นิธิ เอียวศรีวงศ์: เอกราช อธิปไตย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สืบเนื่องจากแนวคิดเรื่อง “อธิปไตย” ในคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ ทำให้ผมอดกลับมาย้อนคิดไม่ได้ว่า อธิปไตยเป็นเรื่องสำคัญขนาดนั้นเทียวหรือ และสำคัญต่อใครหว่า

ประวัติศาสตร์ฉบับทางการไทยสอนกันมาว่า สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง 2398 บังคับให้ไทยต้องสูญเสียอธิปไตยทางการศาล, กฎหมาย และศุลกากรให้แก่มหาอำนาจที่เข้ามาทำสนธิสัญญาตามรูปแบบนั้น แต่ที่จริงแล้ว เราสูญเสียอธิปไตยไปยิ่งกว่านั้นอีก เพียงแต่ไม่ระบุชัดในสัญญาออกมาตรงๆ เท่านั้น

เช่น อธิปไตยในนโยบายทั้งภายในและภายนอก ในสนธิสัญญาเองก็ระบุชัดว่า พระเจ้าแผ่นดินไทยซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ครอบครองแผ่นดินทั้งหมดของรัฐ จะเก็บภาษีที่ดิน (ซึ่งก็คือ “ค่าเช่า” หรือ rent ในภาษาอังกฤษ) อันเป็นของคนต่างชาติในสัญญาด้วยราคาสูงเกินไปไม่ได้ กรมพระคลังจะผูกขาดสินค้าอะไรอีกไม่ได้นอกจากฝิ่น ส่วนนโยบายภายนอก ก็อย่างที่รู้ๆ กันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปักปันเขตแดน ไปจนถึงสิทธิของสยามในการตั้งกองทหารใกล้ชายแดน จะกู้เงินชาติใด จะจ้างใครเป็นที่ปรึกษา และปรึกษาเรื่องอะไรได้บ้าง ฯลฯ

สูญเสียอธิปไตยแปลง่ายๆ ว่า อำนาจสูงสุดไม่ได้อยู่ในดินแดนของรัฐนั้น ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทั้งหมดหรือบางส่วนก็ตาม และไม่ว่าอำนาจนั้นจะเป็นในเชิงนิติวิถี (de jure) หรือเชิงปฏิบัติวิถี (de facto) หรือได้คำรับรองจากต่างชาติมากน้อยเพียงไร และไม่ว่าอำนาจอธิปไตยจะอยู่กับสังฆราชา, กษัตริย์, กลุ่มคณาธิปไตย หรือ “ประชาชน” ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ตราบจนถึงปัจจุบัน อำนาจอธิปไตยของรัฐไม่เคยเด็ดขาดสมบูรณ์อย่างในจินตนาการของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะในรัฐอะไรก็ตาม แต่นี่เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับที่จะชวนคุยในที่นี้

เพราะไปถือว่าเราสูญเสียอธิปไตยไปบางส่วน ความพยายามใดๆ เพื่อกอบกู้อธิปไตยส่วนที่สูญเสียไปนั้นให้กลับคืนมาจึงกลายเป็นวีรกรรมที่ประวัติศาสตร์ต้องยกย่อง แต่ถ้าเราถามว่าอธิปไตยมีประโยชน์ต่อใครหว่า หรือถามตรงข้ามว่าอธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ในสนธิสัญญาเบาว์ริ่งมีประโยชน์ต่อใครหว่า บางที “คำพิพากษา” เด็ดขาดของนักประวัติศาสตร์ก็ดูจะตื้นเขินเกินไป

เพราะผมกำลังจะตอบว่า อธิปไตยที่สูญเสียไปแก่มหาอำนาจนั้น ไม่เป็นประโยชน์อะไรกับทั้ง “ข้าราษฎร” ในสมัยนั้น หรือ “ประชาชน” ในสมัยหลังเลย ในทางตรงกันข้ามมันมีประโยชน์อย่างยิ่งแก่ชนชั้นนำในสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังสนธิสัญญา และนั่นคือเหตุผลที่ผู้กอบกู้อธิปไตยไทยล้วนมาจากชนชั้นนำทั้งสิ้น โดยข้าราษฎรและประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้ใส่ใจ หรือเอาใจช่วยแต่อย่างไร (จนเมื่อถูกตำราประวัติศาสตร์ฉบับทางการครอบงำแล้ว) ตำราประวัติศาสตร์ชอบพูดถึง การเปิดโอกาสให้ชาวนาไทยเข้าถึงตลาดค้าข้าวมหึมาหลังสนธิสัญญา การปลดปล่อยแรงงานทาสและไพร่ของรัฐสยามไปสู่การผลิตที่ทำกำไรได้งาม การพัฒนาอุตสาหกรรมและการคมนาคมแผนใหม่เพื่อรองรับการค้าข้าว และ ฯลฯ ในขณะเดียวกันก็ยอมรับว่ารัฐได้รายได้อย่างสูงจากภาษีส่งออกข้าว ซึ่งแม้ถูกบังคับไว้ไม่ให้เกิน 5% ก็เพิ่มกว่าเมื่อสมัยเก็บค่าปากเรืออย่างเทียบกันไม่ได้

ยิ่งกว่านั้น จะเป็นใครไปได้ล่ะครับที่ได้กำไรมโหฬารจากธุรกิจเงินกู้, การร่วมทุนทำโรงสี, การจับจองที่ดินเพื่อเปิดที่นาให้เช่า นอกจากชนชั้นนำและพันธมิตรชาวจีนของพวกเขา

ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ชาวนาก็ได้ประโยชน์จากสนธิสัญญาเป็นอย่างมากเหมือนกัน ที่นาในแหล่งที่สามารถส่งข้าวสู่ตลาดได้ถูกเปิดใช้กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในภาคกลางซึ่งมีแม่น้ำลำคลองนำมาถึงท่าเรือได้สะดวก แต่ก็เลยขึ้นไปทางอีสานและเหนือตามรอยเรือกลไฟและรถไฟด้วย เป็นครั้งแรกที่ชาวนาไทยผลิตข้าวได้กำไรพอจะเก็บงำเงินไปซื้อทองให้ลูกสาวแต่งได้ หรือถึงเขยิบเข้าสู่สายอาชีพอื่น เช่น การค้า ซึ่งอาจทำรายได้ให้มากกว่าทำนาก็มี (บ้างแต่น้อย)

แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่การตอบสนองต่อนโยบายของรัฐอย่างเดียว ว่าที่จริงเป็นการตอบสนองต่ออธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ซึ่งสนธิสัญญากำหนดไว้มากกว่า ถ้าไม่มีสนธิสัญญาบังคับไว้ รัฐจะเก็บภาษีขาออกไม่เกิน 5% เป็นเวลาต่อกันหลายทศวรรษหรือไม่? ประเมินจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทั้งจากการบริหารรัฐกิจแบบใหม่ และค่าใช้จ่ายของราชสำนัก ผมออกจะแน่ใจว่ารัฐจะผลักภาระลงมาที่ผู้มีเสียงต่อรองน้อยที่สุดของชาวนาก่อน อย่างที่รัฐอื่นๆ อีกหลายแห่งก็ทำอย่างเดียวกัน (เช่น พม่าของอังกฤษ หรือโคแชงชีนของฝรั่งเศส) หากโรงสีต้องเสียภาษีส่งออกเพิ่มขึ้น ก็เป็นธรรมดาที่ต้องซื้อข้าวจากชาวนาในราคาต่ำลง

อย่าลืมว่าใครคือเจ้าของโรงสีและผู้ส่งออกข้าวด้วย ส่วนหนึ่งคือฝรั่ง อีกส่วนคือจีน ที่บางรายอาจร่วมทุนกับเจ้าและขุนนางไทย โดยสรุปกลุ่มนี้คือพวกใกล้ชิดกับชนชั้นปกครองที่สุด

ข้ออ้างที่ว่าเราต้องสูญเสียอธิปไตยด้านศุลกากร ทำให้สยามไม่มีเงินพอจะนำมาพัฒนาประเทศ (เหมือนญี่ปุ่น) ทำให้เกิดคำถามว่า ถ้าไม่เสียอธิปไตยด้านนี้เราจะเอาเงินได้ที่มากขึ้นนี้ไปทำอะไร? ผมตอบไม่ได้ แต่ว่าเฉพาะเรื่องข้าวและชาวนา คงจำกันได้ว่าท่ามกลางอธิปไตยด้านศุลกากรที่สมบูรณ์แล้ว รัฐไทยกำหนดราคา “พรีเมียมข้าว” หรือภาษีส่งออกซ้อนสืบเนื่องกันมากว่าสามทศวรรษ เพื่อทำให้ชาวนาไทยไม่มีวันจะขายข้าวในราคาเดียวกับตลาดโลกได้

ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงภาษีนำเข้า ซึ่งถูกบังคับให้เก็บได้ไม่เกิน 3% ซึ่งก็เป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงแก่ชีวิตของชาวนาเชิงพาณิชย์รุ่นบุกเบิก หากสยามยังมีอธิปไตยในการเก็บภาษีศุลกากรขาเข้าเหมือนเดิม ก็คงเรียก “ค่าปากเรือ” กันในราคาสูง จนไม่มีใครคิดอยากนำเข้าสินค้าอะไรมากนัก นอกจากเพื่อป้อนตลาดบนขนาดเล็กที่พอมีกำลังซื้ออยู่บ้าง จะบุกเบิกทำนาเชิงพาณิชย์ก็ยาก

อย่านึกนะครับว่า ชาวนาบุกเบิกเหล่านี้ไม่ต้องใช้สินค้านำเข้าที่ดูจะ “ฟุ่มเฟือย” ความจริงเป็นตรงกันข้ามเลย ชาวนาเชิงพาณิชย์และชาวนายังชีพใช้ “เวลา” ในชีวิตต่างกันอย่างมาก ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นเพียงเรื่องเดียว เพื่อให้ทุกคนมีไฟใช้ได้สะดวก โดยไม่มีไม้ขีดไฟ จำเป็นต้องจัดองค์กรทางสังคมเพื่อหล่อเลี้ยงไฟกลางไว้ให้ทั้งชาวนาและเศรษฐีไม่ขาดไฟ แต่ในที่นาเปิดใหม่ ไม่มีชุมชนแบบเดิมอีกแล้ว (ชุมชนอาจมีอยู่หรือเกิดใหม่ แต่ความสัมพันธ์ภายในไม่เหมือนเดิม) จึงไม่มีชุมชนสำหรับเลี้ยงไฟกลางอีกต่อไป ทุกคนจะเข้าถึงไฟได้ก็ต้องใช้เวลานาน ไม้ขีดไฟจึงเป็นคำตอบที่สะดวกรวดเร็วและตรงโจทย์ที่สุด

และอย่างที่คงจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า ในช่วงบุกเบิกที่นากันอย่างขนานใหญ่นั้น ไม้ขีดไฟคือสินค้านำเข้า

คิดอย่างนี้ต่อไปถึงถ้วยชามรามไห ไปจนถึงเชือกล่ามควาย, ผ้านุ่ง, ผ้าห่ม ฯลฯ การผลิตในเศรษฐกิจเลี้ยงตนเองหรือที่เรียกในปัจจุบันว่า “พอเพียง” นั้น ไม่อาจตอบโจทย์การใช้เวลาของชาวนาเชิงพาณิชย์รุ่นบุกเบิกได้ทั้งนั้น

ถ้าอธิปไตยไม่ขาดวิ่นจนเหลือ 3% ชีวิตของชาวนาบุกเบิกเหล่านั้นจะยากลำบากขึ้นเพียงไร หรือแม้แต่การเปลี่ยนเข้าสู่การผลิตเชิงพาณิชย์อาจต้องผ่านการบังคับกดขี่อย่างหนัก (อย่างที่เกิดในรัสเซีย) และมันคงจบที่รุ่นเราไปตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 แล้ว

เสรีภาพของสื่อก็เหมือนกัน ในปัจจุบัน มันกลายเป็นคุณค่าที่ปราศจากเงื่อนไข คือดีในตัวของมันเอง ทั้งๆ ที่สื่อปัจจุบันใช้ประโยชน์จากเสรีภาพเพื่อส่งเสริมธุรกิจของตนมากกว่าเพื่อสังคม คุณค่าที่ปราศจากเงื่อนไขเช่นนี้แหละ ที่ทำให้ประวัติศาสตร์ฉบับทางการชอบอ้างว่า ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สื่อไทยมีเสรีภาพมากกว่าหลังจากนั้น

แต่เงื่อนไขที่อยู่เบื้องหลังเสรีภาพคือการยอมจำนนเพราะอธิปไตยทางการศาลที่ไม่สมบูรณ์ต่างหาก เกือบครึ่งหนึ่งของหนังสือพิมพ์สมัยนั้น ล้วนมีเจ้าของเป็น “ข้าราษฎร” ของต่างชาติ คำนี้ในภาษาอังกฤษใช้ว่า subject ซึ่งแปลไทยสมัยนั้นว่า “คนในบังคับ” แต่เสียงที่ดังในหัวของชนชั้นนำไทยคงเป็น “เลกไพร่” ซึ่งใช้กันมานานก่อนแล้ว

สยามไม่มี “พลเมือง” นะครับ มีแต่คนในบังคับ ส่วนใหญ่คือคนในบังคับสยาม แต่ก็มีคนอีกมาก ต่างกันทั้งสีผิวและวัฒนธรรมที่เป็นคนในบังคับของต่างชาติ โดยเฉพาะชาติยุโรป (ทั้งที่ตัวจริงเขาคือคนจีน, พม่า, มอญ, เขมร, ลาว, เวียดนาม, มลายู, อินเดีย และไทย) เพราะสนธิสัญญาบังคับไว้ว่า ศาลต่างประเทศมีอำนาจในการพิจารณาคดีที่คนในบังคับของเขาเป็นคู่ความ ด้วยกฎหมายของเขา ไม่ใช่ของเรา การปิดหนังสือพิมพ์ที่มีเจ้าของเป็นคนในบังคับต่างชาติจึงทำไม่ได้ง่ายๆ ด้วยลายเซ็นตัวเดียวของเสนาบดี เพราะเจ้าของอาจฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ ซ้ำเมื่อแพ้คดี ความน่าเชื่อถือของชนชั้นปกครองสยามในสายตาต่างชาติก็เสียไปด้วย

นี่คือที่มาของเสรีภาพสื่อ ถ้าคิดว่าเสรีภาพสื่อเป็นสิ่งดีและจำเป็นแก่สังคม มันคือผลผลิตของอธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ครับ

ตรงกันข้ามกับหนังสือพิมพ์ที่มีเจ้าของเป็นคนในบังคับต่างชาติ หนังสือพิมพ์ของคนในบังคับสยามต้องรับแรงกดดันจากอำนาจรัฐสาขาต่างๆ สักเพียงไร (ในการปฏิบัติงานจริง ไม่ใช่ในเอกสารราชการ) จะเห็นได้ดีจากประวัติของนายนรินทรภาษิต (เช่น ในงานของศักดินา ฉัตรกุล, คนขวางโลก หรือ Peter Koret, The Man Who Accused the King of Killing a Fish) นายนรินทร์เป็นปัญญาชนสาธารณะคนแรก ที่ต้องอาศัยสื่อในมือคนอื่นเพื่อต่อสู้อย่างฉกาจฉกรรจ์กับอำนาจรัฐ ผิดจากเทียนวรรณหรือ ก.ศ.ร.กุหลาบ ซึ่งอย่างน้อยก็มีสื่อในมือตนเอง

สื่อไทยในตอนนั้นถูกบังคับหรือสมัครใจที่จะไม่ยี่หระอะไรกับเสรีภาพสื่อเลย ไม่ต่างจากสื่อไทยส่วนใหญ่ตอนนี้

หลังจากเราได้อธิปไตยทางการศาลอย่างสมบูรณ์แล้ว (ซึ่งบังเอิญเป็นเวลาหลังสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์) รัฐไทยก็ใช้อำนาจในการกำกับควบคุมและปราบปรามเสรีภาพของสื่อมาตลอด ไม่ใช่หรือครับ แล้วอธิปไตยที่สมบูรณ์นั้นมีประโยชน์ต่อใครกันแน่เล่าครับ

อย่าคิดอะไรอื่นไกลเลย แม้แต่ในกระบวนการตุลาการเอง เพราะอธิปไตยทางการศาลและกฎหมายที่ไม่สมบูรณ์นั้นเองที่บังคับให้การฝักฝ่ายกับคู่ความฝ่ายใด (partiality) จนน่าสยดสยองเกินไป เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะจะกระทบถึงความสัมพันธ์กับมหาอำนาจ ไม่แต่เฉพาะในคดีที่มีคู่ความเป็นคนในบังคับต่างชาติเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคดีที่คู่ความเป็นคนในบังคับสยามด้วย เพราะบางคดีมีนัยยะไปถึงความน่าไว้วางใจของกระบวนการยุติธรรมสยาม หากให้ภาพที่ไม่ดีนัก ความพยายามของชนชั้นนำที่จะขอแก้สัญญาเพื่อให้ได้มาซึ่งอธิปไตยทางการศาลที่สมบูรณ์อาจล้มเหลวลง

แล้วเมื่อได้อธิปไตยทางการศาลสมบูรณ์ กระบวนการตุลาการไทยโดดเด่นขึ้นด้านการผดุงความยุติธรรม (ตามกฏหมาย) กระนั้นหรือ? ถ้าจะเอ่ยนามของ “บรรพตุลาการ” ซึ่งได้รับการยกย่องกันทั้งกระบิ ทั้งหมดล้วนทำหน้าที่ภายใต้อธิปไตยที่ขาดวิ่น หรือมิฉะนั้นก็ได้รับการฝึกปรือมาในสมัยที่อธิปไตยยังขาดวิ่น ยิ่งกว่านี้ถ้าพูดกันอย่างไม่เกรงใจแล้ว ประวัติศาสตร์ด้านตุลาการของไทยนั้น ไม่มีคำพิพากษาประเภทที่เป็นหลักการ “นิรันดร” ของการให้ความหมายในเชิงสิทธิเสรีภาพของพลเมืองสักบทเดียว

ท่านที่ได้รับการยกย่องคือยึดถือกฎหมายอย่างเคร่งครัดเบื้องหน้าภัยคุกคามของอำนาจรัฐเถื่อนๆ ทั้งหลายเท่านั้น ซึ่งแค่นั้นก็น่ายกย่องนะครับ แต่ไม่ใช่ระดับที่จะเอาไปอวดใครในโลกได้ ผู้พิพากษาระดับนี้ เคยมีแม้แต่ในอาณานิคม เช่น อินเดีย หรือฟิลิปปินส์ หรืออเมริกาสมัยยังเป็นอาณานิคมด้วยซ้ำ

คำพิพากษาซึ่งทำให้นักกฎหมายมือดีขมวดคิ้วหลายต่อหลายบทในประวัติศาสตร์การตุลาการไทย ล้วนเกิดขึ้นท่ามกลางอธิปไตยทางการศาลที่สมบูรณ์ทั้งนั้น รวมทั้งคำสั่งไม่ปล่อยตัวชั่วคราวด้วยเหตุผลที่ไม่มีใน ป.วิ.อาญาด้วย เราจะมีอธิปไตยทางการศาลที่สมบูรณ์ไปทำไม?

พลังของประวัติศาสตร์ฉบับทางการดำรงอยู่ได้ ไม่ใช่เพราะเนื้อหาที่แข็งแรงมั่นคงในตำรา แต่เพราะการถ่ายทอดประสบความสำเร็จในการระงับคำถามจากจุดยืนหรือมุมมองอื่นต่างหาก ตราบเท่าที่เราไม่ตั้งคำถามใหม่ ประวัติศาสตร์ก็จะกลายเป็นพลังครอบงำให้เราสยบยอมด้วยความยินดีและภาคภูมิใจตลอดไป

ไม่เฉพาะแต่เพียงอธิปไตยเท่านั้น แม้แต่เอกราชของชาติ ก็ไม่ใช่สิ่งดีหรือจำเป็นแก่ทุกคนเหมือนกันหมด

หลายสิบปีมาแล้ว เมื่อผมเริ่มทำงานที่เชียงใหม่ ได้มีโอกาสคบหาหนุ่มสาวชาวอังกฤษคู่หนึ่ง ซึ่งเป็นอาสาสมัครสอนภาษาอังกฤษตามโครงการของบริติช เคาน์ซิล ในระหว่างหยุดภาคฤดูร้อน ทั้งคู่จับรถไฟจากเชียงใหม่ลงไปเที่ยวมาเลเซีย เขากลับมาบอกผมด้วยความตื่นเต้นว่า โชคร้ายที่เมืองไทยไม่เคยเป็นอาณานิคม ทำให้ดูจะไม่มีอนาคตเหมือนมาเลเซียเลย

แม้ว่าในช่วงนั้น การศึกษาแนวทางที่เรียกในปัจจุบันว่า “หลังอาณานิคม” หรือ “อาณานิคมศึกษา” เพิ่งเริ่มขึ้นในยุโรปและอินเดีย นักเรียนภาษาแบบเขาคงไม่รู้เรื่องอะไรด้วย ถึงผมไม่เห็นด้วยกับเขาในตอนนั้น ก็คงไม่กอปรด้วยความเข้าใจมิติทางวัฒนธรรมต่างๆ ของภาวะ “อาณานิคม” จริง (เพราะผมก็ไม่รู้เรื่องของแนวทางการศึกษาใหม่ที่ว่านั้นเหมือนกัน) แต่ความเห็นของเขาย้อนกลับมาในหัวผมเสมอมาจนทุกวันนี้

และบัดนี้ก็พอจะเข้าใจแล้วว่า เขาก็ไม่ได้ผิดเสียทีเดียว ตราบเท่าที่ชาติยังไม่ใช่ของประชาชน เอกราชของชาติก็ไร้ความหมาย คนที่เข้ามาเป็นเจ้าเข้าครองย่อม “บังคับขับไส” ชนชั้นนำซึ่งหวงความเป็นชาติไว้เป็นสมบัติส่วนตน ส่วนชะตากรรมของประชาชนนั้นไม่เกี่ยว หรือไม่เกี่ยวโดยตรง ไม่ว่าคนมาเป็นเจ้าเข้าครองจะเป็นใคร ก็ย่อมมุ่งเก็บเกี่ยวประโยชน์จากประชาชนอย่างเต็มกำลังเหมือนกันทั้งนั้น บางคนก็เก็บเกี่ยวอย่างฉลาด บางคนก็เก็บเกี่ยวอย่างโง่ๆ

ชาตินิยมที่ไม่เปิดให้ทุกคนเป็นเจ้าของชาติเสมอกัน คือการ “บังคับขับไส” จำแลงมาในรูปต่างๆ ทั้งนั้น

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_427896

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท