Skip to main content
sharethis

ผู้ประท้วงประมาณ 10,000 คนในกรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ชุมนุมต่อต้านแผนการสร้างวิทยาเขตใหม่ของมหาวิทยาลัยฟูดัน มหาวิทยาลัยสัญชาติจีน จากประเด็นโต้แย้งหลายเรื่องทั้งจากเรื่องที่มีการเอื้อประโยชน์ต่อทุนจีนในการสร้างและเรื่องการสร้างทับพื้นที่ๆ เดิมทีควรจะใช้สร้างแหล่งพักอาศัยราคาย่อมเยาสำหรับนักศึกษา นอกจากนี้ยังมีการประท้วงด้วยการเปลี่ยนชื้อถนนโดยรอบให้กลายเป็น "ถนนปลดปล่อยฮ่องกง" หรือ "ถนนผู้สละชีพอุยกูร์" ด้วย


ผู้ชุมนุมจำนวนมากในกรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ประท้วงการสร้างวิทยาเขตมหาวิทยาลัยฟูดันจากจีน ในวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา จากการมีข้อพิพาทหลายเรื่องเกี่ยวกับการสร้างวิทยาเขตใหม่ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้

ข้อถกเถียงอย่างแรกมาจากข้อมูลเอกสารที่รั่วไหลเรียกว่า Direkt36 ระบุว่าการสร้างวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยฟูดันจะอาศัยผู้จ้างวานชาวจีนในการดำเนินการก่อสร้างและอาศัยเงินทุนกู้ยืมจากจีน อีกประเด็นหนึ่งคือการที่มหาวิทยาลัยฟูดันสาขาบูดาเปสต์จะมาสร้างทับพื้นที่ที่แต่เดิมเคยวางแผนไว้ว่าจะจัดทำเป็น "เมืองนักศึกษา" ซึ่งจะจัดให้มีสถานที่พักอาศัยราคาถูกสำหรับนักศึกษาในบูดาเปสต์ แต่กลับนำมาสร้างมหาวิทยาลัยของจีนแทน

ในช่วงที่การเลือกตั้งครั้งใหม่กำลังใกล้เข้ามาในปีหน้า ทำให้ฝ่ายค้านของฮังการีนำเรื่องนี้มาใช้วิพากษ์วิจารณ์ว่าพรรคการเมืองฝ่ายขวาฟิเดสซ์ของนายกรัฐมนตรี วิคเตอร์ ออร์บาน มีการทุจริตคอร์รัปชันอย่างไร

หนึ่งในฝ่ายค้านที่ปราศรัยต่อกลุ่มผู้ชุมนุมในครั้งนี้คือ เกอเกรี คารัคโชนี นายกเทศมนตรีสายเสรีนิยมของบูดาเปสต์ที่ถูกจัดให้เป็นตัวเต็งในการขับเคี่ยวกับออร์บานในเลือกตั้งรอบแรกเดือน ก.ย. เขาบอกว่าที่พวกเขาประท้วงในวันนี้ "ไม่ใช่เพราะต้องการต่อต้านจีน หรือต่อต้านชาวจีน โดยเฉพาะกับคนที่อาศัยในประเทศนี้อย่างสันติ" แต่พวกเขาต้องการประท้วงต่อต้านการ "ขายอธิปไตยของชาติให้กับคนอื่น"

นอกจากนี้ผู้ประท้วงรายอื่นๆ ยังวิจารณ์หรือเย้ยหยันออร์บานในเรื่องที่รัฐบาลฝ่ายขวาของฮังการีมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้นำสีจิ้นผิงของจีน โดยที่ผู้ประท้วง ถือป้ายวิจารณ์รัฐบาลออร์บานว่าเป็น "ทรราช" ขณะที่บางส่วนก็แสดงการรำลึกถึงเหตุการณ์สังหารประชาชนที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 2532 นอกจากนี้ผู้นำสหพันธ์นักศึกษาฮังการี อาร์รอน เบเรชกี ยังกล่าวอีกว่าพื้นที่ที่ควรจะเป็นหอพักของพวกเขากลับกลายเป็น "มหาวิทยาลัยที่เปิดให้เฉพาะกับชนชั้นนำเท่านั้น" ปล่อยให้ชาวฮังการีรุ่นต่อรุ่นต้องเป็นหนี้

นอกเหนือจากการประท้วงในครั้งนี้แล้วก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ประจำเขตยังเปลี่ยนป้ายถนนรอบพื้นที่ที่มีแผนการสร้างมหาวิทยาลัย 4 เส้นเป็นชื่อประเด็นสิทธิมนุษยชนที่จีนถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ เช่น "ถนนปลดปล่อยฮ่องกง" ที่ระบุถึงการลิดรอนเสรีภาพทางการเมืองที่เกิดขึ้นในฮ่องกงโดยเฉพาะช่วงปีที่แล้วจนถึงปีนี้ที่มีนักกิจกรรมทางการเมืองถูกเล่นงานจากกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่

ถนนอีกสายหนึ่งชื่อ "ถนนผู้สละชีพชาวอุยกูร์" สื่อถึงประเด็นที่ชาวอุยกูร์ในพื้นที่เขตปกครองตนเองพิเศษซินเจียงถูกกวาดต้อนเข้าค่ายกักกันปรับทัศนคติจำนวนมาก

ถนนอีกสองแห่งที่เหลือได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น "ถนนดาไลลามะ" ซึ่งสื่อถึงผู้นำทางจิตวิญญาณทิเบตซึ่งมีประเด็นการเรียกร้องอิสรภาพจากจีน และ "ถนนบิชอป เซี่ยชื่อกวง" ซึ่งเป็นบิชอปของคริสตจักรคาทอลิกใต้ดินในจีนผู้ถูกทางการจีนจับกุมหลายครั้งเนื่องจากข้อห้ามทางศาสนาจากรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน

พื้นที่ๆ มีแผนการสร้างวิทยาเขตของฟูดันนี้กินพื้นที่ 500,000 ตร.ม. และมีแผนการจะสร้างเสร็จภายในปี 2567 คารัคโชนีกล่าวว่าเขาหวังว่าจะไม่มีการสร้างมหาวิทยาลัยแห่งนี้ แต่ต่อให้มันสร้างเสร็จแล้วก็จะต้องอยู่ร่วมกับชื่อถนนเหล่านี้ คารัคโซนียังกล่าวอีกว่าการตั้งชื่อเหล่านี้ยังแสดงถึงการยืนหยัดเคียงข้างผู้คนที่ถูกกระทำจากรัฐบาลจีนและเป็นการแสดงออกถึงการคำนึงถึงเสรีภาพด้วย

จากผลสำรวจโพลของสถาบันรีพับลิกอนซึ่งเป็นหน่วยงานคลังสมองในฮังการีระบุว่ามีชาวฮังการีร้อยละ 66 ที่ไม่เห็นด้วยกับการตั้งมหาวิทยาลัยแห่งนี้

อย่างไรก็ตามกระทรวงการต่างประเทศของจีนก็ประณามการประท้วงและการตั้งชื่อถนนเหล่านี้ว่าเป็นสิ่งที่ "น่ารังเกียจ" และ "น่าอดสู" โฆษกการต่างประเทศของจีน หวังเหวินปิน กล่าวว่า "นักการเมืองฮังการีไม่กี่คนพยายามจะชูประเด็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจีนในการเรียกร้องความสนใจและเพื่อขัดขวางความร่วมมือระหว่างฮังการีกับจีน"

การเปิดวิทยาเขตยุโรปของมหาวิทยาลัยฟูดันนั้นเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายต่างประเทศของออร์บานที่เรียกว่า "การเปิดรับตะวันออก" ซึ่งรัฐบาลของออร์บานปกป้องการตัดสินใจในครั้งนี้จากการที่ ทามาส ชานดา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงนวัตกรรมและเทคโนโลยีของฮังการีกล่าวว่า การมีอยู่ของมหาวิทยาลัยฟูดันหมายความว่าจะทำให้เกิดความเป็นไปได้ในการเรียนรู้จาก "แหล่งที่ดีที่สุดของโลก"


เรียบเรียงจาก : 

  • Thousands march in Budapest against Hungary’s plan to build Chinese university campus, South China Morning Post, 06-06-2021 https://www.scmp.com/news/china/diplomacy/article/3136212/thousands-march-budapest-against-hungarys-plan-build-chinese
  • ‘Free Hong Kong Road’ — Budapest renames streets to protest upcoming Chinese university campus, The Print, 03-06-2021 https://theprint.in/world/free-hong-kong-road-budapest-renames-streets-to-protest-upcoming-chinese-university-campus/670923/
  • Budapest names street ‘Free Hong Kong’ in protest over new Chinese university campus, Hong Kong Free Press, 03-06-2021 https://hongkongfp.com/2021/06/03/budapest-names-street-free-hong-kong-in-protest-over-new-chinese-university-campus/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net