของรัฐบาลเท่าที่ควร สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การจัดลำดับความสำคัญ (prioritization)ในการจัดสรรงบประมาณส่วนใหญ่ยังมีการกันเงินหรืออัดฉีดเงิน ไปให้กับหน่วยงานราชการ หน่วยงานภาครัฐ โดย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ชี้ว่ารัฐบาลอัดฉีดงบในเรื่องของเงินเดือน และสวัสดิการของข้าราชการที่มีอยู่ราว 5 ล้านคนเป็นจำนวนเงินสูงถึง1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 หรือร้อยละ 40 ของงบประมาณทั้งหมด ขณะที่ พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ.2565 งบสวัสดิการของประชาชนถูกตัดลงเป็นจำนวนเงินกว่า 35,000 ล้านบาท จึงสะท้อนให้เห็นหลักการจัดสรรงบประมาณที่ไม่สมดุลและไม่สมเหตุสมผลกับสภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19ในปัจจุบัน

การจัดสรรงบประมาณเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายภาครัฐและฐานะทางการคลังของประเทศในอนาคต ยิ่งในสภาวะวิกฤตที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ทั้งวิกฤตสุขภาพและวิกฤตเศรษฐกิจ ปัญหาหนี้ครัวเรือน หนี้นอกระบบที่ประชาชนต้องแบกรับ ปัญหาการว่างงาน การขาดรายได้ การขาดสวัสดิการเยียวยา ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่สร้างความกังวลให้กับประชาชน งบประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท จึงมีความสำคัญในแง่ของการใช้ไปกับการฟื้นฟูประเทศและฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนให้กลับคืนมาทั้งในด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ

หากทบทวนถึงสาเหตุที่ทำให้ พ.ร.บ.งบประมาณมีปัญหาในเรื่องการจัดสรรงบประมาณที่ไม่สมดุลและไม่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในเวลานี้ อาจอธิบายสาเหตุดังกล่าวได้พอสังเขป ดังนี้

ประการที่ 1 ปัญหาเชิงโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจในปัจจุบันเป็นผลของการต่อสู้ ระหว่างระบบศักดินากับระบอบประชาธิปไตยนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มาจนถึงปัจจุบัน การจัดสรรงบประมาณให้ส่วนราชการที่มากกว่าภาคสาธารณะหรือภาคประชาชน เป็นวัฒนธรรมการเมืองและระบบคิดทางการเมืองแบบ "อํามาตยาธิปไตย" ที่ผู้มีอำนาจต้องการธำรงรักษาผลประโยชน์ของตน ด้วยการออกแบบกฎหมาย กติกา ที่เอื้อต่อการตัดสินใจ ตัวอย่างเช่น ในเรื่องของแผนการจัดสรรงบประมาณภายใต้ พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้ออกมาในลักษณะที่รัฐเห็นชอบให้มีการอัดฉีดงบให้กับกระทรวงหลักๆไม่กี่กระทรวง ขณะที่กระทรวงสำคัญถูกตัดงบ ทำให้เป็นตัวสะท้อนได้อย่างชัดเจนว่าชีวิตของประชาชนไม่ได้มีความสำคัญมากไปกว่าการรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์และอำนาจของฝ่ายรัฐและกลุ่มทุนใหญ่ ในขณะที่รัฐบาลยังคงเป็นตัวแทนของระบอบอํามาตยาธิปไตยและระบบทุน แม้รัฐจะบอกว่าทำเพื่อประชาชนก็ตามที แต่ผลลัพธ์จากการกระทำที่ผ่านมากลับสะท้อนไปในทิศทางตรงข้าม เพราะประชาชนไม่ได้ประโยชน์จากการซื้ออาวุธ หรือการเพิ่มเงินเดือนและสวัสดิการให้กับข้าราชการแต่อย่างใด

