Skip to main content
sharethis

ส.ส.ก้าวไกล อภิปราย พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้าน ตั้งคำถามรัฐบาลอ้าง ‘แนวพระราชดำริ’ เพื่อเอา ‘เงินกู้’ ไปผลาญเล่นหรือเปล่า? ชี้ชัด ‘โคก หนอง นา - เกษตรทฤษฎีใหม่’ มีปัญหาติดขัดในการทำงานและมีแนวโน้มไม่บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ เหตุหน่วยงานรู้ไม่จริง เผย สตง. เคยแนะยุติโครงการ รัฐบาลเคยนำไปพิจารณาบ้างหรือไม่

ภาพจากสไลด์ประกอบการอภิปราย

9 มิ.ย.2564 ทีมสื่อพรรคก้าวไกลรายงานว่า อภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล อภิปรายพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท โดยระบุว่า ก่อนหน้า พ.ร.ก.เงินกู้ฉบับนี้ เมื่อปีที่แล้วรัฐบาลออก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท มีส่วนหนึ่งคืองบประมาณ 400,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูประเทศ หลายโครงการเป็นโครงการด้านการเกษตร และมีการอนุมัติงบประมาณผ่าน 2 หน่วยงาน คือสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตร ดูแลโครงการ ‘1 ตำบล 1 เกษตรทฤษฎีใหม่’ ใช้งบประมาณ 9,800 ล้านบาท อีกหน่วยงานคือกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ดำเนินโครงการ  ‘พัฒนาพื้นที่ต้นแบบทฤษฎีใหม่ โคก หนอง นา โมเดล’ ด้วยงบประมาณ 4,780 ล้านบาท เป้าประสงค์ของทั้งสองโครงการคือการจ้างงาน 40,000 คน ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นไร่ละ 1 แสนบาท หรือ 3 เท่า ใน 2 ปี เพิ่มพื้นที่ปลูกป่า 10 ล้านต้น เพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร เกิดพื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่จำนวน 2 แสนไร่

“แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเกือบ 1 ปีที่ผ่านมาของสองโครงการนี้ ที่ตั้งวงเงินงบประมาณสูงถึง 15,000 ล้านบาท กลับมีการเบิกจ่ายได้เพียง 1,380 ล้านบาทเท่านั้น หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ที่เบิกจ่ายได้จริง เรียกว่าแรงงานที่ตกงานกลับบ้านจนได้งานใหม่กลับเข้าเมือง แล้วตกงานกลับบ้านอีกรอบ ก็ยังไม่ได้เข้าโครงการ ถามว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นกับโครงการทั้งสองนี้”

ภาพากสไลด์ประกอบการอภิปราย

อภิชาติ กล่าวต่อไปว่า ต้องบอกก่อนว่าการอภิปรายนี้ไม่ใช่เพื่อบอกว่าโครงการเหล่านี้ดีหรือไม่ แต่ประเด็นอยู่ที่รัฐบาลเสนอโดยอ้างว่าเพื่อแก้วิกฤติ ฟื้นฟูประเทศ ทีมงานพรรคก้าวไกล จึงได้ลงพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม เพื่อตรวจสอบความคืบหน้าของโครงการจากพื้นที่จริง ฟังเสียงสะท้อนจากประชาชน ข้าราชการ รวมไปถึงเอกชนผู้รับเหมา พูดง่ายๆ ก็คือ ไปพบกับทุกฝ่ายในหลายพื้นที่ จนพบว่าโครงการนี้มีปัญหาติดขัดในการทำงานอยู่มากมายหลายด้าน

“ประเด็นแรกคือทั้งสองโครงการได้รับการจัดสรรเงินกู้ล่าช้าไป 1 เดือน ทำให้ต้องเริ่มโครงการล่าช้าไปอีก 2-3 เดือน สำหรับโครงการ ‘1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤฎีใหม่’ มีการกำหนดคุณสมบัติของเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการเหล่านี้ต้องอายุไม่เกิน 60 ปี และต้องยินยอมให้ทางราชการเข้าใช้พื้นที่เป็นเวลา 7 ปี หรือกำหนดว่าต้องขุดสระขนาด 4 พันลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ทำให้เกษตรกรที่มีแหล่งน้ำอยู่แล้วไม่อยากเข้าร่วมโครงการ เพราะรู้สึกเสียดายพื้นที่ทำการเกษตร หรือเกษตรกรที่มีที่ดินน้อยอยู่แล้วก็ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่แรกเพราะไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดได้ เกษตรกรอีกจำนวนหนึ่งบอกว่าไม่มั่นใจว่าโครงการจะทำได้สำเร็จหรือไม่ จึงไม่เสี่ยงเอาที่ดินตัวเองไปทดลองโครงการ จนทำให้จากเดิมที่ตั้งเป้าเกษตรกรไว้ 64,000 ราย สมัครมาจริงแค่ 21,000 ราย หรือไม่ถึงหนึ่งในสาม”

ประเด็นต่อมา อภิชาติ ชี้ว่า มาจากการออกแบบแปลนผังโครงการต่างๆของทางราชการส่วนกลางที่ไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่จริง เช่น ตอนแรกจะให้ขุดคลองไส้ไก่ยาวเป็นกิโล ในพื้นที่แค่ 3 ไร่ จนผู้รับเหมาออกมาโวยว่าไม่สามารถทำได้จริงแม้จะพยายามแค่ไหนก็ตาม หรือแม้แต่การตรวจสอบปริมาตรดินที่ขุดขึ้นมาจะต้องได้ 4,000 ลูกบาศก์เมตร หรือ 4 คิวดิน แต่ความเป็นจริงขุดตามไซส์แล้วก็ได้ดินไม่ถึงทำให้ผู้รับเหมาเองก็ถอดใจจากโครงการนี้และเตือนกันปากต่อปากไปสู่เพื่อนร่วมอาชีพว่าอย่ารับงานโคกหนองนา เพราะงานมีความยุ่งยากซับซ้อนและติดขัดขั้นตอนต่างๆ ทั้งการลงมือทำงานจริงและการตรวจรับงาน ทำให้มีการเบิกจ่ายล่าช้า 

“อย่างกรณีที่ไปเจอมาคือขุดลงไปแล้วตามสเป็กที่ทางราชการกำหนด แต่ขุดต่อไม่ได้เนื่องจากติดชั้นดินดาน จึงมีการยื่นเรื่องและเถียงไปเถียงมาระหว่างข้าราชการกับผู้รับเหมา เพราะดินที่ขุดขึ้นมาได้ไม่ครบตามที่ทางการกำหนด โครงการแบบนี้คิดว่าต้องปรับแบบให้เหมาะสมกับพื้นที่ หรืออีกกรณีหนึ่งที่ไปเจอมาคือมีการขุดตามสเป็ก แต่น่าจะไปเจอชั้นสายแร่เกลือหรืออะไรบางอย่าง พอเจอดินแบบนี้ ปลาตายทันที คาดว่าเพราะน้ำเค็ม จะเอาไปใช้ในการเกษตรไม่ได้อีก สุดท้ายบ่อที่ขุดนั้นใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ แถมเสียที่ดินทำมาหากินไปด้วย”

อภิชาติ ย้ำว่า ประเด็นที่พูดมาทั้งหมดเพื่อต้องการชี้ให้เห็นว่า ทางหน่วยงานเองก็ไม่มีความพร้อมหรือไม่มีบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในแต่ละพื้นที่ดีพอที่จะปรับใช้แบบต่างๆ ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ยังไม่นับว่าที่เคยมีการร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนว่ามีขบวนการเรียกรับหัวคิว ใครอยากได้งานจะถูกหักประมาณร้อยละ 30 ไปให้ ‘นาย’ ซึ่งไม่ทราบเหมือนกันว่า ‘นาย’ ที่ว่าคือใคร

“โครงการโคกหนองนาและเกษตรทฤษฎีใหม่เหล่านี้ หากจะทำให้สำเร็จได้ ต้องใช้ความพยายามอย่างสูง ทั้งการอบมรมให้ความรู้ รวมทั้งทรัพยากรการสนุบสนุนจากทางภาครัฐ ไม่ว่าพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และเงินทุนในการปรับแต่งพื้นที่ ซึ่งประชาชนทั่วไปไม่มีความรู้ความสามารถและทรัพยากรมากขนาดนั้น ทำให้ต้องการความช่วยเหลือในโครงการนี้จากทางรัฐบาลอย่างจริงจัง แต่สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำ เหมือนเล่นกับความรู้สึกและเล่นกับความหวังประชาชน ไม่ได้ต้องการทำให้เกิดผลจริง เพียงแต่ต้องการผลาญเงินกู้ให้หมดไปวันๆเท่านั้น แต่ที่ร้ายไปกว่านั้นคือแค่จะผลาญเงินให้หมดไปก็ยังไม่มีความสามารถจะเบิกจ่ายได้เลย นอกจากนี้ ยังมีเอกสารจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ที่ส่งไปยังหน่วยงานต่างๆ ถึงข้อตักเตือนและแนะนำในการแก้ไขปัญหาการใช้งบประมาณที่เป็นปัญหาเหล่านี้ เพราะตรวจสอบแล้วพบว่ามีความเสี่ยงที่จะไม่บรรลุเป้าหมาย ไม่คุ้มค่า ไม่สอดคล้อง หรือไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์

