Skip to main content
sharethis

ประกันสังคมเผย 3 วันฉีดวัคซีนแล้ว 1.2 แสนคน

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ติดตามบรรยากาศ ณ ศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่จุดฉีดวัคซีนศูนย์การค้ามาบุญครอง พบว่า ล่าสุด ผู้ประกันตน ม.33 ที่ได้ลงทะเบียนไว้กับทางบริษัทแจ้งความประสงค์เข้ารับวัคซีน โควิด-19 และผู้ประกันตนม.33 ที่ได้บันทึกลงระบบ e-service ตามที่สำนักงานประกันสังคมสำรวจไว้ได้เดินทางมารับการตรวจและเข้ารับวัคซีนอย่างต่อเนื่อง

สำหรับจุดฉีดวัคซีนศูนย์การค้ามาบุญครอง จะให้บริการตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน – 31 กรกฎาคม 2564 เปิดให้บริการฉีดวัคซีนตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. บริเวณชั้น G โซน C ลานปทุมวันฮอลล์ และ รามาฮอลล์ รวมพื้นที่กว่า 1,600 ตร.ม. รองรับผู้ประกันตนประมาณ 1,200 คน/วัน

ขณะที่ สำนักงานประกันสังคม เปิดเผยภาพรวมการฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกัน ทั้ง 45 จุด พบว่า วันที่ 7 มิ.ย. มียอดการฉีดวัคซีน 36,706 คน, วันที่ 8 มิ.ย. อีก 41,438 คน และวันที่ 9 มิ.ย. อีก 45,962 คน รวม 3 วัน ฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกันตนแล้ว 124,106 คน

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 10/6/2564

BTS ส่งพนักงานรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 100% แล้ว

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม - 6 มิถุนายน ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้นำพนักงานส่วนหน้าที่ปฏิบัติงานประจำสถานีรถไฟฟ้า เจ้าหน้าที่ควบคุมรถไฟฟ้า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และแม่บ้านประจำสถานีรถไฟฟ้าทุกคน เข้ารับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบทุกคน ตามประกาศนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่อง การฉีดวัคซีนให้เป็นวาระแห่งชาติ และเป็นไปตามนโยบายของกรุงเทพมหานคร (กทม.) และกระทรวงคมนาคม ที่ให้กลุ่มบริการระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภทในเขตกรุงเทพฯ เข้ารับวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูง และเป็นกลุ่มที่ต้องสัมผัสกับผู้ใช้บริการโดยตรง เพื่อสร้างความมั่นใจในการให้บริการกับผู้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสได้มั่นใจมากยิ่งขึ้นในการเดินทาง

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า บริษัทฯ ขอบคุณความห่วงใยจากหน่วยงานรัฐทุกฝ่ายอีกครั้ง เมื่อเจ้าหน้าที่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนแล้ว จะสามารถเพิ่มความมั่นใจและความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน และผู้โดยสารรถไฟฟ้าได้มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้ยกระดับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเพิ่มความถี่ในการเช็ดทำความสะอาดในขบวนรถไฟฟ้าทุกๆ ชั่วโมง เพิ่มความถี่ในการฉีดพ่น และเช็ดทำความสะอาดภายในขบวนรถไฟฟ้า และจุดสัมผัสร่วมภายในสถานีทุกชั่วโมง และบริเวณรอบสถานีด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ จาก 2 ชั่วโมงครั้ง เป็นทุกๆ 1 ชั่วโมง ในทุกสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส และจัดเจ้าหน้าที่ให้บริการเจลแอลกอฮอล์เคลื่อนที่เพิ่มเติมบนชั้นชานชาลาสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสทุกช่วงเวลา

นายสุรพงษ์ ยืนยันว่า บริษัทฯ ได้ทำทุกวิถีทางเพื่อให้บริการผู้โดยสารมั่นใจ และผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ ตามปณิธานของนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานบริษัทฯ ที่เคยกล่าวไว้ว่า มหันตภัยโควิด-19 ครั้งนี้ยิ่งใหญ่มาก และเราทุกคนต่างได้รับความเจ็บปวด ถึงแม้จะลำบาก แต่เราก็ต้องสู้กับโรคโควิด-19 ไม่ทิ้งกัน และสู้ไปด้วยกัน ทั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอีกไม่ช้า ประเทศไทยจะก้าวผ่านเหตุการณ์ครั้งนี้ และดีขึ้นในเร็ววัน เพราะความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายที่พร้อมสู้ไปด้วยกัน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 10/6/2564

ผบ.สส. พร้อมส่งทหารคุมแคมป์แรงงาน กทม. ตั้งชุดลาดตระเวนสกัดเคลื่อนย้าย

พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (หน.ศปม.) กล่าวถึงกรณี ศบค. ประสานหน่วยงานความมั่นคงให้ส่ง กำลังทหาร ตำรวจ คุมเข้มแคมป์คนงานก่อสร้างใน กทม. หลังพบว่ายังมีการเคลื่อนย้าย ว่า เป็นภาพรวมของนโยบาย ว่าเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงจะเข้าไปดูแลในการควบคุม ตั้งแต่การตั้งจุดตรวจ การตรวจสถานที่ต่างๆ ซึ่งสถานการณ์ในปัจจุบัน หลังจากมีการตรวจแคมป์คนงาน ที่เป็นคลัสเตอร์การแพร่ระบาด โควิด -19 และยังมีการเคลื่อนย้ายกันออกไป ทั้งนี้ต้องไปดูว่า ศบค.ได้กำหนด แคมป์คนงานในแต่ละพื้นที่เอาไว้อย่างไร

ซึ่งในแนวทางปฏิบัติหากมีกรณีเช่นนี้เราจะจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจวแคมป์แรงงาน จะต้องได้รับการควบคุมแบบไหน การเข้าออก สามารถเล็ดออกจากพื้นที่ได้หรือไม่ จำเป็น ต้องมีเครื่องกีดขวางมากั้นช่องโหว่ที่ยังปิดไม่ได้หรือไม่ เช่น รั้วลวดหนาม โดยประสานกับผู้ประกอบการที่ดูแลพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดการลักลอบโดย 1.จัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดเข้า-ออก และพิจารณาเป็นกรณีไปหากจำเป็นต้องเข้า-ออก

2 ลาดตระเวนในพื้นที่เพื่อให้ไม่ให้มีการลักลอบ ทั้งนี้ยืนยันว่าจะใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหลักในการปฏิบัติหน้าที่ในขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารจะเป็นส่วนเสริม และใช้ สารวัตรทหาร(สห.)ในการปฏิบัติงาน ยกเว้นกรณีมีแคมป์แรงงานหลายแห่งทีต้องควบคุม จำเป็นต้องใช้กำลังทหาร ซึ่งขึ้นอยู่กับว่า แคมป์แรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของเหล่าทัพใด ก็จะประสานเหล่าทัพนั้นส่งกำลังทหารไปดูแล

ที่มา: ไทยโพสต์, 10/6/2564

ก.แรงงาน เผยอนุมัติเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเยียวยาเลิกจ้างพนักงานบอดี้แฟชั่นและอื่น ๆ 887 คน รวม 11.8 ล้านบาท

กระทรวงแรงงานอนุมัติเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง 11.8 ล้านบาท เยียวยาความเดือดร้อนให้ลูกจ้างบริษัท บอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 858 คน และบริษัทอื่นๆ อีก 29 คน ที่ถูกเลิกจ้างและยังไม่ได้รับค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีจากนายจ้าง

นางโสภา เกียรตินิรชา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ในฐานะโฆษกกรม เปิดเผยว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยถึงการช่วยเหลือเยียวยาความเดือดร้อนของลูกจ้างจำนวนมากที่ถูกบริษัทเลิกจ้าง ทั้งจากสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งอาจซ้ำเติมลูกจ้างหากยังไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ที่พึงได้ตามกฎหมาย จึงได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เร่งรัด ติดตามการช่วยเหลือคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างที่รัฐบาลและกระทรวงแรงงานได้กำหนดเป็นนโยบายและมาตรการให้ความช่วยเหลือคุ้มครองแรงงานตามกฎหมายอย่างเร่งด่วน

โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้จัดประชุมคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ครั้งที่ 6/2564 ในวันที่ 9 มิถุนายน 2564 พิจารณาอนุมัติเงินสงเคราะห์กรณีอื่นนอกจากค่าชดเชยของลูกจ้าง จำนวน 887 คน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 11,814,904.36 บาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกจ้างบริษัท บอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 858 คน และบริษัทอื่นๆ อีก 29 คน

นางโสภา เกียรตินิรชา โฆษก กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง เป็นกลไกที่กระทรวงแรงงานจัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอน เพื่อช่วยให้ผู้ใช้แรงงานได้มีเงินในการดำรงชีพ จากการถูกเลิกจ้าง ขาดรายได้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งหากลูกจ้างที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกเลิกจ้างกรณีไม่ได้รับค่าชดเชย หรือสิทธิประโยชน์อื่น เช่น ค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นต้น สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครทุกพื้นที่

ที่มา: ประชาติธุรกิจ, 9/6/2564

โรงงานน้ำตาลกุมภวาปี จ.อุดรธานี ประกาศปิดกิจการหลังเปิดมานาน 58 ปี พร้อมยอมจ่ายชดเชยตามกฎหมาย ด้านตัวแทนสหภาพฯ ยอมรับตกใจเหลืออีกแค่ 5 เดือนจะเกษียณ

8 มิ.ย.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศที่ด้านหน้าโรงงานน้ำตาลกุมภวาปี จ.อุดรธานี มีพนักงาน-ลูกจ้างเกือบ 300 คนได้เดินทางมารวมตัวที่ด้านหน้าอาคารสหภาพแรงงานน้ำตาลกุมภวาปี หลังจากบริษัท มีจดหมายนัดหมายให้พนักงานลูกจ้างมารับฟังคำชี้แจงการเลิกกิจการ ซึ่งเปิดกิจการมามากกว่า 58 ปี

การหารือเรื่องการเลิกจ้างครั้งนี้ มีนายฮิเดยูกิ มุราคามิ ประธานบริษัทน้ำตาลกุมภวาปี จำกัด เดินทางมาชี้แจงด้วยตนเอง และมีนายชัยวัฒน์ ศรมณี สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.อุดรธานี เป็นตัวแทนเข้าร่วมเจรจากับตัวแทนพนักงานและลูกจ้าง 5 คน ตามมาตรการป้องกัน COVID-19

ทั้งนี้ ระหว่างการประชุมชี้แจง มีการเผยแพร่เอกสาร 2 ฉบับ ฉบับแรกประกาศวันหยุดพิเศษ ระบุเป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปีพนักงานประจำ 8 มิ.ย.- 2 ก.ค.นี้ พนักงานชั่วคราว 8-12 มิ.ย.นี้ แต่ยังคงได้รับค่าจ้าง และพนักงานที่ยังคงต้องมาทำงานในช่วงวันหยุดพิเศษ จะจ่ายค่าแรงและค่าล่วงเวลาในวันหยุด

ส่วนอีกฉบับเป็นจดหมายถึงเกษตรกรชาวไร่อ้อยครอบครัวตราซ้อน เรื่องแจ้งหยุดกิจการที่ดำเนินกิจการมาเกินกว่าครึ่งศตวรรษ ขอขอบคุณเกษตรกรชาวไร่ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีมาโดยตลอด จดหมายระบุต่อว่า ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทตกอยู่ในสภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจที่ยากลำบากดังนั้นในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นที่จัดขึ้นเมื่อวานนี้ (7 มิ.ย.) จึงมีมติตัดสินใจจะหยุดกิจการน้ำตาล หลังจากนี้อย่างเป็นทางการ

จากการตัดสินใจครั้งนี้บริษัทได้ร้องขอบริษัทน้ำตาลเกษตรผล จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทน้ำตาลตราช้อนให้รับการโอนย้ายสัญญาซื้อขายอ้อย ที่บริษัททำร่วมกับเกษตรกรทุกท่าน สำหรับรายละเอียดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องบริษํทน้ำตาลเกษตรผล จะแจ้งให้เกษตรกรทุกท่านทราบต่อไปขอแสดงความนับถือ

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า บริษัทฯ ชี้แจงว่าประสบปัญหาขาดทุนติดต่อกัน 6-7 ปีแล้ว จึงจะปิดกิจการทั้งหมด โดยมีพนักงาน-ลูกจ้างอยู่รวม 280 คนทั้งรายวันรายเดือน ก็จะต้องเลิกจ้างรวมทั้งลูกจ้างตามฤดูกาลอีกกว่า 1,000 คน ก็จะไม่มีการจ้าง และได้ประกาศหยุดงานตั้งแต่วันนี้ -2 ก.ค.2564 แต่ยังมีค่าจ้าง

“การเลิกจ้างจะเริ่มวันที่ 3 ก.ค.นี้ แบ่งเป็นการสมัครใจลาออกจะได้รับการชดเชย 3 ส่วนคือเงินชดเชยตามกฎหมาย เงินช่วยเหลือพิเศษและเงินช่วยเหลือจากการลาออกคนที่สมัครใจลาออกให้ยื่นเรื่องวันนี้-12 มิ.ย.นี้ ”

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า แต่หากเลยวันที่ 3 ก.ค.นี้ ถือว่าสิ้นสุดการเป็นพนักงาน หากไม่สมัครใจลาออกก็จะดำเนินการเลิกจ้างตามกฎหมาย ซึ่งจะจ่ายชดเชยเฉพาะตามกฎหมาย ซึ่งมีจำนวนแตกต่างกันมากเช่น ผู้มีอายุงานมากกว่า 20 ปี ตามกฎหมายจะได้ชดเชย 400 วันจะบวกเพิ่มเงินช่วยพิเศษอีก 120 วันและเงินช่วยเหลือการลาออก 90 วัน รวมแล้ว 610 วัน

ทั้งนี้ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจ.อุดรธานีได้จัดเจ้าหน้าที่ไปให้คำปรึกษาแก่พนักงาน-ลูกจ้างที่จะตัดสินใจตั้งแต่วันที่ 8 -12 มิ.ย.นี้

ด้านนายถิรวัฒน์ สุทธายาคม อดีตประธานสหภาพแรงงานน้ำตาลกุมภวาปี ยอมรับว่า งงและตกใจ แต่ต้องยอมรับกับสิ่งที่มันเกิดขึ้น

“เสียใจ เพราะว่าอยู่ที่นี่มานานมากมาอยู่ตั้งแต่ พ.ศ.2525 เริ่มต้นชีวิตกันใหม่ที่นี่ เพราะมาจาก จ.กระบี่และก็มาอยู่ที่นี่ 39 ปี และอีก 5 เดือนก็จะเกษียณมีความผูกพักกับโรงงานมาก”

ที่มา: Thai PBS, 8/6/2564

วอนนายจ้างพาแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียน หลังรัฐขยายเวลาให้ถึงเดือน ก.ย. 2564

ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่าในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ยังมีการพูดถึงแรงงานต่างด้าวที่ทำงานผิดกฎหมายในประเทศที่มีอยู่ประมาณ 200,000 ราย โดยอยู่ในกทม.ประมาณ 70,000 ราย ว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติขยายเวลาให้คนกลุ่มนี้ลงทะเบียนเข้าระบบไปถึงเดือนก.ย. ดังนั้นจึงขอให้นายแจ้งนำแรงงานไปเข้าระบบให้ถูกต้อง เพื่อจะได้เข้าสู่มาตรการป้องกันและเฝ้าระวังโรคต่างๆ เพราะแม้ว่าเร็วๆนี้โควิดอาจหมดไปแต่ยังต้องเฝ้าระวังโรคอื่นๆต่อไปด้วย เพราะหากมีโรคอยู่ในแรงงานที่ไม่สามารถตรวจสอบได้จะถือเป็นภัยของประเทศ จึงขอให้นายจ้างนำแรงงานเหล่านี้เข้าระบบ

ที่มา: ไทยโพสต์, 9/6/2564

อยุธยาพบคลัสเตอร์แรงงานก่อสร้าง 180 ราย สั่งปิดพื้นที่เข้า-ออก

9 มิ.ย. 2564 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รายงานว่า ตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้กำหนดให้ตรวจเชิงรุกภายในแคมป์คนงานก่อสร้างในตำบลเกาะเรียน อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2564 ทั้งหมด 597 คน แบ่งเป็นกลุ่มผู้ค้ารถเร่ จำนวน 34 คน กลุ่มแรงงาน ประกอบด้วย 1.แรงงานไทย (staff-/office/คนงาน) จำนวน 167 คน 2.คนงานต่างด้าว (พม่า/กัมพูชา) จำนวน 396 คน

ผลการตรวจเชิงรุกพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เบื้องต้น 180 ราย ทางอำเภอพระนครศรีอยุธยา อบต.เกาะเรียน พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ปิดพื้นที่แคมป์คนงานดังกล่าว ไม่ให้มีการเดินทางของกลุ่มเป้าหมายไปนอกพื้นที่เพื่อไม่ให้แพร่กระจายเชื้อสู่ชุมชน

ทั้งนี้ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 32 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 1,116 ราย รักษาหายแล้ว 557 ราย รักษาอยู่ 489 ราย รวมผู้เสียชีวิตสะสม จำนวน 10 ราย

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 9/6/2564

ประกันสังคมแจงไม่รับ Walk In ผู้ประกันตนมาตรา 33 เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ย้ำต้องลงทะเบียนผ่านระบบ e-service และได้รับแจ้งนัดฉีดวัคซีนจากนายจ้างเท่านั้น

9 มิ.ย. 2564 นางสาวลัดดา แซ่ลี้ ผู้อำนวยการสำนักสิทธิประโยชน์ ในฐานะรองโฆษกสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า ตามที่ สปส. ได้เปิดให้บริการศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 45 จุดทั่วกรุงเทพฯ โดยร่วมกับสถานพยาบาลเครือข่ายประกันสังคมให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับผู้ประกันตน ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา มีเป้าหมายการฉีดวันละ 50,000 คน

ปรากฏว่ามีผู้สอบถามและติดต่อเข้ามาจำนวนมาก รวมถึงผู้ประกันตนที่ไม่ได้ลงทะเบียน หรือลงทะเบียนไว้แต่ยังไม่ถึงกำหนดนัด ได้ walk in มาที่ศูนย์เพื่อขอรับบริการฉีดวัคซีน

สำนักงานประกันสังคมขอแจ้งให้ทราบว่า ศูนย์ฉีดวัคซีนฯ จะให้บริการฉีดวัคซีนสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่แจ้งความประสงค์กับนายจ้าง มีการบันทึกเข้าระบบ e-service ของสำนักงานประกันสังคมและมารับการฉีดวัคซีนตามที่ได้รับการนัดหมายแล้วเท่านั้น โดยจะไม่ให้บริการฉีดวัคซีนแก่ผู้ที่ยังไม่ได้รับการนัดหมาย หรือ walk in มายังศูนย์ฯ

รองโฆษกสำนักงานประกันสังคม ชี้แจงต่อว่า กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้รับจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ล็อตแรกทั้งสิ้น 1 ล้านโดส จะใช้ฉีดให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่เป็นลูกจ้างสถานประกอบการในเขตกรุงเทพมหานครซึ่งสำนักงานประกันสังคมสำรวจความประสงค์ไว้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 โดยผู้ประกันตนมาตรา 33 ได้แจ้งความประสงค์มามากเกินกว่าวัคซีนที่ได้รับจัดสรร ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอน ลดความแออัด และให้ผู้ลงทะเบียนได้รับวัคซีนตามลำดับอย่างครบถ้วน สำนักงานประกันสังคมจะทำการแจ้งนัดวันและสถานที่ฉีดให้นายจ้างทราบ และจัดให้ลูกจ้างมาฉีดตามกำหนดนัดหมายเท่านั้น อย่างไรก็ดีหากสำนักงานประกันสังคมได้รับจัดสรรวัคซีนล็อตที่สอง จะแจ้งให้ผู้ประกันตนที่นายจ้างลงทะเบียนไว้ในลำดับถัดไปมารับการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม ซึ่งขอย้ำว่า จะไม่มีการเปิดให้ walk in เข้ารับการฉีดวัคซีน

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ติดต่อสายด่วน 1506 กด 7 เจ้าหน้าที่พร้อมให้บริการตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น. ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ

ที่มา: TNN, 9/6/2564

ร้านนวดวอน ศบค.สั่งเปิด 15 มิ.ย. 2564 นี้

นายพิทักษ์ โยธา นายกสมาคมจารวีเพื่ออนุรักษ์นวดแผนไทย เปิดเผยว่า วันนี้ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการร้านนวดและตัวแทนหมอนวดทั่วประเทศของทางสมาคมจารวีฯ จะเข้าประชุมร่วมกับประธานกรรมมาธิการแรงงานที่รัฐสภา ในเวลา 13.30 น. ที่อาคารรัฐสภา เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและการเยียวยาสำหรับคำสั่งปิดร้านนวดตั้งแต่วันที่26 เม.ย.ที่ผ่านจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา กว่า 50 วันแล้ว ไม่เคยได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ ซึ่งผู้ประกอบการยังคงต้องจ่ายค่าเช่าร้าน ทุกเดือนแม้จะปิดบริการตามคำสั่งรัฐ ซึ่งเดือดร้อนหนัก หลายรายจำใจต้องปิดถาวร ล้มหายไปจากวงการนวด และอยากเห็นความชัดเจนว่าในวันที่14 มิ.ย.นี้ ศบค.จะมีคำสั่งอย่างไร ให้เปิดร้านนวดได้หรือไม่ หลังสั่งเบรกคำสั่ง กทม.ไปแล้วเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2564 ซึ่งที่ผ่านมาเหมือนหลอกให้ผู้ประกอบการดีใจ ว่าจะมีคำสั่งเปิดมาหลายครั้งแล้ว ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 5 จังหวัดที่ร้านนวดยังโดนคำสั่งปิด คือ กทม. นนทบุรี ชลบุรี สุราษฎรธานี นครศรีธรรมราช

นายกสมาคมจารวีเพื่ออนุรักษ์นวดแผนไทย คาดหวังว่า ผลการประชุมวันนี้ ภาครัฐจะเข้าใจ และที่ผ่านมาคำสั่งที่ไม่ชัดเจนทำให้ผู้ประกอบการได้รับความเสียหาย และอยากให้ศบค.มีคำสั่งเปิดร้านนวด วันที่ 15 มิ.ย.นี้ จะได้กลับมาลืมตาอ้าปากได้ รวมทั้งอยากได้ความชัดเจนว่า รัฐจะช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง เพราะตอนนี้ผู้ประกอบการร้านนวดไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าแล้ว และร้านนวดในเครือข่ายสมาคมจารวี ใน กทม.ที่มีกว่า 5,800 แห่ง ปิดไปกว่า 70% เนื่องจากแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 9/6/2564

ครม.ขยายเวลาแรงงานต่างด้าวตรวจโควิด-ทำประกันให้เสร็จภายใน 13 ก.ย. 2564

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบขยายเวลาให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (เมียนมา ลาว และกัมพูชา) ดำเนินการตรวจหาเชื้อโควิด-19, ทำประกันสุขภาพ และขออนุญาตทำงาน ไปจนถึงวันที่ 13 ก.ย. 2564 จากเดิมที่จะต้องสิ้นสุดภายใน 16 มิ.ย. 2564

รวมทั้งเห็นชอบขยายระยะเวลาให้แรงงานต่างด้าวที่ลงทะเบียนไม่มีงานทำ (กลุ่มที่ยังไม่มีนายจ้าง) จำนวน 53,837 คน ไปจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (ทร 38/1) และไปทำบัตรสีชมพู ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มี.ค. 2565 จากเดิมที่จะต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 16 มิ.ย. 2564

"ที่ต้องขยายระยะเวลาออกไป เนื่องจากสถานการณ์โควิด ทำให้กระบวนการต่างๆ ไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็วตามกำหนด" น.ส.รัชดาระบุ

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 8/6/2564

BBL ร่วมมือสปส.ปล่อยสินเชื่อผู้ประกอบการดอกต่ำ 2.75-4.75% หนุนจ้างงานต่อ

ธนาคารกรุงเทพ (BBL) จับมือสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ปล่อยกู้ต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการ สูงสุดไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อสถานประกอบการ ช่วยเพิ่มสภาพคล่อง หวังให้มีการจ้างงานผู้ประกันตนต่อเนื่อง ลดต้นทุนการเงิน คิดดอกเบี้ยต่ำ คงที่ตลอด 3 ปี แค่ 2.75% ต่อปี กรณีมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือ 4.75% ต่อปี กรณีไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือค้ำประกันโดยบุคคล หรือบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) วงเงินรวมทั้งโครงการ 3 หมื่นล้านบาท

นายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ BBL เปิดเผยว่า โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน ระยะที่ 2 (พ.ศ.2563 ? 2564) จะช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับ สปส.ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ เพื่อเพิ่มผลผลิตแรงงาน รักษาระดับการจ้างงานลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตน โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่ธุรกิจอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้

โครงการดังกล่าวมีวงเงินสินเชื่อรวมทั้งโครงการ 30,000 ล้านบาท ระยะเวลาสินเชื่อตามโครงการ 3 ปี ผู้ประกอบการที่สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ จะต้องเป็นสถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม โดยต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน และได้รับการรับรองสถานะความเป็นสถานประกอบการจาก สปส. ทั้งนี้ เมื่อได้รับการอนุมัติสินเชื่อแล้ว ผู้ประกอบการจะต้องรักษาจำนวนผู้ประกันตนในสถานประกอบการให้อยู่ในระดับไม่น้อยกว่า 80% ของจำนวนผู้ประกันตนในสถานประกอบการ ณ วันที่ธนาคารส่งแบบรายงานผลการอนุมัติสินเชื่อให้ประกันสังคม ไว้ตลอดอายุสินเชื่อ

นายสุวรรณ กล่าวอีกว่า โครงการนี้นับเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ รวมถึงการคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ และคงที่ตลอด 3 ปี เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการ โดยมีเงื่อนไขให้ยังคงรักษาระดับการจ้างงานเอาไว้ เพื่อช่วยให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนยังคงมีรายได้ต่อเนื่อง และบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน

"ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ธุรกิจส่วนใหญ่กำลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ธนาคารกรุงเทพเข้าใจและห่วงใยผู้ประกอบการทุกระดับ และพร้อมที่จะเป็นอีกหนึ่งกลไกในการส่งมอบความช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการเข้าถึงบริการทางการเงินต่าง ๆ รวมถึงสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง ผ่านหลากหลายแนวทาง ทั้งมาตรการให้ความช่วยเหลือโดยตรงของธนาคาร และมาตรการที่ธนาคารดำเนินการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูของธนาคารแห่งประเทศไทย และสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานกับประกันสังคมในครั้งนี้ ซึ่งในฐานะ "เพื่อนคู่คิด" ธนาคารก็พร้อมให้คำปรึกษาและนำเสนอความช่วยเหลือให้แก่ลูกค้าอย่างเต็มที่ในทุกสถานการณ์" นายสุวรรณ กล่าว

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 8/6/2564

ครม.ไฟเขียว จ้างงาน ป.ตรี บรรจุเป็นพนักงานข้าราชการเฉพาะกิจ สัญญาจ้าง 1 ปี เงินเดือน 18,000 บาท

8 มิ.ย. 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบจัดสรรกรอบอัตรากำลังและกลไกการบริหารจัดการพนักงานราชการเฉพาะกิจ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จำนวน 10,000 อัตรา วงเงิน 2,254.32 ล้านบาท (งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น) โดยให้ได้ค่าตอบแทน 18,000 บาทต่อเดือน ตลอดสัญญาณการจ้างงาน โดยต้องคุณสมบัติของผู้สมัคร จะต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี

การทำสัญญาการจ้างไม่เกิน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ทำสัญญาจ้าง หรือ ไม่เกินวันที่ 30 กันยายน 2565 และไม่มีการต่อสัญญาจ้าง และให้สรรหาพนักงานราชการเฉพาะกิจรายใหม่ได้ในกรณีที่ตำแหน่งว่างลงระหว่างปีและยังไม่ครบระยะเวลาสิ้นสุดของกรอบอัตรากำลัง โดยมีระยะเวลาที่เหลือจะต้องไม่น้อยกว่า 1 เดือน เมื่อครบรอบการประเมินผลงานและพฤติกรรมหากไม่เหมาะสมหรือไม่เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้องอาจเลิกจ้างได้ทันที

ทั้งนี้ การจัดสรรกรอบกำลังให้แก่ส่วนราชการในหน่วยงานส่วนภูมิภาค ระดับจังหวัด รวม 14 หน่วยงาน (28 ส่วนราชการ) ประกาศรับสมัคร สรรหา และบรรจุเข้าเป็นพนักงานข้าราชการเฉพาะกิจตามจำนวนกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการที่ได้รับการจัดสรร โดยกำหนดอายุบัญชีไม่เกิน 1 ปี โดยไม่เกินวันที่ 30 ก.ย. 2565

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 8/6/2564

ตรัง ซีลเข้มแรงงานข้ามชาติ กักกันที่พักตั้ง รพ.สนามในโรงงาน

8 มิ.ย. 2564 ตามที่จังหวัดตรังยังตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อภายในโรงงานอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด จากการตรวจเชิงรุกภายในสถานที่กักกันตัวของบริษัท นาเมืองเพชรพาราวู้ด จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปไม้ยางพารา ในต.นาเมืองเพชร อ.สิเกา พบอีกจำนวน 106 ราย เป็นแรงงานข้ามชาติ 104 ราย มีเด็กอายุ 1-5 เดือนรวมอยู่ด้วย และคนไทย 2 ราย รวมยอดติดเชื้อจากการตรวจครั้งแรกจำนวน 159 คน จากพนักงานทั้งหมด 315 คน เป็นลบ 156 คน อัตราการติดเชื้อคิดเป็น 50.4% ส่วนใหญ่เป็นแรงงานเมียนที่อยู่กันหนาแน่น โดยโรงงานนาเมืองเพชร มีแรงงานข้ามชาติเมียนมาจำนวน 207 ราย แรงงานไทยจำนวน 108 ราย แต่คนไทยติดเชื้อน้อย เพราะอยู่ที่บ้านและอยู่ห่างกัน โดยทางผู้บริหารของโรงงานก็เร่งแก้ไขสถานการณ์และให้ความร่วมมือกับทางจังหวัดอย่างเต็มที่ โดยมีตัวแทนจากห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงเลื่อยสวนจันทร์ ซึ่งเป็นเพื่อนผู้ประกอบการโรงเลื่อยในจ.ตรังเดินทางมามอบของช่วยเหลือให้กำลังใจด้วย โดยขอให้ผู้บริหารและพนักงานทุกคนอดทน และขอให้มีกำลังใจต่อสู้ก้าวผ่านวิกฤตไปให้ได้โดยเร็ว

ล่าสุด ทางจังหวัดตรัง ร่วมกับผู้บริหารโรงงานได้ใช้มาตรการซีลเข้มแรงงานข้ามชาติทั้งที่กักตัวภายในโรงงานและสถานที่พักต่อเนื่องไปอีกเป็นเวลา 1 เดือน โดยใช้กลยุทธ์ Bubble and Seal ทั้งการจัดสถานที่กักกันตัวภายในโรงงาน ( Factory Quarantine ) ส่วนแรงงานไทยที่พักอาศัยอยู่กับบ้านให้เดินทางไป -กลับได้เฉพาะโรงงานกับบ้านพักเท่านั้น โดยทั้งหมดจะมีคนส่งข้าวส่งน้ำให้ไม่ให้ออกนอกพื้นที่กักตัว พร้อมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามภายในโรงงาน เพื่อจำกัดวงการแพร่ระบาดและป้องกันการแพร่เชื้อสู่คนในครอบครัวและชุมชน พร้อมสั่งเร่งค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกนอกพื้นที่โรงงาน คนในครอบครัวและผู้ใกล้ชิด

ขณะเดียวกันมาตรการดังกล่าว กำลังใช้อยู่กับโรงงานที่กำลังพบการระบาดอยู่ขณะนี้จำนวน 2 แห่ง ที่พบการแพร่เชื้อภายในโรงงาน คือ โรงงานผลิตถุงมือยางศรีตรังโกลฟส์ และโรงงานแปรรูปไม้ยางพารานาเมืองเพชรพาราวู้ด ส่วนโรงงานอื่นๆที่ยังไม่พบการระบาด ก็ใช้มาตรการซีลเข้มแรงงานข้ามชาติของตนเองให้อยู่เฉพาะในพื้นที่โรงงานแล้วเท่านั้นมีการส่งเข้าส่งน้ำเอง และกำลังเร่งจัดทำแผนหาพื้นที่กักกันตัว และโรงพยาบาลสนามภายในโรงงาน หากพบการระบาดขึ้นภายในโรงงานเช่นเดียวกัน เพื่อจำกัดวงการแพร่ระบาดและป้องกันการแพร่เชื้อสู่คนในครอบครัวและชุมชน พร้อมสั่งเร่งค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกนอกพื้นที่โรงงาน คนในครอบครัวและผู้ใกล้ชิด

โดย จ.ตรัง มีโรงขนาดใหญ่ทั้งหมด 2 แห่ง ,ขนาดกลาง 4 แห่ง และขนาดเล็กจำนวน 43 แห่ง

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 8/6/2564

รฟม. วาง 13 กฎเหล็ก คุมเข้มแคมป์คนงานก่อสร้าง 3 รถไฟฟ้า

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในปัจจุบัน ที่ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว มีอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการแพร่ระบาดในที่พักแรงงานก่อสร้างเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั้น

นายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะผู้อำนวยการโครงการเปิดเผยว่า รฟม. ได้กำกับดูแลโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานก่อสร้าง จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ได้ตระหนัก ถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม

โดย รฟม. ได้เน้นย้ำให้ที่ปรึกษาโครงการฯ และผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการฯ ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในที่พักแรงงานก่อสร้างและพื้นที่ปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด ดังนี้

1. ตรวจคัดกรอง วัดอุณหภูมิก่อนเข้าพื้นที่ปฏิบัติงานทุกครั้ง

2. สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาการปฏิบัติงาน

3. จัดจุดให้บริการเจลแอลกอฮอล์ และอ่างล้างมือ

4. ห้ามแรงงานก่อสร้างเดินทางออกนอกพื้นที่ปฏิบัติงานและที่พัก

5. ห้ามแรงงานก่อสร้างเดินทางออกนอกเส้นทาง ขณะโดยสารรถรับส่งระหว่างที่พักและพื้นที่ปฏิบัติงาน และจัดเว้นระยะห่างของที่นั่งในรถไม่ให้แออัด

6. ห้ามแรงงานก่อสร้าง พาบุคคลภายนอก เข้ามาในพื้นที่ปฏิบัติงานและที่พักโดยเด็ดขาด

7. ห้ามแรงงานก่อสร้างเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงตามที่ภาครัฐกำหนด

8. จัดการเรื่องสุขอนามัยภายในที่พัก ให้สะอาด ปราศจากการแพร่เชื้ออยู่เสมอ เช่น ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อบริเวณ ที่พัก เปลี่ยนระบบอาบน้ำ จากเดิมที่ใช้อ่างอาบน้ำรวม เป็นระบบฝักบัว แยกเฉพาะคน และจัดให้มีการแยกภาชนะ ในการรับประทานอาหาร เช่น แก้วน้ำ ช้อนส่วนตัว

9. กรณีที่พักแรงงานก่อสร้างอยู่ในพื้นที่เดียวกับสถานที่ปฏิบัติงาน หากพบผู้ติดเชื้อให้ดำเนินการควบคุมพื้นที่ไม่ให้มีการเข้า-ออก ก่อนทำการส่งตัวไปรักษา

10. กรณีที่พักแรงงานก่อสร้างไม่ได้อยู่ในพื้นที่เดียวกับสถานที่ปฏิบัติงาน หากพบผู้ติดเชื้อให้กักตัวผู้ที่ติดเชื้อในบริเวณที่พักแรงงาน ภายใต้การดูแลของสำนักงานเขตและสำนักอนามัย ก่อนทำการส่งตัวไปรักษา ทั้งนี้ผู้ที่ไม่ติดเชื้อ เมื่อเดินทางไปปฏิบัติงาน รถโดยสารรับส่ง จะไม่จอดหรือหยุดพักระหว่างทาง

11. ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง หรือผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ จะดำเนินการเฝ้าระวังและจัดที่พักแยกเป็นสัดส่วนเพื่อกักตัว

12. จัด Safety Talk พูดคุยก่อนการเริ่มปฏิบัติงาน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19

13. ให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ เช่น โปสเตอร์ บอร์ดประชาสัมพันธ์ และเสียงตามสาย

นอกจากนี้ ได้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในอาคารสำนักงานโครงการฯ ด้วยการตรวจคัดกรองอุณหภูมิ ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ เว้นระยะห่าง จัดประชุมด้วยระบบ Video Conference แทนการนั่งประชุมรวมกลุ่มในอาคารสำนักงานโครงการฯ และให้ผู้ปฏิบัติงานในอาคารสำนักงานโครงการฯ ทำงานที่บ้าน (Work From Home) ให้มากที่สุด โดยหมุนเวียนสลับกันเข้ามาปฏิบัติงาน

รวมถึงเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดบริเวณจุดที่สัมผัสร่วมกันในอาคารสำนักงานโครงการฯ เช่น บานจับประตู ปุ่มกดลิฟต์ ราวบันได เครื่องลงเวลาเข้าออกงาน และห้องน้ำ

ทั้งนี้ รฟม. และทุกโครงการฯ จะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่อง COVID-19 อย่างเต็มที่ ในการตรวจหาเชื้อไวรัส COVID-19 เชิงรุกของกลุ่มแรงงานในพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า และจะเดินหน้ากำชับมาตรการต่างๆ ให้มีความเข้มข้นและรัดกุม เพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน และเป็นการแสดงความรับผิดชอบ ต่อสังคมส่วนรวม จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จะกลับสู่ภาวะปกติ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, 8/6/2564

โควิดรอบ 3 ทำเอสเอ็มอีปิดกิจการ 2 หมื่นราย

นายวีระพงศ์ มาลัย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม สสว. เปิดเผยว่า ภาพรวมประมาณเศรษฐกิจเอสเอ็มอี ไตรมาส 1 ปี 2564 คาดว่าจะติดลบร้อยละ 4.8 จากเดิมที่คาดไว้ ติดลบร้อย 2 -2.4 เนื่องจากผลกระทบจากโรคโควิด 19 ระบาดรอบที่ 3 กระทบต่อรายได้ ภาระหนี้ ทำให้ยากต่อการฟื้นตัวของกิจการ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ที่ได้รับผลกระทบจากการบริโภคที่ชะลอตัวลง

โดยตัวเลขยอดปิดกิจการไตรมาสแรกปีนี้มีประมาณ 20,000 ราย สะท้อนจากการตัวเลขลูกจ้างที่ขอชดเชยจากประกันสังคม สูงร้อยละ 200 -300 หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแต่หากเทียบความรุนแรงยังไม่เท่ากับช่วงที่เกิดการระบาดในรอบ 1 และ 2

ตัวเลขเปิดกิจการใหม่เพิ่มขึ้น 23,000 ราย เมื่อเทียบจากช่วงเดียวปีก่อนที่เปิดกิจการใหม่มีประมาณ 2 หมื่นราย เนื่องจากแรงงานที่ถูกเลิกจ้างงานหากิจการใหม่ เช่น การค้าขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

และบางธุรกิจปรับตัวหันมาขายออนไลน์ทำให้รายได้เติบโตเพิ่มขึ้นเท่าตัว ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยบวกจาก ธุรกิจเอสเอ็มอีส่งออกยังฟื้นตัวได้ เพราะตลาดต่างประเทศที่กลับมาดีขึ้น เช่น สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น

ที่มา: Thai PBS, 7/6/2564

‘เพื่อไทย’ จี้ กทม. เร่งตรวจเชื้อโควิดแรงงานต่างด้าว โดยไม่แยกว่าเข้าเมืองถูกหรือผิด กม.

7 มิ.ย. 2564 นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานโซน 3 กทม.พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ภาครัฐและกรุงเทพมหานครเร่งตรวจเชื้อโควิด-19 ในแรงงานต่างด้าว โดยไม่แบ่งแยกว่าเข้าประเทศโดยถูกกฎหมายหรือไม่ แต่ถ้าอยู่ในกลุ่มคลัสเตอร์เดียวกันควรดำเนินการตรวจเชื้อไปคราวเดียวกันให้เสร็จสิ้น ทั้งนี้ เนื่องจากว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการระบาดในคลัสเตอร์วงเวียนใหญ่ มีตลาดสดขนาดใหญ่รวมกัน 3 แห่ง และมีแรงงานต่างด้าวมีใบอนุญาตทำงานถูกต้อง และแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน เพราะนายจ้างยังไม่พาไปขึ้นทะเบียนเข้าสู่ระบบแรงงานต่างด้าว

นายวิชาญกล่าวว่า จากการสังเกตการณ์ของทีมว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.พบว่าภาครัฐจัดการตรวจเชื้อกลุ่มแรงงานต่างด้าวไม่พร้อมกัน กล่าวคือ แยกกลุ่มที่มีใบอนุญาตทำงานถูกกฎหมายตรวจหาเชื้อและเข้าสู่ระบบการรักษาก่อนรอบหนึ่ง ส่วนกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบแรงงานต่างด้าว แยกไปตรวจอีกรอบหนึ่งในอีกหลายวันถัดไป เป็นเพราะหน่วยงานภาครัฐต้องไปเคลียร์สิทธิการเบิกจ่ายงบประมาณ สปสช. ซึ่งในระหว่างที่รอตรวจเชื้อนี้ แรงงานต่างด้าวกลุ่มที่ยังไม่เข้าระบบต่างหวาดกลัว บ้างก็ไม่เข้ามาตรวจเชื้อตามนัดหมาย บ้างก็หลบอยู่ในที่พัก ไม่กล้าออกมาตรวจเชื้อเพราะกลัวโดนจับ จึงทำให้การตรวจเชื้อเป็นไปอย่างล่าช้า รวมถึงเป็นการสุ่มเสี่ยงที่แรงงานต่างด้าวจะเคลื่อนย้ายหนีออกไปจากพื้นที่ และไปแพร่เชื้อระบาดในจุดอื่นเพิ่ม

นายวิชาญกล่าวว่า อยากเรียกร้องภาครัฐว่าในเมื่อรัฐบาลมีตั้งงบประมาณ และ สปสช.เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการเบิกจ่ายแล้ว ก็ควรดูแลแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ให้ได้รับการตรวจหาเชื้อ และเข้าสู่กระบวนการรักษาตามขั้นตอนโดยไม่ต้องแบ่งแยกว่าแรงงานกลุ่มไหนถูกกกหมายหรือไม่ถูกกฎหมาย เพราะเวลานี้สถานการณ์โควิดระบาดหนัก ต้องควบคุมโรคให้ได้ จึงไม่ใช้ประเด็นเรื่องงบประมาณมาเป็นอุปสรรคในการตรวจหาเชื้อและรักษาผู้ป่วย

“ผู้ป่วยไม่ว่าจะสัญชาติใด จะเข้าเมืองถูกกฎหมายหรือไม่ แต่เมื่อเขาทำงานอยู่บ้านเรา เขาก็เป็นมนุษย์ เมื่อเขาป่วยเราก็ต้องรักษา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์โควิด การตรวจหาเชื้อในแรงงานต่างด้าวเร็วเท่าไร เท่ากับระงับการระบาดได้เร็วเท่านั้น” นายวิชาญกล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 7/6/2564

ก.อุตสาหกรรม คุมเข้มโรงงาน 6.4 หมื่นแห่ง ทำแบบประเมินผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ Thai Stop Covid Plus - Thai Save Thai

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนในแรงงานภาคอุตสาหกรรมทำให้ต้องหยุดประกอบกิจการส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบกิจการโรงงาน และเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ ซึ่ง ศบค. ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นเจ้าภาพในการควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการโรงงาน จึงสั่งการเร่งด่วนให้ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและอุตสาหกรรมจังหวัดทุกจังหวัด แจ้งขอความร่วมมือสถานประกอบการ ดำเนินการประเมินตนเองตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข

โดยใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาขึ้น ได้แก่ Thai Stop Covid Plus ซึ่งเป็นข้อแนะนำทางด้านสาธารณสุขป้องกันการแพร่ระบาดฯ ประกอบด้วย มาตรการ นวทางปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการ ผู้ปฏิบัติงาน และแนวทางการปฏิบัติกรณีพบผู้ติดเชื้อ ซึ่งผู้ประกอบการต้องประเมินตนเองอย่างน้อยทุก 2 สัปดาห์ ในส่วนของพนักงานทุกคน ต้องประเมินตนเอง โดยใช้แพลตฟอร์ม Thai Save Thai ซึ่งยกระดับ การคัดกรองคนก่อนเข้าโรงงานอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันผู้มีความเสี่ยงไม่ให้เข้ามาปฏิบัติงานและแพร่เชื้อในสถานประกอบการ

รวมทั้งการสนับสนุนให้พนักงาน สมัครใจเข้าร่วมโครงการ “ก้าวท้าใจ” ด้วยการออกกำลังกาย ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้สุขภาพแข็งแรงและมีภูมิต้านทานโรค โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดแจ้งไปยังผู้ประกอบการ และให้หน่วยงานในสังกัดให้ติดตามการดำเนินการของสถานประกอบการ ซึ่งตั้งเป้าหมายสำหรับโรงงานขนาดใหญ่ คนงานตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป จำนวน 3,304 โรง ต้องทำการประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop Covid Plus และ Thai Save Thai ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 มิ.ย. และโรงงานทั้งหมด 64,000 โรง ภายในวันที่ 30 มิ.ย. ซึ่งขณะนี้มีโรงงานเข้าสู่ระบบทำการประเมินแล้วประมาณ 20 % เท่านั้น หากโรงงานใดไม่ให้ความร่วมมืออาจจะมีการพิจารณาบทลงโทษต่อไป

นายเดชา จาตุธนานันนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้าศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤต กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ระบบดังกล่าวจะเป็นเช็กลิสต์ข้อแนะนำออนไลน์เพื่อให้ผู้ประกอบการและพนักงานทุกคนประเมินและจัดการความเสี่ยง โรงงานจะได้เรียนรู้วิธีการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม และมาตรการเสริมอื่น ๆ

รวมทั้งข้อแนะนำหากพบผู้ติดเชื้อต้องทำอย่างไร ตลอดจนคำแนะนำในการกักตัว เพื่อทำให้ทราบว่ามาตรการที่ดำเนินการอยู่ของแต่ละโรงงาน ผ่านหรือไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของสาธารณสุข ประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับ คือการปรับตัวสู่การทำงานวิถีใหม่ (New Normal) เพื่อให้โรงงานปลอดโควิด พนักงานปลอดภัย ขณะที่ภาครัฐเองก็มีข้อมูลในการกำกับดูแล (Monitor) ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะแลกเปลี่ยนข้อมูลและใช้ประโยชน์ในข้อมูลร่วมกัน ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงแรงงาน

ทั้งนี้โรงงานที่ประเมินผ่านแฟลตฟอร์ม Thai Stop Covid Plus แล้ว มีคะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดจะมีทีมตรวจประเมินของรัฐเข้าไปช่วยเหลือ โดยกระทรวงฯ จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เช่น จังหวัด สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด และสาธารณสุขจังหวัด ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม เพื่อสนับสนุนโรงงานให้ผ่านเกณฑ์ฯ ต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากพบพนักงานติดเชื้อโรงงานจะต้องดำเนินการตรวจหาเชื้อเชิงรุก แยกผู้ติดเชื้อไปรักษาและผู้ใกล้ชิด ต้องกักตัว และหากโรงงานใดพบมีการติดเชื้อมากกว่า 10% จะคงยังใช้หลักการ Bubble & Seal (โรงงานจัดหาที่พักให้อยู่ในสถานที่ที่กำหนด และให้โรงงานจัดหาที่พักให้พนักงานอยู่ภายในโรงงาน เพื่อสามารถควบคุมโรคจนกว่าสถานการณ์ การติดเชื้อกลับสู่ปกติ) และสั่งปิดโรงงานเพื่อควบคุมเชื้อโควิด-19 ไม่ให้ออกสู่สังคมภายนอก เช่นเดียวกับเคสที่ได้ดำเนินการที่ผ่านมา มั่นใจว่ามาตรการที่ ศบค. มอบหมายให้กระทรวงฯ มาช่วยขับเคลื่อนจะสามารถลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในโรงงานอุตสาหกรรมได้

ที่มา: TNN, 7/6/2564

นายกฯ ลงพื้นที่เยี่ยมศูนย์บริการฉีดวัคซีนแรงงาน ม.33

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม บริเวณศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดง ซึ่งเป็นศูนย์ที่ให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่เริ่มวันนี้เป็นวันแรก โดยพลเอกประยุทธ์ กล่าวหลังจากตรวจเยี่ยมว่า สำนักงานประกันสังคม ภายใต้กระทรวงแรงงาน ได้รับการจัดสรรวัคซีนในพื้นที่กทม. จำนวน 1 ล้านโดสแล้ว โดยรัฐบาลให้ความสำคัญในภาคแรงงาน ภาคอุตสาหกรรมอย่างมาก เนื่องจากเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ย้ำรัฐบาลจะทำอย่างเต็มที่ ต้องบริหารให้สอดคล้องกับความเสี่ยง อะไรที่ทำให้ประชาชนไม่สบายใจต้องขอโทษ จะทำให้ได้ดีที่สุด

ทั้งนี้กระทรวงแรงงาน จะทำเรื่องขอวัคซีนเพิ่มเติมอีก 4 ล้านโดส เนื่องจากมีจำนวนแรงงาน ม.33 ที่มีถึง 3.7 ล้านคน และลงทะเบียนมาแล้ว 2.3 ล้านคน เพื่อเป็นการกระจายฉีดวัคซีนให้แรงงานในระบบม.33 อย่างทั่วถึง ทั้งในกทม. และ และในพื้นที่ 9 จังหวัดเศรษฐกิจ คือ สมุทรปราการ ชลบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร นครปฐม เชียงใหม่ ระยอง และฉะเชิงเทรา

ในขณะที่มีข้อมูลบางส่วน ภายหลังนายกรัฐมนตรีได้ตรวจเยี่ยมศูนย์ฉีดวัคซีนสำหรับประชาชนทั่วไป ณ สถานีกลางบางซื่อ พร้อมกล่าวว่า วัคซีนยังทยอยเข้ามาเรื่อยๆ โดยเดือนมิถุนายน จะมีวัคซีนเข้ามาอีกและจะจัดให้บริการให้ได้ทุกสัปดาห์ ตามสัดส่วน และความเสี่ยง ของประชากร ทั้งนี้ศักยภาพการฉีดวัคซีนของที่สถานีกลางบางซื่อ จะสามารถให้บริการ 900-1,600 คนต่อชั่วโมง มีรถชัทเทิลบัสบริการฟรี ซึ่งที่ผ่านมาให้บริการฉีดประชาชน แล้ว 150,000 คน แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงคมนาคม 130,000 คน โดยจะเปิดให้บริการ 7 มิ.ย. – ธ.ค. 64 คาดจะให้บริการได้ 2 ล้านคน

สำหรับพื้นที่สนามไทยญี่ปุ่น-ดินแดงแห่งนี้ จะสามารถรองรับผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่จะเข้ามาฉีดวัคซีนได้ 1,500 คนต่อวัน นอกจากนี้ตั้งเป้าได้ว่าเมื่อรวมทุกศูนย์ 45 จุดทั่วกทม.จะมีศักยภาพในการฉีดได้วันละ 50,000 คนต่อวัน

ที่มา: PPTV, 7/6/2564

ลอบขน 11 แรงงานเถื่อนในถังพลาสติกผสมน้ำยาฆ่าเชื้อทางการเกษตรตบตาเจ้าหน้าที่

6 มิ.ย. 2564 นายสาวิตร เจียมจิระพร นายอำเภอไทรโยค พร้อมด้วย พ.ต.อ.ภุชงค์ ณรงค์อินทร์ ผกก.สภ.ไทรโยค และเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้า กกล.สุรสีห์ ได้ร่วมกันจับกุมนายประสิทธิ์ กล้าหาญ อายุ 62 ปี อยู่บ้านเลขที่ 341 หมู่ 4 ต.ศรีมงคล อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี พร้อมแรงงานต่างด้าวชาวพม่า จำนวน 11 คน เป็นชาย 6 คน หญิง 5 คน รถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า ตอนเดียว สีขาว หมายเลขทะเบียน ผอ 4122 กทม.

โดยนายประสิทธิ์ กล้าหาญ ถูกดำเนินคดีในข้อหา “ช่วยเหลือ ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใดๆ ให้บุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย พ้นจากการจับกุม” ส่วนแรงงานชาวพม่าทั้ง 11 คน ถูกดำเนินคดีในข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 และฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อหรือผู้ว่าราชการจังหวัด และฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความแห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

นายสาวิตร เจียมจิระพร นายอำเภอไทรโยค กล่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งจากสายข่าวว่า จะมีขบวนการลักลอบนำพาแรงงานต่างด้าวชาวพม่าจำนวนหนึ่งไปทำงานในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร โดยใช้รถยนต์กระบะเป็นพาหนะในการซุกซ่อนแรงงานด้วยการให้ซุกซ่อนตัวอยู่ภายในถังพลาสติกที่ใช้สำหรับผสมน้ำยาพ่นฆ่าเชื้อพืชผลทางการเกษตร

หลังจากได้รับแจ้งเจ้าหน้าที่จึงออกหาข่าว จนกระทั่งพบรถยนต์กระบะต้องสงสัยลักษณะตรงกับที่สายแจ้งขับไปตามถนนสายท่ามะเดื่อ-ลำทราย หมู่ 2 ต.ศรีมงคล อ.ไทรโยค เจ้าหน้าที่จึงไล่ติดตามไป พร้อมกับส่งสัญญาณให้คนขับหยุดรถเพื่อขอตรวจค้น แต่คนขับไม่ยอมพร้อมกับเร่งเครื่องหลบหนี ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ติดตามไปอย่างกระชั้นชิด สุดท้ายคนขับจึงยอมจอดรถให้ตรวจค้น

จากการตรวจค้นเจ้าหน้าที่ถึงกับตะลึง เนื่องจากพบแรงงานต่างด้าวชาวพม่าซ่อนตัวอยู่ภายในถังพลาสติกขนาด 1,000 ลิตร ที่อยู่ท้ายกระบะอัดแน่นกันอยู่ จำนวน 5 คน และถังขนาด 200 ลิตร 2 ถัง ถังละ 2 คน โดยมีกระเป๋าสัมภาระปิดทับตัวแรงงานเอาไว้เพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ ท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าว และนอกจากนี้ ยังมีแรงงานนั่งมาหน้ามากับนายประสิทธิ์ คนขับอีก 2 คน

ทั้งนี้ นายประสิทธิ์ ผู้ต้องหาและเป็นผู้นำพาชาวไทยให้การในเบื้องต้นว่า ตนได้รับการว่าจ้างจากนาย ดุษ (นามสมมติ) เป็นเงินจำนวน 1,500 บาท ขับรถไปรับแรงงานชาวพม่าจำนวนดังกล่าวมาจากบ้านทุ่งฉาง เพื่อให้นำไปส่งที่แยกบ้านเก่า ต.หนองบัว อ.เมืองกาญจนบุรี จากนั้นจะมีผู้มารับแรงงานจำนวนดังกล่าวอีกทอดหนึ่งเพื่อไปทำงานในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร แต่ยังไปไม่ถึงก็มาถูกเจ้าหน้าที่จับกุมเสียก่อน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 6/6/2564

สั่งกักตัวพนักงานโรงงานเครื่องมือแพทย์ 5,000 คน - ติดโควิด-19 เพิ่ม 40 คน

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในพื้นที่ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 51 คน ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 952 คน อยู่ระหว่างรักษาตัวตามโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และฮอสพิเทล จำนวน 394 คน และรักษาตัวหายแล้ว 490 คน

จากการสอบสวนโรคผู้ป่วยรายใหม่ 51 คน พบว่ามีผู้ป่วย 40 คน เป็นกลุ่มพนักงานโรงงานที่ติดเชื้อจากเพื่อนร่วมงานที่ทำงานแผนกเดียวกันในโรงงานผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ ส่วนอีก 11 คนเป็นผู้ป่วยติดเชื้อจากคนในครอบครัว

ขณะที่เบื้องต้น คณะกรรมการโรคติดต่อได้สั่งปิดโรงงานผลิตเครื่องมือทางการแพทย์แล้วเป็นเวลา 7 วัน โดยปิดไปจนถึงวันที่ 9 มิถุนายนนี้ พร้อมกักตัวพนักงานจำนวน 5,000 คน สัมผัสเสี่ยงสูงจำนวน 3,400 คน โดยประสานเจ้าหน้าที่เข้าไปฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อในโรงงานแล้วภายใน 3 วันนี้

ที่มา: ch7.com, 4/6/2564

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net