Skip to main content
sharethis

โรงพยาบาลหลายแห่งแจ้งเลื่อนการฉีดวัคซีนที่มีกำหนดการฉีด 14-20 มิ.ย. 2564 นี้ เนื่องจากยังไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีน - หลายจังหวัดแจงมีแค่ 'ซิโนแวค' สำหรับผู้จอง 'แอสตราเซเนกา' หากยืนยันประสงค์จะฉีดเหมือนเดิมให้ติดต่อ รพ. ที่จองคิวไว้ แต่หากอยากเปลี่ยนเป็น 'ซิโนแวค' ก็ฉีดได้เลยไม่ต้องรอคิวใหม่

เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2564 The Reporters รายงานว่าโรงพยาบาลหลายแห่ง แจ้งเลื่อนการฉีดวัคซีนของผู้ที่ลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อม ที่มีกำหนดการฉีดวัคซีนระหว่างวันที่ 14-20 มิ.ย. 2564 เนื่องจากยังไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีน หรือ ได้รับการจัดสรรไม่ครบตามจำนวน อาทิ โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ โรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลเวชธานี โรงพยาบาลนมะรักษ์

ทั้งนี้ ผู้ที่ลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อมในช่วงเวลาระหว่าง 14-20 มิ.ย. 2564 เป็นกลุ่มผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง และเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19

หลายจังหวัดแจงมีแค่ 'ชิโนแวก' สำหรับผู้จอง 'แอสตร้าเซนเนกา' หากยืนยันประสงค์จะฉีดเหมือนเดิม ให้ติดต่อ รพ. ที่จองคิวไว้

ทั้งนี้หลายจังหวัดได้ประกาศผ่านทางโซเชียลมีเดียของสาธารณสุขจังหวัด เช่นที่ จ.เชียงใหม่ แจ้งว่าสำหรับการฉีดวัคซีนในระหว่างวันที่ 14-20 มิ.ย. 2564 นั้น ได้รับแจ้งจากส่วนกลางว่า บริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ไม่สามารถจัดส่งวัคซีนได้ทันในห้วงเวลาดังกล่าวได้ ดังนั้นในระหว่างวันที่ 14-20 มิ.ย. 2564 จะเป็นการฉีดวัคซีนให้เฉพาะผู้ที่ประสงค์จะฉีดวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) เท่านั้น  ส่วนผู้ที่ได้รับคิวฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา ในช่วงระหว่างวันที่ 14-20 มิ.ย. 2564  นั้น หากยืนยันประสงค์จะฉีดเหมือนเดิม ขอให้ติดต่อสถานพยาบาลเพื่อรับคิวฉีดจากสถานพยาบาลที่จองคิวไว้  โดยทางโรงพยาบาลจะแจ้งให้ทราบทางโทรศัพท์ หรือ SMS เมื่อได้รับการจัดสรรวัคซีน อย่างไรก็ตามทางคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ อนุมัติฉีดวัคซีนซิโนแวค ให้คนอายุ 60 ปีขึ้นไปได้ ซึ่งก็มีความปลอดภัยและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ทางการแพทย์ ดังนั้นผู้ที่ได้รับคิวฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา ในระหว่างวันที่ 14-20 มิ.ย. 2564  สามารถเปลี่ยนไปรับการฉีดวัคซีนซิโนแวคได้โดยไม่ต้องรอคิวใหม่

กทม. โต้ สธ. ไม่ได้จัดสรรวัคซีน หมอพร้อม ไม่เกี่ยวเลื่อนฉีดวัคซีน

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่าจากกรณีโรงพยาบาลหลายแห่งประกาศเลื่อนนัดหมายฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนจากรัฐบาล ต่อมา นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยันว่า กรมควบคุมโรคได้กระจายวัคซีนตามคำสั่งของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แล้ว

หลังจากนั้น เป็นหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร เป็นผู้บริหารจำนวนวัคซีน ส่วนที่โรงพยาบาลในพื้นที่ กทม. เลื่อนฉีด เพราะไม่ได้รับวัคซีน จะต้องไปสอบถามข้อมูลจากสำนักอนามัยกรุงเทพฯ ว่าจัดสรรไปในแต่ละแห่งอย่างไรบ้าง

ล่าสุด สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร ชี้แจงผ่านเพจเฟซบุ๊กว่า จากกรณีที่ทางกระทรวงสาธารณสุข แจ้งว่าได้ให้วัคซีนกรุงเทพมหานคร (กทม.) มาแล้ว 1 ล้านโดส ตามแผน เดือน มิ.ย. 2564 นั้น กรุงเทพมหานครขอให้ข้อมูลดังนี้

1.ตามแผนการจัดสรรวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข กทม. ได้รับการแจ้งว่าจะได้รับการจัดสรร AstraZeneca 2.5 ล้านโดส ซึ่งให้ กทม.ไปทำแผนการฉีดให้สอดคล้อง

2.สำหรับวัคซีนที่ใช้ในวันที่ 7-14 มิ.ย 64 กทม.ได้รับวัคซีน AstraZeneca จำนวน 350,000 โดส Sinovac 150,000 โดส

แบ่งการใช้วัคซีน AstraZeneca เป็น

- ระบบหมอพร้อม 181,400 โดส

- เข็มที่สอง 52,600 โดส

- ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง 8,000 โดส

- ประชาชนทั่วไป 100,000 โดส

- สำรองสำหรับควบคุมโรค 8,000 โดส

ส่วน Sinovac แบ่งการใช้เป็น

- เข็มที่สอง สำหรับการควบคุมโรค (พื้นที่ระบาดรุนแรง) 128,000 โดส

- ควบคุมโรคพื้นที่ระบาดใหม่ 26,000 โดส

การจองผ่านระบบหมอพร้อม เป็นการเปิดให้ รพ.ทุกแห่งในกรุงเทพฯ มาช่วยกันฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงที่เปิดพร้อมกันทั้งประเทศ ดังนั้น กทม. จึงไม่ใช่ผู้ควบคุมและผู้ที่จัดสรรวัคซีน ซึ่งในเดือน มิ.ย.นี้ ผู้ที่ลงหมอพร้อมในกรุงเทพฯ มีทั้งสิ้น 450,000 ราย

กทม.ยืนยันว่า กทม.พร้อม สถานที่พร้อม บุคลากรพร้อม และหาก “วัคซีนพร้อม” ตามแผน กทม.พร้อมจะดำเนินการฉีดให้กับประชาชนทันที

ศบค. คลายล็อก 5 สถานที่ใน กทม. มีผล 14 มิ.ย.

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ในฐานะนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการ ศบค. ซึ่งมีหน้าที่สำคัญ ในการสั่งการและวางนโยบายเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งต้องดำเนินการไปด้วยความสมดุลกับความเป็นอยู่ของประชาชน และการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงแจ้งเรื่องสำคัญให้ทราบ 2 เรื่อง

1. หลังจากที่ได้พิจารณาอย่างรอบคอบร่วมกับทุกฝ่าย ทั้งกรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุข และ ศบค. จึงเห็นว่าข้อเสนอของกรุงเทพมหานคร ในการขอผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคสำหรับสถานที่ 5 ประเภทในเขตกรุงเทพมหานคร ที่เคยขอมาก่อนนั้น สามารถให้มีการผ่อนคลายได้ตามเงื่อนไขที่ขอมา เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ประกอบกับที่มีประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯเริ่มได้รับการฉีดวัคซีนเป็นจำนวนพอสมควร โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพในกิจการดังกล่าวข้างต้น ซึ่งสถานที่ทั้ง 5 ประเภทนั้นประกอบด้วย

- พิพิธภัณฑ์ และโบราณสถานต่างๆ
- สวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ต่างๆ
- คลินิกเสริมความงาม
- สถานประกอบการนวดเพื่อสุขภาพ (อนุญาตเฉพาะนวดฝ่าเท้า)
- ร้านทำเล็บและร้านสัก

โดยการผ่อนคลายนี้จะมีผลตั้งแต่วันจันทร์ที่ 14 มิถุนายนนี้ เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ซึ่งทางกรุงเทพมหานคร จะออกประกาศแนบท้ายซึ่งเป็นมาตรการป้องกันโรค เพื่อให้สถานที่ทั้ง 5 ประเภทนี้ได้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และอาจถูกสั่งปิดได้หากไม่ปฏิบัติตาม

2. โครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” (Phuket Sandbox) เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากข้อสั่งการของตน ในการหาหนทางในการทดลองเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเข้ามาโดยไม่ต้องกักตัว เพื่อฟื้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของประเทศมาตลอด โดยพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุด คือ จังหวัดภูเก็ต แหล่งท่องเที่ยวและเป็นเกาะที่สามารถควบคุมการเข้าออกได้

ดังนั้น จึงมีการเตรียมความพร้อมด้วยการระดมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในภูเก็ต ซึ่งในวันนี้ฉีดไปมากกว่า 70% ของประชากรทั้งจังหวัดแล้ว โดยเฉพาะพี่น้องในภาคการท่องเที่ยวที่เราจะฉีดให้ครบ 100% ซึ่งจะเปิดรับเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ และต้องพักอาศัยในภูเก็ตอย่างน้อย 14 วันก่อนจะไปท่องเที่ยวในพื้นที่อื่นต่อได้ และจะมีระบบตรวจโรคและติดตามตัวอย่างเข้มงวดด้วย

โดยโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” นี้ได้ผ่านการพิจารณาจากศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) และคณะรัฐมนตรีได้รับทราบเบื้องต้นแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการปรับปรุงรายละเอียดเพื่อให้ ศบค. และ ครม. อนุมัติอย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มได้ในวันที่ 1 กรกฎาคม นี้ และจะเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นๆต่อไป

สำหรับส่วนกิจการอื่นๆ เช่น ร้านอาหาร หรือพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นๆที่ยังมีเงื่อนไขการปิดสถานที่ หรือมีข้อจำกัดต่างๆ ตน และ ศบค. มีการประเมินสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา โดยคำนึงถึงทั้งความปลอดภัยทางสาธารณสุขและการดำเนินชีวิตของประชาชน และจะประกาศให้ทราบทันทีที่มีมติในการเปลี่ยนแปลง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net