Skip to main content
sharethis

ครป.จัดเวทีชำแหละจัดงบประมาณ 65 แบบเย็นชา เอาราชการเป็นศูนย์กลาง ทำงานเหมือนเรือพายช้ากว่าโควิดเรือหางยาว ชี้วัคซีนคืออาวุธไม่ใช้ยุทโธปกรณ์ ให้ กมธ.งบประมาณแปรญัตติแก้ปัญหา จี้นายกลาออก ให้สภาเลือกนายกคนใหม่

ครป.จัดเวทีชำแหละจัดงบประมาณ 65 แบบเย็นชา เอาราชการเป็นศูนย์กลาง

5 มิ.ย. 2564 ในเวที ครป. ชำแหละงบประมาณรายจ่ายประจำปี 65 และการบริหารเศรษฐกิจการเมืองที่ล้มเหลวของรัฐบาล ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาวานนี้ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต  ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า 7 ปี รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เราเห็นปัญหามากขึ้น แต่ไม่เห็นหนทางที่รัฐบาลจะฝ่าวิกฤตไปได้ ล่าสุด การบริหารของพล.อ.ประยุทธ์ วิสัยทัศน์สับสน ยุทธศาสตร๋อ่อนแอ ขาดพลังในการแก้ไขและบริหารจัดการโควิด 

การจัดการสถานการณ์โควิดของรัฐบาลไร้สมรรถนะอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นม้าตีนต้น แต่อ่อนแอตอนปลาย จนประเทศไทยหล่นไปติดลำดับ 80 ของโลกในแง่การแพร่ระบาดไปแล้ว เพราะรัฐบาลไม่มีจินตนาการในการใช้วัคซีนเพื่อแก้ไขโรคโควิด การบริหารจัดการความซับซ้อนจึงต่ำมาก การจัดการวัคซีนช้ากว่าเป้าหมายที่กำหนดมาก ไม่พอและตามการแพร่ระบาดไม่ทัน ซึ่งโควิดเหมือนเรือหางยาว พล.อ.ประยุทธ์ เหมือนเรือพาย เหมือนไฟไหม้ไปทั้งเมืองแล้ว แต่ว่ารถดับเพลงหรือวัคซีนมีแค่ 2 คัน คือ ซิโนแวค และแอสต้าฯ คันหนึ่งไปฉีดที่ไฟกำลังไหม้ อีกคันไม่รู้ไปฉีดที่ไหน 

ผลที่ตามมาคือความไร้ประสิทธิภาพ  ประชาชนจึงถูกเททั้งประเทศ โรงพยาบาลประกาศเลื่อนกันจ้าละหวั่น เพราะวัคซีนได้รับการจัดสรรไม่พอ รัฐบาลทำผิดสัญญาประชาคมกับประชาชน หลอกลวงประชาชนทั่งประเทศ วันที่ 7 มิ.ย. อาจมีการจัดฉากการฉีดวัคซีนตามสัญญา แต่หลังจากนั้น จะถูกเลื่อนออกไป

รัฐบาลเปลี่ยนยุทธศาสตร์กลางคันแต่ไม่จัดหาวัคซีนมาให้พอ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงานตามยุทธศาสตร์ใหม่ พอเปลี่ยนยิ่งไม่พอยิ่งเกิดความโกลาหล และรัฐบาลแทนที่จะยินดีที่มีคนช่วยจัดหาวัคซีน ยังไปขัดขวางเขาอ้างระเบียบต่างๆ ควรรับข้อเสนอของ อบจ.มา และแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรค  ถ้าห่วงประชาชนเองอย่างที่พูด ใครอาสามาช่วยก็ควรรีบดึงมาร่วมมือ มาบูรณาการร่วมกัน ไม่ใช่ทำเป็นจรเข้ขวางคลอง หรือหมาหวงก้าง เพราะแก้ปัญหาโควิดไม่ได้  วิธีการง่ายๆ ใช้สมองสักหน่อย กำหนดเป้าหมาย 70% ของแต่ละจังหวัด หรือกลัว อบจ.จะแย่งคะแนนนิยมหรือเปล่า กลัวว่าท้องถิ่นจะมีประสิทธิภาพมากกว่า และกลัวกระแสการกระจายอำนาจ ที่จะสั่นคลอนระบอบประยุทธ์นั่นเอง

สำหรับเรื่องงบประมาณ 65 ประธาน ครป. กล่าวว่า ได้ข้อสรุปว่า พล.อ.ประยุทธ์ จัดงบประมาณด้วยจิตวิญญาณที่เย็นชามาก ไม่ใช้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง แต่ใช้หน่วยงานราชการเป็นศูนย์กลาง ตอบสนองกลุ่มอภิสิทธิ์ชนมากกว่าความต้องการของประชาชน ลดงบประมาณด้านสาธารณสุข ไปเพิ่มงบประมาณกลาโหม เป็นเรื่องที่คนไทยขำไม่ออก หมายความว่า กลาโหมกำลัฝจะขยายกำลังพลและบุคลากรหรือ ซึ่งล้าสมัยและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ แต่ต้องปรับวิธีการเขียนงบประมาณใหม่

"ถ้าหากว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะบริหารบ้านเมืองต่อไปยิ่งจะย่ำแย่ต่อไป การสร้างอนาคตประเทศแทบมองไม่เห็น มีแต่ความมืดมนลงทุกวัน เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นอกเห็นใจคนไทยจริงๆ ควรลาออกเพื่อสร้างคุณูประการให้ประเทศไทย พ้นคราวเคราะห์ไป" รศ.ดร.พิชาย กล่าว

เลขา ครป. ชี้วัคซีนคืออาวุธ ไม่ใช้ยุทโธปกรณ์ ให้กมธ.งบประมาณแปรญัตติแก้ปัญหา ทางออกประเทศคือสภาเลือกนายกคนใหม่

นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่าท่ามกลางกระแสความขัดแย้ง และความล้มเหลว 2 ปีที่สืบทอดอำนาจมา นโยบายที่พรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาลหาเสียงไว้ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาประชาคมสักอย่าง จนคณะประชาชนสามัคคีประเทศไทย และประชาชนมากมาย เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อที่จะหาคนใหม่มาทำหน้าที่แทนในสถานการณ์วิกฤต เพราะ 7 ปีที่ผ่านมาหมดเวลาที่จะแสดงวิสัยทัศน์และจิตสำนึกใหม่แล้ว ครป. ขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกอย่างเป็นทางการ เพื่อเสียสละรับผิดชอบแก่ชาติบ้านเมือง เห็นแก่ประชาชนคนไทยทั้งชาติ เสียสละอำนาจเพื่อประชาชน 

ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ ไร้จิตสำนึก ไม่ลาออก คนที่จะกดดันเขาได้ ก็มีเพียง พล.อ.ประวิตร พล.อ.อนุพงษ์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้นที่จะกดดันให้ลาออกโดยใช้รัฐสภาเป็นเดิมพัน ไม่เช่นนั้น ประเทศไทยไปไม่รอด เพราะมีผู้นำบ้าน้ำลายหลงตนเองอยู่แบบนี้ ท่านใช้งบประมาณมากมายของแผ่นดินเพื่อค้ำบัลลังก์อำนาจให้ตนเอง ผ่านการกระจายงบแบบล้างผลาญแผ่นดิน ไม่สนใจว่าคนไทยจะต้องรับกรรมใช้หนี้ในอนาคตแทนท่านผู้ใช้เงินอีกนานเท่าไหร่