แน่นอนว่า ภายใต้โครงสร้างอำนาจนิยมที่เข้มแข็งจึงเป็นที่มาว่าทำไมจึงยังมีคนอีกกลุ่มที่ไม่เข้าใจการเรียกร้องประชาธิปไตย ไม่เข้าใจว่าทำไมประชาธิปไตยจึงมีความสำคัญต่อชีวิตของพวกเราและพวกเขามากขนาดนี้ ทำไมการออกมาพูด ถึงปัญหาทั้งความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมต่างๆทั้งโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมือง การบังคับใช้กฎหมาย การเลือกปฏิบัติ การคุกคามสิทธิเสรีภาพ การละเมิดสิทธิมนุษยชนทำไมประเด็นเหล่านี้จึงไม่มีการถกเถียงอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้ที่สนับสนุนระบอบอํามาตยาธิปไตย มีเพียงประเด็นการกล่าวโทษหรือความผิดพลาดของรัฐบาลชุดที่แล้วทั้งๆที่ความจริงแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ไม่ได้แตกต่างกับรัฐบาลที่ผ่านมาแต่อย่างใด อีกทั้งระบบอำมาตยาธิปไตย ไม่ได้ช่วยส่งเสริม สนับสนุนในเรื่องการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น อันจะสังเกตได้จากการจัดลำดับความสำคัญของการจัดสรรงบประมาณ ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา กลับกลายเป็นเรื่องของความมั่นคงทางการทหาร การส่งเสริมการผูกขาดของทุนขนาดใหญ่ การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เท่าเทียม การใช้กติกาการเลือกตั้งที่ขาดความชอบธรรม การบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนโดยเฉพาะชนชั้นล่างชนชั้นแรงงานได้ แต่ในทางตรงกันข้ามกลับเห็นบรรดาข้าราชการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามลำดับ ขณะที่เมื่อมองมายังประชาชนกลับประสบวิบากกรรม ทั้งเรื่องของรายได้ หนี้สิน ปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า ตลอดจนต้องมานั่งวิตกกังวลว่าจะติดเชื้อหรือไม่และเมื่อติดแล้วจะได้รับการรักษาเยียวยาอย่างไร ตรงนี้เป็นอาการที่แสดงออกมาให้เห็นถึงโครงสร้างที่ไร้มนุษยธรรมภายใต้ระบอบอำนาจนิยม ที่ให้ผู้มีอำนาจเป็นฝ่ายตัดสินใจในทุกขั้นตอนทุกกระบวนการของการประกาศใช้กฎหมาย นโยบาย เป็นฝ่ายที่มีกลไกทางการเมืองที่ช่วยให้สามารถออกเสียงในสภามากกว่าฝ่ายตรวจสอบอยู่เสมอ

ดังนั้นในวันนี้ กฎหมายและรัฐธรรมนูญบ้านเรากลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายอำมาตยาอธิปไตยในการสร้างความชอบธรรม เพื่อรักษาอำนาจและผลประโยชน์อันมหศาล ขณะที่ประชาชนคนธรรมดาไม่สามารถมีอำนาจที่จะไปต่อรองกับรัฐบาลได้ ไม่สามารถเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานได้ เพราะรัฐบาลใช้เงินในการพัฒนาความมั่นคงภายใต้วิธีคิดของรัฐ แต่ในทางกลับกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนก็คือความมั่นคงของรัฐอย่างหนึ่งเช่นกัน และเป็นความมั่นคงที่สำคัญเหนือความมั่นคงรูปแบบอื่น เพราะหากไม่มีประชาชนใครจะเป็นผู้เสียภาษีเพื่อให้รัฐมีเงินไปซื้ออาวุธ หากชีวิตของประชาชนไม่มีความมั่นคง ใครจะเป็นแรงงานที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นหากวิธีคิดของรัฐยังเป็นแบบเดิม ท้ายที่สุดก็จะนำสังคมเข้าสู่ปรากฏการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงที่ไม่มีจุดสิ้นสุด

ประการที่ 2 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดปรากฏการณ์ที่มีการลุกฮือของ ประชาชนนิสิตนักศึกษา รวมถึงการจัดตั้งพรรคการเมืองทางเลือก ที่ต้องการนำประเทศผ่านพ้นวิกฤต อย่างพรรคอนาคตใหม่หรือพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามการจะขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง เปรียบเสมือนการลดทอนอำนาจของระบอบอํามาตยาธิปไตย ทำให้เกิดแรงต่อต้านในทุกรูปแบบจากกลุ่มอำมาตย์และกลุ่มทุน และใช้กลไกทางกฎหมาย รัฐธรรมนูญ มาสกัดกั้นยับยั้งอำนาจของประชาชนที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  ไม่ว่าจะเป็นการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎหมายควบคุมการชุมนุม การจับกุมและดำเนินคดีกับแกนนำนักศึกษา หรือแม้แต่กติกาของรัฐธรรมนูญที่ให้ส.ว. 250 คนเป็นคนเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นต้น การต่อสู้ของสองฝ่าย คือสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มาจนถึงปัจจุบัน ต่างกันเพียงรูปแบบการต่อสู้และกฎกติการที่ใช้ แต่แกนกลางของประเด็นที่เป็นความขัดแย้งยังคงไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือ การต่อสู้เชิงอุดมการณ์การเมืองและการต่อสู้เพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ระหว่างฝ่ายอำมาตย์กับฝ่ายประชาชน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การเมืองไทยล้มลุกคลุกคลานและติดอยู่ในกับดักความขัดแย้งมาตลอด 89 ปี เมื่อฝ่ายศักดินาไม่ยอมประนีประนอมและกระจายถ่ายโอนอำนาจไปสู่ประชาชน ขณะที่ฝ่ายประชาชนเอง ในปัจจุบันต้องต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยเพื่อเรียกร้องการกระจายอำนาจ เพื่อเรียกร้องการกระจายรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแต่ในปัจจุบันการปกครองภายใต้ระบอบอำนาจนิยม เป็นการซ้ำเติมให้สิ่งที่ประชาชนเรียกร้องแทบจะเป็นไปไม่ได้

