Skip to main content
sharethis

6 มิ.ย. 2564 ศบค. รายงานพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 2,671 คน สะสม 177,467 คน เสียชีวิตเพิ่ม 23 คน สะสม 1,236 คน หายป่วยกลับบ้านได้เพิ่ม 2,424 คน - กทม.พบคลัสเตอร์ใหม่ ใน 4 เขต 'ตลาดเทเวศร์-เพชรบุรี ซอย 10' - สธ. ยืนยันกระจายวัคซีนครบทุกจังหวัด ปูพรมฉีดตามกำหนด 7 มิ.ย.

6 มิ.ย. 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 เช้าวันนี้ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ เพิ่มขึ้น 2,671 คน ลดลงจากเมื่อวานถึง 146 คน ส่งผลให้ยอดผู้ป่วยติดเชื้อ ตั้งแต่ 1 เมษายน 2564 มาอยู่ที่ 148,604 คน โดยเป็นการติดเชื้อใหม่ภายนอก 2,067 คน ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 604 คน หายป่วยกลับบ้านได้เพิ่ม 2,424 คน หายป่วยระลอกเดือนเมษายน รวม 99,091 คน มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 23 คน (ลดลงจากเมื่อวาน 13 คน) เมื่อรวมยอดสะสมตั้งแต่เกิดการระบาดในประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสม 177,467 คน หายป่วยสะสม 126,516 คน เสียชีวิตสะสม 1,236 คน

กทม.พบคลัสเตอร์ใหม่ ใน 4 เขต 'ตลาดเทเวศร์-เพชรบุรี ซอย 10'

พ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ระบุว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งหมด 2,761 คน จำแนกเป็น กรุงเทพฯ 675 คน ปริมณฑล 645 คน จังหวัดอื่น ๆ 664 คน เรือนจำและที่ต้องขัง 604 คน กรณีผู้เสียชีวิต 23 คน วันนี้ เป็นชาย 12 คน หญิง 11 คน กรุงเทพฯ 13 คน, สมุทรปราการ 4 คน, ฉะเชิงเทรา, นครราชสีมา, นครศรีธรรมราช, สระบุรี, สระแก้ว, ระยอง จังหวัดละ 1 คน

นพ.ทวีศิลป์ ยังระบุว่า กรุงเทพฯมีคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวัง 63 แห่ง โดยพบคลัสเตอร์ใหม่ ใน 4 เขต คือ 1.เขตดุสิต ในตลาดเทวราช (เทเวศร์) 2.เขตราชเทวี ชุมชนเพชรบุรี ซอย 10/ ซอยหลังโรงเรียนกิ่งเพชร 3.เขตลาดพร้าว แคมป์ก่อสร้าง บ.ซิโน-ไทย 4.เขตวัฒนา ชุมชนมาชิม และชุมชนเฉลิมอนุสรณ์

ขณะที่กรุงเทพฯ รายงานผลการดำเนินการตรวจสอบแคมป์คนงานก่อสร้างทั้งหมด 409 แห่ง ในการปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 409 แห่ง โดยขณะนี้ตรวจไปแล้ว 367 แห่ง ผ่านการประเมิน 270 แห่ง ไม่ผ่าน 97 แห่ง

ขณะที่ยังมีสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับปรุงคือ การวางแผนเตรียมความพร้อมเมื่อพบผู้ป่วย และการสื่อความรู้ข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะกรณีแรงงานข้ามชาติที่ไม่เข้าใจภาษาไทยซึ่งต้องจัดให้มีการสื่อสารในภาษาอื่น ๆ เพิ่มเติม การไม่จัดที่นั่งรับประทานซึ่งทำให้ยังคงมีการรับประทานอาหารแบบรวมกลุ่มกัน ที่อาบน้ำที่ไม่ถูกสุขลักษณะ และกิจกรรมสังสรรค์ การทำอาหาร และความสะอาดห้องส้วมที่ยังไม่เหมาะสม ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องนำไปปรับปรุงต่อไป

"นพ.ยง" ระบุไม่แนะนำ ฉีดวัคซีนโควิด 2 เข็ม ต่างชนิดกัน

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan โดยกล่าวถึง "COVID-19 วัคซีน การให้วัคซีนเข็ม 1 และ 2 ต่างชนิดกัน"

โดยระบุว่า ในทางปฏิบัติ วัคซีน COVID-19 เป็นวัคซีนใหม่ จึงยังไม่แนะนำที่ให้เข็ม 1 และ 2 ต่างชนิดกัน

ตามหลักทฤษฎี ที่มีการใช้วัคซีนในเด็ก การใช้วัคซีน มีการสลับกันได้ และมีการศึกษามาแล้วทั้งสิ้น เช่น วัคซีนป้องกันท้องเสียโรต้า วัคซีนตับอักเสบเอ ตับอักเสบบี คอตีบไอกรนบาดทะยัก เพราะโดยหลักการ เชื้อโรคไม่รู้หรอกว่าฉีดวัคซีนยี่ห้ออะไร

ขณะนี้ มีแนวทางการศึกษาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในการให้วัคซีนสลับยี่ห้อ ทางศูนย์ กำลังเริ่มดำเนินการวิจัย โดยขอทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และจะนำเสนอโครงการวันนี้ การวิจัยไม่น่าจะนานก็จะรู้ผล โดยเข็มแรกให้วัคซีน Sinovac เข็มที่ 2 ให้วัคซีน AstraZeneca และในทำนองกลับกัน เข็มแรกให้วัคซีน AstraZeneca เข็มที่ 2 ให้ Sinovac

การศึกษาจะเป็นประโยชน์อย่างมาก ในกรณีเมื่อฉีดเข็มแรกแล้วเกิดแพ้วัคซีน เข็ม 2 จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยน หรือในกรณีที่วัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่งขาดแคลน ก็สามารถใช้อีกชนิดหนึ่งได้เลย ไม่จำเป็นที่จะต้องเก็บวัคซีนไว้เข็ม 2 การบริหารวัคซีนจะง่ายขึ้นมาก ทำให้การให้วัคซีนเร็วขึ้น

จากข้อมูลเบื้องต้น ในผู้ที่แพ้วัคซีน เข็มแรก และไปฉีดเข็ม 2 ต่างชนิดกัน เราพยายามหาผู้ที่ฉีดดังกล่าว ขณะนี้ได้มีการตรวจสอบได้ 5 คน เชื่อว่ายังมีอีกมาก

จากข้อมูลที่ได้ แสดงในกราฟข้างล่าง จะเห็นว่า 4 คน ที่ฉีดวัคซีน Sinovac เข็มแรก และเข็ม 2 ได้รับ AstraZeneca ภูมิต้านทานที่ขึ้นสูงกว่าการได้รับวัคซีนชนิดเดียว Sinovac 2 ครั้ง และทำนองกลับกัน ก็เช่นเดียวกันมีเพียง 1 คน ที่ได้รับ AstraZeneca แล้วเข็ม 2 ได้ Sinovac อีก 1 เดือนต่อมา ภูมิคุ้มกันที่ขึ้นก็สูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ย

การศึกษาจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัย หรืออาการข้างเคียงว่าจะเพิ่มขึ้นหรือไม่

ถ้าการสลับวัคซีน ปลอดภัย จะเป็นอีกแนวทางหนึ่ง ในยามที่วัคซีนขาดแคลน หรือแพ้วัคซีน และเป็นแนวทางในการที่จะนำมาใช้ในการกระตุ้นเข็มที่ 3 โดยไม่จำเป็นที่จะต้องใช้วัคซีนชนิดเดียวกัน

โครงการทั้งหมดอยู่ในแนวทางการวิจัยของศูนย์ที่ทำอยู่แล้ว คงจะมีการประกาศรับอาสาสมัครเร็วๆ นี้ หลังจากที่โครงการผ่านคณะกรรมการจริยธรรม การศึกษาวิจัย

ความคืบหน้าทั้งหมด จะเรียนให้ทราบ และเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

สธ.กระจายวัคซีนครบทุกจังหวัด ปูพรมฉีดตามกำหนด 7 มิ.ย.

เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการกระจายวัคซีนโควิด-19 ทั้ง 2 ชนิดซิโนแวคและแอสตราเซเนกา ออกไปให้ครบทุกจังหวัดแล้ว ทำให้ทุกพื้นที่สามารถเริ่มดำเนินการคิกออฟ ฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบปูพรมทุกพื้นที่ได้ 7 มิถุนายนตามกำหนด โดยตอนแรกยอมรับกระจายวัคซีนในส่วนของแอสตราเซเนกา เดิมที่ได้รับ 240,000 โดส ก็ได้จัดสรรให้กระจายไปในแต่ละจังหวัด 3,600 โดส เมื่อได้รับการส่งมอบมากขึ้นถึง 1.8 ล้านโดส ก็ได้มีการกระจายไปในแต่ละจังหวัดมากขึ้น บวกรวมกับวัคซีนของซิโนแวคอีก ทำให้บางจังหวัดได้รับวัคซีนไม่ต่ำกว่า 10,000 โดส ทั้งนี้สามารถทยอยฉีดได้ถึง 2 สัปดาห์ จากนั้นวัคซีนก็จะทยอยส่งมอบไปให้ในแต่ละจังหวัดอย่างต่อเนื่อง

ต่อมาวันที่ 6 มิ.ย. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว กรณีมีโรงพยาบาลจำนวนหนึ่งประกาศเลื่อนการให้บริการวัคซีนโควิด-19 โดยระบุว่า ได้ให้ สสจ.ของแต่ละจังหวัดเข้าไปทำความเข้าใจแล้ว โดยวันที่ 7 มิถุนายนนี้ ต้องให้บริการวัคซีนแก่ประชาชน ทางกระทรวงฯ พร้อมเข้าไปช่วยเหลือแก้ไขสถานการณ์ ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ หน่วยบริการเร่งฉีดให้เร็ว จนไม่สอดคล้องกับจำนวนที่ได้รับ เมื่อหมดก็ต้องรอลอตใหม่เข้ามา นับเป็นความหวังดี ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมชาติของวัคซีนที่จะทยอยมา ก็ต้องจัดสรรให้ดี มิเช่นนั้นก็จะหมด ก่อนที่ลอตต่อไปจะลงมาถึง แต่ขอย้ำว่า คนไทยได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงตามเป้าของรัฐบาลแน่นอน

“ซึ่งบางคนก็ได้ฉีดช้า บางคนก็ได้ฉีดเร็ว เพราะวัคซีนจะเข้ามาเป็นลอตๆ ไม่ได้เข้ามารวดเดียวหมด จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้บริการเสร็จภายใน 1 เดือน ตรงนี้ต้องขอให้ประชาชนเข้าใจความเป็นจริง ทั้งนี้ การให้บริการได้มีการวางแผนไว้หมดแล้ว อย่างที่ผ่านมาให้บริการกลุ่มเสี่ยง และคนมีโรคประจำตัว ในอนาคตจะให้บริการอย่างกว้างขวางขึ้น สำหรับการจัดสรรวัคซีนลงแต่ละพื้นที่ มีการคำนวณที่ตายตัว ด้วยการนำจำนวนวัคซีนที่มีมาหารจำนวนจังหวัด จากนั้นจะมาคำนวณกับจำนวนประชากรในแต่ละพื้นที่ ไปจนถึงสถานการณ์ของแต่ละจังหวัด ขอย้ำว่า หากเป็นพื้นที่สีแดง จะต้องได้วัคซีนมากกว่าพื้นที่อื่นแน่นอน เพราะเป็นหลักในการควบคุมโรคทั่วไป”

เมื่อถามถึงการกระจายวัคซีนแอสตราเซเนกา ที่ไทยเพิ่งได้รับมา 1.8 ล้านโดส นายอนุทิน กล่าวว่า กระจายลงพื้นที่ต่างๆ แล้ว เพราะมีความต้องการสูง จากนี้ทางผู้ผลิตมีหน้าที่ส่งมอบให้ทันตามสัญญา และต้องหารือกับกรมควบคุมโรค เพื่อวางแผนการให้บริการแก่ประชาชนให้สอดคล้องกับจำนวนวัคซีนที่ได้รับ เมื่อวัคซีนลงไปถึงพื้นที่ ให้เป็นบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัด และ สสจ. ในการกระจายวัคซีนในพื้นที่ ซึ่งแต่ละจังหวัดล้วนมีวิธีที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ระหว่างนั้น ทางกระทรวงฯ ก็ต้องรอให้ผู้ผลิตส่งวัคซีนเข้ามาเพิ่ม ซึ่งจะต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยอย่างละเอียด จึงจะเข้าสู่การให้บริการประชาชนตามขั้นตอน

“สำหรับวัคซีนทางเลือกนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนให้เกิดขึ้น โดยจะช่วยเหลือเรื่องการขึ้นทะเบียน หากมีขอเข้ามา จากนั้นให้เป็นหน้าที่ของเอกชนในการหารือกับผู้ผลิต เพื่อนำมาให้บริการในประเทศ จะเห็นว่าภาครัฐสนับสนุนการนำเข้าวัคซีนที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน”

ราชกิจจาฯ ประกาศเพิ่ม ‘ฟ้าทะลายโจร’ ในบัญชียาหลัก รักษาผู้ป่วยโควิด

ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 4 มิ.ย.2564 เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2564 เพื่อให้การขับเคลื่อนและส่งเสริมการใช้ยาจากสมุนไพรในระบบบริการสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม ส่งเสริมภูมิปัญญาให้ได้รับการต่อยอดโดยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านกลไกการเสริมและพัฒนายาจากสมุนไพร อย่างเป็นระบบ ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเอง และเป็นการสร้างความมั่นคงทางยาให้กับประเทศ ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเพื่อให้บัญชีหลักแห่งชาติด้านสมุนไร มีการปรับปรุงแก้ไขให้ทันต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน จึงออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในวรรคสอง สาม สี่ และห้า ตามรายการบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร แนบท้ายประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ. 2564 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน

บัญชี 1 หมายความถึง รายการยาที่ใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพ มีหลักฐานที่สนับสนุนการใช้ตามสรรพคุณ (health Benefits) หรือบ่งใช้ (clinical indication) มีประสบการณ์การใช้ในประเทศไทยอย่างเพียงพอ สามารถใช้ในสถานพยาบาล โดยแบ่งเป็น ไม่มีเงื่อนไขการใช้ หรือมีเงื่อนไขการใช้ เช่น คุณสมบติของแพทย์ผู้สั่งใช้ และระดับสถานพยาบาล

บัญชี 2 หมายความถึง รายการยาที่ต้องใช้โดยแพทย์แพทย์แผนไทย หรือแพทย์แผนไทยประยุกต์

บัญชี 3 หมายความถึง รายการยาสำหรับโครงการพิเศษของหน่วยงานของรัฐ มีองค์ประกอบ คือ มีบทสรุปผู้บริหาร, หลักการและเหตุผลของโครงการ รวมทั้งที่มาของการพัฒนาสูตรตำรับ (ถ้ามี), มีวัตถุประสงค์, วิธีการดำเนินโครงการ, กำหนดระยะเวลาเริ่มต้น สิ้นสุดโครงการชัดเจน, ต้องระบุสรรพคุณเฉพาะ (specific health benefits) หรือข้อบ่งใช้ (clinical indication) และกำหนดวิธีใช้ยา ให้ชัดเจน, แนวทางการติดตามประเมินผลและความปลอดภัย, มีแนวทางการติดตามความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วย และมีหนังสือแสดงความจำนงในการรับผิดชอบและสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานภาครัฐ

ทั้งนี้ ให้รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรทุก 1 ปี และเมื่อสิ้นสุดโครงการ

ข้อ 2 ให้เพิ่มเติมรายการยาจากสมุนไพรในบัญชีแนบท้ายประกาศนี้ จำนวน 5 รายการ ประกอบด้วย ยาทำลายพระสุเมรุ ยาบรรเทาริดสีดวงทวารหนัก ยาสารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มี andrographolide ไม่น้อยกว่าร้อยละ 4 โดยน้ำหนัก (w/w) ยาสารสกัดฟ้าทะลายโจร และยาผงฟ้าทะลายโจร เป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ.2564

โดยมียาจากสมุนไพรฟ้าทะลายโจร อันได้แก่ ยาสารสกัดฟ้าทะลายโจร และยาผงฟ้าทะลายโจร ที่ถูกเพิ่มในบัญชียาหลักฯ ใช้รักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการน้อยได้

ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ดูประกาศราชกิจจาฯ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/120/T_0046.PDF

 

ที่มาเรียบเรียงจาก Thai PBS [1] [2] | สำนักข่าวไทย [1] [2] | มติชนออนไลน์


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net