Skip to main content
sharethis

จีนกวาดล้างสกุลเงินดิจิทัลแบบเข้ารหัสหรือ 'คริปโตเคอร์เรนซี' (cryptocurrency) ในโลกออนไลน์ครั้งใหญ่สั่งปิดบัญชีผู้ใช้งานดังๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวหลายรายใน 'เวยป๋อ' ท่ามกลางความผันผวนของค่าเงินบิตคอยน์และการที่รัฐบาลกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านการเงินและการเข้าถึงเป้าหมายพลังงานหมุนเวียน

9 มิ.ย. 2564 วานนี้ เว็บไซต์โซเชียลมีเดียจีนเวยป๋อ (Weibo) ทำการแบนบัญชีผู้ใช้งานที่มีอิทธิพลหลายรายซึ่งเกี่ยวกับข้องกับเรื่องของสกุลเงินดิจิทัลแบบเข้ารหัสที่เรียกว่า "คริปโตเคอร์เรนซี" หลังจากที่ทางการจีนประกาศยกระดับการปราบปรามการขุดและการค้าบิตคอยน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสกุลเงินประเภทนี้

มีบัญชีผู้ใช้งานเวยป๋ออย่างน้อยประมาณสิบกว่ารายที่มักจะโพสต์เนื้อหาเกี่ยวกับคริปโตเคอร์เรนซีไม่สามารถเข้าใช้งานบัญชีผู้ใช้ของตัวเองได้ตั้งแต่ในคืนวันที่ 6 มิ.ย. ที่ผ่านมา ถ้าหากพยายามเข้าสู่บัญชีผู้ใช้งานจะเจอกับข้อความที่ระบุว่าบัญชีผู้ใช้งานเหล่านี้ละเมิดกฎเกณฑ์ของเวยป๋อ ซึ่งมีผู้ใช้งานรายหนึ่งระบุว่า เขาคาดคะเนไว้แล้วว่าอะไรแบบนี้จะเกิดขึ้นสักวันหนึ่ง

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่โซเชียลมีเดียจีนทำการกวาดล้างบัญชีผู้ใช้งานที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอร์เรนซี ในปี 2562 เวยป๋อเคยแบนบัญชีผู้ใข้งานที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทแลกเปลี่ยนบิตคอยน์ที่ชื่อ Binance และนักลงทุนคริปโตเคอร์เรนซีชื่อดังอีกรายหนึ่งที่เคยได้ร่วมรับประทานอาหารเย็นกับมหาเศรษฐีนักลงทุน วอร์เรน บัฟเฟตต์ นอกจากนี้ในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา บัญชีของบริษัทแลกเปลี่ยนบิตคอยน์ใหญ่ๆ 3 บัญชีคือบัญชีของ Binance, Huobi และ OKEx ก็ถูกระงับการใช้งานทั้งหมด

การกวาดล้างในครั้งนี้มีขึ้นในช่วงที่จีนประกาศว่าจะยกระดับการปราบปรามคริปโตเคอร์เรนซีหนักขึ้นในประเทศ พวกเขาเตือนเรื่องความเสี่ยงทางการเงินซึ่งได้รับความสนใจจากผู้คนหลังจากเกิดความผันผวนของค่าเงินบิตคอยน์ที่ตกลงจากมากกว่า 60,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือน พ.ค. เหลือประมาณ 36,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่แล้ว

นอกจากนี้กิจกรรมการ "ขุด" บิตคอยน์ยังทำให้รัฐบาลจีนกังวลเรื่องภาพลักษณ์ว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายพลังงานหมุนเวียนได้หรือไม่ เพราะการขุดบิตคอยน์ต้องอาศัยพลังงานไฟฟ้าสูงมากในระดับที่ทำให้เกิดการใช้ไฟฟ้ามากกว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในปีเดียว จากข้อมูลของดัชนีการใช้ไฟฟ้าเพื่อบิตคอยน์ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

เหตุการณ์กวาดล้างที่เกิดขึ้นทำให้ผู้เขียนเรื่องเกี่ยวกับบิตคอยน์ที่เรียกตัวเองว่า "ผู้หญิง ดอกเตอร์บิตคอยน์มินิ" เรียกว่าเป็น "วันพิพากษาสำหรับผู้นำทางความคิดด้านคริปโต" 

ขณะที่รัฐบาลจีนอ้างเรื่องพลังงานหมุนเวียนและเรื่องความผันผวนทางการเงิน วินสตัน หม่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ของวิทยาลัยนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยนิวยอร์กกล่าวว่ารัฐบาลจีนพยายามปิดกั้นไม่ให้มีใครสามารถเป็นเศรษฐีแบบอีลอน มักส์ จากการอาศัยตลาดคริปโต 

อย่างไรก็ตามหม่าผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับประเด็นดิจิทัลกับกฎหมายระบุถึงเรื่องที่ศาลสูงสุดของจีนอาจจะต้องนำเสนอการตีความทางกฎหมายของตัวเองในแง่นี้ ซึ่งอาจจะมีการระบุให้การขุดและซื้อขายคริปโตฯ อยู่ในประมวลกฎหมายอาญาของจีน ซึ่งก่อนหน้านี้กฎหมายในจีนยังมีความคลุมเครือเกี่ยวกับบิตคอยน์อยู่

เว็บไซต์ของธนาคารไทยพาณิชย์ระบุถึงคริปโตเคอร์เรนซีว่าเป็น "สินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่งที่มีการเข้ารหัส มีราคากลางในการซื้อขายแปรผันตามกลไกตลาด จึงสามารถทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมูลค่าผ่านอินเทอร์เน็ตได้ แต่เพราะไม่ได้มีลักษณะทางกายภาพเหมือนเช่นสกุลเงินทั่วไป (Fiat Currency) ของแต่ละประเทศที่มีการตีพิมพ์ธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์ออกมา ทำให้บางครั้ง เราก็เรียก สกุลเงินดิจิทัล ว่า "สกุลเงินเสมือน" หรือ Virtual currency "

"Cryptocurrency จะไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมหรือจัดการโดยหน่วยงานทางการเงินสากลใด ๆ และไม่มีรัฐบาลใดเป็นเจ้าภาพในการผลิตจำนวนเหรียญของสกุลเงินดิจิทัล โดยสกุลเงินเสมือนดังกล่าวนี้ จะทำงานอยู่บนระบบที่สามารถควบคุมตัวมันเองได้ เรียกว่า "บล็อกเชน" (Blockchain)" 

เว็บไซต์ธนาคารไทยพาณิชย์ระบุอีกว่าคริปโทเคอร์เรนซี่นั้นปัจจุบัน "ได้รับการเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่ง" และมีหลายสกุลเงินเช่น บิตคอยน์, อีเธอร์เรียม และ ไลท์คอยน์ เป็นต้น


เรียบเรียงจาก

Weibo purges cryptocurrency accounts amid bitcoin volatility as Beijing continues its crypto crackdown, South China Morning Post, 06-06-2021

China blocks several cryptocurrency-related social media accounts amid crackdown, Channel News Asia, 07-06-2021

คริปโทเคอร์เรนซี่ 101, ธนาคารไทยพาณิชย์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net