กลับมาที่การอภิปราย พ.ร.บ.งบประมาณปี 65 ในรัฐสภา ในปีนี้แม้ว่าการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนหนึ่ง ได้แสดงให้เห็นถึงสภาพปัญหาที่สังคมกำลังเผชิญ ทั้งปัญหาเศรษฐกิจถดถอย ปัญหาการบริหารจัดการวิกฤตโรคระบาดของภาครัฐ และปัญหาการจัดสรรงบประมาณที่มีการปรับลดงบด้านสวัสดิการ แสดงถึงความไม่เอาจริงเอาจังในการฟื้นฟูประเทศ รวมถึงฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชน

สุดท้ายแล้วที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าอำนาจตัดสินใจทั้งหมดขึ้นอยู่กับรัฐบาล ประชาชนไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจหรือเลือกได้ว่าจะมีชีวิตอยู่ในประเทศนี้กันอย่างไร  แต่ทุกอย่างถูกกำหนดไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อของวัคซีนที่รัฐบาลกำหนดว่าเราจะได้ฉีดยี่ห้ออะไร งบประมาณที่จะจัดสรรก็ถูกกำหนดไว้แล้วว่าจะตัดงบประมาณของหน่วยงานใดและเพิ่มงบให้กระทรวงใด จำนวนงบประมาณด้านสวัสดิการ และประกันสังคมก็ถูกกำหนดไว้แล้วว่าจะต้องถูกตัดลงเพราะการจัดเก็บรายได้ลดลง จำนวนงบประมาณด้านการศึกษาก็ถูกกำหนดไว้แล้วว่าควรปรับลดลง และจำนวนงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างอาวุธก็ถูกกำหนดไว้แล้วว่าควรจะเพิ่มขึ้น 

ดังนั้นภายใต้ระบอบอำนาจนิยมเราไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะได้วัคซีนยี่ห้ออะไร เมื่อฉีดไปเราจะได้รับผลข้างเคียงอะไรบ้าง เราไม่สามารถตัดสินใจได้ ว่าจะให้รัฐจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสมได้อย่างไรในภาวะวิกฤติเช่นนี้เพื่อที่จะฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจสังคมของประเทศให้กลับคืนมาในเร็ววัน เราไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เมื่อไหร่เพราะขึ้นอยู่กับการลงคะแนนเสียงของส.ว. ที่จำเป็นต้องลงไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ปัญหาการขาดดุลงบประมาณเนื่องจากไม่สามารถหารายได้และจัดเก็บภาษีได้ตามเป้า ทำให้ต้องกู้และเป็นหนี้สาธารณะที่มีแนวโน้มสูงขึ้นไปแตะเพดานที่ร้อยละ 60 ของจีดีพีภายในสิ้นปีนี้ สำหรับประชาชนผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบในการจ่ายคืนน้ันถือเป็นเรื่องหนักหนาสาหัส แต่สำหรับรัฐบาลชุดนี้วันที่พ้นอำนาจก็ไม่ต้องรับผิดชอบปัญหาที่สร้างขึ้นมาเหล่านี้แต่อย่างใด นี่คือสภาพปัจจุบันของสังคมไทย คือสภาพปัจจุบัน ทั้งๆที่คนจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับวิธีการบริหารและการจัดสรรงบประมาณแบบนี้  แต่ก็มีคนอีกไม่น้อยที่ยังคงเชื่อและศรัทธาในตัวรัฐบาลว่าสามารถจะบริหารให้ประเทศไปถึงฝั่งฝันได้ 

เมื่ออะไรอะไรก็ดูจะไม่เข้าข้างประชาชน รัฐบาลก็ทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ทิ้งประชาชนให้ปากกัดตีนถีบรับผิดชอบชีวิตของตัวเองในยามวิกฤต จึงทำให้สังคมต้องกลับมาทบทวนและเสนอแนวทางในการนำประเทศออกจากวิกฤตครั้งนี้ และไม่ว่าการนำประเทศออกจากวิกฤตจะมีรูปแบบเป็นอย่างไร ก็คงไม่สำคัญเท่ากับการเห็นพ้องต้องกันว่า การมีรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกต้ังจากกติกาที่บริสุทธิ์ยุติธรรม และการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่สังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริงเท่าน้ันจึงจะนับเป็นทางออกที่ดีที่สุดในเวลานี้


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net