นอกจากนั้น ส.ส.ฝ่ายค้านจะต้องแสดงศักยภาพมากกว่านี้ หากว่าสภาไม่สามารถหาทางออกให้แก่บ้านเมืองได้ ส.ส.พรรคฝ่ายค้ายก็ช่วยลาออกจากสมาชิกรัฐสภาไปเลย เพื่อร่วมกันกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีหนทางไปต่อ เพื่อเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้ได้ ทุกวันนี้ประเทศไทยมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นอุปสรรคปัญหาแค่คนๆ เดียว และเลวร้ายกว่าโควิด-19 เสียอีก ดังที่ คณะสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย จะเดินทางไปยื่นหนังสือพรรคร่วมฝ่ายค้านในวันพุธนี้ ที่รัฐสภา

ทางออกของชาติบ้านเมืองวันนี้ เพื่อรักษาประเทศไทยไว้ไม่ให้แตกหักพังทลายไปมากกว่านี้ หลัง พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก ต้องให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ด้วยเสียงข้างมาก ตามเจตจำนงค์ที่ประชาชนเลือกมาในครั้งแรก ตามประเพณีและครรลองประชาธิปไตย โดยสมาชิกวุฒิสภาที่ได้อำนาจมาตามบทเฉพาะกาล ให้โหวตเลือกตามมติของสภาผู้แทนราษฎรที่แถลงออกมาก่อนการเสนอชื่อและโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมรัฐสภา ไม่เช่นนั้น ประเทศจะไปต่อไม่ได้ และหลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีที่รับช่วงต่อ 2 ปี หากไม่โดนอภิปรายไม่ไว้วางใจจนต้องยุบสภาเสียก่อน จะต้องรับฉันทามติของประชาชน แก้ไขปัญหาสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดร้ายแรง ปัญหาเศรษฐกิจผูกชาดและความเหลื่อมล้ำ และจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยและประชามติเพื่อกติกาใหม่ที่เป็นธรรมก่อนจะมีการเลือกตั้งใหม่ที่บริสุทธ์ยุติธรรมอย่างแท้จริง และปลดล็อกผู้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาด้วยอำนาจโดยมิชอบ มาสร้างประชาธิปไตยในระบบรัฐสภากันใหม่ ในยุคศิวิไลย์ที่แท้จริง

พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้ประเทศย้อนหลังไป 24 ปี ไปถึงจุดเริ่มต้นรัฐธรรมนูญ 40 ที่จะมีกระบวนการเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งไม่ต่างไปจากเดิม แถมยังพยายามปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและออกกฎหมายควบคุมประชาชนและองค์กรประชาสังคมอีกด้วย สวนทางการกระจายอำนาจอย่างสิ้นเชิง ซึ่งรัฐบาลธรรมาภิบาลต้องเปิดการเข้าถึงข้อมูลภาครัฐอย่างเปิดเผย โปร่งใส ไร้ผลประโยชน์ทับซ้อน ตรวจสอบได้ ดังนั้นจะต้องยกเลิกกฎหมายร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม และร่าง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ ฉบับใหม่โดยทันที

ก่อนที่พล.อ.ประยุทธ์ และพวก จะขโมยเงินในกระเป๋าคนไทยไปมากกว่านี้ และให้คนไทยใช้หนี้ในอนาคตด้วย ดูแผนงบประมาณของคณะรัฐมนตรีแล้วได้แต่ส่ายหัว รัฐบาลควรทบทวนแผนการใช้งบประมาณใหม่ทั้งหมดให้สอดคล้องกับกับการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการป้องกันไม่ให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงเรื่องของการฟื้นฟูประเทศในด้านเศรษฐกิจสังคมที่เราเสียโอกาสไป

งบประมาณกระทรวงกลาโหมที่ได้รับการจัดสรรถึง 203,282 ล้านบาท ถูกนำไปใช้ในโครงการเสริมสร้างจัดหายุทโธปกรณ์ แทนที่จะจัดหาวัคซีนซึ่งเป็นอาวุธที่แท้จริงในยุคสมัยใหม่ และส่งเสริมงบประมาณให้กระบวนการด้านสาธารณสุข ซึ่งความมั่นคงมนุษย์คือยุทธศาสตร์ที่แท้จริง ซึ่งต้องเน้นงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงแรงงาน และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มากขึ้น

