ศาลให้ประกันตัว นศ.รามฯ ถูกแจ้ง ม.112 ปมแชร์โพสต์ประท้วงกษัตริย์ไทยในเยอรมนี

สภ.บางแก้ว แจ้งข้อหา ม.112 ต่อ 'ก้อง' อุกฤษฏ์ นศ.รามคำแหง เพิ่มอีกคดี ปมแชร์โพสต์ประท้วงกษัตริย์ไทยในเยอรมนี เมื่อปี พ.ศ. 2563 ศาล จ.สมุทรปราการ อนุญาตฝากขัง ก่อนให้ประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์ 2 แสนบาท

อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล (คนที่สองจากซ้าย) หรือ ก้อง อายุ 21 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง (ที่มา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)

10 มิ.ย. 64 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานวันนี้ (10 มิ.ย.) หลังจากเย็นวานนี้ (9 มิ.ย. 64) เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางแก้ว อายัดตัว อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล หรือ ก้อง อายุ 21 ปี นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และสมาชิกเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเพิ่งได้รับการประกันตัวจากคดีมาตรา 112 ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.​) ก่อนนำตัวไปยัง สภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาในคดีมาตรา 112 อีกคดีหนึ่ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

นศ.ราม-ประชาชน ได้ประกันตัวคดี ม.112 หลังตร.แจ้งข้อหา-สอบสวนโดยไม่มีทนาย

เมื่อไปถึง สภ.บางแก้ว ได้มีทนายความและนักกิจกรรมจากเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ติดตามไปที่สถานีตำรวจด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดทำบันทึกการจับกุม โดยพบว่าหมายจับที่ใช้จับกุมอุกฤษฏ์ เป็นหมายจับเลขที่ 257/2564 ออกโดยศาลจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 64 ระบุข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

การจับกุมเกิดขึ้นภายใต้การอำนวยการของ พ.ต.ท.ศุภฤกษ์ จงรักษ์ รองผู้กำกับสืบสวน สภ.บางแก้ว โดยมีชุดจับกุมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.บางแก้ว 3 นาย นำโดย ร.ต.อ.สุนทร ทองพงษ์เนียม รองสารวัตรสืบสวน สภ.บางแก้ว โดยระบุว่าเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้ทราบว่านายอุกฤษฏ์ถูกจับกุมตัวอยู่ที่ บก.ปอท. จึงได้เดินทางไปยังที่ดังกล่าว และได้เข้าจับกุมในเวลาประมาณ 17.00 น. ระหว่างอุกฤษฏ์ เดินอยู่หน้าประตูลิฟต์ทางขึ้นลงอาคารบี ชั้นที่ 4 ของศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ทั้งนี้ อุกฤษฏ์ ปฏิเสธจะลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม

จากนั้น พ.ต.ท.รังสรรค์ คำสุข พนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาต่ออุกฤษฏ์ ในสองข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยระบุพฤติการณ์ข้อกล่าวหาว่าเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 63 นายศิวพันธุ์ มานิตย์กุล ผู้กล่าวหา ได้นั่งดูเฟซบุ๊กในคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะของตนเอง พบว่ามีผู้ใช้เฟซบุ๊กได้แชร์ข้อความเกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงกษัตริย์ไทยที่หน้าโรงแรมในประเทศเยอรมนี และได้เขียนข้อความประกอบการแชร์ว่า “อย่างนี้ต้องทรงพระเจริญเต็มที่เลยนะเนี่ย” 

ต่อมา ศิวพันธุ์ ได้ให้เพื่อนที่รู้จัก นำชื่อบัญชีเฟซบุ๊กซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ แต่สะกดภาษาไทยได้เป็นชื่อสกุลของอุกฤษฏ์นั้น ไปตรวจสอบกับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร พบว่ามีชื่อดังกล่าว และมีใบหน้าตรงกับภาพโปรไฟล์ของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว จึงเชื่อว่าผู้ต้องหาเป็นผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว ผู้กล่าวหาเห็นว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการใส่ความพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ต่อบุคคลที่สาม คือ ประชาชนทั่วไปที่ได้เข้ามาเห็นและอ่านข้อความ อันประการจะทำให้พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง จึงได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหา 

อุกฤษฏ์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อไป โดยพนักงานสอบสวนได้พิมพ์ลายนิ้วมือ และลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน พร้อมควบคุมตัวเขาไว้ที่สถานีตำรวจในช่วงคืนที่ผ่านมา 

ก่อนที่ในช่วงเช้าวันนี้ (10 มิ.ย. 64) ร.ต.อ.ชนธัญ พรหมรักษา พนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว จะได้นำตัวอุกฤษฏ์ ไปยื่นขอฝากขังที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ โดยระบุว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ยังต้องสอบพยานเพิ่มเติมอีก 4 ปาก และรอผลการตรวจลายนิ้วมือของผู้ต้องหา จึงมีความจำเป็นต้องขอฝากขังเป็นระยะเวลา 12 วัน และยังคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา แต่ไม่ได้ระบุเหตุผลการคัดค้านเอาไว้ 

ต่อมา ศาลได้อนุญาตให้ฝากขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวน ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวน โดยใช้หลักทรัพย์จำนวน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ เป็นหลักทรัพย์ประกัน

เวลา 14.30 น. ศาลจังหวัดสมุทรปราการมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวอุกฤษฏ์ โดยให้วางหลักทรัพย์ 2 แสนบาท ก่อนที่เขาจะได้รับการปล่อยตัวจากห้องขังศาลจังหวัดสมุทรปราการ

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้เมื่อปี พ.ศ. 2563 อุกฤษฏ์เคยได้รับหมายเรียกพยานจาก สภ.บางแก้ว ลงวันที่ 16 ต.ค. 63 ระบุว่าให้เขาไปให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนเพื่อเป็นพยานประกอบคดี ซึ่งศิวพันธุ์ มานิตย์กุล ได้กล่าวหาว่ามีผู้โพสต์ข้อความพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีหมายเรียกผู้ต้องหามาแต่อย่างใด จนอุกฤษฏ์ ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลจังหวัดสมุทรปราการในคดีที่เกิดขึ้นนี้

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าในคดีมาตรา 112 ซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ สภ.บางแก้ว มีนายศิวพันธุ์ มานิตย์กุล เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษไว้จำนวนอย่างน้อย 7 คดีแล้ว โดยทั้งหมดเป็นการไปแจ้งความไว้ตั้งแต่เมื่อช่วงกลางปี พ.ศ. 2563 ผู้ถูกดำเนินคดีหลายรายเคยได้รับหมายเรียกพยานมาก่อนแล้ว ก่อนตำรวจจะเริ่มมีการดำเนินคดีในปี พ.ศ. 2564 ทั้งในรูปแบบการออกหมายเรียก หรือไปขอศาลออกหมายจับ อย่างในกรณีของอุกฤษฏ์

นอกจากนี้ พนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว ยังมีแนวทางการนำตัวผู้ต้องหาที่มาปรากฏตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ไปขออนุญาตศาลฝากขัง ทำให้ผู้ต้องหาต้องถูกควบคุมตัวและใช้หลักทรัพย์ในการขอปล่อยตัวชั่วคราวอีกด้วย

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับจากเริ่มมีการนำมาตรา 112 มาบังคับใช้ใหม่ในช่วงปลายเดือน พ.ย. 63 มีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมดอย่างน้อย 99 ราย ใน 94 คดี โดยแนวโน้มในช่วงหลังคดีเกิดขึ้นจากการแสดงออกบนโลกออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ คือรวมแล้วมีจำนวน 42 คดี จากคดีเท่าที่ทราบทั้งหมด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท