ปมโตโยต้าติดสินบนผู้พิพากษา : รู้จัก FCPA กม.ที่สหรัฐฯ ใช้ลงดาบ ‘การทุจริต’ ของบริษัทข้ามชาติ

เปิดข้อกฎหมาย FCPA ที่สหรัฐฯ ใช้เอาผิดโตโยต้าในคดีติดสินบนผู้พิพากษา ซึ่งมีที่มาจากคดีบริษัทเครื่องบินรบติดสินบนนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นและพระราชสวามีของพระราชินีเนเธอร์แลนด์ พร้อมย้อนรอยบริษัทดังระดับโลกทั้งซัมซุง, อีริคสัน, ไมโครซอฟท์, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (J&J) และไฟเซอร์ (Pfizer), ที่ถูกศาลสหรัฐฯ ลงโทษฐานติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ

จากกรณีเว็บไซต์ Law360 รายงานประเด็นเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ กำลังตรวจสอบบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป. ว่าละเมิดกฎหมายว่าด้วยการกระทำทุจริตข้ามชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายระดับรัฐบัญญัติของสหรัฐฯ หรือไม่ อัยการกลางของสหรัฐฯ ได้คัดเลือกคณะลูกขุนในรัฐเท็กซัส เพื่อเตรียมเข้าฟังการไต่สวนคดีการทุจริตของบริษัทโตโยต้า หลังพบหลักฐานว่าบริษัท โตโยต้า ประเทศไทย อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการติดสินบนผู้พิพากษาในคดีหนีภาษีนำเข้ารถยนต์ ซึ่งต่อมาโฆษกศาลยุติธรรมของไทย ออกมาเปิดเผยว่ามีคำสั่งแต่งตั้ง ‘คณะทำงานตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินการต่อข้อกล่าวหากรณีคดีภาษีอากรที่เป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์’ โดยให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมนั่งประธานคณะ ในขณะที่อีกด้าน เมื่อวันที่  31 พ.ค. ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา รายงานโดยอ้างสำนักงานศาลยุติธรรมว่าบุคคลที่ถูกอ้างถึงได้มอบอำนาจให้สำนักงานศาลยุติธรรมไปแจ้งความต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับเทคโนโลยี หรือ ปอท. ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

สำหรับ “กฎหมายว่าด้วยกระทำทุจริตข้ามชาติของสหรัฐอเมริกา (Foreign Corrupt Practices Act: FCPA)” ตราและบังคับใช้เป็นครั้งแรกในสมัยของจิมมี คาร์เตอร์ ประธานาธิบดีคนที่ 39 ของสหรัฐฯ สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือเพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทสัญชาติอเมริกันและบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในสหรัฐฯ กระทำการใดๆ อันเป็นการทุจริตต่อเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อแลกกับผลประโยชน์ทางธุรกิจ หรือเรียกง่ายๆ ว่า “กฎหมายป้องกันและปราบปรามการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ”

"กฎหมาย FCPA ห้ามบริษัทข้ามชาติที่มีหลักทรัพย์ในสหรัฐฯ จ่าย, เสนอ, หรือสัญญาว่าจะให้เงินหรือทรัพย์สินใดๆ แก่เจ้าหน้าที่รัฐเพื่อแลกกับผลประโยชน์ และหากทราบว่าเจ้าหน้ารัฐรับข้อเสนอ, เงิน หรือทรัพย์สินใดๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายเช่นเดียวกัน"

ในเดือน ธ.ค. 2520 กฎหมาย FCPA มีผลบังคับใช้กับพลเมืองอเมริกันและบริษัทต่างชาติผู้ออกตราสารหนี้ให้แก่พลเมืองหรือบริษัทอเมริกัน ต่อมาใน พ.ศ.2541 ในสมัยของประธานาธิบดีบิล คลินตัน ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้กฎหมายดังกล่าวมีผลครอบคลุมถึงชาวต่างชาติและบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะลงทุนโดยตรงหรือผ่านตัวแทนก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้มีการติดสินบนเจ้าหน้าที่ในอาณาเขตของสหรัฐฯ โดยกฎหมายนี้ครอบคลุมถึงการกระทำผิดของบริษัทลูกหรือสำนักงานย่อยที่มีสาขาอยู่ในประเทศอื่นๆ อีกด้วย

