Skip to main content
sharethis

เปิดเทอมแล้ว 'คณะก้าวหน้า' ประเดิมหลักสูตร 'ประวัติศาสตร์นอกขนบ' ถาม-ตอบ ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์

  • ชี้ 3 เรื่องเล่าหลักประวัติศาสตร์ 'สยามไม่ตกเป็นเมืองขึ้น' -  แนะ '3 แต่' มุมมองใหม่ทลายกรอบออกนอกขนบ
  • ไม่เคยถูกบังคับ แต่เต็มใจเซ็นสนธิสัญญา 'เบาริ่ง' เพราะชนชั้นนำได้ประโยชน์เมื่อผูกกับระบบเศรษฐกิจโลกแบบอาณานิคม
  • การเมืองของ 'สยาม' ทั้งภายในและภายนอก - การถูก 'เท' ในวิกฤต ร.ศ.112 ความเจ็บช้ำที่ต้องสร้างเรื่องปลอบตัวเอง
  • เสียหรือยอมให้เสีย 'สิทธิภาพนอกอาณาเขต'  - ร.6 ใจกว้างเปิดรับการวิพากษ์วิจารณ์นักหนังสือพิมพ์จริงเหรอ?

10 มิ.ย.2564 ทีมสื่อคณะก้าวหน้า รายงานว่า ช่วงค่ำของวานนี้ (9 มิ.ย.) ทางคณะก้าวหน้า โดย คอมมอน สคูล (Common school) ประเดิมกิจกรรม “ตลาดวิชาอนาคตใหม่” เปิดบรรยายหลักสูตร วิชา ประวัติศาสตร์นอกขนบ รายวิชาย่อย สยามยุคกึ่งจักรวรรดิกึ่งอาณานิคม ซึ่งในหัวข้อแรกนี้ ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ Wisconsin Madison สหรัฐอเมริกา บรรยายเรื่อง สยามไม่เคยเสียเอกราชหรือกึ่งอาณานิคม ซึ่งเป็นการบรรยายสดจากประเทศสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางผู้เข้าร่วมหลักสูตรกว่า 40 คน โดยมี คงสัจจา สุวรรณเพ็ชร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้และความสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ ดำเนินรายการ

ชี้ 3 เรื่องเล่าหลักประวัติศาสตร์ 'สยามไม่ตกเป็นเมืองขึ้น' -  แนะ '3 แต่' มุมมองใหม่ทลายกรอบออกนอกขนบ

ธงชัย เริ่มต้นการบรรยายว่า ความรู้ทางประวัติศาสร์ เป็นฐานอุดมการณ์ของรัฐไทยใน 100 กว่าปีที่ผ่านมา เป็นฐานความเชื่อที่ถูกพัฒนาจนมาเป็นกรอบมโนทัศน์ใช้ตีความอธิบายข้อเท็จจริงในอดีตมากมาย เพื่อสร้างประวัติศาสตร์ของชาติไทยที่มีเจ้ากรุงเทพฯ เป็นวีรบุรุษ เช่น ประวัติศาตร์ที่ว่าสยามไม่เคยตกเป็นอาณานิคม ประกอบด้วยเรื่องเล่าหลัก 3 เรือง คือ 1. ถูกคุกคามจากลัทธิล่าอาณานิคม 2. กษัตริย์ราชวงศ์จักรีต่อต้านการคุกคาม ทำให้รอดพ้นมาได้ และ 3. กษัตริย์และชนชั้นปกครองผลักดันการปฏิรูปสยามจึงไม่เสียเอกราช ซึ่งหนังสือประวัติศาสตร์ไทย รายการโทรทัศน์ จำนวนมากหนีไม่พ้นเรื่องหลักนี้ และได้กลายเป็นความถูกต้องแน่ๆ อย่างไม่ต้องสงสัย และถูกท้าทายหรือตรวจสอบน้อยมากในช่วงที่ผ่านมา

“อย่างไรก็ตาม เราสามารถศึกษาและนำเสนอประวัติศาสตร์ที่แตกต่างจากเดิมได้ เรียกประวัติศาสตร์ 3 แต่ คือ 1.แต่สยามไม่ได้รักษาเอกราช อยู่ในภาวะกึ่งอาณานิคม ชนชั้นนำได้ประโยชน์ 2.แต่การเสียดินแดนเป็นประวัติศาสตร์ผิดฝาผิดตัวตามทัศนะเจ้าจักรวรรดิที่กรุงเทพฯ และ อำพรางอำนาจรัฐแบบใหม่ของกรุงเทพฯ 3.แต่การปฏิรูปประเทศมุ่งหมายเพื่อการเมืองภายใน เพื่อสถาปนาอำนาจระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทั้งนี้ สำหรับการบรรยายวันนี้จะเน้นที่หัวข้อที่ 1 เป็นหลักคือ สยามอยู่ในภาวะกึ่งอาณานิคม ใน 2 ประเด็นใหญ่คือ 1.กึ่งอาณานิคมทางเศรฐกิจ โดยถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจอาณานิคมโลก ในทางกลับกันก็ร่วมมือด้วย และ 2. กึ่งอาณานิคมทางการเมือง เราระแวงต่างชาติ แต่เราก็ฉวยโอกาสนี้มาเพื่อสร้างการเมืองภายในด้วย” ธงชัย กล่าว

ไม่เคยถูกบังคับ แต่เต็มใจเซ็นสนธิสัญญา 'เบาริ่ง' เพราะชนชั้นนำได้ประโยชน์เมื่อผูกกับระบบเศรษฐกิจโลกแบบอาณานิคม

ธงชัย กล่าวต่ออีกว่า สยามถูกผนวกเข้ากับระบบเศรษฐกิจโลกแบบอาณานิคม เมื่อเกิดสนธิสัญญาเบาริ่ง สมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งอันที่จริงมีการศึกษาว่า สังคมสยามตั้งแต่อยุธยามาแล้วเป็นเมืองการค้า เมืองท่า เป็นหลัก กล่าวสำหรับสนธิสัญญาเบาริ่ง มาจากความเต็มใจของชนชั้นนำ เพราะได้ประโยชน์ เนื่องจากก่อนนั้นมีกลุ่มราชสำนักหรือชนชั้นนำบางกลุ่มผูกขาดสินค้าไว้หลายอย่าง ที่ยิ่งนานวันก็ยิ่งยิ่งจำกัดกลุ่ม การยอมรับสนธิสัญญาเท่ากับการเปิดตลาด ทำลายการผูกขาดโดยชนชั้นนำกลุ่มนั้น และเปิดพื้นที่ให้ชนชั้นนำกลุ่มอื่นๆ  เพราะราชสำนักเองก็ไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังนั้น เหตุนี้จึงเป็นเรื่องที่ชนชั้นนำสยาม ยินดีต้อนรับอังกฤษ จนทำให้ต่อมามีการเปิดพื้นที่ทำการเกษตร ทำนา เกิดระบบกรรมสิทธิ์ของเอกชนขึ้น ขณะที่ด้านการป่าไม้ก็ร่วมมือกับอังกฤษในการหาประโยชน์ทำป่าไม้ในเขตล้านนา เป็นต้น

“เจ้าสยามไม่ได้ต่อต้าน หรือชะลอการฃยายเศรษฐกิจของอาณานิคม เนื่องจากพวกเขาได้ประโยชน์ ที่เราเข้าใจว่าไม่เสียเอกราชนั้น ความจริงคือ กลายเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกแบบอาณานิคมเรียบร้อยแล้ว การที่มหาอำนาจได้รับความร่วมมือฃองผู้มีอำนาจในสยาม ไม่ใช่เรื่องแปลกของลัทธิล่าอาณานิคม และประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่มหาอำนาจไม่คิดจะครอบครอง เพราะชนชั้นนำให้ความร่วมมือพอสมควรที่เขาได้ประโยชน์พอแล้ว และไม่ต้องการจะเข้ายึดครอง เพราะการยึดบางครั้งก็เปลืองค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น และอาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งซึ่งมหาอำนาจไม่ต้องยึดครองสยามเป็นอาณานิคม” ธงซัย กล่าว

การเมืองของ 'สยาม' ทั้งภายในและภายนอก - การถูก 'เท' ในวิกฤต ร.ศ.112 ความเจ็บช้ำที่ต้องสร้างเรื่องปลอบตัวเอง

ธงชัย กล่าวว่า สยามร่วมมือและพึ่งพิงกับมหาอำนาจหนึ่งและแข่งขันกับอีกมหาอำนาจหนึ่งเพื่อแย่งชิงดินแดนด้วย เราไม่ได้ถูกคุกคาม ถูกบีบจากทุกฝ่ายจนต้องใช้พระปรีชาสามารถด้านการทูตตามที่ประวัติศาสตร์กระแสหลักบอก คือความรับรู้ง่ายๆ ว่าเจ้าอาณานิคมต้องการยึดครองเราอย่างแน่นอนนั้น ละเลยความเป็นจริงจำนวนมากที่ว่า สยามทั้งร่วมมืออย่างกระตือรือร้น ตอบสนองยินยอมเพราะได้ประโยชน์ รวมทั้งได้ประโยชน์ทางการเมืองด้วย พึ่งพิงแสวงหาการสนับสนุนจากมหาอำนาจด้วย และแข่งแย่งชิงดินแดนสองฝั่งโขงกับฝรั่งเศสด้วย ซึ่งท่าทีเหล่านี้ตามแต่ผลประโยชน์ สถานการณ์ บริบท และแล้วแต่ว่าฝักฝ่ายไหนในราชสำนักผลักดันนโยบายนั้นสำเร็จ เพราะราชสำนักหรือชนชั้นนำไม่ได้กลมเกลียว ไม่ได้คิดเป็นแบบเดียวกันหมด มีความขัดแย้ง มีการปะทะกันต่างๆ มากมาย อาทิ วิกฤตการณ์วังหน้า ที่ต้องขอให้ข้าหลวงอังกฤษในสิงคโปร์ช่วยไกล่เกลี่ย 

“สยามเอียงทางอังกฤษมาก ถึงขนาดกล้าท้าทายฝรั่งเศสเพื่อแย่งชิงดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เพราะเชื่อว่าอังกฤษจะช่วย เราเล่นบทบาทที่ก้าวร้าว จนเกิดวิกฤต ร.ศ.112 พ.ศ.2436 ที่ต้องปะทะกับฝรั่งเศส แต่สุดท้ายก็ถูกอังกฤษเท ไม่ช่วยเหลือ ซึ่งวิกฤตและความพ่ายแพ้นี้ทำให้ชนชั้นนำไทยเจ็บปวดอย่างมาก จนเกิดการอธิบายเรื่องภัยคุกคามของมหาอำนาจนี้ และสร้างภาพต่อต้าน สร้างประวัติศาสตร์ขึ้นมาเพื่อปกป้องตนเอง เรื่องพระปรีชาสามารถ ทั้งที่ปัจจัยหนึ่งคือสยามรอดได้เพราะอังกฤษกับฝรั่งเศสทำความตกลงกันให้เป็นพื้นที่รัฐกันชน และที่สำคัญคือ สยามให้ความร่วมมือเพียงพอและหลายด้านแล้ว ความจำเป็นในการยึดครองจึงคลายลง” ธงชัย กล่าว

เสียหรือยอมให้เสีย 'สิทธิภาพนอกอาณาเขต'  - ร.6 ใจกว้างเปิดรับการวิพากษ์วิจารณ์นักหนังสือพิมพ์จริงเหรอ?

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายซึ่งเป็นการถามตอบ ธงชัยได้เปิดให้ผู้เข้าร่วมหลักสูตรตั้งคำถาม ตลอดจนผู้รับชมการถ่ายทอดสดก็สามารถส่งข้อวามเข้ามาถามได้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ตอนหนึ่ง ธงชัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นเรื่องสิทธิภาพนอกอาณาเขตว่า กรณีสนธิสัญญาเบาริ่ง อาจมองว่าทำให้เราเสียสิทธิภาพนอกอาณาเขต แต่ข้อเท็จจริงแล้ว ในขณะนั้นเราเป็นรัฐศักดินา การตัดสินคดีความ ศาล ขึ้นต่อเจ้าองค์ต่างๆ เต็มไปหมด แตกกระจาย ลดหลั่นกันไปเป็นชั้นๆ มีอำนาจของตัวเองเสียจนมั่ว ไม่มีมาตรฐาน ตีความกฎหมายต่างกัน ใช้กฎหมายคนละฉบับไม่อัพเดท ดังนั้น รูปแบบการปกครองที่อนุญาตให้ต่างชาติดูแลจัดการความขัดแย้ง ตัดสินคดีความกันเองตามสนธิสัญญาเบาริ่งจึงเป็นเรื่องที่ถ้าอังกฤษอยากได้ก็เอาไปเลย ทำได้เลย ไม่เป็นปัญหา

“สิทธิภาพนอกอาณาเขตกลายเป็นปัญหาเมื่อยอมให้คนท้องถิ่นจดทะเบียนเป็นบังคับของต่างชาติ ปริมาณคนเหลานี้มากขึ้นะเรื่อยๆ ซึ่งทำให้สยามเริ่มรู้สึกว่ากำลังจะเสียเอกราช เสียการบังคับคนไป อย่างในกรณีของฝรั่งเศส ที่ให้ใครก็ได้มาจดทะเบียน เพราะต้องการแรงงาน สยามเริ่มรู้สึกว่าสูญเสียแล้ว และอีกหนึ่งที่แม้เป็นจำนวนน้อยนิดแต่มีปากเสียง ซึ่งเริ่มแล้วและมาเกิดหนักในสมัย ร.6 คือพวกนักหนังสือพิมพ์ ที่สมัครเป็นคนบังคับต่างชาติ พวกนี้แสวงหาเสรีภาพจากรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทย และนี่ก็เป็นอีกตัวอย่างของการใช้มโนทัศน์ขยายความ ว่า ร.6 แฟร์มาก มีการเขียนคอลัมน์โต้เถียงลงหนังสือพิมพ์ นั่นเพราะท่านปิดไม่ได้ ท่านลงโทษบรรณาธิการเหล่านั้นไม่ได้ เพราะพวกเขาเป็นคนในบังคับของต่างชาติ ไม่ใช่คนในบังคับสยาม ท่านจึงไม่มีทางอื่น คนจำนวนน้อยเหล่านี้แหละที่มีผลมหาศาลด้วย คือปากมาก ปากเสีย เพราะรู้ว่าต่างชาติคุ้มครอง” ธงชัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การบรรยายดังกล่าว ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง โดยมีการถามตอบอย่างสนุกสนาน ทั้งนี้ หัวข้อต่อไปในการบรรยาย คือ “เสียดินแดน หรือ จักรวรรดิสยามได้ดินแดน?” ในวันเสาร์ที่ 12 มิ.ย.นี้ เวลา 09.00 เป็นต้นไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net