ท้องถิ่นเซินเจิ้นในจีน กำลังอยู่ระหว่างการแก้ไขข้อบังคับการจ่ายค่าจ้างพนักงาน โดยจะลดแรงจูงใจให้คนทำงานนอกเวลา ด้วยการยกเลิกบังคับจ่ายค่าจ้าง 3 เท่าในวันหยุด - นายจ้างสามารถเลื่อนการจ่ายค่าจ้างออกไปได้ถึง 1 เดือน และค่าแรงขั้นต่ำจะถูกปรับทุก ๆ 3 ปีแทน 2 ปี
ช่วงต้นเดือน มิ.ย. 2564 China Labour Bulletin สื่อที่ติดตามประเด็นแรงงานในประเทศจีน รายงานว่าท้องถิ่นเซินเจิ้นในจีน กำลังอยู่ระหว่างการแก้ไขข้อบังคับการจ่ายค่าจ้างพนักงาน (员工工资支付条例) เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ประกาศใช้มา 17 ปี
เซินเจิ้นได้รับอนุญาตพิเศษจากรัฐบาลกลาง เมื่อเดือน ต.ค. 2563 ให้แก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมเกิดใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนำร่องสำหรับการปฏิรูปเมืองในอนาคตของจีน
ภายใต้ร่างข้อบังคับที่หารือโดยสภาประชาชนเทศบาลเซินเจิ้นเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2564 คนทำงานที่ทำงานนอกเวลาทำงานจะไม่ได้รับค่าล่วงเวลา 3 เท่าในวันหยุดตามกฎหมายอีกต่อไป นอกจากนี้นายจ้างสามารถเลื่อนการจ่ายค่าจ้างออกไปได้ถึง 1 เดือน และค่าแรงขั้นต่ำจะถูกปรับทุก ๆ 3 ปีแทน 2 ปี
China Labour Bulletin มองว่าการแก้ไขดังกล่าวจะทำให้การคุ้มครองและผลประโยชน์ด้านแรงงานลดลงสำหรับคนทำงานในเมือง และกลับรับรองให้นายจ้างที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายและปรับใช้ข้อตกลงการทำงานที่ยืดหยุ่นเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย
แต่ข้ออ้างของเทศบาลเซินเจิ้นระบุว่าจะเป็นการส่งเสริมชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นและจำกัดการทำงานล่วงเวลาและการเลิกจ้างน้อยลง เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและลดภาระของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในเมือง รวมทั้งยังระบุว่าเนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวและโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบของการระบาดใหญ่ของ Covid-19 จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการสนับสนุนภาคเอกชน สร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และ "ขจัดข้อบกพร่องในระบบที่ขัดขวางการเคลื่อนย้ายแรงงาน"
China Labour Bulletin มองว่าข้อบังคับที่แก้ไขนี้ น่าจะช่วยฝั่งนายจ้างมากกว่าหากเกิดข้อพิพาททางกฎหมายกับพนักงานในเรื่องการจ่ายโบนัสและค่าจ้าง ซึ่งนับจากนี้เป็นต้นไป หากไม่ได้ระบุค่าจ้างไว้เป็นการเฉพาะในสัญญาจ้าง ซึ่งควรจ่ายตามค่าจ้างเฉลี่ยของท้องถิ่นในปีที่แล้ว ต่อจากนี้ไปการจ่ายโบนัสประจำปีจะกระทำตามข้อกำหนดของสัญญาจ้างเท่านั้น
ส่วนการปรับค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายทุก ๆ 3 ปีนั้น เซินเจิ้นกำลังเดินตามรัฐบาลท้องถิ่นมณฑลกวางตุ้ง ที่ได้เปลี่ยนมาปรับเป็นการปรับทุก ๆ 3 ปีในช่วงปลายทศวรรษ 2010 เพื่อขัดขวางการหลั่งไหลของธุรกิจจากมณฑลกวางตุ้งออกนอกพื้นที่ ก่อนหน้านี้เซินเจิ้นได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุก ๆ 1 หรือ 2 ปี และมักจะแข่งขันกับเซี่ยงไฮ้ ในการเป็นพื้นที่ที่มีค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดในประเทศจีน
ที่มาเรียบเรียงจาก
Workers’ rights further eroded by new legislation in Shenzhen (China Labour Bulletin, 1 June 2021)