Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผย ณ เดือน พ.ค. 64 มีผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองอย่างน้อย 679 รายแล้ว คดี ม.112 แนวโน้มสั่งฟ้องเร็ว ขณะคดีดูหมิ่นศาล/ละเมิดอำนาจศาลเพิ่มมากขึ้น

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2564 สว่าในช่วงเดือน พ.ค. 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สามยังดำเนินอยู่ รวมทั้งยังเกิดการระบาดในเรือนจำหลายแห่ง ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศไทยยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในสถานการณ์โรคระบาด กลายเป็นข้อจำกัดของกิจกรรมรวมตัวหรือชุมนุมขนาดใหญ่เกิดขึ้น แต่กิจกรรมการแสดงออกทางการเมืองอื่นๆ ที่ไม่ได้ทำให้เกิดการแพร่เชื้อ ยังคงดำเนินต่อไป 

สถานการณ์การดำเนินคดีทางการเมือง ก็ไม่ได้ยุติไปตามการระบาดของโควิด แต่ยังคงมีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้น จากการแสดงออกและชุมนุมในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ในเดือนนี้ยังมีแนวโน้มของการที่พนักงานอัยการสั่งฟ้องคดีหลายคดีอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในคดีมาตรา 112

สถิติในภาพรวม จากการรวบรวมของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 จนถึงวันที่ 31 พ.ค. 2564 รวมเวลา 10 เดือนครึ่ง มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 679 คน ในจำนวน 344 คดี ในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด ยังแยกเป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 43 รายอีกด้วย

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือน เม.ย. 2564 เท่ากับมีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้น 44 คน ใน 43 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน ดูสรุปสถิติคดีเดือน เม.ย.) 

หากพิจารณาสถิติการดำเนินคดีแยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 97  คน ในจำนวน 92 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 103 คน ในจำนวน 29 คดี

3. ข้อหา “มั่วสุมกันใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดการวุ่นวาย” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 199 คน ในจำนวน 41 คดี

4. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 499 คน ในจำนวน 146 คดี  แยกเป็นคดีในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 23 คดี และคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 123 คดี

หากย้อนนับคดีตั้งแต่ในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2563 ซึ่งมีผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมืองอีกจำนวนหนึ่ง ยอดผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะมีรวมกันอย่างน้อย 510 คน ในจำนวน 154 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 100 คน ในจำนวน 65 คดี

6. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 52 คน ในจำนวน 59 คดี

ในจำนวนคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งหมด ยังพบว่ามีการแจ้งข้อกล่าวหาทับซ้อนไปพร้อมกับพ.ร.บ.ชุมนุมฯ จำนวน 36 คดี ทั้งที่ตามมาตรา 3 (6) ของพ.ร.บ.การชุมนุมฯ กำหนดให้กฎหมายไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ

จากจำนวนคดี 344 คดีดังกล่าว มีจำนวน 58 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เพราะผู้ถูกกล่าวหายินยอมให้เปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจ หรือในชั้นศาล เนื่องจากข้อกล่าวหามีอัตราโทษปรับ เช่น ข้อหาตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯ, ข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ หรือข้อหากีดขวางการจราจร เป็นต้น ขณะที่ในจำนวนนี้มี 1 คดี ที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องโดยเด็ดขาด

แนวโน้มเกี่ยวกับการดำเนินคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบในช่วงเดือน พ.ค. 2564 นี้ อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (ที่นี่)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net