กฎหมาย FCPA กำหนดให้บริษัทที่มีหลักทรัพย์อยู่ในสหรัฐฯ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการทำบัญชีตามกฎหมายของสหรัฐฯ และสอดคล้องกับกฎหมาย FCPA โดยบริษัทนั้นๆ ต้องจัดทำและรักษาบัญชี รวมถึงบันทึกทางการเงินอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง ทั้งยังต้องจัดทำและคงไว้ซึ่งระบบตรวจสอบและควบคุมภายในที่ได้มาตรฐานอีกด้วย

 

‘ล็อกฮีด (Lockheed)’ คดีสินบนข้ามชาติพัวพันนายกฯ ญี่ปุ่นและราชวงศ์เนเธอร์แลนด์

“คดีล็อกฮีด” ถือเป็นคดีติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐครั้งประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่กฎหมาย FCPA จะมีผลบังคับใช้ และเป็นคดีที่เร่งผลักดันให้รัฐสภาของสหรัฐฯ ต้องผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว ชื่อของคดีนี้มีที่มาจากบริษัท ล็อกฮีด คอร์ปอเรชัน ผู้ผลิตเรื่องบินรบและอากาศยานรายใหญ่ของสหรัฐฯ ที่จ่ายสินบนหลายสิบล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐต่างชาติทั้งในยุโรป ตะวันออกกลาง และญี่ปุ่น แลกกับการขายเครื่องบินรบให้กับรัฐบาลประเทศนั้นๆ

การสอบสวนเส้นทางการเงินที่ผิดปกติของบริษัทล็อกฮีดเริ่มต้นขึ้นในเดือน ส.ค. 2518 โดย แฟรงก์ เชิร์ช ส.ว.จากพรรคเดโมแครต ยื่นเรื่องต่อประธานคณะกรรมการการทำธุรกรรม อสังหาริมทรัพย์ และกิจการทั่วไปในชั้น ส.ว. เพื่อขอตรวจสอบเส้นทางการเงินของบริษัทที่กู้ยืมเงินซอฟต์โลนตามนโยบายของรัฐบาลในยุคนั้น สาเหตุที่เชิร์ชมุ่งเป้าไปที่บริษัทล็อกฮีด เพราะก่อนหน้านั้น คณะทำงานของเชิร์ชได้ตรวจสอบเส้นทางการเงินและคดีทุจริตของนอร์ทธรอป (Northrop) บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินอีกราย ซึ่งผู้บริหารของบริษัทดังกล่าวให้การว่า “เขาดำเนินธุรกิจตามรอยของบริษัทล็อกฮีด”

แฟรงก์ เชิร์ช วุฒิสมาชิกจากพรรคเดโมแครต ผู้เปิดโปงคดีติดสินบนครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ (ภาพจากวิกิพีเดีย)
 

จากคำให้การของผู้บริหารนอร์ทธรอป ทำให้คณะกรรมการตรวจสอบการทุจริตของเชิร์ชเดินหน้าสอบสวนการขายเครื่องบินโดยสารรุ่น L-1011 ของบริษัทล็อกฮีดให้แก่สายการบิน ANA ของญี่ปุ่น ต่อมาในเดือน ก.พ. 2519 เชิร์ช ในฐานะประธานคณะอนุกรรรมการกำกับดูแลการประกอบกิจการข้ามชาติในชั้น ส.ว. ภายใต้คณะกรรมการกิจการต่างประเทศ เปิดเผยว่าบริษัทล็อกฮีดจ่ายเงินสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐของญี่ปุ่นเป็นเงินกว่า 12.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยหนึ่งในรายชื่อผู้รับสินบนดังกล่าว คือ คาคุเออิ ทานากะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นซึ่งดำรงตำแหน่งใน พ.ศ.2515-2517

