Skip to main content
sharethis

'ก้าวไกล' ยืนยันไม่รับ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน แนะควรทำ พ.ร.บ.งบกลางปี ไม่ใช่ยื่นเพียงกระดาษ 5 แผ่น ไร้รายละเอียดให้สภาพิจารณา - 'เพื่อไทย' จัด 35 ส.ส.อภิปราย ชี้เหมือนตีเช็คเปล่า สภาตรวจสอบไม่ได้ - 'ประชาธิปัตย์' แนะรัฐแผนใช้เงินกู้รอบใหม่ ต้องเบิกจ่ายรวดเร็วทั่วถึง


นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล | แฟ้มภาพ

6 มิ.ย. 2564 ที่พรรคก้าวไกล นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงจุดยืนของพรรคก้าวไกลในการพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ที่จะเข้าสู้การพิจารณาของสภา ในวันที่ 9 มิถุนายน ว่า การอนุมัติ พ.ร.ก.กู้เงินในครั้งนี้เป็นเพียงการให้โอกาสต่อลมหายใจให้กับรัฐบาลชุดนี้ พรรคก้าวไกลไม่สามารถตีเช็คเปล่าให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้อีกแล้ว หากรัฐบาลนี้ยังคงบริหารต่อไปเชื่อว่าในปีงบประมาณหน้า รัฐบาลชุดนี้ก็จะกลับมายื่น พ.ร.ก.เพื่อให้สภาพิจารณากู้เงิน ซึ่งจะเป็นภาระให้กับประชาชนต่อไป ดังนั้น พรรคก้าวไกลจึงมีมติไม่เห็นชอบ พ.ร.ก.ฉบับนี้

นายพิจารณ์กล่าวว่า หลายคนอาจจะกังวลว่า หาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านไม่ผ่าน จะมีงบประมาณในการเยียวยาประชาชนหรือไม่ ต้องเรียนว่า พ.ร.ก. 5 แสนล้าน คือ การหาเงินเข้ามาเพื่อช่วยในการใช้จ่ายของรัฐบาลในช่วงที่เงินขาดมือขณะนี้ แต่สิ่งที่รัฐบาลเลือกทำคือการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน โดยมีกระดาษมาเสนอสภาเพียง 5 แผ่น ไม่มีแผนงานและเนื้อหารายละเอียด ตนคิดว่าคงจะซ้ำรอยเดิมกับ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทที่ผ่านมา ที่เป็นเพียงแผนกว้างๆ เพราะ พ.ร.ก. 2 ฉบับมีกระบวนการพิจารณาเหมือนกัน

แต่ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านแย่กว่าตรงที่ 3 แผนงานในการเยียวยาฟื้นฟูสามารถใช้เงินผสมกันได้หมด เท่ากับว่าเป็นการตีเช็คเปล่าให้ พล.อ.ประยุทธ์ อีกแล้ว ดังนั้น สิ่งที่ควรจะเป็นคือเมื่อกู้เงินมาแล้วควรจะทำเป็น พ.ร.บ.งบประมาณกลางปี โดยมีเนื้อหารายละเอียดโครงการ หน่วยงานที่รับผิดชอบ เป้าหมายและตัวชี้วัดต่างๆ ให้ชัดเจน ให้สภาฯได้รู้ว่าเงิน 5 แสนล้านจะเอาไปใช้อะไร เงื่อนเวลาแบบใด และผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังคืออะไร เราถึงจะเชื่อมั่นได้ว่าคนที่จะมาบริหารประเทศไม่ว่าจะรัฐบาลใดก็ตามจะแก้ไขปัญหาได้จริงๆ

นายพิจารณ์กล่าวอีกวา ส่วนการอภิปรายในวันที่ 9-10 มิ.ย. นี้ ทางพรรคก้าวไกลได้เตรียมผู้อภิปรายทั้งสิ้น 11 คน ภายในกรอบเวลา 125 นาที เปิดอภิปราย โดยนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. และปิดท้ายด้วยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค

'เพื่อไทย' ชี้เหมือนตีเช็คเปล่า สภาตรวจสอบไม่ได้

ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรค พท. แถลงถึงการพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภา วันที่ 9 มิถุนายน ว่าพรรคเพื่อไทยได้เตรียม 35 ส.ส.ไว้ชำแหละแล้ว เพราะไม่มีรายละเอียด เหมือนตีเช็คเปล่า สภาก็ตรวจสอบไม่ได้ แบบนี้พรรคเพื่อไทยไม่เห็นชอบ พ.ร.ก.ฉบับนี้

และ พ.ร.ก.ฉบับนี้เป็นการเขียนไว้กว้างๆ โดยเอาไปใช้ด้านสาธารณสุข 3 หมื่นล้านบาท เยียวยาประชาชน 3 แสนล้านบาท ใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 1.7 แสนล้านบาท แต่ไม่มีรายะเอียดอะไรเลยว่าเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง ซึ่งเป็นการจัดงบที่ไม่เหมาะสม ทำไมไม่จัดงบให้ด้านสาธารสุขให้เยอะกว่านี้

ขณะเดียวกันเมื่อปีที่แล้วรัฐบาล ขอเงินกู้ไป 1 ล้านล้านบาท ขอไปใช้ด้านสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท แต่ของบไปเป็นปีแล้ววัคซีนอยู่ไหน จึงอยากให้เอาสัญญามาดูว่าวัคซีนซื้อราคาเท่าไหร่ ซื้อกับบริษัทอะไรบ้าง ส่งมอบอย่างไร เพราะวันนี้ประชาชนเดือดร้อนไม่มีวัคซีนฉีด คนติดเชื้อ คนตายทุกวัน แสดงให้เห็นว่ากู้เงินไปแต่บริหารจัดการไม่ได้

