Skip to main content
sharethis

ประชาไทอ้างอิงข้อมูลจากเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) ชวนส่องร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 พร้อมสำรวจงบฯ เกี่ยวกับสวัสดิการสังคมประชาชนหายไปหรือเพิ่มขึ้นเท่าใด 

 

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 64 เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (เครือข่าย We Fair) เดินทางไปยื่นหนังสือต่อกรรมาธิการวิสามัญฯ งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 สภาผู้แทนราษฎร ณ อาคารรัฐสภา เพื่อขอให้มีการทบทวนการจัดสรรงบประมาณปี 65 ของรัฐบาล ซึ่งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศที่เผชิญมรสุมทางเศรษฐกิจจากไวรัสโควิด-19 ประชาชนต้องการสวัสดิการช่วยเหลือ เพื่อให้ดำรงชีวิตต่อไปได้ 

ร่างงบประมาณปี 65 เผยให้เห็นว่ามีการปรับลดงบฯ เกี่ยวกับด้านสวัสดิการสังคมประชาชนถูกปรับลดหลายรายการ แต่งบข้าราชการมีการปรับเพิ่ม ขณะที่งบฯ กระทรวงกลาโหมที่ไม่จำเป็นในยามนี้กลับสูงเป็นอันดับ 4 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พิธา' ย้ำ งบปี 65 'ไร้สามัญสำนึก' พร้อมรับหนังสือกลุ่ม We Fair หนุนสร้างรัฐสวัสดิการ

We Fair ไม่รับหลักการ พ.ร.บ.งบฯ 65 ชี้ไม่มีการจัดลำดับความสำคัญในการสร้างสังคมรัฐสวัสดิการ

ปี 65 กับงบฯ ด้านสวัสการสังคมประชาชนที่หายไป

ข้อมูลของ We Fair แสดงให้เห็นว่ามีงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการ ถูกปรับลดลงใน พ.ร.บ.งบประมาณปี 65 ทั้งสิ้น 9 รายการ ได้แก่

1) งบฯ ประกันสังคม ของผู้ประกันตน มาตรา 33 และมาตรา 39 จากเดิมปี พ.ศ. 2564 งบอยู่ที่ 62,695.72 ล้านบาท แต่ในงบฯ ปี 65 งบดังกล่าวถูกปรับลดเหลือ 42,790 ล้านบาท หายไปกว่า 21,905 ล้านบาท หรือคิดเป็น 35% 

2) บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่เดิมปี 64 มีงบฯ อยู่ที่ 49,500 ล้านบาท แต่ในปี’65 ถูกปรับลดเหลือ 30,000 ล้านบาท หายไป 19,500 ล้านบาท หรือคิดเป็น 39%

3) กองทุนการออมแห่งชาติ แต่เดิมปี 64 มีงบฯ อยู่ที่ 605.7869 ล้านบาท แต่ในงบปี ‘65 ถูกปรับลดเหลือเพียง 300 ล้านบาท หรือหายไป 305.7869 ล้านบาท หรือคิดเป็น 50%

4) งบการเคหะแห่งชาติ แต่เดิมปี 64 มีงบฯ อยู่ที่ 1,561.21 ล้านบาท แต่ในร่าง พ.ร.บ. งบประมาณปี 65 ลดเพียงแค่ 731.4436 ล้านบาท ลดไปกว่า 829.8282 ล้านบาท หรือติดเป็น 53% 

5) งบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แต่เดิมปี 64 อยู่ที่ 142,364.81 ล้านบาท ปรับลดเหลือ 140,550.2 ล้านบาท หรือหายไป 1,814 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.27% 

6) เบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุ งบปี 64 อยู่ที่ 30,000 ล้านบาท แต่ในปี 65 ลดลงอยู่ที่ 19,500 ล้านบาท หรือลดลง 2,990.51 ล้านบาท หรือคิดเป็น 9.96%

7) งบประกันสังคมรวม จากเดิมงบฯ ปี 64 จำนวน 63,610.90 ล้านบาท ในปี 65 อยู่ที่ 44,091.08 ล้านบาท ลดลง 19,519.82 ล้านบาท หรือคิดเป็น 30.68%

8) งบฯ เบี้ยยังชีพความพิการ ในปี พ.ศ. 2564 อยู่ที่ 19,023 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2565 ปรับลดเหลือ 17,304.76 ล้านบาท ลดลง 1,718.24 ล้านบาท หรือคิดเป็น 9.03%  

9) เงินอุดหนุนผู้ป่วยเอดส์ ในปี พ.ศ. 2564 อยู่ที่ 483.06 ล้านบาท แต่ในปี พ.ศ. 2565 เหลือเพียง 478.53 ล้านบาท หรือหายไป 4.53 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.9%  

งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการ ปี พ.ศ. 2565 ที่ได้ปรับเพิ่มมีด้วยกัน 4 รายการ ประกอบด้วย

1) เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 0-6 ปี งบประมาณปี 64 อยู่ที่ 13,074.41 ล้านบาท แต่ในปี พ.ศ. 2565 ปรับเพิ่ม 16,659.49 ล้านบาท หรือ 3,585.08 ล้านบาท หรือ 27.42%

2) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา งบประมาณปี 64 อยู่ที่ 5,001.46 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2565 ปรับเพิ่ม 5,652.29 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 650.83 ล้านบาท หรือ 13.01%

3) ประกันสังคม มาตรา 40 งบประมาณปี 64 อยู่ที่ 915.18 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2565 ปรับเพิ่ม 1,301.08 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 385.9 ล้านบาท หรือ 42.16%

4) เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ งบประมาณปี 64 อยู่ที่ 65,428.40 ล้านบาท แต่ในปี พ.ศ. 2565 ปรับเพิ่ม 68,418.91 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2,990.51 ล้านบาท หรือ 4.57%

งบข้าราชการเพิ่ม 

งบประมาณข้าราชการในปี พ.ศ. 2565 จำนวน 473,447.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,156.71 ล้านบาท คิดเป็น 1.76% ประกอบด้วย (ก) บำเหน็จ/บำนาญ 310,600 ล้านบาท (ข) เงินสำรอง เงินสมทบทุน เงินชดเชยข้าราชการ 72,370 ล้านบาท (ค) เงินสมทบลูกจ้างประจำ 570 ล้านบาท (ง) ค่ารักษาพยาบาลรักษาข้าราชการ 74,000 ล้านบาท และ (จ) เงินช่วยเหลือข้าราชการ 4,360 ล้านบาท (ฉ) เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ 11,574.3268 ล้านบาท 

งบประมาณสวัสดิการข้าราชการ จำนวน 473,447.32 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15.27% ของงบประมาณประเทศ และเมื่อรวมกับงบประมาณบุคลากร จำนวน 770,160.0 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 24.84% รวมงบประมาณสวัสดิการและเงินเดือนข้าราชการเท่ากับ 1,243.607.3 ล้านบาท คิดเป็น 40.11% หมายความว่าในงบประมาณ 100 บาท เป็นรวม 40.11 บาท 

งบกระทรวงด้านสวัสดิการสังคมประชาชนลด ส่วนงบกลาโหม มากสุดเป็นอันดับ 4 

นอกจากนี้ เครือข่าย We Fair ระบุด้วยว่า นอกจากงบฯ ด้านสวัสดิการที่ถูกปรับลดจากเมื่อ พ.ศ. 2564 แล้ว งบประมาณกระทรวงที่ทำงานเกี่ยวข้องสวัสดิการประชาชนกลับถูกปรับลดเช่นกัน ได้แก่ 

กระทรวงแรงงาน 49,742.8223 ล้านบาท ปรับลดจากปี 64 จำนวน 19,977.4946 ล้านบาท หรือ 28.65% 

กระทรวงศึกษาธิการ 332,398.6 ล้านบาท ปรับลดจากปี 64 จำนวน 24,051.1 ล้านบาท คิดเป็น 6.7%

กระทรวงอุดมศึกษา 124,182.83 ล้านบาท ปรับลดจากปี 64 จำนวน 3,944.18 ล้านบาท คิดเป็น 3.08% 

กระทรวงสาธารณสุข 153,940.47 ล้านบาท ปรับลดจากปี 64 จำนวน 4,338.12 ล้านบาท คิดเป็น 2.74%

ขณะที่งบฯ กระทรวงกลาโหม ได้รับการจัดสรรสูงเป็นอันดับ 4 วงเงิน 203,232 ล้านบาท คิดเป็น 6.6% ของงบประมาณทั้งหมด ซึ่งใกล้เคียงกับงบประมาณ พ.ศ. 2564 ในส่วนนี้เป็นงบบุคลากรสูงถึง 105,034 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,741 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 51.7 ของงบประมาณกระทรวงกลาโหม 

เมื่อเทียบกับบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข ลดลง 1,549.4 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.33 และงบบุคลากรกระทรวงศึกษาธิการ ลดลง 13,557 ล้านบาท หรือร้อยละ 6 พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ จึงแสดงถึงการเพิ่มกำลังพลของกองทัพ มากกว่ากำลังคนในภาคสาธารณสุขและภาคการศึกษา ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบงบประมาณ กระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรรงบประมาณมากกว่ากระทรวงแรงงาน 4 เท่า กระทรวงการอุดมศึกษา 1.6 เท่า กองทุน สปสช. 1.44 เท่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ 8.24 เท่า 

หมายเหตุ สำหรับ จุลวรรณ เกิดแย้ม ผู้จัดทำกราฟิกนี้ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานประจำกองบรรณาธิการประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net