Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ที่มาภาพ https://thepeople.co/kodo-nishimura-lgbtq/


หนังสือเล่มเล็กๆ ชื่อ “ความเรียงว่าด้วยศาสนา” โดยยอร์จ ทอมสัน แปลโดยจิตร ภูมิศักดิ์ ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 2519 ครั้งนี้ ปี 2559 สำนวนแปลของจิตรนับว่าชั้นครู ขอคัดมาให้อ่านบางส่วนของหน้า 10-11 (ผมจัดย่อหน้าใหม่) ดังนี้
 
ศาสนานั้นได้ถูกพวกชนชั้นปกครองใช้เป็นเครื่องมือรักษาอำนาจของตนไว้เสมอมา. ด้านหนึ่งก็ถูกใช้ให้เทศนาสาธยายความศักดิ์สิทธิ์ละเมิดมิได้ของระเบียบแบบแผนทางสังคมที่มีอยู่แล้ว : 'สูเจ้าจงรับใช้พระผู้เป็นเจ้าโดยพร้อมเพรียงกันด้วยการรับใช้พระราชธุระ และจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์, ด้วยการเชื่อฟังกฎหมายของแผ่นดินและด้วยการรักใคร่กันและกันเหมือนหนึ่งพี่น้อง.'

อีกด้านหนึ่งก็ถูกใช้สำหรับปลอบโยนผู้ที่ทำงาน และเหนื่อยยากสายตัวแทบขาด ด้วยยื่นโยนความหวังในความผาสุกนิรันดร์ในชาติหน้าให้ : 'จงอย่าลืมจดจำและปลอบโยนกันและกันว่า บนสรวงสวรรค์นั้น สูเจ้าจะได้มีชีวิตอันคงทนถาวรกว่า.'

เมื่อถูกใช้เช่นนี้, ศาสนาจึงมีหน้าที่เป็นเครื่องบรรเทาความอยุติธรรมของสังคมให้ดูลดน้อยลง. นี่แหละคือความหมายของมากซ์ เมื่อกล่าวว่า 'ศาสนาคือยาเสพติดของประชาชน'.

ฝ่ายอนุรักษ์นิยมบ้านเราที่โต้แย้งการนำเสรีประชาธิปไตยและ “การแยกศาสนากับรัฐ” แบบตะวันตกมาใช้ มักอ้างเสมอว่าสังคมไทยมีประวัติศาสตร์ทางการเมือง ศาสนา และวัฒนธรรมต่างจากตะวันตก จึงไม่ควรนำแบบอย่างตะวันตกมาใช้โดยไม่ปรับให้เหมาะสมกับบริบทประวัติศาสตร์ทางการเมือง ศาสนา และวัฒนธรรมของเราเอง 

ถามว่า ปรับให้เหมาะสมคือปรับอย่างไร? คำตอบที่เห็นชัดเจนในทางปฏิบัติคือ ต้องปรับตามที่ชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมทางการเมืองและทางศาสนาเห็นว่าเหมาะสมเท่านั้น

และหน้าตาของ “ความเหมาะสม” ที่เห็นได้ชัด ก็คือการเพิ่มอำนาจนำทางการเมืองและทางวัฒนธรรมของสถาบันกษัตริย์มากขึ้นโดยลำดับ ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาระบบศาสนจักรของรัฐอันเป็นมรดกตกทอดจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์เอาไว้ โดยถือว่าศาสนจักรต้องมีหน้าที่สนับสนุนอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ หรือสนับสนุนความจงรักภักดีต่อกษัตริย์

เพราะฉะนั้นหน้าตาของความเหมาะสมตามนิยามของชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยม จึงไม่ได้สะท้อนว่าประวัติศาสตร์ทางการเมือง ศาสนา และวัฒนธรรมแบบสยามไทยแตกต่างจากตะวันตกใน สาระสำคัญเลย แต่สะท้อนความเหมือนกันโดย “สาระสำคัญ” ตามที่ทอมสันพูดถึงมากกว่า นั่นคือการที่ชนชั้นปกครองทั้งในยุโรปและสยามไทยได้ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือสนับสนุนสถานะและอำนาจนำทางการเมืองและทางวัฒนธรรมของพวกตนมาตลอดประวัติศาสตร์ยุคกลาง หรือยุคสังคมจารีต

แต่ในที่สุด “ความเหมือนกัน” ของการมีศาสนจักรของรัฐและการใช้ศาสนาสนับสนุนอำนาจนำทางการเมืองและวัฒนธรรมของระบบกษัตริย์ระหว่างยุโรปกับสยามไทย ก็กลายเป็น “ความแตกต่าง” อย่างชัดเจน เมื่อหลายประเทศในยุโรปแยกศาสนากับรัฐและแทนที่ด้วยระบอบเสรีประชาธิปไตยโลกวิสัย (secular liberal democracy) อันเป็นอิทธิพลของแนวคิดปรัชญาเสรีนิยมยุคเรืองปัญญา 

บางประเทศที่ไม่แยกศาสนากับรัฐก็เป็นระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่สถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์และสถาบันศาสนาถูกจำกัดและกำกับตรวจสอบด้วยหลักเสรีภาพและประชาธิปไตย ขณะที่ไทยกลับยังคงรักษาสถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์และศาสนจักรของรัฐแบบที่เคยเหมือนยุโรปยุคกลางเอาไว้เหนือหลักเสรีภาพและประชาธิปไตย

ดังนั้น ความต่างจึงเป็นเรื่องของความเป็นสมัยใหม่ (modernity) แบบยุโรป/ตะวันตกที่สลัดตัวเองพ้นจากอำนาจครอบงำกดขี่ของระบบกษัตริย์และศาสนจักรไปนานหลายร้อยปีแล้ว ขณะที่สังคมไทยยังตกอยู่ในกับดักของความขัดแย้งว่า จะเป็นสังคมสมัยใหม่แบบมีเสรีภาพและประชาธิปไตยที่เป็นอิสระจากการครอบงำกดขี่ของระบบกษัตริย์และศาสนจักร หรือจะยังคงสืบทอดการกดขี่ครอบงำแบบยุคเก่าไว้

เมื่อหันมามองเอเชียด้วยกันเช่นญี่ปุ่น เดิมทีปัญญาชนญี่ปุ่นก็อ้าง “ความเป็นญี่ปุ่น” และ “ความเป็นเอเชีย” ที่มีวัฒนธรรมและศาสนาในแบบของตนเองเพื่อต่อต้านความเป็นสมัยใหม่แบบยุโรป/ตะวันตก แต่สุดท้ายญี่ปุ่นที่นับถือพุทธนิกายมหายาน, ชินโตซึ่งมีลักษณะยืดหยุ่นเข้ากับทางโลกหรือมีลักษณะเป็นศาสนาทางโลกตั้งแต่แรกก็กลายเป็นรัฐโลกวิสัย และมีเสรีภาพทางศาสนามากกว่าที่อื่นๆ ในเอเชีย

พุทธศาสนาในญี่ปุ่นปัจจุบันอาจเรียกได้ว่าเป็น “พุทธศาสนาแบบโลกวิสัย” (Secular Buddhism) ตัวอย่างเช่น เมื่อเร็วๆ นี้มีการบอกเล่าเรื่องราวของ “พระเกย์” ชาวญี่ปุ่นที่นิยามบทบาทของตนเองว่า

“ในฐานะที่เป็นพระในศาสนาพุทธ ฉันเชื่อว่าทุก ๆ คนสามารถได้รับความช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมกัน ฉันอาจจะใช้ทั้งเครื่องสำอางและใช้หลักคำสอนอันเก่าแก่ของศาสนาพุทธไปในเวลาเดียวกัน แต่ฉันก็ใช้ทั้งคู่ด้วยจิตวิญญาณอันเป็นหนึ่งเดียว” (ที่มา https://www.facebook.com/showyourspectrum/photos/a.276495186375492/777094472982225/)

เวลาพูดถึง “ความเป็นศาสนา” ที่ขัดแย้งกับ “ความเป็นโลกวิสัย” ย่อมได้แก่ความเป็นศาสนาในความหมายแบบยุคกลางหรือยุคสังคมจารีตเป็นด้านหลัก นั่นคือความเป็นศาสนาในความหมายที่มีอำนาจครอบงำรัฐ สังคม และบงการเหนือชีวิตของบุคคล ซึ่งสัมพันธ์กับอำนาจของกลุ่มผู้นำศาสนา ศาสนจักร อำนาจเผด็จการเทวสิทธิ์, ธรรมราชา(เป็นต้น) ของระบบกษัตริย์ อันเป็นอำนาจที่ผูกโยงกับโลกหน้าตามความเชื่อของศาสนาเอกเทวนิยม และกฎแห่งกรรมของฮินดูและพุทธศาสนา 

ขณะที่ความเป็นโลกวิสัยเน้น “ช่วงเวลาของชีวิตในโลกนี้” และเน้นว่าเราทุกคนคือเจ้าของชีวิตในโลกนี้ของตนเอง ชีวิตเราไม่ใช่สมบัติของกษัตริย์ ศาสนจักร หรืออยู่ภายใต้บงการของพระเจ้า, กฎแห่งกรรมหรืออำนาจศักดิ์สิทธิ์ใดๆ แต่เราคือปัจเจกบุคคลผู้มีสิทธิอำนาจเป็นของตนเอง มีเสรีภาพในการกำหนดความหมาย คุณค่า ศีลธรรมในวิถีชีวิตส่วนตัวและวิถีชีวิตทางสังคมและการเมือง ดังนั้น มุมมองแบบโลกวิสัยจึงปฏิเสธความเป็นศาสนาในความหมายแบบยุคกกลางที่ขัดกับเสรีภาพของปัจเจกบุคคลและเสรีภาพทางการเมือง

จึงไม่ได้แปลว่ามุมมองแบบโลกวิสัยปฏิเสธศาสนาในทุกมิติ หลักๆ แล้วปฏิเสธศาสนาในมิติแบบที่ทอมสันพูดถึงแต่แรก คือศาสนาในมิติที่สนับสนุนอำนาจของชนชั้นปกครองและระบบชนชั้นทุกรูปแบบที่ครอบงำและกดขี่ขูดรีด

ส่วนพุทธศาสนาแบบโลกวิสัยตามนิยามของพระเกย์ชาวญี่ปุ่น คือพุทธศาสนาแบบที่ถูกนำมาปรับใช้กับชีวิตจริงในโลกนี้ตามความต้องการปัจเจกบุคคลทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นเพศชาย หญิง หรือ LGBTQ+ จึงไม่ใช่ศาสนาแบบบงการเหนือชีวิตปัจเจกบุคคล แต่ปัจเจกบุคคลเป็นผู้มีสิทธิอำนาจเหนือศาสนา เขาจึงมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ที่จะเลือกศาสนาและตีความศาสนาเพื่อ “รับใช้” ตัวเขาเองและสังคมสมัยใหม่ 

พูดอีกอย่างคือ ไม่ใช่ปัจเจกบุคคลเป็นผู้รับใช้ศาสนาแต่เขาคือผู้มีสิทธิอำนาจเหนือศาสนาและใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือรับใช้ตนเอง นอกจากนี้เขายังอาจใช้ศาสนาตั้งคำถามท้าทายอำนาจที่ขัดกับหลักการโลกวิสัยอีกด้วย เช่น ชาวพุทธญี่ปุ่นลงชื่อยื่นข้อเรียกร้องการที่รัฐบาลจะนำงบประมาณจากภาษีประชาชนกว่า 200 ล้านไปใช้ในพิธีราชาภิเษกจักรพรรดิคนใหม่ด้วยเหตุผลว่า การกระทำเช่นนั้นขัดกับหลักการของรัฐโลกวิสัยเป็นต้น

ชาวพุทธบ้านเราอาจมองว่าพุทธศาสนาแบบญี่ปุ่นคือ “ความเสื่อม” หรือไม่ใช่ “พุทธแท้” แต่ความเสื่อม ความเจริญ และพุทธแท้คืออะไร? 

พุทธราชาชาตินิยมแบบไทยที่สนับสนุนสถานะศักดิ์สิทธิ์สูงส่งกว่าคนธรรมดาของพวกเจ้าและพวกนักบวชที่กินฟรีอยู่ฟรี มีสมณศักดิ์ฐานันดร กินภาษีประชาชน ทว่าศาสนจักรห้ามนักบวชสนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน จะเป็นพุทธแท้กว่า เจริญกว่าพุทธแบบโลกวิสัยในญี่ปุ่นได้อย่างไร 

เพราะพุทธแบบโลกวิสัยในญี่ปุ่น นักบวชประกอบอาชีพเลี้ยงตนเอง เป็นที่ปรึกษาปัญหาชีวิตในผับบาร์ นักบวชเล่นดนตรี เป็นร็อคเกอร์ที่ไม่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือสนับสนุนอำนาจเผด็จการรูปแบบใดๆ แต่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือรับใช้ความต้องการของปัจเจกบุคคลทุกคน ทุกเพศเสมอภาคกัน นี่ไม่ใช่ความก้าวหน้าหรือความเจริญกว่าพุทธราชาชาตินิยมแบบไทยดอกหรือ

อีกนัยยะสำคัญหนึ่ง พุทธแบบโลกวิสัยไม่ได้เน้นความสูงส่งศักดิ์สิทธิ์ของนักบวช หรือแม้แต่ “พุทธศาสนา” เอง แต่เน้นการนำสาระสำคัญของพุทธธรรมมาปรับใช้กับชีวิตจริงในสังคมโลกวิสัย ใช้วิธีการหลากหลายในการนำเสนอให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้คนที่หลากหลาย ไม่ใช่เน้นสร้างภาพความบริสุทธิ์สูงส่งของนักบวชและการท่องจำคัมภีร์มาพิพากษาตัดสินความเชื่อของผู้คน 

ระยะหลังคนรุ่นใหม่ กลุ่มคนหลากหลายทางเพศในบ้านรา เริ่มตั้งคำถามกับเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนามากขึ้น เรียกร้องสิทธิการบวชภิกษุณี สิทธิการบวชของคนหลากหลายทางเพศมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เรียกร้อง “สิทธิที่จะเป็นอิสระจากศาสนา” ด้วยการให้ยกเลิกการบังคับเรียนศาสนาในโรงเรียนของรัฐมากขึ้น และวิจารณ์การที่ศาสนจักรของรัฐใช้อำนาจขัดหลัดเสรีภาพทางศาสนาและเสรีภาพทางการเมืองของพระสงฆ์ในฐานะพลเมืองมากขึ้น 

แต่มหาเถรสมาคมซึ่งเป็นศาสนจักรของพุทธราชาชาตินิยมกลับเผชิญการท้าทายเหล่านั้นอย่างอ่อนปวกเปียกทางความคิด เหตุผล และไร้ประสิทธิภาพ ขณะที่กุลีกุจอรับใช้อำนาจรัฐและอวยเจ้าอย่างเกินพอเพียงมากขึ้นๆ

ในที่สุดแล้วคนรุ่นใหม่ คนที่มีเหตุผล มีความคิดก้าวหน้า คนที่รักเสรีภาพ รักประชาธิปไตยจะหันหลังให้และอำลาพุทธราชาชาตินิยมากขึ้นๆ และพวกเขาอาจสร้างพุทธแบบโลกวิสัยที่มีความหลากหลายขึ้นมาเอง เมื่อนั้นพุทธราชาชาตินิยมก็จะไร้ความหมายและเฉาไปเอง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net