บท บ.ก.ซาราวักรีพอร์ต: เหมืองแร่ใน พท.อ่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมและเครือข่ายอำนาจสุลต่านมาเลเซีย

ซาราวักรีพอร์ต สำนักข่าวผู้เปิดโปงคดีทุจริต 1MBD กองทุุนความมั่นคั่งแห่งชาติ​ ของมาเลเซีย เผยแพร่บทบรรณาธิการผ่านเว็บไซต์เกี่ยวกับกรณีการให้สัมปทานเหมืองแร่แมงกานีสในรัฐปะหังแก่บริษัทของญาติสุลต่านองค์ก่อนและองค์ปัจจุบัน โดยเหมืองแร่ดังกล่าวอยู่ใกล้กับทะเลสาบชินี (Tasik Chini) ซึ่งเป็นเขตอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติ

11 มิ.ย. 2564 เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซาราวักรีพอร์ต อ้างอิงรายงานของสำนักข่าว Malaysiakini เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2564 ที่ระบุว่าเจ้าของสัมปทานเหมืองแร่แมงกานีสใกล้กับทะเลสาบชินี คือ Hanishah Ventures Son Bhd ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างญาติของสุลต่านแห่งมาเลเซีย โดยหนึ่งในนั้นคือป้าของสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลละฮ์ ชะฮ์ สุลต่านแห่งรัฐปะหัง และยังดีเปอร์ตวนอากงองค์ปัจจุบันของมาเลเซีย

Hanishah Ventures Son Bhd จดทะเบียนตั้งบริษัทใน พ.ศ.2555 ด้วยทุนจดทะเบียน 2 ล้านริงกิต (15 ล้านบาท) โดยระบุว่า ‘ทำธุรกิจเกี่ยวกับสินแร่มีค่า โดยเฉพาะแร่เหล็ก’ อย่างไรก็ตาม บริษัทนี้มีทรัพย์สินรวมราว 7,000 ล้านริงกิต (52,900 ล้านบาท) และมีหนี้สินรวมกว่า 41,000 ล้านริงกิต (300,000 ล้านบาท) นอกจากนี้ ซาราวักรีพอร์ต ยังระบุว่า บริษัทดังกล่าวได้สัมปะทานทำเหมืองแร่หลายแห่งในรัฐปะหัง ซึ่งเป็นพื้นที่อ่อนไหวทางสิ่งแวดล้อม

พื้นที่ที่สำนักข่าว Malaysikini ระบุว่าเป็นที่ตั้งของเหมืองแร่แมงกานีส อยู่ห่างจากทะเลสาบประมาณ 7.8 กม.
และอยู่ห่างจากพื้นที่อนุรักษ์ราว 3 กม. (ภาพจาก Google Map/บันทึกเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2564)
 

แม้จะอยู่ในสภาพขาดทุนย่อยยับ แต่บริษัทกลับได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการเหมืองแร่แมงกานีส กินพื้นที่รวม 250 ไร่ในรัฐปะหัง ซึ่งเป็นรัฐบ้านเกิดของประมุของค์ปัจจุบันของมาเลเซีย อีกทั้งพื้นที่ของเหมืองแร่แมงกานีสยังตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่ที่รัฐบาลท้องถิ่นเพิ่งประกาศให้เป็นเขตอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติอีกด้วย

พื้นที่โดยสังเขปของเหมืองแร่แมงกานีส
อ้างอิงตามสำนักข่าว Malaysikini (ภาพจาก Google Map/บันทึกเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2564)
 

แหล่งข่าวคนหนึ่งสันนิษฐานว่าการออกใบอนุญาตทำเหมืองให้บริษัทของญาติสุลต่านท่ามกลางการยื่นซองประมูลที่แข่งขันดุเดือด เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะตกมาสู่รัฐปะหัง แต่ใครก็มิอาจล่วงรู้เบื้องลึกเบื้องหลังที่แท้จริงได้ เพราะทราบกันดีกว่าหลักการพื้นฐานด้านความโปร่งใสเกี่ยวกับกระบวนการตัดสินใจของรัฐในเรื่องสำคัญต่างๆ นั้นได้อันตรธานไปจากรัฐปะหังแล้ว

รัฐปะหังมีการทำเหมืองแร่ในลักษณะคล้ายๆ กันนี้ รวมถึงมีการทำสัมปทานป่าไม้ปริศนาอย่างกระจัดกระจายอยู่ทั่วทั้งรัฐ และเมื่อต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาก็เพิ่งปรากฏภาพรถบรรทุกขนซากต้นไม้โบราณขนาดใหญ่วิ่งผ่านกลางเมืองในช่วงกลางวันแสกๆ

ซาราวักรีพอร์ต กล่าวอีกว่า เมื่อไรก็ตามที่พยายามค้นหาความจริงและเหตุผลที่อยู่เบื้องหลัง ‘โครงการทำลายล้างอย่างไร้เหตุผล’ ที่เกิดขึ้นในรัฐปะหัง มักพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับ ‘เครือข่ายราชวงศ์’ อยู่บ่อยครั้ง แม้เหตุผลเบื้องหลังอื่นๆ อาจไม่ชัดเจน แต่สิ่งที่ชัดเจนเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่แมงกานีสครั้งนี้คือบริษัทเครือข่ายราชวงศ์ได้รับอนุญาตให้ถางป่า เคลียร์หน้าดิน ในเขตพื้นที่ที่รัฐบาลท้องถิ่นเพิ่งประกาศให้เป็นป่าสงวนเมื่อ พ.ศ. 2562

รัฐปะหังเผชิญหายนะด้านสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับรัฐอื่นๆ ของมาเลเซีย ซึ่งเป็นผลมาจากการต่อรองแบบลับๆ เพื่อแบ่งสรรปันส่วนที่ดินให้กับคนที่มีเส้นสายทางการเมือง โดยผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น เช่น จำนวนสัตว์ป่าลดลง มลพิษเพิ่มสูงขึ้น ชนพื้นเมืองกลายเป็นคนไร้บ้านเพราะถูกนายทุนเถ้าถางป่า และเมื่อพวกเขาออกมาประท้วงเรียกร้องสิทธิ กลับถูกลากขึ้นศาลและถูกสั่งปรับเป็นเงินจำนวนมาก ในขณะที่ราชวงศ์มาเลเซียทั้งในรัฐปะหังและรัฐอื่นๆ กลับยกฐานะทางเศรษฐกินของตน จากร่ำรวยเป็นร่ำรวยยิ่งขึ้น

ซาราวักรีพอร์ต ระบุว่า สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลละฮ์ ชะฮ์ กษัตริย์องค์ปัจจุบันของมาเลเซียเป็นเจ้าของม้าแข่งสายพันธุ์อาร์เจนตินาหลายร้อยตัว โรงม้าของพระองค์ติดเครื่องปรับอากาศอย่างดี ตั้งอยู่อยู่ภายในพระราชวังใหญ่โต ซึ่งความร่ำรวยและความหรูหราที่พระองค์มีเทียบเท่ากับสุลต่านจากกลุ่มรัฐที่ยากจนที่สุดของมาเลเซียเท่านั้น

หากสุลต่านหรือสมาชิกราชวงศ์เอ่ยปากว่าอยากได้สิ่งใด คณะผู้บริหารหรือรัฐบาลท้องถิ่นในรัฐใต้ปกครองก็ต้องจัดหามาให้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว บุคคลเหล่านี้มีหน้าที่ปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของชาติซึ่งหมายถึงประชาชนทั้งประเทศ แต่สุดท้าย ผลสรุปก็ออกมาเป็นเช่นนั้น แม้กระทั่งกับราชวงศ์ตาฮับแห่งรัฐซาราวักเองก็เป็นเช่นเดียวกัน

ในรั้วพระราชวัง แม้กระทั่งเด็กหัดเดินที่โตเกินวัยยังบอกได้เลยว่าอีกหนึ่งแหล่งที่มาของเงินจำนวนมหาศาลที่พวกเขานำมาใช้จ่ายไปกับไลฟ์สไตล์อันหรูหรานั้นมาจากส่วนไหน แต่เพราะ ‘ของมันต้องมี’ ฉะนั้นจงลืมขั้นตอนและกระบวนการทางกฎหมาย แผนการ รวมถึงผลกำไรที่จะตกสู่รัฐไปเสีย

ถึงจุดหนึ่ง ชาวมาเลเซียต้องตัดสินใจว่าพวกเขายินดีที่จะปล่อยให้บรรยากาศแบบ ‘ยุคกลาง’ ดำเนินต่อไปภายใต้ฉากหน้าของโลกยุคใหม่ที่เป็นอยู่ในขณะนี้หรือไม่ หรือจะลุกขึ้นมาตัดสินใจอย่างเด็ดขาด สร้างกฎระเบียบใหม่ที่เข้มแข็ง พูดกันในลักษณะที่ว่าบรรยากาศที่ล้าหลังเหล่านั้นสามารถผลักประเทศกำลังพัฒนาและร่ำรวยให้ถอยหลังลงคลอง จนกลายเป็นประเทศที่เศรษฐกิจพังพินาศ ทั้งยังเกิดหายนะทางธรรมชาติอย่างรวดเร็วและหลีกเลี่ยงไม่ได้

มาเลเซียปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ซึ่งทรัพยากรทั้งหลายล้วนเป็นของรัฐและอยู่ภายใต้หลักนิติธรรม ไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนตัวของราชวงศ์หรืออยู่ภายใต้ ‘กฎแห่งความอยาก’ ของใครคนใดคนหนึ่ง จุดที่แย่ที่สุดของการปล้นสะดมทรัพย์สินของรัฐเพื่อนำมาปรนเปรอกิเลสของ ‘ราชวงศ์นักธุรกิจ’ ที่แสนร่ำรวยแต่ไร้ประโยชน์อย่างสิ้นเชิง คือ พวกเขาใช้จ่ายเงินเหมือนการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ซึ่งเงินเหล่านั้นสามารถใช้ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ยากจนที่สุดในประเทศได้

พระราชวัง ม้า เครื่องบินเจ็ต รถซูเปอร์คาร์ อสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ กระเป๋าหรู ค่าศัลยกรรมความงาม เครื่องเพชร และเสื้อผ้าอาภรณ์ ซึ่งส่วนใหญ่ได้มาจากนักธุรกิจชาวต่างชาติผู้ค้ากำไรเกินควร ทรัพย์สินทั้งหมดนี้รวมๆ แล้วมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์และสามารถเปลี่ยนเป็นเงินเพื่อสร้างโรงพยาบาล บ้านเรือน ถนนหนทาง และโรงเรียนให้กับประชาชนได้ การโอ้อวดความร่ำรวยเหล่านี้ต่างหากที่เป็นสิ่งน่าละอาย เพราะประชาชนหลายคนในประเทศยังมีความเป็นอยู่อย่างอัตคัดขัดสน

ยิ่งไปกว่านั้น การปล้นทรัพยากรของมาเลเซียนั้นขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและความโลภของต่างชาติโดยไม่สนหลักธรรมาภิบาล ทั้งยังเกิดขึ้นต่อเนื่องมานานกว่า 2-3 ทศวรรษแล้ว ประหนึ่งว่าจะไม่มีทรัพยากรหลงเหลือให้ใช้ในวันพรุ่งนี้ ประหนึ่งว่าความร่ำรวยทางธรรมชาติอันงดงามและความสวยงามของประเทศเป็นสิ่งไร้ค่าเมื่อเทียบกับแบงก์ดอลลาร์ที่ใช้ซื้อถ้วยรางวัลของเล่นและสินค้าแบรนด์เนม

เสือโคร่งอันสง่างามบนตราสัญลักษณ์ประจำสถาบันกษัตริย์มาเลเซีย ซึ่งเป็นภาพแทนของความแข็งแกร่งและอำนาจ ทุกวันนี้แทบจะไม่มีเหลืออยู่แล้วในชีวิตจริง ประชากรเสือโคร่งในป่าของมาเลเซียเหลืออยู่ไม่ถึงร้อยตัวเท่านั้น พวกมันต้องสูญเสียถิ่นที่อยู่และเจ็บป่วยล้มตาย เพราะการรุกล้ำพื้นที่ป่าซึ่งเกิดจากฝีมือของมนุษย์

ซารารักรีพอร์ต ระบุว่า ผู้นำราชวงศ์บางคนมีท่าทีโต้ตอบและแสดงความรับผิดชอบต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม (เป็นตัวอย่างว่าจะสามารถฟื้นฟูราชวงศ์ให้ดูมีประโยชน์ได้อย่างไร) ในขณะที่บางคนกลับจับสัตว์ป่าเข้ามาขังในกรงหน้าตาเฉย หรือทำลายแผ่นดินอันสงบสุขของสัตว์เหล่านั้นไปอย่างราบคาบ

ประเทศในโลกยุคใหม่ส่วนใหญ่ล้มเลิกระบอบการปกครองแบบกษัตริย์ และแทนที่ด้วยโครงสร้างการปกครองแบบประชาธิปไตยก้าวหน้า หรือไม่ก็เป็นเผด็จการน่ารังเกียจ มาเลเซียก็ควรเลือกแบบนั้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ประเทศที่สถาบันกษัตริย์สามารถก้าวไปข้างหน้าอย่างสง่างามในทุกห้วงเวลา คือ ประเทศที่ราชวงศ์รู้จักปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยและเรียนรู้ตำแหน่งแห่งที่ของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องไม่คิดว่าตัวเองอยู่เหนือกฎหมาย หรือกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ที่ประชาชนทุกคนปฏิบัติ

ราชวงศ์อังกฤษยังคงเป็นตัวอย่างที่ดีให้ได้เรียนรู้ ย้อนกลับไปใน ค.ศ.1642 รัฐสภาอังกฤษขับไล่กษัตริย์ ซึ่งเกิดจากพระราชบิดาและพระราชมารดาที่มีสายเลือดใกล้ชิดกันและถูกเลี้ยงมาอย่างตามใจ สุดท้ายเมื่อขึ้นครองราชย์ พระองค์ประกาศตนว่าได้รับบัญชามาจากพระผู้เป็นเจ้าและมีอำนาจเด็ดขาดในการปกครองประเทศ ทำให้สภาขุนนางและประชาชนไม่พอใจจนเกิดสงครามกลางเมืองตามมา จนนำมาสู่ยุคไร้กษัตริย์ของอังกฤษ

บรรณาธิการของซาราวักรีพอร์ตชี้ให้เห็นว่าลักษณะนิสัยเฉพาะซึ่งเป็นปัญหาเหล่านี้เกิดจากการสืบทอดตำแหน่งผู้นำที่มีอำนาจล้นฟ้ามาเกินไป แต่เมื่อเดินสะดุดตอแค่ไม่กี่ครั้ง ราชวงศ์และประชาชนอังกฤษต่างสร้างความเข้าใจร่วมกันได้ (แต่กว่าจะเรียนรู้ได้ พระเจ้าชาร์ลสที่ 2 พระราชโอรสของพระเจ้าชาร์ลสที่ 1 ก็ต้องลี้ภัยไปต่างแดนก่อนกลับมาขึ้นครองราชย์)

อย่างไรก็ตาม บทบาทของสถาบันกษัตริย์ในโลกยุคใหม่อยู่ในสถานะแห่งสัญลักษณ์ เพื่อย้ำเตือนนักการเมืองระดับสูงที่เข้ามาแล้วจากไปตามวาระว่าพวกเขาจะไม่มีวันเป็นบุคคลที่สำคัญสูงสุดของรัฐ แต่การที่กษัตริย์จะดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐได้นั้น ต้องแลกกับการไม่ยุ่งเกี่ยวเรื่องการเมือง หรือไม่ทำธุรกิจโดยใช้เส้นสายใดๆ เด็ดขาด

เพราะผลต่างตอบแทนเช่นนี้ ทำให้ราชวงศ์อังกฤษ รวมถึงราชวงศ์อื่นๆ ที่อยู่ภายใต้ระบอบการปกครองแบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ได้รับความเคารพนับถือ ทั้งยังได้รับเงินงบประมาณตอบแทนอย่างสวยงามซึ่งทำให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตหรูหราฟู่ฟ่าแบบอภิสิทธิ์ชนต่อไปได้ ถึงแม้สมาชิกราชวงศ์เหล่านั้รนจะได้รับความเคารพนับถืออย่างสูงในการดำรงตำแหน่งสำคัญซึ่งมีอำนาจหน้าที่อย่างจำกัด แต่ความเคารพนับถือที่ประชาชนมอบให้นั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาจะประพฤติตนได้ดีแค่ไหน

สถาบันกษัตริย์อังกฤษเป็นต้นแบบที่มาเลเซียรับมาปรับใช้ อย่างน้อยก็เฉพาะในหลักการ แต่หลักฐานต่างๆ ชี้ให้เห็นว่าในความเป็นจริงแล้ว การที่ราชวงศ์ทั้งหลายของมาเลเซียได้รับความเคารพนับถือนั้นกลับนำไปสู่การใช้อำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจในรัฐบ้านเกิดและในระดับประเทศ ซึ่งทำให้ราชวงศ์พากันมั่งคั่งขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ใจ

ครั้งแล้วครั้งเล่าที่โครงการสำคัญๆ ตกไปอยู่ในมือเครือข่ายธุรกิจราชวงศ์ และเอื้อผลประโยชน์ให้กันด้วยการออกใบอนุญาตหรือให้สัมปทานให้แก่บริษัทที่มีเส้นสาย หุ้นก้อนโตของบริษัทเหล่านี้ถูกโอนให้กับสมาชิกราชวงศ์หรือบุคคลที่เป็นตัวแทน ซึ่งทั้งหมดนี้ถือว่ารัฐสูญเสียผลประโยชน์ในวงกว้าง รวมถึงเสียโอกาสในการวางแผนและการควบคุมตรวจสอบที่เหมาะสมอีกด้วย

ใบอนุญาตพวกนี้เป็นตัวเติมเชื้อเพลิงแห่งความโลภและการแก่งแย่งผลประโยชน์ ยิ่งมาเจอการวางรากฐานแบบลับๆ ของรัฐบาลพันธมิตรแห่งชาติ (Perikatan Nasional) เข้าไปด้วยแล้ว ดูเหมือนว่าอาการตื่นทองของคนเหล่านี้จะยิ่งอลหม่านจนเกินควบคุม

รัฐบาลชุดนี้ล้มเลิกกระบวนการพิจารณาตรวจสอบอย่างละเอียดในระดับชาติ ทั้งปิดสภา ระงับการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจในขณะที่ประเทศกำลังเผชิญกับภาวะฉุกเฉินช่วงโรคโควิด-19 ระบาด แล้วปล่อยให้เป็นหน้าที่ของท้องถิ่นจัดการกันเอง ซึ่งผู้ที่นั่งอยู่เหนือบัลลังก์สภาทั้งหมดนี้ คือ ‘ยังดีเปอร์ตวนอากง (กษัตริย์)’ ที่ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญในทางที่ผิดอย่างโจ่งแจ้ง ด้วยการ ‘เซ็นรับรอง’ ให้ยกเลิกการประชุมสภา แล้วแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีหุ่นเชิด (ซึ่งอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง) แทนการโหวตเลือกนายกฯ ตามระบบปกติด้วยเสียง ส.ส. ส่วนใหญ่ในสภา และเสียงของหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล

นอกจากจะแสดงออกว่าไม่สนใจกระบวนการขั้นตอนทางกฎหมายใดๆ ทั้งยังชอบกลับไปพักที่วังในรัฐปะหังอยู่บ่อยครั้ง กษัตริย์องค์เดียวกันนี้ยังตัดสินใจล้มเลิกกระบวนการตรวจสอบเดียวตามอำนาจที่ตนมีในรัฐธรรมนูญ ด้วยการยกเลิกการประชุมสภาผู้ปกครองรัฐ ซึ่งแต่เดิมจะต้องมีขึ้นเพื่อพิจาณาแผนประกาศภาวะฉุกเฉิน ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาเก้าอี้ของนายกฯ ที่ตนเลือกมาให้อยู่ต่อไป

การประชุมสภาผู้นำปกครองรัฐครั้งก่อนที่มีกำหนดจัดขึ้น 2-3 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ก็ถูกยกเลิกไปด้วยเหตุผลเดียวกัน จึงไม่น่าแปลกใจนักที่พระองค์ยกเลิกการประชุมครั้งถัดมาเพื่อยุติปัญหาในเรื่องเดิมๆ

อำนาจบาตรใหญ่เช่นนี้กำลังเผชิญหน้า ทดสอบ และท้าทายระบอบประชาธิปไตย รวมถึงแก่นแท้แห่งหลักการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ ซึ่งจะนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพของรัฐ ความเป็นเผด็จการที่ข่มขู่คุกคามประชาชน และอาจถึงขั้นประชาชนลุกฮือขึ้นมาก่อกบฎเพราะไม่พอใจการกระทำเหล่านั้น ซึ่งเราต่างเคยเห็นภาพอันน่าเศร้าของผลที่ตามมาจากเหตุการณ์เหล่านี้

อย่างไรก็ตาม ซาราวักรีพอร์ต กล่าวว่า มาเลเซียเองคงยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่หากประชาชนชาวมาเลเซียยังอดทนอดกลั้น ปล่อยให้ราชวงศ์หาผลประโยชน์เข้าตัว ทำธุรกิจที่ผิดหลักรัฐธรรมนูญ รวมถึงขาดความโปร่งใสในการตรวจสอบการใช้ทรัพยากรสาธารณะ หากเป็นแบบนั้นก็น่าเศร้า เพราะประเทศคงตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว

ดินแดนของชาวมาเลทั้งปวงที่ครั้งหนึ่งเคยเขียวขจีและอุดมสมบูรณ์อาจกลายเป็นดินแดนแห้งแล้งและเปล่าประโยชน์ เหมือนพื้นที่เวิ้งว้างว่างเปล่าในดินแดนอาหรับที่ทรัพยากรต่างๆ สงวนไว้ให้แก่อภิสิทธิ์ชนเพียงไม่กี่ครอบครัว ได้สูบกินและดื่มด่ำผลประโยชน์จนกว่าทรัพยากรล้ำค่าเหล่านั้นจะหมดลง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท