Every 5th of Every Month : ศิลปะแห่งการจดจำจาก 'โมรา' ถึง 'วันเฉลิม' ตลอด 1 ปีที่ถูกอุ้มหาย

“Every 5th of Every Month” ศิลปะแห่งการจดจำจาก โมรา - นันทนา วงษ์ทวี ถึง วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ตลอด 1 ปี ที่ถูกอุ้มหาย

โดนอุ้ม

อุ้มหาย

หายสาบสูญ

ถูกบังคับให้สูญหาย

ถ้อยคำเหล่านี้ถูกหยิบยกมาใช้เรียกความโหดร้ายรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชีวิตของ “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชา หลังเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 มีข่าวว่าเขาหายตัวไปจากหน้าที่พักกลางกรุงพนมเปญ แต่วันเฉลิมไม่ใช่คนที่หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย เสียงร้องตะโกนว่า “หายใจไม่ออก” ซ้ำไปซ้ำมานานกว่า 30 นาทีที่พี่สาวของเขาได้ยินผ่านสายโทรศัพท์ และภาพรถยนต์คันก่อเหตุจากกล้องวงจรปิดเป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับชีวิตเขา แต่ในความชัดเจนนี้ทั้งรัฐบาลไทยและกัมพูชากลับนิ่งเฉยและแสดงท่าทีไม่รับรู้ต่อเรื่องราวการถูกอุ้มหายของวันเฉลิม มีเพียงพี่สาวของเขาที่ยังคงต่อสู้เพื่อชีวิตน้องชายมาโดยตลอดตั้งแต่วันแรกที่เกิดเหตุ

ข่าวการถูกบังคับให้สูญหายของวันเฉลิมกระทบกระเทือนต่อจิตใจและสำนึกในความเป็นคนของ โมรา - นันทนา วงษ์ทวี อย่างมาก ในแง่หนึ่งเธอไม่ต้องการให้เหตุการณ์เลวร้ายนี้เกิดขึ้นกับใครก็ตาม และเป็นความบังเอิญที่วันเกิดเหตุตรงกับวันเกิดของโมราในวัย 26 ปีด้วย ทั้งหมดจึงยิ่งตอกย้ำให้เธอไม่อาจมีความสุขในวันเกิดของตัวเองได้ลงในเมื่อวันนี้มีใครคนหนึ่งถูกทำให้หายไปอย่างโหดร้ายและไร้การเหลียวแลจากรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ

เพื่อที่จะไม่ลืม โมราสร้างโปรเจกต์ “Every 5th of Every Month” ขึ้นมาย้ำเตือนตัวเองและสังคมถึงชีวิตของคนที่ถูกบังคับให้สูญหาย โดยเธอจะปรากฏตัวขึ้นทุกวันที่ 5 ของเดือนนับตั้งแต่วันเฉลิมหายไป พร้อมกับการประท้วงเล็กๆ ผ่านงานศิลปะและการเพอร์ฟอร์แมนซ์ให้ผู้คนที่พบเห็นได้นึกถึงชื่อของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ขึ้นมาบ้างสักนิดก็ยังดีตลอด 1 ปี หลายครั้งที่งานของโมราพยายามเชื่อมโยงเข้ากับเหตุการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นด้วย เช่น การจับกุมตัวของนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหว การเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาในคดี 112 ฯลฯ

Every 5th of Every Month ทั้ง 13 ครั้งสิ้นสุดลงไปในวันครบรอบ 1 ปีการถูกบังคับให้สูญหายของวันเฉลิมที่ผ่านมา ประชาไทจึงได้ถือโอกาสนี้ชวนโมรามานั่งคุยกันถึงสิ่งที่เธอพยายามทำมาตลอด 1 ปี

Every 5th of Every Month no.1 (วันที่ 5 มิถุนายน 2563 หลังวันเกิดเหตุ)

วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นใครในสายตาโมรา

โมรา : ก่อนหน้านี้ก็เคยได้ยินชื่อเฉยๆ ว่าเป็นหนึ่งในคนที่ถูก คสช. รู้ว่าเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง แต่ก็ไม่ได้ติดตาม และเราก็ไม่ได้มีความสนใจหรืออะไรกับเขาเป็นพิเศษ แต่พอเกิดเหตุการณ์ที่เขาโดนอุ้มอย่างชัดเจน มีหลักฐานชัดเจน แต่ไม่มีใครออกมา ทางการประเทศที่เกิดเหตุก็บอกว่าไม่เกี่ยว ประเทศเราก็โยนว่าเหตุเกิดที่นู่น เรารู้สึกว่าเขาโดนรังแกเกินไปแล้วนะ โดนคุกคามสิทธิมนุษยชน เขาไม่สมควรโดน ไม่มีใครสมควรที่จะโดนกระทำแบบนี้

วันเฉลิมเป็นคนไม่รู้จักของโมราด้วยซ้ำ แล้วอะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้เราต้องลุกขึ้นมาทำเพื่อเขา

โมรา : หนูไม่รู้จักเขาหรอก แต่หนูรู้สึกว่ามันตรงกับวันเกิดหนูพอดี และเหมือนกับว่าข่าวที่เราได้รับมามันกระทบกระเทือนเรามากกว่าข่าวอื่นๆ เรารู้สึกอึดอัดใจแบบฉันอยู่ไม่ได้ อยู่ในห้องเฉยๆ ไม่ได้

ครั้งแรกหนูไปยืนชูป้ายคนเดียวกลางสี่แยกหลังมอ (มช.) อยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง ตอนประมาณ 5 – 6 โมงเย็น เจอเพื่อนอยู่แถวคณะก็ขอให้เขาไปถ่าย live ให้หน่อยถึงได้มีรูปออกมา ตอนยืนก็ไม่มีใครมาถาม แต่ว่าเขาจะหยุดมอง หรือถ่ายรูป หนูเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “Stop Killing Refugees” ก็มีคนกดโทรศัพท์หาดูบ้างว่าคำนี้แปลว่าอะไร ก็ยังดีที่มีคนสนใจ

Every 5th of Every Month no.2 (วันครบรอบ 1 เดือน)

การเดินออกไปคนเดียวกลางถนนวันนั้น ทำไมถึงยาวนานมาเป็น 12 เดือนได้

โมรา : ขณะที่ข่าวออกวันที่ 4 มิถุนายน พอวันที่ 5 เรื่องมันเงียบได้ภายใน 1 วันเลยเหรอ หนูก็เลยรู้สึกว่า “พวกมึงทำอะไรกันอยู่วะ” ไม่แฟร์เลย

ครั้งที่ 2 หนูไปที่หน้าตึกนิติศาสตร์ ให้คนแถวนั้นสงสัยว่าวันนี้เป็นวันอะไร เราไม่ได้บอกเขาโต้งๆ เราก็แค่กระทำการบางอย่างที่ผิดปกติในพื้นที่สาธารณะให้เขาได้คิดเองว่ามีอะไรกันเหรอ

หนูแค่คิดว่ามันควรจะต้องไม่ลืม

เราเลยเห็นว่าวันที่เกิดเหตุเป็นวันสำคัญที่เราจะต้องกระทำการบางอย่างทุกวันครบรอบ

Every 5th of Every Month no.3 (วันครบรอบ 2 เดือน)

ก่อนหน้านี้โมราเคยใช้ศิลปะของตัวเองแสดงออกเกี่ยวกับการเมืองบ้างไหม

โมรา : ไม่เคยเลย ไม่เคยเอาการเมืองมาใส่ในงานของตัวเองเลย ส่วนใหญ่งานหนูจะเป็นงานเพ้นท์ หนูเรียนจบวิจิตรศิลป์ มช. สาขาจิตรกรรม แต่ว่าเป็นคนชอบดูเพอร์ฟอร์แมนซ์ แต่ไม่กล้าทำเพราะเขิน พอมีเรื่องนี้มามันไม่ไหวจริงๆ ต้องออกไปทำอะไรบางอย่าง และเพอร์ฟอร์แมนซ์มันรวดเร็ว ใช้ร่างกายตัวเองสื่อสารได้เลย เราทำอะไรไม่ทันแล้วตอนนั้น

พลังของศิลปะกับการบอกเล่าเรื่องราวของคุณวันเฉลิมอยู่ที่ตรงไหน

โมรา : ศิลปะเป็นวิธีการที่หนูเลือกใช้มากกว่า อาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด แต่ว่าเราสนใจในศิลปะแสดงสด และครั้งแรกที่เราไปเราดันไปใช้แอคชั่นด้วย เราก็เลยเลือกเพอร์ฟอร์แมนซ์ เพื่อที่จะสื่อสารอารมณ์บางอย่าง และให้ material ที่เราเลือกมาได้ทำงาน ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการตีความ ก็เลยเลือกศิลปะ  

ศิลปะอาจเป็นเหมือนคลื่นความถี่ต่ำของใครบางคน และขณะเดียวกันมันก็อาจเป็นคลื่นความถี่สูงสำหรับใครอีกคนที่เห็นก็ได้

Every 5th of Every Month no.4 (วันครบรอบ 3 เดือน)

Concept งานในแต่ละเดือนได้รับแรงบันดาลใจมาจากอะไร

โมรา : ครั้งแรกๆ หนูจะดูจากของที่มีก่อน ส่วนครั้งที่ 2 มีคดีของประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ พอดีและมีการปั๊มลายนิ้วมือกันตอนรายงานตัว หนูก็เลยสนใจเกี่ยวกับนิ้วมือที่เป็นสีดำ เราเลยใช้นิ้วมือตัวเองทาสีดำและตกแต่งใบหน้า ตา ปาก ของเรา ใช้องค์ประกอบที่ตอนนั้นเราคิดว่าควรจะใช้ การที่มีนิ้วมือสีดำมันยังทำให้รู้สึกพิศวงลึกลับ

ตอนเดือนตุลามันเหมือนกับเป็นเดือนพิเศษสำหรับเรา เป็นเดือนแห่งประวัติศาสตร์และประชาธิปไตย หนูก็เลยเอาวิทยุมาผูกกับหัวมันเลย เป็น Radio Girl และไปแสดงที่หน้าตึกนิติศาสตร์ที่สื่อถึงกฎหมายและความยุติธรรม ที่เลือกวิทยุเพราะวิทยุเป็นการสื่อสารทางเดียว เราชอบทำงานมีเสียง ชอบในการเลือกคลื่น เลือกได้บ้างไม่ได้บ้าง วิทยุเด่นตรงที่มีทั้งความคมชัดและไม่ชัด และมีคลื่นแทรกไปพร้อมๆ กัน

มีเดือนหนึ่งเราไปที่คุกหญิงเก่ากลางเมืองและไปที่หลุมศพ ช่วงนั้นมีข่าวรุ้ง ปนัสยา โดนจับเข้าคุกครั้งแรก เราก็ไปทำเพอร์ฟอร์แมนซ์ให้คนที่ไม่ตั้งใจจะเห็นได้เห็น หนูมีร่มสีดำและผ้าที่เขียนสาเหตุการตายต่างๆ ไว้ ห้อยลงมาจากมือตัวเองด้วย และการไปที่หลุมศพก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าพูดถึงความตาย การไปหลุมศพแตกต่างจากการไปอื่นด้วย การไปในที่ต่างๆ จะมีคนเห็น แต่การไปที่หลุมศพมันจะไม่มีคนเห็น แต่ภาพที่ออกมามันชัดเจน

กีต้าร์ที่ถูกคลุมด้วยถุงดำในวันครบรอบ 2 เดือน หนูรู้สึกชอบของชิ้นนี้ เพราะกีต้าร์เป็นสิ่งที่สร้างเสียงแต่มันกลับถูกทำให้ไม่มีเสียง ถูกคลุมถูกมัดเอาไว้ หรือก้อนหินที่เอามาใช้มันในงานหนูคิดว่ามันเหมือนซากกระดูกของคนเรา

จริงๆ เราเป็นคนที่ขี้เขินและขี้อายมาก แต่พอถึงเวลามันก็ต้องทำ เหมือนเป็นอีกตัวตนหนึ่ง

Every 5th of Every Month no.5 (วันครบรอบ 4 เดือน)

การพาตัวเองออกไปรำลึกถึงคุณวันเฉลิมในสถานที่ที่ต่างๆ พบเจอผู้คนเปลี่ยนไปทุก 12 เดือน ทำให้เรามองเห็นอะไรบ้าง

โมรา : หนูเห็นทั้งคนที่สนใจ คนที่ไม่สนใจ และคนที่แกล้งไม่สนใจ มันแปลกนะ ทำไมต้องแกล้งไม่เห็นด้วย ฉันอยู่ตรงนี้แล้วทำไมต้องหันหน้าหนี การมีคนที่แกล้งมองไม่เห็นมันสะท้อนถึงสังคมของเราชัดเจนมาก เรื่องอยู่ตรงหน้าเราแล้วแท้ๆ เราก็แค่เบือนหน้าหนี ทำเป็นไม่รับรู้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย เราแค่หลอกตัวเองว่ามันยังโอเคอยู่

แล้วเราตกผลึกอะไรกับตัวเองบ้าง

โมรา : จะเรียกว่าตกผลึกหรือเปล่า หนูแค่รู้สึกว่าการแสดงออกสมควรเป็นสิ่งที่ทุกคนกระทำอยู่แล้ว และการถูกบังคับให้สูญหายก็ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินตัวด้วยซ้ำที่จะเกิดขึ้น ในแง่หนึ่งเรากำลังเรียกร้องเพื่อตัวเราเองด้วยนะ ท้ายที่สุดคนที่จะได้รับประโยชน์คือเราทุกคน เรื่องที่เกิดขึ้นกับคุณวันเฉลิมสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน

ที่ผ่านมาถือว่าการกระทำเล็กๆ น้อยๆ ของคนๆ หนึ่ง ขอแค่ออกมา ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม

ขอให้มีเราสักคนหนึ่งหรือคนอื่นๆ นึกถึงว่าในขณะที่เราใช้ชีวิตกันปกติยังมีคนที่โดนลิดรอนสิทธิ เขาไม่มีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่

Every 5th of Every Month no.6 (วันครบรอบ 5 เดือน)

เวลามองเข้าไปในการต่อสู้ของ “คนที่รอ” รอบตัวผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหาย ไม่ว่าจะเป็นพี่สาวคุณวันเฉลิมหรือคนอื่นก็ตาม โมรารู้สึกอย่างไรบ้าง

โมรา : รู้สึกว่าเขาก็อาจจะมีความคิดอยู่ในใจแหละว่าอาจจะไม่เจอ แต่เขามีความหวัง อย่างพี่สาวคุณวันเฉลิมที่บอกว่า “ขอให้เจอศพก็ยังดี” เศร้านะ หนูรู้สึกว่าญาติๆ เขาเข้มแข็งมาก ขณะที่เราไม่ได้เป็นอะไรกับเขา เรายังรู้สึกว่าครบเดือนอีกแล้ว และมันก็ไม่มีอะไรที่คืบหน้าเลย ถ้าคนในครอบครัวเขาไม่ออกมากระตุ้นหรือไปเดินเรื่องเอง

ครอบครัวของเขาต้องทนอยู่กับการรอคอยที่ไม่รู้อะไรเลย อีกด้านหนึ่งก็ต้องต่อสู้ คงจะมีช่วงหนึ่งที่เขาต้องเสียใจ แต่เขาก็ต้องเดินเรื่องต่อไป เพราะไม่มีใครทำแล้ว ไม่มีใครจะช่วยอะไรเขาได้อีกแล้ว อันนี้น่าจะเป็นเหตุผลหลักที่หนูออกไปด้วย เพื่อย้ำเตือนคนอื่นหรือแม้กระทั่งตัวเองว่าในปีที่เราคลั่งประชาธิปไตยกันสุดๆ ยังมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นและเราก็ทำอะไรไม่ได้เลย รัฐไทยก็ไม่มีทีท่าจะเข้ามาช่วยหรือสืบคดีให้ มันแปลก มันเหี้ย

Every 5th of Every Month no.7 (วันครบรอบ 6 เดือน)

เดี๋ยวนี้โมรายังมีความรู้สึกผิดต่อวันเกิดตัวเองอยู่ไหม

โมรา : ผิดค่ะ (ตอบอย่างรวดเร็ว)

หนูเกิดวันที่ 4 มิถุนายน ตรงกับวันที่เกิดเหตุ แต่ที่เลือกออกมาทุกวันที่ 5 ของเดือน เพราะตอนนั้นแค่วันที่ 5 เรื่องมันก็เริ่มจางหายไปแล้ว เราไม่อยากให้มันจางหายไป ทุกวันที่ 5 เราเลยออกไปทำอะไรบางอย่าง

หลังจากนี้วันเกิดเราก็คงไม่เหมือนเดิม มันเป็นวันสำคัญของเราและเป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญด้วย เราต้องจดจำว่ามีเรื่องคุณวันเฉลิมเกิดขึ้น มันเจ็บปวดนะ แต่ตอนอยู่กับเพื่อนในวันเกิดหนูก็จะไม่พูดหรอกว่าวันนี้มีคนหายไปนะเว่ย เราก็จะนั่งๆ ไป แต่ไม่ลืม

Every 5th of Every Month no.8 (วันครบรอบ 7 เดือน)

นับเป็นความโชคดีอย่างหนึ่งของเราที่ในวันที่สัมภาษณ์กัน โมราชวนแพรว - วรัทยา ไชยศิลป์ เพื่อนสนิทของเธอมาด้วย แม้แพรวจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ “Every 5th of Every Month” ได้เพียงบางเดือนตามเวลาและโอกาส แต่แพรวถือเป็นให้กำลังใจสำคัญที่คอยสนับสนุนให้เพื่อนใช้ศิลปะของตัวเองแสดงออกถึงคุณวันเฉลิมและบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายมาตั้งแต่ต้น ในวันนั้นเพราะมีแพรวเราถึงได้ยินคำพูดที่ช่วยปลอบโยนโมราจากความรู้สึกผิดที่เกาะกินเธออยู่ การมีวันเกิดตรงกับวันเกิดเหตุกลายเป็นตราบาปในใจโมราขึ้นมาดื้อๆ ทั้งที่เธอไม่ได้ลงมือทำร้ายหรือทำลายเศษเสี้ยวของชีวิตคุณวันเฉลิมเลยแม้แต่น้อย

แพรว : มันน่าโมโหนะ จากนี้ไปจะไม่มีวันรู้สึกมีความสุขได้เต็มที่ในวันเกิดตัวเอง

โมราเองก็เคยพูดกับเราตอนที่เรากำลังมีเรื่องเสียใจอยู่ โมรามาตบบ่าและบอกว่า “กูรู้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นมันเหี้ยนะ แต่ไม่ได้แปลว่ามึงจะไม่มีสิทธิมีความสุขนะ” มันสำคัญกับเรามาก และเราก็อยากให้โมราทำแบบนั้นเหมือนกัน ไม่แปลกหรอกที่จากนี้ไปวันเกิดจะไม่มีวันเหมือนเดิม แต่ไม่ได้หมายความจะไม่มีสิทธิมีความสุขนะ

Every 5th of Every Month no.9 (วันครบรอบ 8 เดือน)

โมราอยากให้เราบอกทุกคนว่าโมราเป็นใครถึงออกมารำลึกถึงคุณวันเฉลิมเงียบๆ ได้นานถึง 12 เดือน

โมรา : หนูไม่อยากบอกว่าตัวเองเป็นศิลปินหรืออะไร หนูเป็นประชาชนคนหนึ่งที่ใช้งานศิลปะออกมาสื่อสาร หนูยึดความรู้สึกครั้งแรกที่ออกไป เราออกไปในฐานะอะไร เราเป็นคนๆ หนึ่งที่ได้รับทราบข่าวสาร และเราทนไม่ได้ อยู่นิ่งไม่ได้ ในฐานะประชาชนคนหนึ่งก็อยากจะออกมาทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ไม่ต้องกังวลก็ได้ว่าออกมาแล้วคนจะสนใจเราไหม หรือสนใจเรื่องนี้ไหม ขอแค่ออกมา เราสนับสนุนให้ทุกๆ คนออกมา

Every 5th of Every Month no.10 (วันครบรอบ 9 เดือน เป็นการ live ผ่าน facebook เนื่องจากสถานการณ์โควิด)

Every 5th of Every Month no.11 (วันครบรอบ 10 เดือน มีเพื่อนๆ ของโมรามาร่วมด้วย)

Every 5th of Every Month no.12 (วันครบรอบ 11 เดือน)

Every 5th of Every Month no.13 (วันครบรอบ 12 เดือน)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท