Skip to main content
sharethis

ประธานบัณฑิตวิทยาลัยแมกดาเลน อ็อกซ์ฟอร์ด ปกป้องสิทธิ์ของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาอย่างจริงจังในการปลดรูปถ่ายของพระราชินีออกจากห้องนั่งเล่นของวิทยาลัย หลังจากที่แกวิน วิลเลียมสัน รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของอังกฤษเรียกการกระทำนี้ว่า "ไร้สาระ"

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2564 มีรายงานข่าวว่าสมาชิกของห้องสันทนาการส่วนกลางของวิทยาลัย (Members of the college’s middle common room หรือ MCR) ซึ่งเป็นบัณฑิตที่ในระดับชั้นปริญญาโท มีมติเสียงส่วนใหญ่ให้ปลดรูปของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ลงจากห้องสันทนาส่วนกลาง โดยระบุเหตุผลไว้ว่า “สำหรับนักศึกษาบางคน การประดับภาพพระมหากษัตริย์หรือราชวงศ์อังกฤษ เป็นการสะท้อนถึงประวัติศาสตร์ของการล่าอาณานิคมที่ผ่านมา”

แกวิน วิลเลียมสัน รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของอังกฤษเผยแพร่ข้อความผ่านโซเชียลมีเดียทวิตเตอร์ โดยระบุว่า “นักศึกษามหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดที่ลงมติ ปลดรูปพระราชินี ถือเป็นเรื่องไร้สาระสิ้นดี พระราชินีเป็นประมุขแห่งรัฐและเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งที่ดีที่สุดเกี่ยวกับสหราชอาณาจักร ในช่วงรัชสมัยอันยาวนาน เธอทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อส่งเสริมคุณค่าของอังกฤษ ในเรื่องความอดทนอดกลั้น การไม่แบ่งแยก และความเคารพให้แพร่หลายไปทั่วโลก”

หลังวิลเลียมสันออกมาแสดงความเห็นดังกล่าว ไดนาห์ โรส ประธานวิทยาลัยแมกดาเลน ได้ตอบกลับวิลเลียมสันอย่างรวดเร็วว่า “นี่คือข้อเท็จจริงบางประการเกี่ยวกับวิทยาลัยแมกดาเลนและสมเด็จพระราชินี ห้องสันทนาการกลางเป็นองค์กรของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา และองค์กรนี้ไม่ใช่ตัวแทนของวิทยาลัย เมื่อไม่กี่ปีก่อน น่าจะช่วงประมาณ พ.ศ.2556 (ค.ศ.2013) นักศึกษาได้ซื้อภาพพิมพ์ของพระราชินีเพื่อนำมาตกแต่งห้องสันทนาการของพวกเขา”

“พวกเขาเพิ่งลงคะแนนเสียงให้ปลดรูปดังกล่าวลง การตัดสินใจทั้งสองครั้งนี้เป็นการตัดสินใจของพวกเขาเอง ไม่ใช่ของวิทยาลัย วิทยาลัยแมกดาเลนสนับสนุนเสรีภาพในการพูด การถกเถียงทางการเมืองอย่างยิ่ง และสิทธิการปกครองตนเองของสมาชิกของห้องสันทนาการส่วนกลางของวิทยาลัยอย่างยิ่ง ไม่แน่ว่าพวกเขาอาจจะโหวตให้นำรูปพระราชินีขึ้นไปติดอีกครั้ง หรือพวกเขาอาจจะไม่นำมาติดอีกก็ได้ อย่างไรก็ตาม รูปภาพจะถูกเก็บไว้อย่างปลอดภัย”

โรส กล่าวต่อว่า “การเป็นนักศึกษานั้นมีความหมายมากกว่าการเรียน มันเกี่ยวกับการสำรวจและถกเถียงแนวคิดต่าง ๆ ด้วย บางครั้งมันมันก็เป็นเรื่องของการยั่วยุคนรุ่นเก่า ดูเหมือนว่าการทำเช่นนั้นจะไม่ค่อยยากนักในยุคสมัยนี้”  

การออกมาแสดงความคิดเห็นของรัฐมนตรีวิลเลียมสันเกิดขึ้น หลังรัฐบาลอังกฤษกดดันมหาวิทยาลัยให้คุ้มครองสิทธิการเข้ามาในเขตมหาวิทยาลัยของผู้พูดที่ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ เมื่อเดือนที่แล้ว (พ.ค. 64) รัฐบาลอังกฤษได้เสนอกฎหมายเสรีภาพในการพูดฉบับใหม่ โดยกฎหมายฉบับนี้จะทำให้หภาพนักศึกษาตกอยู่ภายใต้การสอดส่องของหน่วยงานกำกับดูแลการศึกษาระดับอุดมศึกษา หรือที่เรียกว่าสำนักงานเพื่อนักศึกษา นอกจากนี้ยังจะมีการแต่งตั้ง “ผู้ต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการพูด” ขึ้นมาเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะกรรมการบริหารของสำนักงานดังกล่าว

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวจะอนุญาตให้นักวิชาการ นักศึกษา หรือวิทยากรรับเชิญ สามารถขอรับค่าชดเชยผ่านศาลได้ หากพวกเขาเป็นฝ่ายได้รับความเสียหายจากนโยบายของมหาวิทยาลัย

แมทธิว แคทซ์แมน ประธานกลุ่มสมาชิกห้องสันทนาการส่วนกลางของวิทยาลัยแมกดาเลนบอกกับสื่อเดอะเดลี่เทเลกราฟ ว่า “ภาพถูกปลดออกแล้ว เราตัดสินใจแล้วว่าจะปล่อยให้ห้องส่วนกลางเป็นห้องที่มีความเป็นกลาง นั่นคือสิ่งที่เป็นใจความของเรื่องนี้ วิทยาลัยจะมีการแสดงภาพมากมายเกี่ยวกับสรรพสิ่งใดก็ได้ แต่ห้องส่วนกลางควรเป็นพื้นที่ไว้ให้ทุกคนรู้สึกสบายใจ”


เรียบเรียงจาก
President of Oxford college defends students’ right to remove Queen’s photo, the Guardian, 9-6-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net