ภาพจากสไลด์ประกอบการอภิปราย

“โครงการ 1 ตำบล 1 เกษตรทฤษฎีใหม่ สุดท้ายต้องปรับลดวงเงินลงจากเกือบๆ 10,000 ล้านบาทเหลือแค่ 3,550 ล้านบาท และถึงแม้จะมีการปรับหลักเกณฑ์ในภายหลังแล้ว ทั้งเรื่องอายุหรือระยะเวลาเข้าใช้พื้นที่ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังมีคนสมัครไม่ถึงเป้าหมาย ต้องหั่นโครงการลงอีก ทำให้มีการขอยกเลิกเป้าหมายที่จะปลูกป่าเกือบ 20,000 ไร่ ปรับลดกิจกรรมการปรับพื้นที่ให้เป็นแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ ให้เหลือแค่การขุดสระ เท่ากับว่าจากเดิมที่มีทั้งโคก ทั้งหนอง ทั้งนา เหลือแค่ ‘หนอง’ อย่างเดียว ไม่มีแล้วขุดเหมืองคลองไส้ไก่ ปั้นโคก ทำคันนาทองคำ หรือเหลือแต่หนองก็ยังลดขนาดหนองอีก จากที่เคยกำหนด 1,300 ลูกบาศก์เมตร/ไร่ ลดลงครึ่งนึงเหลือ 700 ลูกบาศก์เมตร/ไร่ เพราะเกษตรกรไม่ได้มีที่ดินเหลือพอ และพอทำเป้าไม่ถึงแล้วก็ไปเอาเกษตรกรที่เคยร่วมโครงการอื่นมาใส่ โดยเอาหนองไปอย่างเดียว ปัจจัยการผลิตให้ไปเอาอีกโครงการนึง เรียกว่าตั้งใจทำเป้าตัวเลขกันอย่างเดียวไม่สนอย่างอื่นแล้วว่าจะสำเร็จตามวัตถุประสงค์จริงหรือไม่ ถ้ามุ่งทำเป้าเก่งแบบนี้ขอแนะนำให้ไปเป็นเซลขายของดีกว่า” 

สุดท้าย อภิชาติ ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตร กระทรวงเกษตร และ กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจมากพอที่จะทำโครงการนี้ แต่คนที่ต้องรับผิดชอบ คือคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ที่ต้องตั้งคำถามว่าอนุมัติไปได้อย่างไร ดังนั้น ก่อนจะผ่านวงเงินกู้ครั้งนี้ รัฐบาลต้องตอบให้ชัดเจนก่อนว่า ใน พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท มีโครงการทำนองนี้อยู่หรือไม่ ถ้ามีจะแก้ไขปัญหาเดิมอย่างไร ประการต่อมา ในเอกสาร สตง. มีข้อเสนอแนะที่บอกว่า สำหรับโครงการที่ยังไม่มีความคืบหน้าหรือความพร้อมในการดำเนินการ แม้ดำเนินการต่อไปก็มีแนวโน้มว่าจะไม่บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ ควรเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณายุติโครงการ เพื่อนำเงินกู้เหลือจ่ายไปใช้ดำเนินการโครงการอื่นที่มีความพร้อมและความจำเป็นเร่งด่วนมากกว่า อันจะช่วยให้การใช้จ่ายเงินกู้เกิดประโยชน์สูงสุด ก็อยากถามว่าได้พิจารณาข้อนี้ด้วยหรือไม่

ภาพจากสไลด์ประกอบ

“หวังว่าการอภิปรายในสภาเพื่อตรวจสอบความคืบหน้าและประสิทธิภาพโครงการเหล่านี้ในสภาจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่รอความหวังพัฒนาบ้านเกิดตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นผู้รับเหมาที่ถอดใจไปหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่กลัวดำเนินการผิดพลาดจนตัวเองต้องนอนคุกติดตะรางกัน โครงการเหล่านี้ พูดตรงๆ ก็คือ เป็นโครงการสืบสานต่อยอดประยุกต์จากแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 แต่รัฐบาลเอามาทำเล่นๆ ไม่จริงจัง ไม่ระมัดระวังรอบคอบกันแบบนี้ ผมเกรงว่าจะไม่ส่งผลดีต่อใครทั้งสิ้น” อภิชาติ ระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net