'ธงชัย' ชี้  'ประวัติศาสตร์เสียดินแดน' วิธีวิทยาผิดฝาผิดตัว ผิดยุคสมัย และไม่เข้ากับข้อเท็จจริง

'ธงชัย วินิจจะกูล' ชี้ 'ประวัติศาสตร์เสียดินแดน' วิธีวิทยาที่ผิดฝาผิดตัว ผิดยุคสมัย และไม่เข้ากับข้อเท็จจริง แต่เป็น “ต้นแบบ” อธิบายเรื่องอื่นๆ ที่ก่อปัญหาอีกสารพัด 

  • 'พล็อต' แบบเดียวกันของประวัติศาสตร์เสียดินแดน - 'หมาป่ากับลูกแกะ' ที่ฝังหัวประชาชน 
  • วิธีวิทยาพื้นฐาน 3 ประการ - ผิดฝาผิดตัว ผิดยุคสมัย และไม่เข้ากับ 'ข้อเท็จจริง'
  • 'รัฐชาติ' ที่เพิ่งเกิดผ่านการแข่งกันยึดครอง - 'เอกราช' ในความหมายปัจจุบันใช้ไม่ได้กับอดีต
  • ผลของ 'ประวัติศาสตร์เสียดินแดน' ต้นแบบการอธิบายประวัติศาสตร์อื่นๆ ที่ก่อปัญหาสารพัด

12 มิ.ย.2564 ทีมสื่อคณะก้าวหน้า รายงานว่าท่าง คณะก้าวหน้า โดย คอมมอน สคูล (Common school) จัดบรรยายหลักสูตร วิชา ประวัติศาสตร์นอกขนบ รายวิชาย่อย สยามยุคกึ่งจักรวรรดิกึ่งอาณานิคม ซึ่งในตอนที่ 2 นี้ ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ Wisconsin Madison สหรัฐอเมริกา บรรยายในหัวข้อ “เสียดินแดนหรือจักรวรรดิสยามได้ดินแดน” โดยมี ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ดำเนินรายการ

ธงชัย เริ่มต้นการบรรยายโดยการพูดถึงการบ้านที่ให้ผู้เข้าร่วมได้ไปค้นคว้ามา กรณีการที่ประเทศไทยหรือสยามเสียดินแดนทั้งหมดกี่ครั้ง ก่อนจะสรุปในช่วงนี้ว่า เรื่องการเสียดินแดนที่ข้อมูล จำนวนครั้ง ต่างกัน เพราะประวัติศาสตร์การเสียดินแดนใช้มโนทัศน์ย้อนเวลาไปอธิบายอดีตอย่างผิดฝาผิดตัว ผิดยุคสมัย จึงตึความได้หลายแบบ มโนทัศน์ที่ใช้กับข้อเท็จจริงไม่เข้ากัน จึงไม่มีหลักเกณฑ์นับ ที่ค้นมาจึงเปลี่ยนได้หมด เพราะไม่ใช่เรื่องข้อมูลประวัติศาสตร์ แต่เป็นเรื่องจินตนาการจะรักชาติ หรือภาษาวิชาการคือมั่ว โมเมเอา ส่วนที่ระยะหลังเชื่อว่าเสียดินแดน 14 ครั้ง เพราะอิทธิพลของสื่อสมัยใหม่ อินเตอร์เน็ตต่างๆ ซึ่งน่าสังเกตว่า ความรักชาติทำให้เรื่องการเสียดินแดนเพิ่มจำนวนมากขึ้น ก็เพราะไม่มีหลักเกณฑ์นี้เองจึงเปิดโอกาสให้จินตนาการได้ไม่จำกัด เรื่องการเสียดินแดนเป็นเรื่องเหลวไหล สมควรต้องสงสัย โดยเฉพาะที่บอกว่า 14 ครั้ง นั้นงอกมาจากไหน แล้วทำให้คนเชื่อกันหมด นักวิชาการชาตินิยมทั้งหลาย หากเชื่อว่าสยามเสียดินแดน อยากให้มีหลักเกณฑ์ทางวิชาการด้วย

'พล็อต' แบบเดียวกันของประวัติศาสตร์เสียดินแดน - 'หมาป่ากับลูกแกะ' ที่ฝังหัวประชาชน 

ธงชัย กล่าวว่า การเขียนประวัติศาสตร์ไม่ใช่การพูดความจริงทั้งหมด ตนเชื่อว่านักประวัติศาสตร์ไม่ได้ตั้งใจโกหก แต่ความคิดทำให้ตีความต่างกัน ซึ่งการสร้าง ประกอบเรื่อง หยิบยืม เค้าโครงเรื่องที่คุ้นเคย ก็ทำนองเดียวกับคนเขียนนิยาย ซึ่งพล็อตประวัติศาสตตร์ตามขนบเรื่องเสียดินแดน จะเริ่มจากฝรั่งเศส อังกฤษ คุกคามต้องการยึดดินแดนที่เป็นของสยามมานานแล้ว จากนั้นจะพยายามอธิบายว่าทำไมต้องการยึดครอง เช่น มีทรัพยากร มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์อย่างไร  ต่อด้วยอธิบายกระบวนการที่มหาอำนาจรุกคืบ และลงท้ายที่จะหาข้ออ้างยึดครอง ซึ่งอธิบายต่ออีกว่าสยามได้อดทน ใช้เหตุผลอย่างสุดกำลัง แต่ลงท้าย อังกฤษ ฝรั่งเศสก็ต้องการดินแดนให้ได้ เราจึงต้องยอมเสียสละส่วนน้อยไว้ เพื่อรักษาส่วนใหญ่ 

“พล็อตประวัติศาสตร์เสียดินแดนแบบนี้ สามารถผลิตเป็นหนังสือ บทความ นิยาย ได้เยอะแยะมาก มาย โดยพล็อตรวมๆ แทบไม่ต่างกัน ส่วนความซับซ้อนมากน้อยแล้วแต่กรณี และก็มักจะไปจบแบบกรณี ร.ศ. 112 ซึ่งสรุปออกมาเป็นทำนองว่า หมาป่าฝรั่งเศสกับลูกแกะสยาม แต่อย่างไรก็ตามฝ่ายชาตินิยมก็รู้ดีว่าใช้ไม่ได้กับทุกกรณี เช่น กรณีทางมลายูก็ไม่ใช่กับพล็อตนี้ เพราะเป็นเรื่องที่มีการต่อรองแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน หรือกรณีทวายและปีนัง สองครั้งนั้นก็ไม่ลงพล็อตนี้ แต่อยางไรก็ตามพล็อตหมาป่ากับลูกแกะ ที่ถูกผลิตซ้ำๆ ก็ทำให้คนไทย คิดว่าเป็นแบบนี้ทุกกรณีตามที่พวกเขาเชื่อว่าเสียดินแดน” ธงชัย กล่าว 

วิธีวิทยาพื้นฐาน 3 ประการ - ผิดฝาผิดตัว ผิดยุคสมัย และไม่เข้ากับ 'ข้อเท็จจริง'

ธงชัย กล่าวว่า ประวัติศาสตร์เสียดินแดนตามพล็อดังกล่าว ใช้วิธีวิทยาพื้นฐาน 3 ประการ คือ 1.ใช้มุมมองจักรวรรดิเจ้ากรุงเทพ 2.ใช้บริบทการเมืองระหว่างประเทศของยุคอาณานิคม ไม่ใช่การเมืองของจักรวรรดิระดับภูมิภาค ทั้งๆ ที่ขณะนั้นไม่ใช่รัฐชาติสมัยใหม่ และ 3.ใช้ทัศนะอธิปไตยเหนือดินแดน หรือภูมิรัฐศาสตร์แบบรัฐสมัยใหม่ไปอธิบายภูมิรัฐศาสตร์ที่ตกทอดมาจากการเมืองระหว่างอาณาจักรยุคศักดินา คือใช้บริบทเสียดินแดนในทัศนะสมัยใหม่เข้าไปปน ซึ่งจากวิธีวิทยาทั้ง 3 ประการนี้ ทำให้ เรื่องดินแดนของใคร มีมโนทัศน์ว่า ดินแดนเหลานั้นเป็นของสยามชัดเจนมานานแล้ว เพียงแค่การขีดเส้นแขตแดนยังไม่ชัดเจน ยังไม่สมบูรณ์เป็นปัญหาทางเทคนิค ขณะที่ข้อเท็จจริงคือ ดินแดนประเทศราชนั้น กำกวม ไม่ชัดเจน เพราะขึ้นกับเจ้าประเทศราชมากกว่าหนึ่งในเวลาเดียวกัน

“ต่อมาคือ เรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน ก็มีมโนทัศน์ว่า อธิปไตยเหนือดินแดนต้องไม่ซ้อนทับ ต้องเป็นของรัฐใดรัฐหนึ่งอย่างชัดเจน ขณะที่ข้อเท็จจริงคือ รัฐแบบเก่า อธิปไตยไม่ผูกติดกับดินแดน แต่ผูกติดกับราชา ซึ่งมีอำนาจลดหลั่นเป็นชั้นๆ อำนาจของราชาและอธิราชเหนือดินแดนหนึ่งๆ ซ้อนทับกันได้,  ส่วนเรื่องความขัดแย้ง ก็ทำให้มีมโนทัศน์ว่า มหาอำนาจอาณานิคมคุกคามสยาม รังแกสยาม หาเรื่องเพื่อเข้ายึดครอง แต่ข้อเท็จจริง คือ มหาอำนาจฝรั่งเศสกับจักรวรรดิสยามแย่งชิงดินแดนกัน, เรื่องคู่ขัดแย้ง ก็มีมโนทัศน์ว่า หมาป่าฝรั่งเศสรังแกลูกแกะสยามอย่างไร้เหตุผล ขณะที่ข้อเท็จจริง คือ ต่างก็เป็นหมาป่าทั้งคู่ คือหมาป่าตัวใหญ่ฝรั่งเศส กับ หมาป่าตัวเล็กสยาม ซึ่งหมาป่าสยามพยายามสู้แต่แพ้ โดยลูกแกะนั้น แท้จริงแล้วก็คือบรรดาประเทศราชที่ถูกจัดสรรดินแดนและผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอธิปไตยของรัฐสมัยใหม่” ธงชัย กล่าว 

'รัฐชาติ' ที่เพิ่งเกิดผ่านการแข่งกันยึดครอง - 'เอกราช' ในความหมายปัจจุบันใช้ไม่ได้กับอดีต

ธงชัย กล่าวด้วยว่า ทัศนะทั้ง 3 อย่างนี้ เป็นทัศนะและกรอบมโนทัศน์หลัง เหตุการณ์ ร.ศ. 112 ที่ใช้ย้อนกลับไปอธิบายก่อนหน้านั้นอย่างผิดฝาผิดตัว ทำให้มโนทัศน์ที่ใช้ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ประวัติศาสตร์เสียดินแดน ทำให้เรามองข้ามการผนวกดินแดนของประเทศราชซึ่งเดิมกำกวมอยู่ให้กลายเป็นดินแดนผืนเดียวกันกับอธิปไตยของสยามตามคอนเซ็ปต์ของรัฐแบบสมัยใหม่ เป็นการสร้างอำนาจของรัฐสมัยใหม่บนฐานมุมมองของอำนาจแบบจักรวรรดิ  สรุปก็คือ กระบวนการแข่งกันยึดครองดินแดนนั่นเอง เป็นกระบวนการเพื่อสถาปนารัฐสมัยใหม่ ที่รัฐหนึ่งๆ มีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนชัดเจนแต่ผู้เดียว สิ้นสุดอำนาจแบบจักรวรรดิของราชาต่างๆ ซ้อนทับเหนือดินแดนเดียวกัน

“การเสียดินแดน เป็นกระบวนการเดียวกันกับการกำเนิดของสยามที่เป็นรัฐสมัยใหม่ ประเทศไทยที่เป็นรัฐชาติเพิ่งเกิดขึ้น ในกระบวนการเดียวกับที่เราเรียกว่าเสียดินแดน การใช้รัฐชาติย้อนกลับไปเป็นกรอบอธิบาย เป็นการย้อนอธิบายกับข้อเท็จจริงอย่างผิดฝาผิดตัว แม้กระทั่งคำว่าเอกราช ที่ใช้อธิบาย ก็เป็นเอกราชในความหมายปัจจุบันแทบทั้งนั้น ทั้งที่ในความหมายเก่า หมายถึงษัตริย์ที่เป็นใหญ่สุด อย่างกรณีเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง กษัตริย์พม่ายกมาตีก็เป็นฝ่ายกล่าวว่า กังวลว่าตัวเองจะเสียอิสรภาพ ซึ่งคำว่าอิสรภาพกับเอกราชสมัยนั้นตรงกัน คือหมายความว่า เป็นผู้ใหญ่สุด เขาเกรงเรื่องเสียความเป็นผู้ใหญ่สุด เสียพระเกียรติ ไม่ได้เป็นเรื่องการเข้ายึดครอง” ธงชัย กล่าว

ผลของ 'ประวัติศาสตร์เสียดินแดน' ต้นแบบการอธิบายประวัติศาสตร์อื่นๆ ที่ก่อปัญหาสารพัด

ธงชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ผลโดยตรงของ ประวัติศาสตร์เสียดินแดน คือทำให้ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมตกผลึก ด้วยโครงเรื่องแบบหมาป่ากับลูกแกะ ซึ่งเป็นเรื่องเล่าที่ก่อให้เกิดอารมณ์ทั้งโกรธแค้นต่อศัตรู และดื่มด่ำจงรักภักดี ก่อให้เกิดงานทรงพลังมากมาย เกิดการเสียเลือดเนื้อในหลายๆกรณีพิพาท ก่อให้เกิดการปลุกเร้าโกรธเกลียดฆ่าคนในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ก็เกิดมาแล้ว และยังทำให้กษัตริย์ราชวงจักรี ถือเป็นนักชาตินิยมที่ต่อสู้กับลัทธิอาณานิคมคนแรกๆ ของภูมิภาค รวมถึง ประวัติศาสตร์การเสียดินแดนก็ได้กลายเป็นกรอบมโนทัศน์ที่ถูกย้อนกลับไปทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนปัจจุบัน ตั้งแต่การสู้ปลดแอกกับเขมรแล้วตั้งสุโขทัย และอื่นๆ อีกจิปาถะ ทั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สอง ก็มองเป็นการเสียเอกราชแบบสมัยใหม่ เหล่านี้ ทำให้เกิดปัญหามากมาย ส่งผลต่อความเข้าใจผิดไปอีกหลายเรื่องด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท