ฝรั่งเศสจ่อเสนอเปลี่ยนภาษาราชการสหภาพยุโรปเป็นภาษาฝรั่งเศสในปีหน้า

การใช้ภาษาฝรั่งเศสกลายเป็นประเด็นหลังเกิดความตึงเครียดอีกครั้งระหว่างอังกฤษและสหภาพยุโรป เมื่อ 2 ฝ่ายเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับการปฏิบัติตามข้อตกลงในนอร์ธเทิร์นไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาขอออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษเมื่อปีที่แล้ว

 

สำนักข่าวเดอะอินดีเพนเดนท์รายงานเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลฝรั่งเศสของเอ็มมานูเอล มาครงกำลังร่างแผนเพื่อเสนอให้เปลี่ยนภาษาราชการของสหภาพยุโรป (European Union หรือ EU) จากอังกฤษเป็นฝรั่งเศส โดยฝรั่งเศสจะเสนอเรื่องนี้หลังได้เป็นประธานสภาสหภาพยุโรปในปีหน้า (พ.ศ. 2565)

“แม้เราจะยอมรับอังกฤษเป็นภาษาในการทำงานและเป็นภาษาที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย หลักในการแสดงความคิดเห็นของตนเองเป็นภาษาฝรั่งเศสยังคงมีอยู่อย่างเต็มที่ในสถาบันต่าง ๆ ของสหภาพยุโรป”เจ้าหน้าที่ทูตอาวุโสของฝรั่งเศสคนหนึ่งแจ้งข่าวกับเว็บไซต์ Politico  

“เราควรทำให้มันรุ่มรวย และทำให้มันมีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อให้ภาษาฝรั่งเศสได้รับพื้นที่กลับคืนมาอย่างแท้จริง และเหนือสิ่งอื่นใดคือรสชาติและความภาคภูมิใจในความหลากหลายทางภาษาด้วย” ทูตคนเดิมกล่าว

ทูตผู้ไม่ประสงค์ออกนามกล่าวว่าในการประชุมระดับสูงทั้งหมดของสภา ซึ่งเป็นองค์กรที่ช่วยกำหนดวาระทางการเมืองของสหภาพยุโรป จะใช้ภาษาฝรั่งเศสแทนภาษาอังกฤษตลอด 6 เดือนที่ฝรั่งเศสได้เป็นประธานสภาสหภาพยุโรป

บันทึกข้อความและรายงานการประชุมจะต้องเป็น “ภาษาฝรั่งเศสก่อน (French-first)” และจดหมายทั้งหมดของคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปจะส่งเป็นภาษาฝรั่งเศสด้วย

“เราจะขอให้คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปส่งจดหมายมาให้เราเป็นภาษาฝรั่งเศสเวลาที่ต้องการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของฝรั่งเศส และหากไม่ทำเช่นนั้น เราจะรอจดหมายฉบับภาษาฝรั่งเศสก่อนส่งมันกลับไป” ทูตคนดังกล่าวระบุ

ในปีหน้า ฝรั่งเศสจะเป็นประธานสภาของสหภาพยุโรประหว่างมกราคม - มิถุนายน โดยนี่เป็นครั้งแรกที่ฝรั่งเศสได้เป็นประธานสภายุโรปหลังอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปไป ก่อนหน้านี้ฝรั่งเศสเคยเป็นประธานสภาสหภาพยุโรปใน พ.ศ. 2551 (ค.ศ. 2008) ในสมัยที่นีกอลา ซาร์กอซีเป็นประธานาธิบดี

ช่วงที่ผ่านมา รัฐมนตรีในรัฐบาลของเอ็มมานูเอล มาครงแสดงความสนใจอย่างมากในการผลักดันให้ฝรั่งเศสเข้ามาแทนที่เป็นภาษาราชการแทนอังกฤษ หลังอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปไปแล้ว 

เคลมองต์ โบน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการสหภาพยุโรปของฝรั่งเศส และฌ็อง-บาติสต์ เลอมวน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศสเคยกล่าวในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาว่าการเป็นประธานสภาสหภาพยุโรปในครั้งนี้จะสร้าง “โอกาสเชิดชูการต่อสู้ที่สำคัญยิ่งเพื่อความหลากหลายทางภาษา” 

ในบทความชิ้นหนึ่งที่ลงกับสำนักข่าวเลอฟิกาโรของฝรั่งเศส รัฐมนตรีทั้ง 2 กล่าวว่าการใช้ภาษาฝรั่งเศสในกรุงบรัสเซลส์ (ซึ่งถือกันว่าเป็นเมืองหลวงของสหภาพยุโรปเนื่องจากเป็นที่ตั้งสำนักงานของสถาบันต่าง ๆ ในสังกัดสหภาพยุโรป) “ลดน้อยลงเพื่อยกประโยชน์ให้กับภาษาอังกฤษ หรือบ่อยครั้งคือโกล๊บบิช (Globish) ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษแบบเทียมที่ลดเพดานทางความคิดและจำกัดการแสดงออกมากกว่าส่งเสริมการแสดงออก”

สำหรับโกล๊บบิชนั้น รัฐมนตรีทั้ง 2 ท่านหมายถึงภาษาอังกฤษฉบับรวบรัดที่ถูกคิดค้นโดยฌอง-ปอล เนอริแยร์ ประกอบด้วยไวยากรณ์มาตรฐานและชุดคำศัพท์ 1,500 คำสำหรับใช้ในการสื่อสารธุรกิจระหว่างประเทศ เนอริแยร์บอกว่านี่ไม่ใช่ “ภาษา” แต่เป็นเครื่องมือพื้นฐานไว้สำหรับคนที่โดยพื้นเพเดิมไม่ใช่ผู้ใช้ภาษาอังกฤษเสียมากกว่า 

เรื่องการใช้ภาษาฝรั่งเศสกลายเป็นประเด็นหลังเกิดความตึงเครียดขึ้นอีกครั้งระหว่างอังกฤษและสหภาพยุโรป เนื่องจาก 2 ฝ่ายเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับการปฏิบัติตามข้อตกลงในนอร์ธเทิร์นไอร์แลนด์ (Nothern Ireland Protocol) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาขอออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษเมื่อปีที่แล้ว

เดวิด ฟรอสต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเบร็กซิต (Brexit หมายถึงการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ) กำลังจะพบกับมารอส เซฟโควิค รองประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปเกี่ยวกับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในวันนี้ตามเวลาท้องถิ่นของกรุงลอนดอน ฟรอสต์กล่าวว่าเวลา “เริ่มหมดแล้ว” ในการแก้ปัญหาทางการค้าที่เกิดขึ้นในนอร์ธเทิร์นไอร์แลนด์

ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าผู้นำของสหภาพยุโรปหวังจะใช้ความได้เปรียบจากการประชุม G7 ที่เมืองคอร์นวอลล์ “ในการพูดคุยกับบอริส จอห์นสัน (นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ) โดยตรง” และโน้มน้าวให้เขาเห็นประโยชน์ของการอ่อนข้อเพื่อลดหล่อนข้อระเบียบและการตรวจสอบต่าง ๆ  

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน คาดว่าจะใช้การประชุมกับนายกรัฐมนตรีของอังกฤษเพื่อออกความเห็นสนับสนุนข้อตกลงในนอร์ธเทิร์นไอร์แลนด์ ขณะเดียวกัน ลิซา แนนดี รัฐมนตรีเงาของกระทรวงต่างประเทศที่ตั้งขึ้นโดยฝ่ายค้านของอังกฤษระบุในวันจันทร์ที่ผ่านมาว่ารัฐบาล “หายไประหว่างปฏิบัติการ” ในประเด็นเกี่ยวกับการควบคุมชายแดนของนอร์ธเทิร์นไอร์แลนด์ 

“เราต้องแก้ปัญหาเกี่ยวกับชายแดนในทะเลไอร์แลนด์ ไม่ใช่เพราะโจ ไบเดนบอกให้เราทำ แต่เป็นเพราะมันกำลังก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงขึ้นอย่างแท้จริงในนอร์ธเทิร์นไอร์แลนด์ และเราต้องมีความรับผิดชอบในการทำเรื่องนี้ให้ถูกต้อง” แนนดี กล่าว

สำหรับนอร์ธเทิร์นไอร์แลนด์ (ของอังกฤษ) นั้นมีชายแดนอยู่ติดกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ (ซึ่งเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป) หลังอังกฤษการออกจากสหภาพยุโรป การค้าระหว่างชายแดนสองประเทศได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากสินค้าบางชนิดของอังกฤษจะไม่สามารถส่งออกไปยังสาธารณรัฐไอร์แลนด์ได้ตามระเบียบของสหภาพยุโรป หรือไม่เช่นนั้นก็จะต้องมีการตรวจสอบสินค้าเพิ่มเติมตามระเบียบของสหภาพยุโรปก่อน 

ด้วยเหตุนี้ สองฝ่ายจึงต้องมีข้อตกลงนอร์ธเทิร์นไอร์แลนด์ขึ้นมาเพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติการค้าระหว่างชายแดน โดยตามข้อตกลงนี้นอร์ธเทิร์นไอร์แลนด์จะยังปฏิบัติตามระเบียบบางอย่างของสหภาพยุโรปอยู่ และนอร์ธเทิร์นไอร์แลนด์จะต้องตั้งด่านตรวจสอบสินค้าเพิ่มขึ้นมาจากเดิมด้วยว่าสินค้าเป็นไปตามระเบียบของสหภาพยุโรปหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตามข้อตกลงนี้ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ ในขณะนี้ทั้งสองฝ่ายกำลังเจรจาหาทางออกในประเด็นดังกล่าว 

เรียบเรียงจาก:

French set to replace English as EU’s ‘working language’, Independent, 8-6-21

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท