Skip to main content
sharethis

'อนุสรณ์ ธรรมใจ' ชี้ตลาดการเงินโลกผันผัวนจากสัญญาณไม่ชัดเจนของ US QE Taper หรือการทยอยถอนมาตรการการเงินผ่อนคลายเชิงปริมาณ ขณะที่ธนาคารกลางทั่วโลกเริ่มส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เตือนปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ในไทยจากโครงสร้างทางการเงินอ่อนแอ

13 มิ.ย. 2564 นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต กล่าวถึง เศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง โดยมีการคาดการณ์ล่าสุดโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจะอยู่ที่ระดับ 6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นจากการประมาณการช่วงต้นปีที่คาดว่าจะเติบโตได้เพียง 5.5% โดยเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกานั้นมีการเติบโตที่ร้อนแรงกว่าที่คาดการณ์ อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไตรมาสแรกของสหรัฐฯสูงถึง 6.4% และคาดว่าจีดีพีไตรมาสสองจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก และอัตราการเงินเฟ้อล่าสุดเดือนพฤษภาคมขึ้นไปแตะระดับ 5% เป็นดัชนีราคาผู้บริโภคที่สูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2551 อัตราเงินเฟ้อนี้เป็นภาวะชั่วคราวหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องติดตามดูเพราะจะส่งผลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไป ทางด้านประเทศจีนเองก็มีอัตราการขยายตัวในปีนี้ที่ระดับ 8.5% (ตามการคาดการณ์ล่าสุดของธนาคารโลก) ดัชนีราคาผู้ผลิตของจีนก็พุ่งขึ้น 9% เป็นอัตราสูงสุดในรอบ 12 ปี ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นตาม สิ่งนี้บ่งชี้ว่าแรงกดดันเงินเฟ้อโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน ประเทศในกลุ่มอียูหลายประเทศ ประเทศในกลุ่มเอเชียแปซิฟิกหลายประเทศมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดีกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม 

จึงคาดว่ามีความเป็นไปได้ที่ ธนาคารกลางสหรัฐ อาจจะออกมาประกาศลดวงเงินเข้าซื้อพันธบัตรในช่วงปลายปีนี้หรืออาจเกิดขึ้นในไตรมาสสามและอาจเริ่มดำเนินการ QE Taper หรือ ทยอยถอนมาตรการการเงินผ่อนคลายเชิงปริมาณช่วงต้นปีหน้า การดำเนินการในช่วงเวลาดังกล่าวจะสอดรับกับเม็ดเงินจากการลงทุนภาครัฐ การใช้จ่ายภาครัฐผ่านแผนเศรษฐกิจ American Rescue Plan 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ของโจ ไบเดน จะเริ่มส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจชัดเจนขึ้น หากรัฐบาลโจ ไบเดนสามารถดำเนินการได้ตามรายละเอียดของแผนเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ บวกกับงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ มีการคาดการณ์โดยสถาบันการเงินระดับโลกหลายแห่งมองว่า อาจทำให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 0.7-2% จากที่สำนักวิจัยส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้เดิม และอาจทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น แผนเศรษฐกิจ American Rescue Plan น่าจะทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯสูงถึง 8% ในปีนี้และน่าจะทำให้ตลาดแรงงานเข้าสู่การจ้างงานเต็มที่ตามปรกติได้ภายในปลายปีหน้า งบประมาณขนาดใหญ่ภายใต้ Build Back Better Campaign Agenda ของโจ ไบเดน เมื่อบวกเข้ากับงบประมาณใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้สหรัฐอเมริกาแซงญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และเยอรมันในแง่ของสัดส่วนการใช้จ่ายทางการคลังที่เป็น Fiscal Support เทียบกับจีดีพีเพื่อสู้กับวิกฤติสุขภาพที่นำมาสู่วิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้ (Health Crisis and Economic Crisis) ด้วย Fiscal Support เทียบกับจีดีพีที่ขึ้นมาอยู่อันดับที่หนึ่งของโลก รวมเม็ดเงินทั้งหมดตั้งแต่เกิดโรคระบาดอยู่ที่ 5.2 ล้านล้านดอลลาร์ (CARES Act 2.4 trillion+Covid Relief 0.9 Tril.+Biden’s American Fiscal Recue Plan 1.9 Tril.) 

สภาพคล่องที่มีอยู่สูงในขณะนี้ได้ดันให้ตลาดหุ้นและสินทรัพย์ทางการเงินปรับตัวขึ้นไปสูงเกินปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เชื่อว่าการทยอยถอนมาตรการการเงินผ่อนคลายเชิงปริมาณจะส่งผลต่อความผันผวนของตลาดการเงินโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อมีการทำ QE Taper เมื่อปี ค.ศ. 2013 หรือ ปี พ.ศ. 2556 นั้นตลาดการเงินโลกผันผวนรุนแรงมาก ตลาดหุ้นตอบสนองค่อนข้างรุนแรงโดยเฉพาะในตลาดการเงินดาวรุ่งหรือตลาดเกิดใหม่ เกิดภาวะตึงตัวในตลาดการเงิน ราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับลงมาก ส่งผลให้ความมั่งคั่งและความเชื่อมั่นของนักลงทุนและประชาชนลดลง ส่งผลต่อการประคับประคองการฟื้นตัวในช่วงเวลาดังกล่าว 

อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าบทเรียนการทำ QE Taper เมื่อปี ค.ศ 2013 น่าจะทำให้เราพอคาดการณ์ได้ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯน่าจะทยอยส่งสัญญาณในการให้ ตลาดการเงิน รับข่าว QE Taper เป็นระยะๆเพื่อไม่ให้ตลาดผันผวนรุนแรง แต่ความผันผวนเกิดขึ้นอยู่แล้ว การตั้งใจสื่อสารว่า การปรับลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรและดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นในอนาคต เป็นเรื่องที่จะทยอยเกิดขึ้นในครึ่งหลังของปีนี้ ขณะที่ธนาคารกลางของหลายประเทศเริ่มทยอยส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เช่น ธนาคารกลางแคนาดาจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยปีหน้า ธนาคารกลางนอร์เวย์ปรับขึ้นครึ่งปีหลังปีนี้ ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ บราซิลส่งสัญญาณเข้มงวดเพิ่มขึ้น และ ล่าสุด ธนาคารกลางรัสเซียได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.50% สู่ระดับ 5.5% การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อวันศุกร์ที่ 11 มิ.ย. ที่ผ่านมาเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่สามเพื่อสกัดอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นแตะระดับ 6% ในเดือนพฤษภาคม 

อนุสรณ์ แสดงความเชื่อมั่นว่าเหตุการณ์ความผันผวนทางการเงินอย่างปี พ.ศ. 2556 ไม่น่าจะเกิดขึ้น และ ภาวะ Taper Tantrum ซึ่งเป็นภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงอย่างปี พ.ศ. 2556 และมีเงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่จำนวนมากหลังการประกาศปรับลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ สภาวะดังกล่าวก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน แต่นักลงทุนและผู้กำหนดนโยบายทางการเงินในประเทศต่างๆต้องติดตามความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯให้ดี หากพุ่งขึ้นเร็วและแรงจำเป็นต้องปรับสถานะการลงทุนให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมของตลาดการเงินโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ความผันผวนเกิดขึ้นแน่นอนแต่ไม่น่าจะรุนแรงเท่าปี พ.ศ. 2556 เพราะธนาคารกลางของแต่ละประเทศจะดำเนินนโยบายการเงินหรือปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างระมัดระวัง แม้นมีแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ แต่การดำเนินนโยบายเข้มงวดทางการเงินและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่น่าจะเกิดขึ้นจนกว่าสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตลาดแรงงานมีความชัดเจนกว่านี้ 

การตอบสนองต่อการประกาศถอนมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณจะไม่รุนแรง เพราะเศรษฐกิจของหลายประเทศรวมทั้งสหรัฐฯมีความแข็งแกร่งเพียงพอในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐฯทยอยส่งสัญญาณให้ตลาดการเงินรับรู้แม้นบางครั้งจะไม่มีความชัดเจนมากนักก็ตาม นอกจากนี้ มุมมองของนักลงทุนที่มีต่อความผันผัวนในตลาดการเงินโลกแสดงให้เห็นว่านักลงทุนสามารถรับความเสี่ยงได้มากขึ้น 

สำหรับตลาดการเงินไทยนั้นมีความเปราะบางสูงกว่า และ อาจมีความผันผวนมากกว่าบางตลาดได้เนื่องจากโครงสร้างทางการเงินของกิจการและธุรกิจอุตสาหกรรมบางส่วนอ่อนแอมากและถูกซ้ำเติมจากผลกระทบการแพร่ระบาดของ Covid-19 มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นมีหนี้สินเพิ่มมากกว่า 4 ล้านล้านบาท บริษัทกิจการท่องเที่ยว กิจการสายการบิน กิจการขนส่ง ค้าปลีก ร้านอาหาร กิจการเหล่านี้จำนวนไม่น้อยต้องเพิ่มทุนในช่วงครึ่งปีหลังหรือต้องขายทรัพย์สินเสริมสภาพคล่องและชำระหนี้ สัดส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทจดทะเบียนปี พ.ศ. 2563 อยู่ที่ 2.83 เท่าเมื่อเทียบกับ 2.57 เท่าในปี พ.ศ. 2561 หนี้สินรวมของบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้นแตะระดับ 29.28 ล้านล้านบาท สูงกว่าจีดีพีประเทศประมาณเกือบ 2 เท่า ขณะที่ผลกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนลดลงจากระดับ 9.2 แสนล้านบาทในปี พ.ศ. 2561 มาอยู่ที่ 4.1 แสนล้านบาทเท่านั้นในปี 2563 และมีสัญญาณดีขึ้นบ้างในไตรมาสแรกปีนี้กำไรสุทธิอยู่ที่ 2.58 แสนล้านบาท คาดว่าไตรมาสสองผลกำไรสุทธิน่าจะชะลอตัว ส่วนไตรมาสามและสี่ควรจะกระเตื้องขึ้นซึ่งน่าจะทำให้ผลกำไรสุทธิทั้งปีกลับมาอยู่ระดับ 7-8 แสนล้านบาทได้ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจและกิจการนอกตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเป็นกิจการขนาดย่อม ขนาดเล็กขนาดกลางยังประสบปัญหาทางธุรกิจและสภาพคล่องทางการเงินอย่างมาก 

อนุสรณ์ ชี้ว่าในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า หากเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำกว่า 2% มีความเสี่ยงจะเกิดวิกฤติหนี้สินทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยกลุ่มธุรกิจที่จะมีปัญหาในการชำระหนี้มากที่สุด ได้แก่ กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรมกลุ่มธุรกิจสายการบินและการขนส่งคน กลุ่มธุรกิจสื่อ กลุ่มธุรกิจจัดงานแสดงสินค้าและงาน Event ต่างๆ กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และรับเหมาก่อสร้าง กลุ่มธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจสปาและเสริมสวย กลุ่มกิจการโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเอกชน เป็นต้น ขณะเดียวกัน ฐานะทางการคลังของประเทศอ่อนแอลง โดยมีการก่อหนี้จำนวนมากทำให้ สัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อจีดีพีทะลุ 60% ในปีหน้า เกิดความอ่อนไหวต่อการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยและสภาพคล่องในตลาดการเงินโลกที่อาจตึงตัวขึ้นในปีหน้า 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net