นายยุทธพงศ์กล่าวต่อว่า ที่แปลกคือรัฐบาลมาขอเงินกู้เอาไปใช้ แต่ปรากฏว่าสถานทูตสหรัฐอเมริกา ออกมายืนยันว่าไม่ได้บริจาคแค่วัคซีน แต่สนับสนุนรัฐบาลไทยวงเงินกว่าพันล้านบาทแล้ว และจีนบริจาควัคซีน ซิโนแวค ล็อตที่สอง 5 แสนโดส ส่งถึงไทยแล้ว ตกลงรัฐบาลขอเงินกู้เอาไปทำอะไรบ้างเพราะไม่มีรายละเอียดอะไรมาบอกสภาเลย ขณะเดียวกันวันนี้วัคซีนยังไม่มี วันที่ 7 มิถุนายน จะมีวัคซีนเพียงพอให้ประชาชนหรือไม่ จะให้ความมั่นใจกับประชาชนอย่างไร

'ประชาธิปัตย์' แนะรัฐแผนใช้เงินกู้รอบใหม่ ต้องเบิกจ่ายรวดเร็วทั่วถึง

ด้านนายกนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลกำลังจะนำ พ.ร.ก.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 9 มิถุนายนนี้ ว่าเงินกู้ส่วนนี้ประกอบด้วย 3 แผนงาน คือ 1) แผนงานแก้ไขปัญหาการระบาดระลอกใหม่ 30,000 ล้านบาท 2) แผนงานช่วยเหลือเยียวยา หรือชดเชยให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ 300,000 ล้านบาท3) แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 170,000 ล้านบาท 

พ.ร.ก.เงินกู้นี้ไม่ต่างจากพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลนำมาใช้ในปีที่ผ่านมา ดังนั้นคำถามสำคัญที่ต้องพิจารณาก่อนที่จะพิจารณา พ.ร.ก. 500,000 ล้าน คือ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่ผ่านมามีปัญหาอะไรบ้างที่ควรจะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นกับ พ.ร.ก.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท ได้แก่การใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ล่าช้า ใช้ไม่หมด และส่วนที่ใช้ไปนั้นไม่ได้แก้ปัญหาตามเป้าหมายที่กำหนด คือ การป้องกันและแก้ไขการระบาดไวรัสโควิด 19 ที่จัดหาวัคซีนล่าช้า มีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการ การจัดเตรียมอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จะรับรองผู้ป่วยล่าช้า การพลิกฟื้นเศรษฐกิจและสังคมไม่เกิดผลสำเร็จเพราะโครงการที่นำเสนอไม่ได้ทำให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เช่น การท่องเที่ยว ส่วนการเยียวยาช่วยเหลือประชาชนจัดทำได้ดีกว่าอีก 2 แผนงาน แต่กระนั้นก็มีปัญหาเรื่องความรวดเร็วและทั่วถึงประชาชนที่เดือดร้อน 

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นประเด็นที่พ.ร.ก.เงินกู้ 500,000 ล้านที่ต้องพิจารณา คือ จะสามารถแก้ไขเรื่องความรวดเร็วและทั่วถึงของการช่วยเหลือประชาชน ผู้ประกอบการที่เดือดร้อน การจัดหาวัคซีนจะรวดเร็วและมีปริมาณเพียงพอกับความต้องการตามสถานการณ์การแพร่ระบาดหรือไม่ และสุดท้ายคือการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ รัฐบาลจะสามารถกำหนดแนวทางและเป้าหมายการพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้สำเร็จผ่านโครงการอะไร ในเรื่องอะไร แค่ไหน ถ้าจะกล่าวให้ถึงที่สุด คือ ปัญหาสำคัญของ พ.ร.ก.เงินกู้ทั้ง 1 ล้านล้านบาท และ 500,000 ล้านบาท ไม่ได้อยู่ที่ว่าควรหรือไม่ควรกู้ เพราะทุกคนต่างเข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องกู้เพื่อแก้ไขวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้น แต่ปัญหากลับไปอยู่ที่ “ขีดความสามารถทางการบริหาร” ของรัฐบาลว่าจะสามารถใช้เงินกู้นี้ให้ “ตรงเป้า รวดเร็ว โปร่งใส และเห็นผลสำเร็จ” มากน้อยแค่ไหน 

“พ.ร.ก.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท จึงเป็นโอกาสอีกครั้งที่รัฐบาลจะแก้ไขข้อผิดพลาดของการบริหารเงินกู้  1 ล้านล้านบาท และโอกาสที่จะกู้ครั้งที่ 3 คงจะยากแล้วเพราะเงินกู้เต็มวงเงิน 60% ของ GDP ประเทศ ที่กำหนดไว้เป็นกรอบความยั่งยืนทางการคลังแล้ว ดังนั้นผมจึงขอเอาใจช่วยให้รัฐบาลประสบความสำเร็จแก้ปัญหาทั้ง 3 เรื่องตามเป้าหมายของ พ.ร.ก.เงินกู้นี้ครับ” ศ.ดร.กนก กล่าว


ที่มาเรียบเรียงจาก มติชนออนไลน์ [1] [2] | สำนักข่าวไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net