ผมขอทวงถามแทนประชาชนว่า งบประมาณปี 65 ได้มีการจัดสรรงบประมาณโดยสอดคล้องกับนโยบายสวัสดิการสังคมที่พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐที่หาเสียงและให้สัญญาประชาคมไว้หรือไม่  2 ปีที่ผ่านมา ยังไม่เคยปรากฏการดำเนินนโยบาย โครงการสวัสดิการสังคมใดๆ ที่สอดคล้องกับสิ่งที่พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดได้หาเสียงไว้กับประชาชนเลย  เช่น สวัสดิการประชาชนแบบถ้วนหน้า นโยบายโครงการมารดาประชารัฐ แม้กระทั่งค่าจ้างขั้นต่ำและอัตราเงินเดือนผู้จบปริญญาตรีที่หาเสียงไว้

โดยเฉพาะเรื่องการแก้ปัญหาโรคระบาดร้ายแรง โควิด-19 ดูเหมือนรัฐบาลตั้งใจล้มเหลวในการสื่อสารในภาวะวิกฤตเพื่อให้ประชาชนสับสน จนโดนตั้งข้อกล่าวหาว่าท่านหากินกับความตายของประชาชนหรือไม่ ถ้ารัฐบาลจริงจังกับปัญหาคอร์รัปชัน ทำไมไม่เปิดให้สรรหา ป.ป.ช.ชุดใหม่ องค์กรอิสระชุดใหม่ทั้งหมด ที่มาจากสภาผู้แทนราษฎร ทำไมไม่ยกเลิกองค์คณะชุดเก่าที่แต่งตั้งกันตั้งแต่สมัย คสช.

หากมีความจริงใจหยุดคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ ทำไมไม่แสดงความจริงใจให้สังคมเห็น โดยเฉพาะการยกเลิกการส่งทหารเข้าไปเป็นประธานและกรรมการในรัฐวิสาหกิจต่างๆ ทั้ง 45 รัฐวิสาหกิจ ทั้งๆ ที่ไม่มีความสามารถเชี่ยวชาญเกี่ยวข้องเฉพาะ หรือการให้ข้าราชการระดับสูง นอกจากตามกฎหมาย ป.ป.ช. แล้วให้นายทหารในระดับผู้บังคับบัญชา ตำรวจในระดับผู้กำกับสถานีตำรวจทุกสถานี ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วยดีหรือไม่ หรือท่านประกาศวาระแห่งชาติเพื่อตั้งใจหลอกลวงใครหรือไม่ ท่านบอกว่ารัฐบาลผมไม่เคยคอร์รัปชัน แค่ถูกตั้งข้อกล่าวหาและยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. ท่านต้องรับผิดแล้ว ไม่ใช่ใช้ปัญญาแบบศรีธนญชัยบ่ายเบี่ยงความรับผิดชอบแบบนี้

อาจารย์นิด้าชี้ จุดจบของพล.อ.ประยุทธ์ คือแก้เศรษฐกิจผิดทาง สร้างหนี้ชดเชย ผิดวินัยการคลัง

รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย อัตถากร อาจารย์คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า เราจะอยู่ในหลุมดำ 7 ปีนี้ต่อไปหรือไม่ การที่แก้เศรษฐกิจผิด ไม่รู้จักคิด คือจุดจบพล.อ.ประยุทธ์ ทั้งๆ ที่ตอนรัฐประหาร  7 ปีก่อน พล.อ.ประยุทธ์ มีอำนาจเต็มมือ แต่ไม่แก้ปัญหาใดๆ เลย 

