Skip to main content
sharethis

11 มิ.ย. 2564 สมาพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากลและศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผยสถิติผู้ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ระหว่าง 24 พ.ย. 2563 - 11 มิ.ย. 2564 จำนวน 100 คน ด้านไอลอว์ขอสถิติศาลยุติธรรม พบยอดฟ้องจำนวนข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 107-112 ที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้น ระหว่างปี พ.ศ.2549-2563 พบพุ่งสูงช่วงปี 2551, 2552, และ 2558

สถิติศูนย์ทนายฯ เผย ผู้ถูกดำเนินคดี 112 ระลอกใหม่แตะ 100 คน

สมาพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights; FIDH) รายงานว่า จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพิ่มขึ้นเป็น 100 คน ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเข้าร่วมการชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยโดยสงบระหว่างเดือน ส.ค. 2563 ถึง มี.ค. 2564

จากข้อมูลที่รวบรวมโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระหว่างวันที่ 24 พ.ย. 2563 ถึงวันที่ 11 มิ.ย. 2564 มีบุคคลจำนวน 100 ราย ถูกดำเนินคดีด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในจำนวนนี้เป็นเด็ก ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกดำเนินคดี 8 ราย

ทั้งนี้ มาตรา 112 ระบุว่า ผู้ใดดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการ มีโทษจำคุกระหว่าง 3-15 ปี

อดีล ราห์เมน คาน เลขาธิการใหญ่แห่งสมาพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล กล่าวว่า “การบังคับใช้มาตรา 112 ขั้นรุนแรงเพื่อลงโทษนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย ผู้ชุมนุม และผู้วิจารณ์สถาบันกษัตริย์นั้นส่งผลให้เกิดการละเมิดโดยชัดเจนในสิทธิในเสรีภาพ อิสรภาพในการแสดงออก และการพิจารณาคดีที่ยุติธรรม รัฐบาลไทยต้องยุติการใช้กฎหมายในทางที่ผิดนี้และรับฟังข้อเรียกร้องให้แก้ไขมาตรา 112 โดยทันที”

สมาพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากลระบุว่า หลังจากละเว้นการบังคับใช้มาตรา 112 ได้ 2 ปี ในปลายเดือน พ.ย. 2563 การดำเนินคดีและการจับกุมด้วยมาตรา 112 กลับมาอีกครั้ง เพื่อตอบโต้การชุมนุมของฝ่ายประชาธิปไตยที่กระจายไปทั่วประเทศเกือบตลอดปี 2563 ในระหว่างการชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยจำนวนมากเหล่านี้ ผู้ชุมนุมได้ทำลายข้อห้ามทางการเมืองไทยที่มีมาช้านาน ด้วยการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์โดยตรงและเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ การบังคับใช้มาตรา 112 ระลอกที่สองนี้เป็นที่คาดเดาได้ จากการที่นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศในวันที่ 19 พ.ย. 2563 ว่า รัฐบาลจะใช้ “กฎหมายทุกฉบับทุกมาตรา” ลงโทษแกนนำและผู้ชุมนุมเพื่อประชาธิปไตย

ภายหลังการประกาศของประยุทธ์ เจ้าหน้าที่ได้รุกหน้าดำเนินคดี จับกุม และกักขังนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและผู้ชุมนุมโดยสงบ ที่วิจารณ์หรือแสดงความเห็นในที่สาธารณะเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในระหว่างการชุมนุมหรือบนโซเชียลมีเดียต่างๆ แกนนำหลักนั้นมักถูกมุ่งเป้าเป็นพิเศษ บางรายถูกดำเนินคดีมาตรา 112 หลายคดี ซึ่งอาจส่งผลให้ต้องโทษจำคุกเป็นเวลานาน

ผู้ต้องหากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหลายรายถูกศาลปฏิเสธสิทธิประกันตัวอย่างเป็นระบบ ทั้งในชั้นสอบสวนและในชั้นพิจารณาคดี นับแต่เดือน พ.ย. 2563 เจ้าหน้าที่ฝากขังผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 17 ราย ถึงแม้ว่าในเดือน มิ.ย. 2564 ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทั้งหมดจะได้รับสิทธิประกันตัว แต่มีจำนวนมากที่ได้รับการปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไขห้ามทำกิจกรรมที่เสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ต่อไป และห้ามเช้าร่วมกิจกรรมที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน

ในขณะที่การบังคับใช้มาตรา 112 ระลอกสองเริ่มขึ้นนั้น ประเทศไทยทำสถิติโทษจำคุกมาตรา 112 ที่นานที่สุดที่เคยมีมา ในวันที่ 19 ม.ค. 2564 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พิพากษาจำคุกอัญชัญ อดีตข้าราชการ อายุ 65 ปี เป็นเวลา 87 ปี จากการเผยแพร่โพสต์หมิ่นพระบรมเดชานุภาพในสื่อออนไลน์จำนวน 29 กรรม โดยเธอได้รับการลดโทษลงเหลือ 43 ปี 6 เดือน เนื่องจากยอมรับสารภาพ

ก่อนหน้านั้น ศาลอาญายังพิพากษาลงโทษนักเขียนและนักประพันธ์ สิรภพ กรณ์อรุษ ด้วยข้อหามาตรา 112 จากการเผยแพร่งานเขียนและบทกวีบนสื่อออนไลน์ เขาถูกตัดสินให้จำคุก 4 ปี 6 เดือน อย่างไรก็ตาม สิรภพได้รับการปล่อยตัวทันทีภายหลังคำตัดสินของศาล เนื่องจากเขาได้ถูกทั้งก่อนและระหว่างการพิจารณาคดีมากว่า 4 ปี 11 เดือน นับตั้งแต่ถูกจับกุมในวันที่ 1 มิ.ย. 2557 และในวันที่ 24 เม.ย. 2562 คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (UN Working Group on Arbitrary Detention; WGAD) ได้ประกาศว่า การกักขังสิรภพเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ ก่อนที่เขาจะได้รับสิทธิประกันตัวในวันที่ 11 มิ.ย. 2562

นับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2563 กลไกการด้านสิทธิมนุษยชนหลายภาคส่วนจากสหประชาชาติได้แสดงความกังวลต่อการเพิ่มขึ้นของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและการบังคับใช้ที่รุนแรงขึ้น สหประชาชาติยังได้เรียกร้องให้แก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 มาแล้วหลายครั้งอีกด้วย

สมาพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากลและศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขอย้ำข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยละเว้นจากการจับกุม ดำเนินคดี และกักขังบุคคลเพียงเพราะพวกเขาใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในการพูดและแสดงออก นอกจากนี้ สมาพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากลและศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขอผลักดันให้รัฐบาลไทยแก้ไขมาตรา 112 เพื่อให้สอดคล้องกับพันธะหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

สถิติศาลยุติธรรมพบยอดคดีฟ้องใหม่พุ่งในปี 2551, 2552, และ 2558

ไอลอว์ขอข้อมูลคดีมาตรา 112 จากสำนักแผนและงบประมาณ ศาลยุติธรรม พบระบบเก็บสถิติของศาลเก็บแยกเป็นหมวด ทำให้ทราบจำนวนข้อหาที่อยู่ในหมวดความผิดต่อพระมหากษัตริย์ฯ ทั้งหมด และจากสถิติดังกล่าวพบว่า ยอดคดีฟ้องใหม่พุ่งในปี 2551, 2552, และ 2558 โดยที่ช่วงปี 2557-2559 คดีจำนวนมากไปขึ้นศาลทหาร จึงไม่ได้นับรวมด้วย และเมื่อคดีจากศาลทหารโอนกลับมาในปี 2562 ยอดรวมก็พุ่งขึ้นอีกครั้ง

9 มิ.ย. 2564 ไอลอว์ยื่นหนังสือต่อสำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อขอทราบสถิติข้อมูลการดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อาศัยสิทธิของประชาชนที่จะได้รับทราบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการปฏิบัติงาของหน่วยงานราชการ ตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2550 โดยขอข้อมูลสามรายการ ดังนี้

1. สถิติจำนวนคดี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แยกรายปี ตั้งแต่ปี 2549 ถึงปี 2563

2. สถิติจำนวนข้อหาความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แยกรายปี  ตั้งแต่ปี 2549 ถึงปี 2563

3. สถิติจำนวนคดี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีการยื่นฟ้องเข้ามาใหม่ในแต่ละปี แยกรายปี ตั้งแต่ปี 2549 ถึงปี 2563

เมื่อยื่นหนังสือหนึ่งฉบับต่อสำนักงานศาลยุติธรรม เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่า ให้ยื่นหนังสือได้ที่สำนักแผนและงบประมาณโดยตรง ซึ่งตั้งอยู่ท่ีชั้นแปด ของอาคารจอดรถ ข้างอาคารศาลอาญา เมื่อนำหนังสือขอข้อมูลไปยื่นที่ห้องของสำนักแผนและงบประมาณ มีเจ้าหน้าที่มารับหนังสือและส่งเรื่องต่อ โดยให้ผู้ยื่นหนังสือนั่งรอเป็นเวลาประมาณ 15 นาที จากนั้นมีเจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งเดินนำข้อมูลออกมาให้ เป็นกระดาษหนึ่งแผ่นเขียนว่า จำนวนข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 107-112 ที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นทั่วราชอาณาจักร ประจำปี พ.ศ.2549-2563 ซึ่งปรากฎข้อมูล ดังนี้

  • พ.ศ.2549 จำนวน 30 ข้อหา
  • พ.ศ.2550 จำนวน 126 ข้อหา
  • พ.ศ.2551 จำนวน 77 ข้อหา
  • พ.ศ.2552 จำนวน 101 ข้อหา
  • พ.ศ.2553 จำนวน 76 ข้อหา
  • พ.ศ.2554 จำนวน 84 ข้อหา
  • พ.ศ.2555 จำนวน 96 ข้อหา
  • พ.ศ.2556 จำนวน 90 ข้อหา
  • พ.ศ.2557 จำนวน 79 ข้อหา
  • พ.ศ.2558 จำนวน 103 ข้อหา
  • พ.ศ.2559 จำนวน 53 ข้อหา
  • พ.ศ.2560 จำนวน 82 ข้อหา
  • พ.ศ.2561 จำนวน 31 ข้อหา
  • พ.ศ.2562 จำนวน 94 ข้อหา
  • พ.ศ.2563 จำนวน 36 ข้อหา

จำนวนคดีแปรผันตามสถานการณ์การเมือง

จากสถิติที่ได้รับมาจะเห็นได้ว่า ปีที่มียอดการฟ้องคดีมาตรา 112 ต่อศาลมากจนเกินจำนวนร้อยข้อหา ได้แก่ ปี 2550, 2552, และ 2558 

ช่วงปี 2550 นั้นเป็นช่วงหลังการรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ที่นำโดย พล.อ.สนธิ บุญรัตนกลิน หลังจากการรัฐประหารก็มีการเกิดขึ้นของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปก.) และการเกิดขึ้นของ "คนเสื้อแดง" รวมทั้งมีการชุมนุมเพื่อต่อต้านการรัฐประหารหลายครั้งหลายพื้นที่ โดยผู้ชุมนุมเริ่มวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ และองคมนตรีต่อการรัฐประหาร

ช่วงปี 2552 ภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง และการใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุม มีการกวาดล้างการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง จากข้อมูลที่ไอลอว์บันทึกก่อนหน้านี้ ยังแตกต่างกับสถิติที่ได้รับจากสำนักแผนและงบประมาณอยู่บ้าง เพราะสถิติที่ไอลอว์พบ การดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มสูงขึ้นในช่วงระหว่างและหลังการสลายการชุมนุมในปี 2553 มากกว่าช่วงปี 2552

