COVID-19: 13 มิ.ย. ติดเชื้อใหม่ 2,804 ราย หายเพิ่ม 4,143 ราย - สธ.แจงจัดสรรวัคซีนเป็นอำนาจของจังหวัด

13 มิ.ย. 2564 ไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 2,804 ราย สะสม 195,909 ราย หายเพิ่ม 4,143 ราย หายสะสม 154,414 ราย เสียชีวิต 18 ราย เสียชีวิตสะสม 1,449 ราย - สธ.แจงจัดสรรวัคซีนเป็นอำนาจของจังหวัด 

COVID-19: 13 มิ.ย. ติดเชื้อใหม่ 2,804 ราย หายเพิ่ม 4,143 ราย - สธ.แจงจัดสรรวัคซีนเป็นอำนาจของจังหวัด

COVID-19: 13 มิ.ย. ติดเชื้อใหม่ 2,804 ราย หายเพิ่ม 4,143 ราย - สธ.แจงจัดสรรวัคซีนเป็นอำนาจของจังหวัด

13 มิ.ย. 2564 ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ระลอก เม.ย. ว่า ไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,804 คน เป็นการติดเชื้อใหม่ 2,395 คน ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 409 คน ยอดติดเชื้อสะสม 167,046 คน หายป่วยเพิ่ม 4,143 คน หายป่วยสะสม 126,988 คน เสียชีวิต 18 คน เสียชีวิตสะสม 1,355 คน ขณะที่ข้อมูลตั้งแต่ปี 2563 มีผู้ป่วยสะสม 195,909 คน เสียชีวิตสะสม 1,449 คน หายป่วยสะสม 154,414 คน

สมุทรสาคร ติดโควิดเพิ่ม 139 คน - เรียนออนไลน์ถึงสิ้น มิ.ย.นี้

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสาคร รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ข้อมูล ณ วันที่ 12 มิ.ย.2564 เวลา 24.00 น. ว่า จ.สมุทรสาคร พบผู้ป่วยรายใหม่ 139 คน มาจาการค้นหาเชิงรุก 57 คน และไปรักษาที่โรงพยาบาล 82 คน ผู้ป่วยยืนยันสะสม 21,442 คน หายป่วยแล้ว 19,841 คน เสียชีวิตสะสม 34 คน

นพ.นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอเมือง ขี่รถจักรยานยนต์ตระเวนไปตามบ้านประชาชน เพื่อเก็บตัวอย่างน้ำลายนำมาตรวจหาเชื้อ COVID-19 เพื่อยกระดับการเฝ้าระวังเชิงรุก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัย กลุ่มเปราะบาง และผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งไม่สามารถเดินทางไปยังจุดตรวจหาเชื้อเองได้ หรือเดินทางไม่สะดวก

“มีระบบเฝ้าระวังเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง พยายามหาเครื่องมือการตรวจที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสม คุ้มทุน คุ้มค่า และปลอดภัย”

นอกจากการเฝ้าระวังเชิงรุกตามชุมชนและกลุ่มเปราะบางแล้ว ขณะนี้จังหวัดสมุทรสาคร ตัดสินใจใช้มาตรการเรียนออนไลน์ ลักษณะเดียวกับการแพร่ระบาดระลอกที่สอง เมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับการติดเชื้อ COVID-19 ในกลุ่มเด็ก ซึ่งนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ขอให้โรงเรียนลดค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ปกครอง

“ให้มีผลกระทบต่อผู้ปกครองน้อยที่สุด วันนี้เพิ่งตัดสินใจให้เรียนออนไลน์อย่างน้อยจนถึงสิ้นเดือนนี้”

ขณะที่จังหวัดยังเดินหน้าฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชน และสร้างภูมิคุ้มกันของจังหวัด โดยวันนี้ยังมีประชาชนเข้ารับบริการอย่างต่อเนื่อง เช่น กลุ่มผู้สูงวัยและกลุ่มผู้มีโรคประจำตัวเข้ารับการฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลนครท่าฉลอม ซึ่งวันนี้ได้รับจัดสรรวัคซีนแอสตราเซเนกา 400 โดส ซึ่งผู้รับการฉีดจะผ่านขั้นตอนตามระบบที่โรงพยาบาลนัดผ่านทางระบบหมอพร้อม

ส่วนอีกจุดหนึ่ง คือ การฉีดนอกโรงพยาบาลในศูนย์การค้าแลนด์มาร์ค อยู่ในตัวเมืองสมุทรสาคร มีเป้าหมาย 800 คน เป็นการฉีดวัคซีนเข็มแรกสำหรับแอสตราเซเนกา และฉีดเข็มที่ 2 สำหรับวัคซีนซิโนแวค โดยภาพรวมจังหวัดสมุทรสาคร ฉีดวัคซีนแล้ว 230,000 โดส

นนทบุรี ติดโควิดเพิ่ม 230 คน พบในไซต์ก่อสร้าง 154 คน

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 230 คน ขณะนี้สาเหตุการติดเชื้อส่วนใหญ่พบในตลาด สถานที่ทำงาน แคมป์คนงาน และในครอบครัว โดยผู้ป่วยรายใหม่เป็นหญิง 65 คน ชาย 165 คน แรงงานข้ามชาติ 48 คน (เมียนมา 35 คน ลาว 1 คน กัมพูชา 12 คน) ภูมิลำเนาในพื้นที่ อ.ปากเกร็ด 160 คน อ.เมือง 37 คน อ.บางใหญ่ 14 คน อ.บางบัวทอง 9 คน อ.บางกรวย 9 คน อ.ไทรน้อย 1 คน เป็นผู้ที่มีอาการ 50 คน คิดเป็นร้อยละ 22 และไม่มีอาการ 180 คน คิดเป็นร้อยละ 78

ทั้งนี้ การตรวจเชิงรุกไซต์ก่อสร้าง ต.ปากเกร็ด อ.ปากเกร็ด พบติดเชื้อ 149 คน, การติดเชื้อกับบุคคลในครอบครัว 15 คน, สถานที่กักตัว 5 คน, เพื่อน-เพื่อนร่วมงาน 61 คน, รับจ้าง 22 คน, บริษัทอลูมิเนียม 6 คน, ไซต์ก่อสร้าง 5 คน (ไซต์ก่อสร้าง ต.ปากเกร็ด บริษัท subcontract), รอตรวจเพื่อทำงาน (พักข้างที่พักขยะ อ.บางใหญ่ 2 คน), รับจ้างทั่วไป 9 คน, รับราชการ 4 คน (กทม. 2 คน ธุรการโรงเรียน 1 คน ไม่ระบุ 1 คน), ค้าขาย 11 คน และขับรถสาธารณะ 5 คน (แท็กซี่ 4 คน รถเมล์ ปอ.505 จำนวน 1 คน)

สธ.แจงจัดสรรวัคซีนเป็นอำนาจของจังหวัด 

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีหลายโรงพยาบาลประกาศเลื่อนการรับวัคซีนโควิด-19 โดยระบุว่า กระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่กระจายวัคซีนไปยังแต่ละจังหวัด ตามคำสั่งของ ศบค. ไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบกระจายเป็นรายโรงพยาบาล จากนั้นเมื่อวัคซีนไปถึงจังหวัด ก็เป็นอำนาจของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการจัดสรรไปในแต่ละโรงพยาบาล ซึ่งการฉีดวัคซีนขณะนี้เป็นการฉีดในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค หลังจากกลุ่มแรกที่ได้รับการฉีด คือ บุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรหน้าด่านไปแล้วตั้งแต่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ กระบวนการกระจายวัคซีนจะเริ่มทันทีเมื่อผ่านกระบวนการตรวจสอบรุ่นการผลิตโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยก่อนหน้ามีวัคซีนเข้ามา 2 ล้านโดส ได้จัดสรรให้ 76 จังหวัด ถึง 1.1 ล้านโดส ส่วน กทม. เนื่องจากมีสัดส่วนของประชาชนและหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง จึงแบ่งดังนี้ กทม.ได้รับแอสตราเซเนกา 3.5 แสนโดส และซิโนแวค 1.5 แสนโดส รวม 5 แสนโดส ส่วนประกันสังคมได้รับ 3 แสนโดส ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) 11 สถาบัน ได้รับ 1.5 แสนโดส

นพ.โสภณ กล่าวยอมรับว่า ความล่าช้าของวัคซีนอาจเกิดขึ้น แต่ไม่เกินสัปดาห์ และไม่เกิดผลกระทบต่อการฉีดในภาพรวม เพราะวัคซีนแอสตราเซเนกาจะเข้ามาอีก 1.5 ล้านโดส ในวันที่ 16-18 มิ.ย.นี้ แต่อาจจะค่อยๆ ทยอยมาก่อน 6 แสนโดส และอีก 9 แสนโดส เพื่อใช้ในการฉีดระหว่างวันที่ 21 มิ.ย.-2 ก.ค. 2564

ที่มาเรียบเรียงจาก Thai PBS [1] [2] [3] | สำนักข่าวไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท