Skip to main content
sharethis

กสม. ห่วงใยสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในเรือนจำ ถกกรมราชทัณฑ์หาแนวทางคุ้มครองสิทธิในสุขภาพของผู้ต้องขัง สนับสนุนการจัดสรรวัคซีนโดยเร็ว

วันที่ 11 มิ.ย. 2564 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วย นายสุชาติ เศรษฐมาลินี นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช และนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าหารือร่วมกับ นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เรื่อง สิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ณ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม จังหวัดนนทบุรี

นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ที่มีการรายงานผู้ติดเชื้อในเรือนจำเป็นจำนวนมาก กสม. มีความห่วงกังวลและติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเนื่องจากสภาพของเรือนจำที่มีความแออัด ผู้ต้องขังอยู่กันอย่างหนาแน่น จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว อันส่งผลกระทบต่อสิทธิด้านสุขภาพของผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในเรือนจำ จากการหารือร่วมกับอธิบดีกรมราชทัณฑ์ในวันนี้ กสม. ได้รับทราบว่านับแต่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในปี 2563 กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหลายประการ เช่น การคัดกรองโรคผู้ต้องขังเข้าใหม่ การแยกกักตัวเพื่อเฝ้าสังเกตอาการและการตรวจหาเชื้อในระหว่างแยกกักโรค การรักษาพยาบาลผู้ต้องขังที่พบการติดเชื้อทั้งโดยโรงพยาบาลภายในเรือนจำและการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาภายนอกเรือนจำ การจัดให้ผู้ต้องขังได้รับการเยี่ยมโดยผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น ขณะเดียวกันทราบว่าทางศาลยุติธรรมมีแนวนโยบายในการปล่อยตัวชั่วคราวและลดการนำตัวผู้ต้องขังมาที่ศาล ซึ่งได้ช่วยลดความแออัดและความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการของกรมราชทัณฑ์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ยังมีปัญหาอุปสรรคทั้งจากการกลายพันธุ์ของเชื้อในช่วงการแพร่ระบาดระลอกที่ 3 และข้อจำกัดด้านทรัพยากร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรือนจำที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากหรือเรือนจำที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดสูง ซึ่ง กสม. ได้รับทราบและมีความห่วงใยต่อข้อจำกัดดังกล่าว เช่น (1) ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ต้องขังที่ต้องดูแล บางส่วนต้องรับภาระการทำงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความเหนื่อยล้า เนื่องจากพักผ่อนไม่เพียงพอ (2) ปัญหาในการส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษายังโรงพยาบาลภายนอกเรือนจำในกรณีที่โรงพยาบาลในเรือนจำ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมากอยู่แล้ว (3) การส่งต่อผู้พ้นโทษที่ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อเข้ารับการกักตัวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีจำนวนสถานที่กักตัวให้ครบกำหนด 14 วันไม่เพียงพอสำหรับผู้พ้นโทษ และ (4) อุปกรณ์สำหรับการเยี่ยมญาติโดยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศไม่เพียงพอ

นอกจากนี้ กสม. และกรมราชทัณฑ์ยังได้มีการหารือเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสภาพเรือนจำแออัดซึ่งประเด็นสำคัญที่ กสม. เห็นว่าเป็นเรื่องทางนโยบายที่ต้องได้รับการแก้ไขตั้งแต่ต้นทางของกระบวนการยุติธรรม ทั้งการทบทวนกฎหมายที่มีโทษทางอาญาโดยไม่จำเป็น การใช้มาตรการทางเลือกอื่นในการลงโทษแทนการคุมขัง เช่น การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว รวมถึงการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยระหว่างการพิจารณาคดี ในขณะเดียวกัน กสม. สนับสนุนให้เรือนจำได้รับการสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ที่เพียงพอและได้รับการจัดสรรวัคซีนโควิด 19 สำหรับผู้ต้องขังโดยเร็ว อันจะส่งผลดีต่อการป้องกันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในกลุ่มผู้ต้องขัง

“กสม. ขอชื่นชมความทุ่มเทในการทำงานของเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ทุกคน และขอสนับสนุนให้รัฐบาลโดยกระทรวงยุติธรรมเร่งแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดในเรือนจำและขจัดอุปสรรคในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยตระหนักถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิของผู้ต้องขังที่ต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองในภาวะการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตรายให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับประชาชนกลุ่มอื่น ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ต้องขังได้รับการดูแลสิทธิในสุขภาพ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และสอดคล้องกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี ตลอดจนแนวปฏิบัติระหว่างประเทศ เช่น ข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (Nelson Mandela Rules) และแนวปฏิบัติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 (Covid-19 Guidance) ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (OHCHR)  ต่อไป” ประธาน กสม. กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net