ช่วงปี 2558 เป็นช่วงเวลาภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาจากการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และมีการกวาดจับผู้ต้องหาด้วยมาตรา 112 จำนวนมาก ซึ่งผู้ต้องหาส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มที่มีแนวคิดไม่สนับสนุนการรัฐประหาร ซึ่งสถิติที่ปรากฏนี้ยังไม่รวมจำนวนคดีที่พิจารณาที่ศาลทหารอีกด้วย

ช่วงปี 2560 เป็นบรรยากาศทางการเมืองแบบพิเศษ หลังจากเหตุการณ์เสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ 9 ซึ่งตามมาด้วยความโกรธแค้นของประชาชน การระบายออกท่ามกลางความอึดอัด และการดำเนินคดีจำนวนหนึ่งตามมา ซึ่งมีเหตุจากช่วงปลายปี 2559 ทำให้มีสถิติจำนวนคดีที่สูงขึ้นเช่นกัน

ช่วงปี 2561-2563 เป็นช่วงเวลาที่มีแนวนโยบายไม่นำมาตรา 112 มาใช้ดำเนินคดี ทำให้สถิติโดยรวมลดลง แต่เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2562 มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2562 สั่งให้โอนคดีที่ค้างอยู่ในศาลทหาร กลับมายังศาลยุติธรรม ช่วงปลายปี 2562 จึงเป็นช่วงที่ศาลยุติธรรมต้องรับพิจารณาคดีมาตรา 112 จำนวนไม่น้อยที่ค้างมาจากศาลทหาร

คำอธิบายเพิ่มเติมจากข้อมูลสถิติ

1. นับรวมข้อหาจากทั้งหมวด ไม่ใช่เฉพาะมาตรา 112

สถิติที่ได้จากสำนักแผนและงบประมาณ ของสำนักงานศาลยุติธรรมนี้ เป็นสถิติรวมของคดีความทุกฐานความผิดในประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 1 หมวด 1 ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่ถึงสถิติเฉพาะข้อหามาตรา 112 มาตราเดียว เจ้าหน้าที่บอกว่า ในระบบสถิติคดีของศาลยุติธรรมไม่ได้จัดเก็บแยกรายมาตรา มีแต่สถิติแยกเป็นหมวดเช่นนี้ ซึ่งมาตรา 107-111 ได้แก่ความผิดฐานปลงพระชนม์ หรือประทุษร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับประเทศไทย และจากการติดตามข่าวก็ทราบว่า มีการดำเนินคดีมาตรา 110 ฐานประทุษร้ายพระราชินี ในปี 2564 หนึ่งคดีเท่านั้น ก่อนหน้านี้ไม่ปรากฏเป็นข่าวมาก่อน จึงสันนิษฐานว่า จากสถิติทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมดที่ได้รับมานี้เป็นคดีตามมาตรา 112

2. ใช้หน่วยเป็น "ข้อหา" ไม่ใช่คดี

สถิติชุดนี้ เป็นการนับจาก "จำนวนข้อหา" ไม่ใช่ "จำนวนคดี" ตามที่ขอข้อมูลไป เมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่ถึงสถิติจำนวนคดี เจ้าหน้าที่บอกว่า ในระบบสถิติคดีของศาลยุติธรรมไม่ได้จัดเก็บเป็นรายคดี เพราะในคดีหนึ่งๆ อาจมีการดำเนินคดีหลายข้อหา ทำให้ข้อมูลที่มีอยู่ใช้หน่วยเป็นข้อหาและไม่สามารถให้ข้อมูลที่มีหน่วยเป็นคดีได้ จากการติดตามบันทึกข้อมูลของไอลอว์พบว่า การดำเนินคดีมาตรา 112 หลายคดี มีการดำเนินคดีหลายกรรม จากการกระทำความผิดหลายครั้งในคดีเดียว เช่น คดีของอัญชัญ ถูกดำเนินคดีจากการอัพคลิปเสียงและโพสเฟซบุ๊ก รวม 29 กรรม  หรือคดีของสิรภพ ที่ถูกดำเนินคดีจากการเขียนบทกวีและบทความรวม 3 กรรม ซึ่งสถิติของศาลยุติธรรมจะนับทุกกรรมแยกกัน ไม่ได้นับรวมเป็นหน่วยคดี

3. ไม่ใช่สถิติรวมของคดีมาตรา 112 ทั้งประเทศจริงๆ 

สถิติชุดนี้ เป็นจำนวนข้อหาที่ "ขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น" ในระบบของศาลยุติธรรมในปีนั้นๆ เท่านั้น หมายความว่า สถิตินี้จะไม่ได้นับรวม

1) คดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลทหาร ตามที่มีประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ประกาศให้ความผิดตามมาตรา 112 ที่การกระทำความผิดเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 25 พ.ค. 2557 จนถึงวันที่ 12 ก.ย. 2559 ต้องพิจารณาคดีที่ศาลทหาร และคดีจำนวนมากที่จำเลยรับสารภาพก็สิ้นสุดที่ศาลทหาร ไม่ได้เข้าสู่ระบบคดีของศาลยุติธรรม เช่น คดีของพงษ์ศักดิ์ ที่ถูกฟ้องจากการโพสต์เฟซบุ๊ก 6 กรรม ศาลทหารให้จำเลยจำคุก 60 ปี ลดเหลือ 30 ปี คดีของวิชัย ที่ถูกฟ้องจากการโพสต์เฟซบุ๊ก 10 กรรม ศาลทหารให้จำเลยจำคุก 70 ปี ลดเหลือ 35 ปี เป็นต้น 

ไอลอว์เคยยื่นหนังสือขอทราบสถิติจากกรมพระธรรมนูญ และได้รับแจ้งมาในปี 2561 ว่า ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. 2557 จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2561 ในศาลทหารกรุงเทพ มีคดีความผิดหมวดพระมหากษัตริย์ 67 คดี ในศาลทหารต่างจังหวัดมีคดีความผิดหมวดพระมหากษัตริย์ 99 คดี รวมทั้งประเทศแล้ว 166 คดี ซึ่งกรมพระธรรมนูญใช้หน่วยเป็นคดี ไม่ใช้หน่วยเป็นข้อหา 

2) คดีที่มีการตั้งข้อกล่าวหาในชั้นตำรวจ หรือการดำเนินคดีในชั้นอัยการ แต่สุดท้ายคดีไม่ถูกส่งฟ้องต่อศาล ไม่ว่าจะเป็นเพราะมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี หรือเป็นเพราะเวลาผ่านไปนานแล้วแต่ก็ยังไม่มีคำสั่งใดๆ ตัวอย่างเช่น คดีอภิปรายเรื่องประวัติศาสตร์สมัยพระนเศวร ของส.ศิวลักษณ์ ที่อัยการทหารสั่งไม่ฟ้องคดี หรือคดีของจารุวรรณ ที่ถูกจับจากการโพสเฟซบุ๊ก และได้รับการปล่อยตัวเมื่อครบกำหนดฝากขัง ต่อมาอัยการทหารสั่งไม่ฟ้องคดี 

4. รวมคดีจากการแอบอ้าง ไม่ใช่เฉพาะการใช้เสรีภาพ

สถิติชุดนี้รวมถึงการดำเนินคดีทั้งหมดด้วยมาตรา 112 ซึ่งในยุคสมัยของ คสช. มีการตีความและนำมาตรา 112 ไปใช้ดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่แอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อเรียกรับผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งการกระทำลักษณะนี้เข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งน่าจะเป็นความผิดที่ตรงกับเจตนารมณ์ของกฎหมายมากกว่า แต่ในการจับกุมดำเนินคดีคนกลุ่มนี้กลับเลือกใช้มาตรา 112 บางคดีพิจารณาที่ศาลทหาร บางคดีพิจารณาที่ศาลยุติธรรม ไอลอว์เคยบันทึกข้อมูลคนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการแอบอ้างไว้ได้อย่างน้อย 37 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทราบว่า "ไม่ครบถ้วน" เนื่องจากผู้ถูกดำเนินคดีประเภทนี้ส่วนใหญ่ไม่ต้องการเปิดเผยตัว ไม่ต้องการเปิดเผยเรื่องราว และไอลอว์เคยถูกผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีร้องขออย่างเป็นทางการให้ลบข้อมูลคดีของเขาออกจากการบันทึกในฐานข้อมูลด้วย

การดำเนินคดีจากการแอบอ้างที่ขึ้นศาลทหารยังถูกสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ จำเลยบางคนไม่เข้าร่วมการพิจารณาคดี จำเลยบางคนเสียชีวิตอย่างปริศนาระหว่างการควบคุมตัว ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ไอลอว์จึงแยกชุดข้อมูลออกจากกันและเน้นการบันทึกข้อมูลการดำเนินคดีมาตรา 112 จากการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น ไม่ได้นับรวมคดีจากการแอบอ้างเข้าเป็นสถิติชุดเดียวกันด้วย แต่สถิติของศาลยุติธรรมนั้นรวมการดำเนินคดีมาตรา 112 ทุกประเภทเข้าไว้ด้วยกัน

5. สถิติคนละชุดกับรายงานประจำปี

ก่อนหน้านี้บนเว็บไซต์ของสำนักแผนและงบประมาณ เผยแพร่รายงานสถิติคดีประจำปี ตั้งแต่พ.ศ.2536 - 2562 ซึ่งใช้ระบบการนับสถิติเช่นเดียวกัน คือ นับสถิติคดีตามประมวลกฎหมายอาญาแบ่งเป็นหมวด ไม่ได้แบ่งเป็นมาตรา และนับหน่วยเป็นข้อหา ไม่ใช่หน่วยเป็นคดี แต่สถิติที่อยู่ในรายงานประจำปีแตกต่างกับสถิติที่ได้รับมาอย่างมาก โดยในรายงานประจำปีที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ มีสถิติจำนวนข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 107-112 ที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่ปี 2549 ถึงปี 2558 เท่านั้น หลังจากนั้นระบบเปลี่ยนการรายงาน โดยระบุเพียงจำนวนข้อหาสูงสุด 5 อันดับที่ขึ้นสู่การพิจารณาเท่านั้น ไม่ได้รายงานจำนวนข้อหาความผิดที่ขึ้นสู่การพิจารณาทั้งหมดเหมือนก่อนหน้านี้ 

โดยจากรายงานแต่ละฉบับ มีสถิติดังนี้

  • ปี 2549 จำนวน 30 ข้อหา
  • ปี 2550 จำนวน 156 ข้อหา
  • ปี 2551 จำนวน 77 ข้อหา
  • ปี 2552 จำนวน 164 ข้อหา
  • ปี 2553 จำนวน 478 ข้อหา
  • ปี 2554 จำนวน 84 ข้อหา
  • ปี 2555 จำนวน 96 ข้อหา
  • ปี 2556 จำนวน 90 ข้อหา
  • ปี 2557 จำนวน 79 ข้อหา
  • ปี 2558 จำนวน 124 ข้อหา

มีความเป็นไปได้ว่า ในรายงานประจำปีของที่เผยแพร่นั้นนับรวมสถิติของการดำเนินคดีของศาลที่อยู่ระหว่างการพิจารณาทั้งหมดในปีนั้นๆ ซึ่งอาจรวมเอาจำนวนข้อหาที่ส่งฟ้องในปีก่อนหน้านั้นแต่คดียังพิจารณาไม่เสร็จเข้ากับข้อหาที่มีการฟ้องใหม่ในปีนั้นด้วย จึงทำให้ตัวเลขรวมสูงกว่าจำนวนที่มีการยื่นฟ้องในปีนั้นๆ มาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net