Skip to main content
sharethis

วานนี้(8 มิ.ย.64) ศาลอาญา รัชดาฯ มีนัดไต่สวนคีดละเมิดอำนาจศาล 2 คดี “ไบรท์ ชินวัตร” เหตุชุมนุมหน้าศาลเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้เพื่อนศาลสั่งจำคุก 4 เดือนไม่รอลงอาญา ส่วน “อะดิศักดิ์” ตบบ่าเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ระหว่างพิจารณาคดี #ชุมนุม19กันยาฯ แต่เจ้าหน้าที่คู่กรณีอยู่ระหว่างกักตัวโควิดศาลเลื่อนนัด

8 มิ.ย.2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานการไต่สวนในคดีละเมิดอำนาจศาลของชินวัตร จันทร์กระจ่างหรือไบรท์กลุ่มคนรุ่นใหม่นนทบุรีจากเหตุที่ถูกกล่าวหาว่าใช้คำหยาบพูดถึงศาลในการชุมนุมเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้เพื่อนนักกิจกรรมเมื่อ 29 เม.ย.2564 และอะดิศักดิ์ สมบัติคำ ที่ถูกกล่าวหาว่าตบบ่าของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ระหว่างการพิจารณาคดีที่เขาตกเป็นจำเลยในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 8 เม.ย.2564

“ไบรท์” ถูกจำคุก 4 เดือน เจ้าตัวยันแค่ขอให้ศาลทำหน้าที่อย่างยุติธรรม

สำหรับคดีของชินวัตรผู้กล่าวหาคือ ชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา โดยกล่าวหาว่าชินวัตรพูดผ่านเครื่องขยายเสียงว่าจะไม่เคารพศาลอีกต่อไป เพราะศาลไทยเป็นฆาตกร ไม่มีความเป็นธรรมให้กับประชาชนที่รักประชาธิปไตย พร้อมทั้งสาปแช่งคนที่มีส่วนร่วมเอาเพื่อนไปขังคุก ทั้งยังกล่าวถึงประธานศาลว่า เป็นผู้ดํารงความยุติธรรมของประเทศนี้ จะต้องรักษาไว้ซึ่งความเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ศาลต้องเห็นว่าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพให้ประกันแต่ต้น ไม่ใช่เอาไปขังคุก หรือเลื่อนการให้ประกัน ศาลจะยุติธรรมได้อย่างไร ในเมื่อคนที่ออกมาพูดความจริงเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติถูกเอาไปขัง แต่คนที่โกงที่ดินของแผ่นดินยังลอยนวล

ชินวัตร จันทร์กระจ่าง ขณะปราศรัยที่หน้าอาคารศาลอาญา รัชดาฯ เมื่อ 29 เม.ย.2564

ทั้งนี้ข้อต่อสู้ของชินวัตรที่ให้การต่อศาลว่าปฏิเสธข้อกล่าวหาโดยให้เหตุผลว่า ตนแค่ปราศรัยและชุมนุมที่ด้านล่างบันไดของศาลใกล้แนวรั้วของตำรวจเท่านั้นไม่ได้ใช้กำลังที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ส่วนการปราศรัยก็เป้นการวิจารณ์โดยสุจริตต่อการใช้อำนาจตุลาการที่ไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่เป็นเหตุผลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 เท่านั้น และการชุมนุมก็ไม่ได้มีเพื่อประวิงเวลาการพิจารณาของศาลด้วย อีกทั้งเจตนาในการปราศรัยวันนั้นก็เพื่อให้เรียกร้องให้ศาลทำหน้าที่อย่างยุติธรรม แต่ก็ทำไปด้วยความโมโหที่ไม่รู้ว่าเพื่อนจะได้รับการปล่อยตัวหรือไม่และทางศาลเองยังตั้งเงื่อนไขว่าถ้าผู้ชุมนุมไม่กลับก็จะไม่อ่านคำสั่งด้วย

อีกทั้งชินวัตรยังให้การอีกว่าคดีละเมิดอำนาจศาลที่พิจารณาในศาลอาญา รัชดาฯครั้งนี้ ยังเป็นเหตุที่มีการดำเนินคดีในศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลางในข้อหาดูหมิ่นศาลด้วยซึ่งงมีโทษทางอาญาเช่นกัน การดำเนินคดีครั้งนี้จึงเป็นการดำเนินคดีซ้ำซ้อนด้วย

ภายหลังการไต่สวน ศาลมีคำสั่งลงโทษจำคุก 4 เดือนโดยไม่รอลงอาญาโดยให้เหตุผลว่าพฤติการณ์ของชินวัตรที่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่นศาล เป็นการกระทำที่ไม่ยำเกรงต่อกฎหมายมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30-33 ลงโทษจำคุก 4 เดือนไม่รอลงอาญา

อีกทั้งจากเหตุคดีละเมิดอำนาจศาลทำให้ชินวัตรถูกยื่นไต่สวนถอนประกันคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร หลังการไต่สวนละเมิดอำนาจศาลทันที

ในการไต่สวนเพิกถอนประกัน ทางทนายความชี้แจงว่าคดีละเมิดอำนาจศาลนั้นเป็นการดำเนินคดีซ้ำซ้อนอีกทั้งชินวัตรยังไม่ได้ทำผิดเงื่อนไขประกันเนื่องจากมีการวางหลักทรัพย์ 35,000 บาทโดยไม่ได้มีการกำหนดเงื่อนไขประกันไว้และไม่เกี่ยวกับคดีละเมิดอำนาจศาลด้วย

หลังการไต่สวน ศาลมีคำสั่งไม่เพิกถอนประกันเนื่องจากเห็นว่าการกระทำของชินวัตรที่ละเมิดอำนาจศาลนั้น ไม่ได้ใช่การกระทำต่อกระบวนพิจารณาของศาลนี้จึงถือว่าไม่ได้เป็นการขัดขวางการดำเนินการของศาลและไม่ใช่การกระทำที่ถูกฟ้องร้อง และการจะสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวต้องเป็นไปตาม ป.วิ.อาญามาตร 108/1 เท่านั้น กรณีนี้จึงยังไม่มีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว แต่มีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มว่าไม่ให้ชินวัตรร่วมชุมนุมที่เป็นการก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง

หลังการไต่สวนเพิกถอนประกัน ทนายความได้ยื่นประกันตัวชินวัตรในส่วนคดีละเมิดอำนาจศาลระหว่างการอุทธรณ์คดี ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกัน โดยใช้หลักทรัพย์ประกันตัวเป็นเงินสด 10,000 บาท โดยเงินที่ใช้เป็นของกองทุนราษฎรประสงค์

ศาลเลื่อนไต่สวน “อะดิศักดิ์” คดีตบไหล่ราชทัณฑ์ เจ้าตัวอ้างถูกยื่นบังเลยสะกิด

วันเดียวกัน ศาลอาญา รัชดาฯ ยังมีการไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาลของ อะดิศักดิ์ สมบัติคำ จำเลยในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เนื่องจากเขาถูกกล่าวหาว่าได้ตบไหล่และมีปากเสียงกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เมื่อ 8 เม.ย.2564 ซึ่งเป็นนัดพิจารณาคดีที่เขาเป็นจำเลย แต่การไต่สวนต้องเลื่อนออกไปเนื่องจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คู่กรณีอยู่ระหว่างกักตัวเนื่องจากติดโควิด-19 และต้องรักษาตัวอีก 7 วัน

ในการไต่สวนอะดิศักดิ์ให้การว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นไปตามวิดีโอกล้องวงจรปิดของศาลจริงแต่ปฏิเสธว่าตนเพียงใช้มือสะกิดหรือแตะไหล่ ไพโรจน์ มนัสสิลา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมจำเลยในคดีนั้นเนื่องจากตนถูกเจ้าหน้าที่ยืนบังระหว่างฟังการพิจารณาคดีทำให้มองไม่เห็นการพิจารณาและได้พูดผ่านหน้ากากอนามัยแล้ว 2-3 ครั้งว่าให้หลบหน่อยแต่คิดว่าไม่ได้ยินจึงเดินไปสะกิด ทั้งนี้เขาไม่ได้มาศาลบ่อยนักจึงไม่ทราบวิธีปฏิบัติและเขายินดีที่จะขอโทษเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวหากมาศาล

คดีนี้เกิดขึ้นจากฝ่ายไพโรจน์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก่อนหน้านี้ได้ทำหนังสือร้องเรียนถึง ชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา ว่าตนถูกอะดิศักดิ์ลุกขึ้นใช้มือตบไหล่และรู้สึกเจ็บจากการตบเป็นพฤติการณ์ที่ละเมิดอำนาจศาล

ชวัลนาถซึ่งหลังรับเรื่องร้องเรียนได้เสนอต่ออธิบดีศาลอาญาและเป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ ให้การในฐานะพยานว่าหลังไพโรจน์ทำเรื่องร้องเรียนก็ได้ดูวิดีโอแต่ไม่ได้ยินเสียง จึงเรียกไพโรจน์มาถาม ไพโรจน์ยืนยันว่าตนรู้สึกเจ็บ ทั้งนี้ชวัลนาถตอบคำถามค้านของทนายความของอะดิศักดิ์ว่าจากที่เธอได้ดูคลิปไม่แน่ใจว่าอะดิศักดิ์มีเจตนาเข้าไปทำร้ายร่างกายหรือไปบอกให้หลบและเป็นการกระทำที่รุนแรงหรือไม่ และในคลิปก็ไกลไม่ได้ยินเสียงแล้วก็ยืนยันไม่ได้ว่าไพโรจน์ยืนบังอะดิศํกดิ์หรือไม่เพราะเธอไม่ได้อยู่ในห้องพิจารณา อีกทั้งเธอก็จำรายละเอียดไม่ได้ว่าในนัดพิจารณาครั้งนั้นเกิดบรรยากาศความตึงเครียดระหว่างพิจารณาคดีอย่างไรตามที่ทนายความถาม

ในการไต่สวนศาลกล่าวขึ้นว่าไม่ว่าจะมีบรรกาศขัดแย้งระหว่างพิจารณาคดีหรือไม่ ก็ไม่ได้หมายความว่าอะดิศักดิ์จะทำอะไรในศาลก็ได้ ทั้งนี้ชวัลนาถยอมรับว่าช่วงเวลาเกิดเหตุตามคลิปไม่ได้มีความวุ่นวาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net