สำนวนของคณะอนุกรรมการฯ ระบุว่า ทานากะ รับเงินจำนวน 1.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากบริษัทล็อกฮีด ส่งผลให้ทานากะถูกจับกุมและดำเนินคดีข้อหารับเงินสินบนใน พ.ศ.2519 แต่ได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี ต่อมาใน พ.ศ.2526 ศาลญี่ปุ่นตัดสินให้ทานากะต้องโทษจำคุก 4 ปีและถูกปรับเป็นเงิน 500 ล้านเยน แต่เขายื่นอุทธรณ์และประกาศว่าจะไม่ลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. ของพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ตราบใดที่เสียงในสภายังสนับสนุนเขา ซึ่งนำมาสู่ความขัดแย้งระหว่างสมาชิก ส.ส. และคณะรัฐมนตรีจนถึงขั้นต้องประกาศยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่ง ส.ส. จากพรรค LDP ก็ยังสามารถครองเสียงส่วนมากในสภาไว้ได้ รวมถึงทานากะเองก็ยังครองเก้าอี้ ส.ส. ไว้ได้ตามเดิม

คาคุเออิ ทานากะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในช่วง พ.ศ.2515-2517 (ภาพจากวิกิพีเดีย)
 

อีกหนึ่งรายชื่อที่ปรากฏในสำนวนว่าเป็นผู้รับสินบนจากบริษัทล็อกฮีด คือ เจ้าชายแบร์นฮาร์ทแห่งลิพเพอ-บีสเทอร์เฟ็ลท์ พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถยูเลียนาแห่งเนเธอร์แลนด์ และมีศักดิ์เป็นพระอัยกา (ตา) ของสมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์ กษัตริย์องค์ปัจจุบันของเนเธอร์แลนด์ สำนวนของคณะอนุกรรมการฯ ระบุว่า เจ้าชายแบร์นฮาร์ทรับเงินสินบนจำนวน 1.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากบริษัทล็อกฮีด แลกกับการช่วยพูดคุยโน้มน้าวให้คณะรัฐมนตรีของเนเธอแลนด์ตกลงซื้อเครื่องบินรบจากล็อกฮีด หลังจากรายงานดังกล่าวเผยแพร่ออกไป เจ้าชายแบร์นฮาร์ททรงยุติการปฏิบัติพระราชกรณียกิจและทรงลาออกจากตำแหน่งจเรทหารแห่งกองทัพเนเธอร์แลนด์ แม้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์จะสั่งสอบสวนกรณีที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้ดำเนินคดีใดๆ กับพระองค์ อย่างไรก็ตาม ใน พ.ศ.2547 หลังจากที่เจ้าชายแบร์นฮาร์ทสิ้นพระชนม์ มีการเปิดเผยบทสัมภาษณ์ของพระองค์ ซึ่งพระองค์ทรงยอมรับว่ารับเงินสินบนจากล็อกฮีดจริง และพระองค์มอบเงินจำนวนดังกล่าวให้กับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ซึ่งพระองค์เคยดำรงตำแหน่งประธานองค์กร

สมเด็จพระราชินีนาถยูเลียนาแห่งเนเธอร์แลนด์ (ซ้าย) และเจ้าชายแบร์นฮาร์ทแห่งลิพเพอ-บีสเทอร์เฟ็ลท์ (ขวา)
ใน พ.ศ.2523 (ภาพจากวิกิพีเดีย)
 

ต่อมาในเดือนวันที่ 27 พ.ค. 2520 หนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์ รายงานโดยอ้างอิงสำนวนคดีจากศาล ระบุว่า ตั้งแต่ พ.ศ.2513-2518 บริษัทล็อกฮีดจ่ายสินบนจำนวน 38 ล้านดอลลาร์ให้เจ้าหน้าที่รัฐในต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ สเปน อิตาลี และเยอรมนีตะวันตก ตามผลการสอบสวนของคณะอนุกรรมการฯ ของเชิร์ช นอกจากนี้ ผู้บริหารของล็อกฮีดได้ให้การเพิ่มเติมว่าเขาจ่ายเงินจำนวน 165 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้แก่ อัดนัน คาช็อกกี นักธุรกิจชาวซาอุฯ เป็นค่านายหน้าที่ช่วยให้บริษัทปิดดีลการค้าเครื่องบินรบกับรัฐบาลซาอุฯ ได้ ซึ่งเงินส่วนหนึ่งในจำนวนดังกล่าวถูกแบ่งจ่ายไห้แก่เจ้าหน้าที่รัฐของซาอุดีอาระเบีย

อย่างไรก็ตาม ผลการสอบสวนของศาลไม่พบว่าบริษัทล็อกฮีดกระทำการทุจริตหรือจ่ายเงินสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐในประเทศ มีเพียงการกระทำที่ ‘หมิ่นเหม่’ และ ‘ใกล้เคียง’ เท่านั้น เช่น ให้ตัวแทนที่ปรึกษาบริษัทไปรับเงินสดจำนวน 20,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ที่กรุงปารีสของฝรั่งเศสเพื่อนำมาฝากไว้ในธนาคารที่สกอตแลนด์ แต่สุดท้ายเงินจำนวนดังกล่าวก็ถูกส่งคืนให้ทางการยุโรป หรือบางครั้ง คนของบริษัทล็อกฮีดก็ช่วยออกเงินค่า ‘เอนเตอร์เทน’ ให้กับบริษัทคู่ค้าหรือเจ้าหน้าที่รัฐในจำนวนเงินเพียงเล็กน้อย ซึ่งยังไม่ถือว่าเป็นการทำธุรกรรมที่ผิดปกติตามกฎหมายของสหรัฐฯ

ย้อนรอยบริษัทดังถูก ‘ลงดาบ’ เพราะติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ

ล็อกฮีด

บริษัทล็อกฮีดก็ถูกดำเนินคดีในข้อหาติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐอีกครั้งตามกฎหมาย FCPA ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากคดีสินบนเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน โดยวันที่ 27 ม.ค. 2538 ศาลเขตเหนือของรัฐจอร์เจียมีคำสั่งให้บริษัทล็อกฮีดจ่ายค่าปรับเป็นเงินจำนวน 24.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ฐานจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐของอียิปต์เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ

บริษัทล็อกฮีดยอมรับว่าได้จ่ายเงินสินบนจำนวน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้ ไลลา ไอ. ตักลา (Leila I. Takla) ส.ส.หญิงของอียิปต์ แลกกับการทำสัญญาซื้อขายเครื่องบินรบรุ่น C-130 ใน พ.ศ.2532 ผ่านบริษัท Takla Inc. ซึ่งเป็นของเธอและสามี ในตอนแรก ล็อกฮีดสัญญาว่าจะจ่ายเงินค่านายหน้าให้จำนวน 1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หาก Takla Inc. ช่วยขายเครื่องบินรบให้แก่กองทัพอียิปต์ แต่ล็อกฮีดกลับปฏิเสธการจ่ายเงินค่านายหน้าจน Takla Inc. ต้องฟ้องเรียกค่าเสียหายจากศาลสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ล็อกฮีดทำหนังสือชี้แจงต่อกระทรวงกลาโหมและกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ว่าจะไม่จ่ายค่านายหน้าให้บริษัท Takla Inc. ตามที่เรียกร้อง แต่เมื่อเจ้าหน้าที่สืบสวนเส้นทางการเงินย้อนหลัง พบว่าในเดือน ม.ค. 2533 บริษัทล็อกฮีดโอนเงินจำนวน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เข้าบัญชีธนาคารสวิสของ ส.ส.ตักลา และระบุชื่อธุรกรรมนี้ว่า ‘ค่าธรรมเนียมการสิ้นสุด’ (Termination Fee) ซึ่งนำมาสู่การพิจารณาคดีในชั้นศาล

ต่อมาในเดือน ต.ค. 2538 สุไลมาน เอ. นาสซาร์ อดีตผู้บริหารของล็อกฮีด ถูกศาลรัฐจอร์เจียพิพากษาจำคุก 18 เดือนและปรับเงิน 125,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในข้อหามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีติดสินบนดังกล่าว

จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson)

8 ธ.ค. 2554 จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน บริษัทยายักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกันยอมจ่ายค่าปรับเป็นเงินจำนวน 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ฐานละเมิดกฎหมาย FCPA ด้วยการติดสินบนหมอในยุโรปและจ่ายเงินใต้โต๊ะให้รัฐบาลอิรักแลกกับการทำธุรกิจอย่างผิดกฎหมาย

รัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวหาว่าบริษัทลูกของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน มอบเงินและของกำนัลให้หมอในประเทศกรีซ โปแลนด์ และโรมาเนีย แลกกับการสั่งจ่ายยาและเวชภัณฑ์ของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ให้กับคนไข้ คณะกรรมการกำกับและดูแลตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) ระบุว่า จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ใช้บริษัทปลอมและปลอมแปลงสัญญาเพื่อจ่ายเงินสินบนให้เจ้าหน้าที่ และทำมาอย่างน้อย 13 ปีแล้ว นอกจากนี้ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ยังถูกกล่าวหาว่าจ่ายเงินใต้โต๊ะให้รัฐบาลอิรักเพื่อแลกกับการทำสัญญาซื้อขายในโครงการน้ำมันแลกกับอาหารขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Oil for Food Program) อีกด้วย

วิลเลียม เวลดอน ประธานบริหารของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ในขณะนั้น แถลงว่า “เราถูกตรวจสอบการใช้จ่ายที่ไม่เหมาะสมตามรายงานของรัฐบาล และขอรับผิดชอบต่อการกระทำทั้งหมด ผมทราบดีว่าการกระทำเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากพนักงานของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันทั่วโลก ที่ตั้งใจทำงานอย่างซื่อสัตย์และถูกต้องในทุกๆ วัน” ด้านโฆษกของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ชี้แจงเพิ่มเติมว่าพนักงานทุกคนที่มีชื่อปรากฏในสำนวนคดี ขณะนี้ได้สิ้นสภาพการเป็นพนักงานของบริษัทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นอกจากการชำระค่าปรับเป็นเงินจำนวนมหาศาลให้รัฐบาลสหรัฐแล้ว จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันต้องจัดทำแผนฟื้นฟูความโปร่งใสตามกฎหมายต่อต้านการติดสินบนของสหรัฐฯ ด้วยการตั้งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายในที่มีหน้าที่รายงานการทำงานของคณะผู้บริหารต่อทางการสหรัฐฯ โดยตรง ทุกๆ 6 เดือน

ไฟเซอร์ (Pfizer)

ไฟเซอร์ บริษัทยาและเทคโนโลยีชีวภาพสัญชาติอเมริกัน ผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ด้วยเทคโนโลยี mRNA เคยถูกศาลสั่งปรับเป็นเงินรวมกว่า 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือน ส.ค. 2555 ฐานละเมิดกฎหมาย FCPA เพราะบริษัทในเครืออย่าง ไฟเซอร์ เอช.ซี.พี คอร์ปอเรชัน ซึ่งทำงานวิจัยด้านสุขภาพ จ่ายเงินสินบนหลายล้านดอลลาร์ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐและผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขในประเทศบัลแกเรีย โครเอเชีย คาซัคสถาน และรัสเซีย

สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ (FBI) ระบุว่าไฟเซอร์ เอช.ซี.พี คอร์ปอเรชัน จ่ายเงินสินบนให้เจ้าหน้าที่ต่างชาติเพื่อเป็นหลักประกันสัญญาการทำธุรกิจที่เอื้อผลประโยชน์และกำไรมหาศาลให้บริษัท ซึ่งเป็นการสร้างตลาดสินค้าที่ไม่เป็นธรรมและเอาเปรียบบริษัทอื่นๆ โดยไฟเซอร์ เอช.ซี.พี คอร์ปอเรชัน ยอมรับว่าจ่ายเงินสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐหลายระดับในต่างประเทศ ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ผู้ตรวจการ และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข ไปจนถึงจ่ายเงินซื้อเสียงคณะกรรมการตรวจสอบ นอกจากนี้ ยังยอมรับว่าได้โน้มน้าวรัฐบาลในประเทศดังกล่าวให้ตัดสินใจออกนโยบายด้านสุขภาพที่เอื้อต่อการขายผลิตภัณฑ์ยาของบริษัท โดยทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2540-2549

นอกจากนี้ ไวเอธ (Wyeth) บริษัทผลิตยาที่ไฟเซอร์เพิ่งซื้อกิจการมาเมื่อ พ.ศ.2552 ยังถูกคณะกรรมการกำกับและดูแลตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) ตรวจสอบ โดยพบว่าก่อนหน้านี้ใน พ.ศ.2548 ไวเอธเคยจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐของจีน อินโดนีเซีย ปากีสถาน และซาอุดีอาระเบีย แม้ว่าขณะเกิดเหตุ ไฟเซอร์ยังไม่ได้เข้าควบรวมกิจการของไวเอธ แต่ SEC ระบุว่าไฟเซอร์ ในฐานะบริษัทแม่ ต้องรับภาระตรวจสอบบริษัทลูกย้อนหลังและรายงานต่อ SEC

ด้วยเหตุนี้ ศาลสหรัฐฯ จึงสั่งให้ไฟเซอร์ เอช.ซี.พี คอร์ปอเรชัน จ่ายค่าปรับเป็นเงินจำนวน 15 ล้านดอลลาร์ให้แก่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ในขณะที่ไวเอธต้องจ่ายเงินกว่า 18.8 ล้านดอลลาร์ให้แก่ SEC ส่วนไฟเซอร์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของทั้ง 2 บริษัทต้องจ่ายเงินกว่า 26.3 ล้านดอลลาร์ให้แก่ SEC เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ไฟเซอร์ต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความโปร่งใสภายในเพื่อรายงานต่อกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ รวมถึง SEC อีกทั้งไฟเซอร์ยังต้องปรับปรุงแก้ไขระบบจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจให้เข้มแข็ง และต้องสร้างระบบควบคุมตรวจสอบการทุจริตภายในให้เข้มงวด

อนึ่ง ใน พ.ศ.2552 ไฟเซอร์เคยถูกดำเนินคดีข้อหาโฆษณาเกินจริงและทำการตลาดเท็จ รวมถึงถูกปรับเป็นเงิน 2,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากการโฆษณาว่ายาแก้ปวดข้อต่อยี่ห้อ Bextra ซึ่งผลิตโดยบริษัทลูกของไฟเซอร์ มีสรรพคุณช่วยรักษาอาการปวดฉับพลันและลดอาการปวดจากแผลผ่าตัดได้ ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) โดยยาดังกล่าววางจำหน่ายเมื่อ พ.ศ.2544 และถูกถอนออกจากท้องตลาดใน พ.ศ.2548

ไมโครซอฟท์ ฮังการี (Microsoft Hungary)

22 ก.ค. 2562 ไมโครซอฟท์ ฮังการี บริษัทลูกของไมโครซอฟท์ ผู้ผลิตและพัฒนาซอฟต์แวร์รายใหญ่ของโลกสัญชาตอเมริกัน ถูกศาลสหรัฐฯ สั่งปรับเป็นเงินจำนวนกว่า 8.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในข้อหาติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ แลกกับการขายผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ของบริษัทให้กับหน่วยงานภาครัฐของฮังการี ไมโครซอฟท์ ฮังการี เริ่มจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐของฮังการีตั้งแต่ พ.ศ.2556-2558 ซึ่งผู้บริหารระดับสูงและพนักงานคนอื่นๆ ของบริษัทยอมรับว่ามีส่วนรู้เห็นกับเรื่องนี้

ไมโครซอฟท์ ฮังการีชี้แจงต่อบริษัทแม่ในสหรัฐฯ ว่า ‘ส่วนลดราคาสูง’ จำเป็นต่อการปิดดีลการค้ากับตัวแทนจำหน่ายในฮังการี ซึ่งตัวแทนจำนหน่ายเหล่านี้จะช่วยเพิ่มโอกาสในการประมูลราคาใบอนุญาตซื้อขายซอฟต์แวร์กับหน่วยงานรัฐของฮังการีได้ ทว่า ในความเป็นจริง ส่วนลดที่ปรากฏในบัญชีของบริษัทไม่ได้ถูกส่งต่อไปยังหน่วยงานภาครัฐซึ่งเป็นลูกค้า แต่เป็นการตกแต่งบัญชีเพื่อจ่ายสินบน โดยใช้คำว่า ‘ส่วนลด’ มาบังหน้า ซึ่งข้อมูลบัญชีเหล่านี้ถูกบันทึกไว้ในฐานข้อมูลของไมโครซอฟท์สำนักงานใหญ่ในสหรัฐฯ จึงถือว่าละเมิดต่อกฎหมาย FCPA

คดีนี้ดำเนินการสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ (FBI) และได้รับความร่วมมือจากไมโครซอฟท์สำนักงานใหญ่ ทำให้ไมโครซอฟท์ ฮังการี ต้องตั้งระบบตรวจสอบภายในตามมาตรฐานของกฎหมายสหรัฐฯ และบริษัทแม่ต้องดำเนินการควบคุมการตรวจสอบบัญชีอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ ฮังการียังถูกสั่งให้ระงับใบอนุญาต 4 ฉบับกับคู่ค้า และต้องจ่ายเงินค่าเสียหายที่เกิดจากการตกแต่งบัญชีเท็จจำนวน 16.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้แก่คณะกรรมการกำกับและดูแลตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) ซึ่งเป็นคนละส่วนกับเงินค่าปรับ พร้อมถูกลดคะแนนความน่าเชื่อถือของบริษัทลง 25%

ซัมซุง เฮฟวี่อินดัสทรีส์ (Samsung Heavy Industries Corp.)

22 พ.ย. 2562 ซัมซุง เฮฟวี่อินดัสทรีส์ บริษัทต่อเรือขนาดใหญ่และผู้นำด้านวิศวกรรมระดับโลกในเครือซัมซุงกรุ๊ปของเกาหลีใต้ ถูกศาลเขตตะวันออกของรัฐเวอร์จิเนียสั่งปรับเป็นเงิน 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในข้อหาติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐชาวบราซิลเป็นเงินหลายล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าละเมิดกฎหมาย FCPA ของสหรัฐฯ โดยซัมซุง เฮฟวี่อินดัสทรีส์ต้องจ่ายค่าปรับจำนวน 50% ให้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งต้องจ่ายให้หน่วยงานกำกับดูแลและต่อต้านการทุจริตของบราซิล ได้แก่ ผู้ตรวจสอบบัญชีกลาง (AGU) กรมอัยการกลาง (MPF) และสำนักงานอัยการสูงสุด (CGU)

จากการสืบสวนของสำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ (FBI) พบว่าซัมซุง เฮฟวี่อินดัสทรีส์ จ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ของบราซิลผ่านสำนักงานสาขาที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ ตั้งแต่ พ.ศ.2550-2556 ซัมซุง เฮฟวี่อินดัสทรีส์จ่ายเงินค่านายหน้าให้บริษัทตัวแทนเป็นจำนวนกว่า 20 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเงินส่วนหนึ่งในจำนวนนี้ถูกโอนต่อไปยังเจ้าหน้าที่ของบริษัทปิโตรบราส (Petrobras) รัฐวิสาหกิจด้านน้ำมันและพลังงานของบราซิล เพื่อเป็นหลักประกันในการทำธุรกิจในประเทศบราซิล และแลกกับการให้ปิโตรบราสสามารถเช่าเรือขุดเจาะน้ำมันที่ซัมซุง เฮฟวี่อินดัสทรีส์ขายให้กับบริษัทขุดเจาะน้ำมันแห่งหนึ่งในรัฐเท็กซัสได้ ซึ่งบริษัทจุดเจาะน้ำมันดังกล่าวเป็นผู้อำนวยความสะดวกด้านการขายเรือขุดเจาะให้กับซัมซุง เฮฟวี่อินดัสทรีส์

อนึ่ง คดีนี้ทำให้ซัมซุง เฮฟวี่อินดัสทรีส์ เสียคะแนนความน่าเชื่อถือในการทำธุรกิจไป 20%

อีริคสัน (Telefonaktiebolaget LM Ericsson)

6 ธ.ค. 2562 อีริคสัน บริษัทโทรคมนาคมสัญชาติสวีเดนที่มีการลงทุนในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงสหรัฐฯ ถูกศาลสหรัฐฯ สั่งปรับเป็นเงินมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในข้อหาติดสินบนเจ้าหน้าและละเมิดกฎหมาย FCPA โดยกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ตรวจสอบพบว่าบริษัทลูกของอีริคสันในประเทศอื่นมีการจ่ายเงินที่ผิดปกติหลายสิบล้านดอลลาร์ ซึ่งบริษัทอีริคสัน อียิปต์ ยอมรับสารภาพในศาลสหรัฐฯ ทำให้บริษัทแม่ต้องจ่ายค่าปรับให้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เป็นเงินกว่า 520 ล้านดอลลาร์ ส่วนอีก 540 ล้านดอลลาร์ต้องชำระให้แก่คณะกรรมการกำกับและดูแลตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC)

ผู้ช่วยอัยการแผนกคดีอาญาของสหรัฐฯ เผยว่า อีริคสันกระทำการทุจริตต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงต่อเนื่องยาวนานกว่า 17 ปีในอย่างน้อย 5 ประเทศ ได้แก่ จีบูติ จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย และคูเวต โดยพยายามกระทำความผิดเพื่อเพิ่มผลกำไรให้บริษัท ด้านอัยการเขตนิวยอร์กใต้ ระบุว่า อีริคสันติดสินบนเจ้าหน้าที่ด้วยการจ่ายเงินและให้ของขวัญ แลกกับการทำธุรกิจตามหลักการ ‘เงินบันดาลทุกสิ่ง’ ขณะที่หัวหน้าแผนกสืบสวนของกรมสรรพากรสหรัฐฯ กล่าวว่า การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์อย่างเข้มงวดเและการควบคุมภายในถือเป็นหลักขั้นพื้นฐานที่บริษัทข้ามชาติต้องทำเพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำที่ผิดกฎหมาย และเราจะไม่หยุดตรวจสอบการทุจริตลักษณะนี้ เพื่อรักษาระบบการค้าโลกที่ปราศจากการทุจริต

อีริคสันยอมรับว่าละเมิดกฎหมาย FCPA ของสหรัฐฯ ตั้งแต่ พ.ศ.2543-2559 โดยบริษัทติดสินบนเจ้าหน้าที่ของตนให้แต่งบัญชีเท็จ และไม่สามารถควบคุมการตรวจสอบบัญชีภายในบริษัทได้ นอกจากนี้ อีริคสันยังใช้บุคคลภายนอกและบริษัทที่ปรึกษาเป็นผู้จ่ายเงินสินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐ โดยบริษัทหรือบุคคลภายนอกเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำสัญญาปลอม และการสั่งจ่ายเงินในใบสั่งสินค้าปลอม ซึ่งการทำธุรกรรมที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้ส่งผลต่อการตกแต่งบัญชีเท็จของอีริคสัน

อย่างไรก็ตาม การสารภาพและยอมจ่ายค่าปรับในคดีติดสินบนเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนไกล่เกลี่ย เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกฟ้องดำเนินคดีอาญา ซึ่งอีริคสันให้คำมั่นว่าบริษัทจะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ในการสืบสวนสอบสวนการกระทำที่ทุจริตภายในบริษัท และจะสร้างระบบตรวจสอบภายในที่เข็มแข็ง ทั้งยังยินยอมให้ตรวจสอบบัญชีอย่างเข้มงวดและเป็นอิสระเป็นเวลา 3 ปี

อนึ่ง คดีนี้ทำให้อีริคสันถูกลดระดับความน่าเชื่อถือในการทำธุรกิจในสหรัฐฯ โดยคะแนนความน่าเชื่อถือลดลงไปถึง 15%

อดีตผู้ว่า ททท. จำคุก 50 ปี ฐานรับสินบนจากนักธุรกิจอเมริกัน

ถึงแม้ว่ากฎหมาย FCPA จะใช้เอาผิดบริษัทอเมริกันหรือบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในสหรัฐฯ รวมถึงพลเมืองอเมริกันที่ติดสินบนเจ้าหน้าที่ แต่การสอบสวนของทางการสหรัฐฯ ได้นำไปสู่การเอาผิดต่อผู้รับสินบนในต่างประเทศ เช่น กรณีของอดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น หรือ จุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 50 ปีในคดีรับสินบนกว่า 60 ล้านบาท แลกกับการให้สิทธิจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ พ.ศ.2545-2550 แก่เจอรัลด์ และแพทริเซีย กรีน นักธุรกิจภาพยนตร์ชาวอเมริกัน ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ FBI สอบสวนดำเนินคดี และถูกตัดสินจำคุกคนละ 6 เดือนพร้อมจ่ายค่าปรับอีก 250,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ไปเมื่อ พ.ศ.2553 ซึ่งเป็นเหตุให้ใน พ.ศ.2554 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นเรื่องต่อพนักงานอัยการให้สั่งฟ้องคดีแก่จุฑามาศและบุตรสาว ต่อมาใน พ.ศ.2558 อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องและส่งเรื่องต่อไปยังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยคดีนี้สิ้นสุดลงในชั้นศาลฏีกาใน พ.ศ.2562

ที่มา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท