หวังอี้ รมว.กต.จีน ยัน รัฐบาลปักกิ่งหนุนกองทัพพม่า

ระหว่างการประชุม รมต. ต่างประเทศ จีน-อาเซียน เมื่อวันที่ 6-8 มิ.ย. 64 หวังอี้ รมว.กต.จีน กล่าวกับวุนนาหม่องลวิน ตัวแทนกองทัพพม่า รัฐบาลปักกิ่งพร้อมหนุนพม่า ขณะที่นักสังเกตการณ์มอง นักธุรกิจจีนเตรียมเข้ามาลงทุนในพม่าเยอะขึ้น และโครงการ BRI ของจีน ที่เคยทำไว้ในสมัยรัฐบาล NLD อาจกลับมาเดินเครื่องอีกครั้งในเร็ววัน 

ด้านองค์กร AAPP รายงาน 4 เดือนหลังกองทัพพม่าทำ รปห. มีผู้เสียชีวิตอย่างต่ำ 861 ราย และในจำนวนนี้ มีผู้เสียชีวิตจากการถูกซ้อมทรมานระหว่างถูกเจ้าหน้าที่จับกุม 22 ราย

การประชุมล้านช้าง-แม่โขง เมื่อวันที่ 6-8 มิ.ย. 64 (ที่มา กระทรวงการต่างประเทศ)
 

12 มิ.ย. 64 สำนักข่าวอิระวดี รายงานเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 64 ระบุว่า หวังอี้ รมว.กต.จีน กล่าวกับตัวแทนจากรัฐบาลพม่า ในการประชุมระดับ รมว.ต่างประเทศ อาเซียน-จีน สมัยพิเศษ เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 64 รัฐบาลป้กกิ่งพร้อมทำงานร่วมกับพม่า โดยนโยบายแดนมังกรจะไม่ส่งผลกระทบต่อเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งใน และนอกประเทศ 

“จีนสนับสนุน กำลังสนับสนุน และจะสนับสนุนพม่าในการเลือกแนวทางพัฒนาประเทศที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของตัวเอง” หวังอี้ กล่าวกับวุนนาหม่องลวิน ระหว่างการประชุม

ความเห็นของ รมว.กต.จีนครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากประเทศพม่ากำลังเผชิญวิกฤตทางเศรษฐกิจ และการเมือง หลังกองทัพทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 64 

สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรแบบจำเพาะเจาะจงต่อผู้นำพม่า ขณะที่บริษัทจากโลกตะวันตกบางบริษัทตัดสินใจย้ายการลงทุนออกนอกประเทศพม่า เพื่อตอบโต้การทำรัฐประหาร และการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรงโดยกองทัพที่เข่นฆ่าผู้ประท้วงอย่างมากมาย 

รายงานจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือ AAPP ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนที่มอนิเตอร์ข่าวการปราบผู้ประท้วงด้วยความรุนแรง และการจับกุมด้วยข้อหาทางการเมือง เปิดเผยตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุปราบผู้ประท้วงต้านรัฐประหารด้วยความรุนแรง ตั้งแต่ 1 ก.พ. 64 จนถึง 11 มิ.ย. 64 มีจำนวนแล้วทั้งสิ้น 861 ราย และในจำนวนนี้ มีผู้เสียชีวิตจากการถูกซ้อมทรมานระหว่างถูกเจ้าหน้าที่จับกุม 22 ราย

ท่าทีของรัฐบาลจีนครั้งล่าสุดทำให้เชื่อได้ว่า นักลงทุนจีนพร้อมเข้ามาเติมเต็มช่วงว่างที่นักลงทุนจากตะวันตกถอนตัวออกไป 

หนังสือพิมพ์ของรัฐบาลพม่า ระบุว่า รมต.ทั้งสองประเทศ มีการหารือถึงการผลักดันความร่วมมือของทั้งสองประเทศ และ ‘สานต่อโครงการทวิภาคีระหว่างจีน-เมียนมา ที่เคยทำไว้’ และประเด็นอื่น ๆ 

“แน่นอน พวกเขา (จีน) มีความยินดีที่ได้เข้าไปลงทุน” นักสังเกตการณ์การเมืองจีน-พม่า กล่าว พร้อมระบุว่า ตอนนี้กองทัพพม่ากำลังประสบวิกฤตทางเศรษฐกิจ และต้องการการลงทุนจากต่างชาติอย่างเร่งด่วน 

“พวกเขา (กองทัพพม่า) จะตอบรับความต้องการ สำหรับการอนุมัติโครงการการลงทุนอย่างรวดเร็ว” นักสังเกตการณ์ กล่าว พร้อมระบุนั่นหมายความว่า โครงการเศรษฐกิจที่มีการตกลงระหว่างรัฐบาลพรรค NLD และจีน ก่อนหน้านี้ ดูเหมือนว่าจะได้ฤกษ์กลับมาเดินเครื่องในเวลาอันใกล้ แต่เปลี่ยนเป็นภายใต้การดำเนินงานของรัฐบาลทหาร 

ทั้งนี้ ระหว่างที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เยือนพม่าเมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ. 2563) รัฐบาลปักกิ่ง และรัฐบาลพลเรือนพม่าที่ถูกยึดอำนาจโดยกองทัพ มีการตกลงและพยายามเร่งรัดโครงการความร่วมมือทวิภาคี ‘ระเบียงเศรษฐกิจ’ อย่างเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าผิ่ว การพัฒนา ‘เมืองย่างกุ้งใหม่’ (New Yangoon City) ในนครย่างกุ้ง เมืองหลวงทางเศรษฐกิจการลงทุนของเมียนมา และเขตเศรษฐกิจรัฐฉาน และกะฉิ่น ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ชายแดนจีน 

อย่างไรก็ตาม โครงการที่มีการเซ็นข้อตกลงระหว่างการเยือนของสี จิ้นผิง และรัฐบาล NLD นั้น กลับไม่มีโครงการไหนเลยที่ได้เริ่มดำเนินการอย่างจริง ๆ จัง ๆ ในสมัยรัฐบาล NLD โดยรัฐบาลพลเรือนขณะนั้นอ้างว่า ทุกโครงการต้องได้รับการตรวจสอบ และทบทวนอย่างรอบคอบ ก่อนเริ่มดำเนินการจริง โดยเฉพาะการประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการ และความสอดคล้องต่อแผนพัฒนาแห่งชาติของประเทศเมียนมาหรือไม่  

ทั้งนี้ หลังการทำรัฐประหาร กองทัพพม่าปรับโครงสร้างคณะกรรมการที่มีความสำคัญอย่างน้อย 3 องค์กร เพื่อผลักดันโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่ในพม่า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มเส้นทางสายไหม ศตวรรษที่ 21 (Belt and road initiative) ของจีน 

คณะกรรมการที่มีการปรับโครงสร้างเหล่านี้ มีบทบาทสำคัญในการประสานงานกับรัฐบาลแดนมังกร ในการดำเนินงานโครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจแบบทวิภาคี ที่เกี่ยวข้องกับ BRI วางแนวทางยุทธศาสตร์โครงการ, เซ็นบันทึกข้อตกลงร่วม (MoU) และจัดการประชุมระหว่างรัฐบาลของทั้งสองฝ่าย

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Chinese Foreign Minister Assures Myanmar Junta It Has Beijing’s Support

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท