Skip to main content
sharethis

เลือกตั้งประธานาธิบดีเปรูสูสี เปโดร คาสติลโล ผู้แทนฯ ฝ่ายซ้ายคะแนนนำเคย์โกะ ฟูจิโมริ ทายาทตระกูลผู้นำทางการเมืองขวาจัดที่กุมอำนาจยาวนาน ร้อยละ 50.3 ต่อร้อยละ 49.7 แม้จะถูกโจมตีจากสื่อว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้าย

ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีเปรู เมื่อ 6 มิ.ย. 2564 เปโดร คาสติลโล ลูกชาวนา ครูในชนบท ผู้นำสหภาพแรงงาน และนักการเมืองฝ่ายซ้ายที่น่าจับตา เดินสายไปทั่วเปรู สวมหมวกชาวนา และชูดินสอขนาดใหญ่ที่สื่อถึงความเป็นครู ประกาศท่ามกลางภาวะฉุกเฉินทางโรคระบาดว่า "จะไม่มีคนจนในประเทศที่ร่ำรวยอีกต่อไป"

9 มิ.ย. 2564 ผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการที่ร้อยละ 95 คาสติลโล มีคะแนนนำเคย์โกะ ฟูจิโมริ ผู้นำพรรคฝ่ายขวาจัด ลูกสาวของอดีตประธานาธิดีอัลเบร์โต ฟูจิโมระ ที่ถูกพิพากษาจำคุกฐานทุจริต และละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างดำรงตำแหน่งช่วงปี 2533-2543 อย่างเฉียดฉิวอยู่ที่ร้อยละ 50.3 ต่อร้อยละ 49.7

การขับเคี่ยวทางการเมืองในครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นการต่อสู้กันระหว่างชนบทกับเมือง ขณะเดียวกันก็เป็นการชี้ชะตาว่าตระกูลฟูจิโมริผู้ที่กุมอำนาจทางการเมืองในเปรูมายาวนานจนได้รับสมญานามว่า "ราชวงศ์ฟูจิโมริ" จะเพลี่ยงพล้ำในการเลือกตั้งนี้หรือไม่

สภาคองเกรสแห่งอเมริกาเหนือในละตินอเมริกา (NACLA) ระบุว่า ชัยชนะของคาสติลโลจะไม่ใช่แค่ชัยชนะของครูฝ่ายซ้าย ผู้เป็นลูกของชาวนาที่ไม่รู้หนังสือเท่านั้น แต่ยังเป็นชัยชนะต่อแผนการใส่ร้ายป้ายสีที่มาจากฝ่ายฟูจิโมริ โดยอาศัยโฆษณาชวนเชื่อที่ทำงานกับความกลัวของชนชั้นกลางและชนชั้นนำเปรู คล้ายกับที่อังเดรส อาเราซ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งสายก้าวหน้า เผชิญในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรกเมื่อเดือน เม.ย. 2564 แต่มีความรุนแรงยิ่งกว่า

กรูโป เอล คอมเมอซิโอ กลุ่มสื่อยักษ์ใหญ่ที่กุมหนังสือพิมพ์ในเปรูเอาไว้ถึงร้อยละ 80 เป็นผู้นำในการกล่าวหาว่า คาสติลโลเป็นผู้ก่อการร้ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มติดอาวุธไชนิงพาร์ธ ซึ่งเคยสู้รบกับรัฐบาลระหว่างปี 2523-2545 จนมีผู้เสียชีวิตหลายหมื่นราย และเป็นบาดแผลฝังใจชาวเปรู ทว่าในช่วงที่ไชนิงพาร์ธก่อเหตุรุนแรง คาสติลโลเป็นสมาชิกกลุ่มรอนเดโร ซึ่งเป็นกองกำลังป้องกันตนเองของชาวนา ที่ปกป้องชุมชนจากกลุ่มไชนิงพาร์ธ รวมถึงคอยป้องกันเหตุอาชญากรรมหรือความรุนแรงในชุมชน

23 พ.ค. 2564 ช่วง 2 สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี ประชาชน 18 ราย ถูกสังหารหมู่ในเมืองซาน มิเกล เดล เอเน ชนบทของเปรู รัฐบาลฝ่ายขวาของเปรูรีบสรุปอย่างรวดเร็วว่า นี่เป็นฝีมือของกลุ่มผู้เหลือรอดจากไชนิงพาร์ธที่พัวพันกับการค้ายาเสพติด แม้ยังไม่มีกลุ่มใดออกมาอ้างความรับผิดชอบ แต่สื่อก็เชื่อมโยงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคาสติลโลและการรณรงค์หาเสียงของเขา ทำให้มีความกังวลว่าอาจเกิดเหตุรุนแรงหากคาสติลโลขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

ขณะที่คาสติลโลประณามเหตุโจมตีที่เกิดขึ้น และเตือนชาวเปรูให้ตั้งข้อสังเกตว่า เคยมีการสังหารหมู่ลักษณะนี้ เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งปี 2554 และ 2559 เช่นกัน ส่วนฝ่ายฟูจิโมริชี้ในทำนองว่าคาสติลโลมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่นี้

ในด้านเศรษฐกิจ คาสติลโลถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ที่พยายามจะทำให้อุตสาหกรรมหลักๆ ของประเทศกลายเป็นของรัฐ ทำให้เปรูกลายเป็น "เผด็จการที่โหดร้าย" แบบเวเนซุเอลา หนังสือพิมพ์โยงนโยบายหาเสียงของคาสติลโลกับการลดค่าเงินเปรู และเตือนว่า ชัยชนะของคาสติลโลจะส่งผลทางลบต่อชนชั้นล่างมากที่สุด เพราะธุรกิจจะปิดกิจการหรือย้ายฐานไปต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม นโยบายหาเสียงของคาสติลโลบ่งชี้ว่าเขาไม่ใช่คอมมิวนิสต์ หรือพยายามจะทำให้อุตสาหกรรมหลักกลายเป็นของรัฐ แต่คาสติลโลต้องการทำข้อตกลงใหม่กับบรรษัทข้ามชาติ เพื่อให้ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกเป็นของท้องถิ่นมากขึ้น

NACLA ยังตั้งข้อสังเกตว่า สื่อในเปรูปฏิบัติต่อฟูจิโมริอย่างสุภาพ หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งอ้างว่า ฟูจิโมริจะทำให้เศรษฐกิจกลับมา และทำให้ผู้คนเข้าถึงงาน, อาหาร และสุขภาวะที่ดีได้ โดยไม่พูดถึงบทบาทของเธอในฐานะสตรีหมายเลขหนึ่ง ระหว่างที่อัลแบร์โต ฟูจิโมริ พ่อของเธอปกครองเปรูอย่างโหดเหี้ยม

เคย์โกะ ฟูจิโมริ อ้างว่า อุดมการณ์ทางการเมืองแบบฟูจิโมริ หรือฟูจิโมริสโม (fujimorismo) เอาชนะการก่อการร้าย โดยไม่ถูกท้าทายเกี่ยวกับวิธีการลงโทษที่โหดร้ายแบบฟูจิโมริสโม เช่น การบังคับให้ผู้หญิงกว่า 270,000 คน และผู้ชาย 22,000 คนทำหมัน ซึ่งพ่อของเธอกำลังถูกพิจารณาคดี ต่อจากที่ถูกจำคุกในคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนและทุจริตอื่นๆ โดยเคโกะจะสัญญาว่าจะปล่อยพ่อให้เป็นอิสระหากชนะการเลือกตั้ง

สื่อยังเพิกเฉยต่อข้อเท็จจริงที่ว่า เคย์โกะอยู่ระหว่างการสอบสวนในคดีฟอกเงิน และได้รับการประกันตัวเมื่อปี 2563 หากไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มกันในฐานะประธานาธิบดี เธออาจจะถูกจำคุก

NACLA ตั้งข้อสังเกตอีกว่า การรายงานข่าวของสื่อต่างประเทศบางแห่งก็ไม่ต่างจากสื่อเปรู ที่เน้นว่าชนชั้นนำจะถูกสั่นคลอนหากคาสติลโลขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี

เศรษฐกิจเปรูเติบโตอย่างมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่การเติบโตนี้ก็ไม่ได้ช่วยยกระดับชีวิตผู้คนอย่างเท่าเทียม ชาวเปรูในชนบทหลายล้านคนยังคงถูกละเลยจากรัฐ นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับประเทศใกล้เคียงอย่าง ชิลี, เอกวาดอร์, และโคลอมเบีย เปรูให้งบประมาณด้านสาธารณสุข การศึกษา และโครงการทางสังคมอื่นๆ น้อยมาก ส่งผลกระทบต่อระบบดูแลสุขภาพของประชาชน ทำให้เปรูกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 สูงเป็นลำดับต้นๆ ของโลก

นอกจากเรื่องวิกฤตทางสาธารณสุขแล้ว เปรูยังต้องเผชิญกับความวุ่นวายทางการเมืองเมื่อมีนักการเมืองระดับสูงจำนวนมากถูกดำเนินคดีทุจริตคอร์รัปชัน เปลี่ยนประธานาธิบดีไปถึง 4 คน ภายใน 3 ปี และประธานาธิบดี 5 คนจาก 7 คนหลังสุด ถูกตั้งข้อหาทุจริตคอร์รัปชั่น

อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2563 รัฐสภามีมติถอดถอนประธานาธิบดีมาร์ติน วิซคาร์รา ซึ่งถูกตั้งข้อหาทุจริต ก่อนจะตั้งมานูเอล เมอริโน มาดำรงตำแหน่งแทน ทำให้ประชาชนชุมนุมประท้วงเพราะมองว่าเป็นการรัฐประหารโดยรัฐสภา ส่งผลให้เมอริโนลาออกหลังจากรับตำแหน่งเพียง 5 วัน และฟรานซิสโก ซากาสตี ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีรักษาการคนปัจจุบัน

หนึ่งในนโยบายที่คาสติลโลใช้รณรงค์หาเสียง คือ จะจัดให้ทำประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ โดยให้ประชาชนเลือกว่าจะให้มีรัฐธรรมนูญใหม่หรือคงของเดิมไว้ ซึ่งรัฐธรรมนูญเดิมนั้นเขียนขึ้นมาตั้งแต่ปี 2536 สมัยที่อยู่ภายใต้รัฐบาลของอัลแบร์โต ฟูจิโมริ โดยยึดกรอบเสรีนิยมใหม่ ที่เน้นปกป้องผลประโยชน์ของเอกชน

คาสติลโลกล่าวว่า รัฐธรรมนูญเปรูในปัจจุบันให้ความสำคัญกับประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์สาธารณะ ทำให้ผลกำไรอยู่เหนือชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เขาบอกว่าถ้ามีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะช่วยรับประกันการเข้าถึงการศึกษา การสาธารณสุข ปัจจัยดำรงชีวิตจ่างๆ ทั้งบ้านและอาหาร รวมถึงอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ ยังจะเน้นให้เกิดการรับรองสถานะของชนพื้นเมืองและความหลากหลายทางวัฒนธรรมของเปรู ออกแบบรัฐใหม่โดยเน้นความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยรัฐจะมีบทบาทในการวางแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้แน่ใจว่าผลประโยชน์สาธารณะจะถูกให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก

NACLA มองว่าถ้าหากคาสติลโลชนะ จะกระทบต่อผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคนี้ คาสติลโลระบุว่าเขาจะถอนประเทศเปรูออกจากกลุ่มลิมาซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในเวเนซุเอลา

อย่างไรก็ตาม ถ้าคาสติลโลชนะเขาจะต้องเผชิญกับรัฐสภาและกลุ่มธุรกิจที่ไม่เป็นมิตร รวมถึงสื่อที่ต่อต้านเขา และเป็นไปได้ว่าจะต้องเผชิญหน้ากับรัฐบาลโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ด้วย

เรียบเรียงจาก

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net