ผมอยากสรุปว่า เขาได้สร้างเศรษฐกิจทุนนิยมผูกขาดอภิสิทธิ์ชนอย่างเข้มแข็งมากในยุค คสช. 5 ปีก่อนการเลือกตั้งในปี 2562 คนจำนวน 1% มีทรัพย์สินถึง 67% ของประเทศ นี่คือความสำเร็จของระบอบ คสช. ที่ชัดเจนที่สุด ที่เอื้อเจ้าสัวไม่กี่ตระกูล แต่ปล่อยให้ชนชั้นล่างยากจนมากขึ้น เป็นผลงานที่สำคัญของพล.อ.ประยุทธ์

วันนี้ โควิดระบาดรอบ 3 แต่ พล.อ.ประยุทธ์ แก้ปัญหาโควิดไม่ได้เลย หากฉีดได้ถึง 50% ในไตรมาส 3 ได้จะดีมาก เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันของสังคมไทย แต่พล.อ.ประยุทธ์ คือสิ่งที่ล้มเหลวมากที่สุด เราต้องสร้างฉากทัศน์ใหม่ของประเทศ เรียงลำดับความสำคัญ ไม่ใช้แบบเหมารวม ไม่จำแนกแยกแยะ เป็นการจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่ฉลาดในทางเศรษฐศาสตร์มหภาค ผิดพลาด ล้มเหลว เกาไม่ถูกที่คัน พูดภาษาชาวบ้านคือ พล.อ.ประยุทธ์ ทำงานไม่เป็น 

รัฐบาลจะแจกเงินได้นานเท่าไหร่ ประชาชนอยากทำงานหากินด้วยความสุจริตมากกว่าหากเศรษฐกิจดี วันนี้ผมขอยกธุรกิจร้านอาหาร พล.อ.ประยุทธ์ ไม่รู้บริบทความเป็นจริง ทำร้านอาหารเจ๊งไปหมด แรงงานถูกเลิกจ้างกว่า 500,000 คน แต่รัฐบาลไม่เข้าช่วยเหลือ นายกสมาคมภัตตาคารออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลต้องมีมาตรการจำแนกแยกแยะ แต่นายกไม่เข้าใจบริบทของธุรกิจอาหาร ยังมีกิจกรรมลูกโซ่ในระบบวงจรอาหารมากมาย ทั้งตลาดสด เกษตรกร คนส่งน้ำแข็ง ตลาดสดวันนี้ก็เงียบเหงาไปด้วย นี่คือผลกระทบที่เป็นลูกโซ่ คุณประยุทธ์จึงขาดภาวะผู้นำที่ส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจ

บริษัทท่องเที่ยวเหลืออยู่ 11,000 รายจากที่มีอยู่ และกำลังจะอันตธานหายไป  วันนี้รัฐบาลต้องสนใจกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษ คนงานรับจ้าง แท็กซี่ มอเตอร์ไซด์รับจ้าง คนเข็นของขาย รัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจโควิดผิดพลาด ยังแก้ปัญหาเศรษฐกิจภาคประชาชนผิดพลาดด้วย ถือว่าสอบตก เราเจอวิกฤตซ้อนวิกฤต หลังจากนี้จะเจอภาวะการว่างงาน โดยเฉพาะเด็กจบใหม่อีก 4-5 แสนคน

พล.อ.ประยุทธ์ โตมาแบบทหาร แต่ท่านต้องบริหารแบบพลเรือนถึงจะแก้ปัญหาได้ ที่ผ่านมาจึงผิดพลาดมาทั้งระบบ นักบริหารที่ดีจะต้องจับเข่าคุยทุกฝ่าย กลั่นกรองเพื่อกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อประชาชน แต่พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ทำแบบนั้น จนมาเจอวิกฤตการคลังอย่างหนักในปัจจุบัน รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ บริหารประเทศขาดดุลย์อย่างหนัก จนประเทศไทยสิ้นมนต์ขลังทางการเงินแล้ว การสะสมสร้างหนี้มาจนถึงปัจจุบัน ยิ่งสร้างหนี้ชดเชย ยิ่งเจอปัญหาหนี้สาธารณะ และถ้าเกิน 60% ของ GDP ถือว่าผิดกฎหมายและผิดวินัยการคลัง

งบประมาณรายจ่ายปี 65 รัฐบาลเพิ่มงบการซื้ออาวุธเพิ่มขึ้นมากมาย เท่ากับจัดเรียงความสำคัญไม่ถูกต้อง เรื่องสุขภาพของประชาชนคือเรื่องที่สำคัญที่สุดในเวลานี้ เป็นเรื่องความมั่นคงของสังคม งบประมาณ 65 จึงดูแปลกประหลาดอย่างมาก การจัดสรรงบด้านสาธารณสุขและด้านสังคม ลดลงเป็นจำนวนมาก 
สรุปคือ วิกฤตการคลังของประเทศไทยรออยู่ข้างหน้า ข้อมูลของรัฐบาลเรื่องธุรกิจขนาดกลาง-ขนาดย่อย ค่อนข้างแย่ จึงทำนโยบายสาธารณะที่ดีไม่ได้ และเวลาเกิดวิกฤตจึงแก้ไขปัญหาไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้าเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วย จะไหวไหมนี่? 
นอกจากนี้ ความสับสนเรื่องวัคซีนมาจากการกระทำของนายกรัฐมนตรีเอง ที่จงใจจัดซื้อเพียง 2 ยี่ห้อเท่านั้น ทั้งๆ ที่มีให้เลือกเยอะแยะ การลงทุนหลายตัวมันลดความเสี่ยง ไม่รู้ไปมัดตัวเองทำไมทำให้วุ่นวายถึงทุกวันนี้ มีความสับสนอลหม่านมากในการจัดการประเทศนี้ ทำไมในสหภาพยุโรปไม่มีความสับสนเหมือนประเทศไทย

สรส. สรุป 7 ปี 7 ปัญหาแรงงาน รัฐบาลไม่เคยปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้ในตอนหาเสียง

ดร.พงษ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี รองเลขาธิการ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ (สรส.) ผู้แทนภาคแรงงาน กล่าวสรุปประเด็นแรงงานว่า คนงานอยากเห็นรัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาแรงงาน แต่ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา คนงานไม่เห็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนงานในประเทศไทยให้ดีขึ้นเลย ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา ซึ่งพลเอกประยุทธ์ เป็นนายรัฐมนตรี สิ่งที่เป็นเชิงประจักษ์คือรัฐบาลไม่ทำตามนโยบายที่ให้แก่ประชาชนในช่วงหาเสียง เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาล ก็ไม่ได้แก้ไขปัญหาแรงงาน ปล่อยให้การจ้างงานมีความเหลือมล่ำกันมากขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ในขณะที่รัฐบาลใส่ใจการแก้ปัญหาของนายจ้าง และกลับละเลยไม่สนใจปัญหาปากท้องของคนงาน สิ่งที่คนงานต้องการคือการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรมที่ได้จากการขายสินค้าและบริการของนายจ้างที่คนงานมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิต แต่รัฐบาลไม่สามารถทำให้กับคนงานได้
ปัญหาของคนงานสรุปได้ 7 ข้อ ดังนี้

1. รัฐบาลไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้ในตอนหาเสียงในเรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำ เมื่อพรรคพลังประชารัฐชนะการเลือกตั้ง ก็ไม่ยอมนำนโยบายที่หาเสียงไว้กับคนงานมาทำให้เป็นจริง รัฐบาลเริ่มต้นด้วยการหลอกลวง จึงไม่มีอะไรที่จะสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นในใจคนงานได้กับรัฐบาลชุดนี้

2. รัฐบาลใช้แนวคิดทุนนิยมเสรีในการส่งเสริมระบบทุน จนละเลยคุณภาพชีวิตของคนงาน สิ่งที่เกิดกับคนงานคือเงื่อนไขการจ้างแบบไม่มีคุณค่า (Decent Work) ที่นำมาใช้งานกับคนงาน คนงานมีสัญญาจ้างปีต่อปี ทำงานไปแต่ไม่เคยได้รับการขึ้นเงินเดือน เมื่อออกจากงานก็ไม่ได้รับเงินชดเชยตามระยะเวลาที่ทำงานตั้งแต่แรก เพราะถูเงื่อนไขของสัญญาจ้างปีต่อปีเท่านั้น ในรัฐวิสาหกิจมีการจ้างแรงงานแบบ outsource มากขึ้น ที่ทำให้คนงานมีคุณภาพชีวิตต่ำ ลูกจ้างในกระทรวงสาธารณะสุขที่ทำงานในโรงพยาบาล สถานีอนามัยคต่างๆ ก็กลายเป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้าง ที่เงินเดือนค่าจ้างก็ไม่มีการตั้งงบประมาณเบิกจ่าย แต่ใช้เงินบริจาคหรือเงินบำรุงของโรงพยาบาลเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น กระทรวงแรงงานเริ่มพิจารณาออกกฎระเบียบการจ้างงานรายชั่วโมงเพื่อมาใช้งาน ทำให้สภาพการจ้างจะยิ่งเลวร้ายไปจนหาความมั่นคงในการทำงานไม่ได้

3. รัฐบาลละเลยไม่ใส่ใจการละเมิดสิทธิแรงงาน ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์หรือสิทธิมนุษยชน ส่งผลทำให้เกิดการทำลายล้างสหาพแรงงาน ทั้งในภาครัฐวิสาหกิจและเอกชน สหภาพแรงงานเป็นเครื่องมือของคนงานที่จะใช้ในการเจรจาต่อรองกับนายจ้างในการปรับปรุงสภาพการจ้างให้ดีขึ้น แต่กลับถูกทำลายล้างโดยระบบการจ้างงานในประเทศไทย ส่งผลทำให้จำนวนสหภาพแรงงานในประเทศไทยมีการจัดตั้งในอัตราที่น้อยกว่าร้อยละ 2 ของการจ้างงานทั้งหมด

4. การแก้ไขปัญหาแรงงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดเป็นไปอย่างล่าช้า ไม่ทันต่อความเดือดร้อนของคนงานที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดกิจการหรือเลิกกิจการ นายจ้างหลายแห่งบังคับให้ลูดจ้างยื่นเอกสารใบลาออก เพื่อแลกกับการจ่ายเงินจำนวนเล็กน้อยๆ ที่ๆ ที่หากนายจ้างเลิกจ้าง ต้องจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงานไม่เคยทำงานเชิงรุกเพื่อตักเตือนนายจ้างไม่ให้กระทำการที่ฝ่าฝืนกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หรือออกประกาศให้คนงานทราบข้อควรปฏิบัติภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่มีการเลิกจ้าง

5. รัฐไม่สามารถรักษางานไว้ให้คนงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาทำให้นายจ้างเลือกออกแบบการทำงานในโรงงานเป็นระบบควบคุมอัตโนมัติที่ใช้แรงงานคนทำงานน้อยลง และปลดคนงานออก รัฐส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้นายจ้างอยู่รอดในธุรกิจ มีการส่งเสริมด้วยนโยบาย BOI หรือนโยบายลดภาษี แต่สิ่งที่รัฐบาลทำ ไม่มีหลักประกันอะไรที่จะคุ้มครองรักษางานให้คงอยู่เพื่อให้คนงานมีงานทำ ที่ผ่านมามีการเลิกจ้างคนงานไปจำนวนมาก คนงานเดือดร้อนมาก

6. ระบบเศรษฐกิจของประเทศทำให้เกิดความเหลี่อมล่ำมาก โดยเฉพาะช่องว่างระหว่างนายจ้างและคนงาน คนงานยังคงเป็นกลุ่มคนที่เปราะบางที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง ถูกกดขี่เงินเดือนค่าจ้าง ยิ่งไปกว่านั้นนายจ้างพัฒนารูปแบบการจ้างงานแบใหม่ๆ เช่น การจ้างงานระยะสั้น การจ้างงานรายชั่วโมง และกระทรวงแรงงานก็ยังรับลูกด้วยการออกกฎเกณฑ์มาบังคับใช้กับคนงานด้วย ที่จะทำให้การจ้างงานไม่มีความมั่นคงในการทำงานเลย

7. รัฐบาลพูดถึงการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัล มีการกำหนดนโยบาย Thailand4.0 เพื่อหวังผลักดันประเทศให้ก้าวพ้นกับดักชนชั้นกลางที่ทำให้ประเทศไม่สามารถพัฒนาให้เป็นประเทศที่พัฒาได้ ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด คนงานถูกเลิกจ้างเยอะ เราไม่เห็นการใช้ช่วงเวลานี้พัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับคนงานได้เรียนรู้และฝึกทักษะ เพื่อให้สามารถกลับเข้าสู่ระบบการจ้างงานในระบบแบบ formal workers ได้ เดิมแรงงานเป็นอย่างไร ก็เป็นอยู่เหมือนเดิม ไม่มีโครงการพัฒนาให้คนงานสามารถ upskill/reskill ทักษะของคนงานเลย

การบริหารจัดการในรัฐวิสาหกิจของกระทรวงการคลังเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ หลายรัฐวิสาหกิจ ก็ปล่อยให้บอร์ดว่างเว้นไม่มีการแต่งตั้งคนเข้ามากำกับดูแล ที่มีการแต่งตั้งก็พบว่า เป็นข้าราชการ เป็นทหาร หรือพ่อค้า แต่ทั้งหมดไม่มีใครที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพของรัฐวิสาหกิจนั้นที่ใช้ประกอบกิจการ บอร์ดบางท่านเข้ามาตัดแบ่งงานของรัฐวิสาหกิจเอาไปให้เอกชนดำเนินการ ทำทำให้ประสิทธิภาพของคนรัฐวิสาหกิจน้อยลง มี ผลิตภาพน้อยลง เพราะจำนวนคนเท่าเดิม แต่ลดงานลงเพื่อแบ่งไปให้เอกชนดำเนินการแทน เมื่อเอกชนดำเนินการแทน ก็มีภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ในระยะยาว เมื่อการทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ก็ทำให้ผลประกอบการของรัฐวิสาหกิจแย่ลง จนเป็นเหตุให้อ้างการยุบเลิกหรือขายกิจการให้เอกชน พร้อมทั้งสังคมประณามว่า คนรัฐวิสาหกิจทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งๆ ที่สิ่งที่เกิดขึ้นกับรัฐวิสาหกิจเป็นผลจากการกำกับกิจการที่ล้มเหลวของกระทรวงการคลัง รวมทั้งบอร์ดที่ส่งเข้ามาดูแลรัฐวิสาหกิจ ก็เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในรัฐวิสาหกิจ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือการบินไทย ที่เสียหายทุกวันนี้ ก็ด้วยการทุจริตเชิงนโยบายของบอร์ด/รัฐบาลที่บริหารงานผิดพลาด แบ่งเนื้องานไปให้เอกชนทำเช่นการขายตั๋ว จนเป็นเหตุให้เกิดการทุจริตมโหฬาร เป็นต้น

ทั้งหมดคือสรุปประเด็นความล้มเหลวในการบริหารจัดการประเด็นแรงงาน ที่ล้มเหลวมาโดยตลอด ไม่สามารถทำให้คุณภาพชิวติขงคนงานดีขึ้นได้เลย ยิ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดยิ่งทำให้คนงานตกงานมากขึ้น แรงงานนอกระบบการหาเงินยากขึ้นในแต่ละวัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net