Skip to main content
sharethis

'นอนหลับไม่เพียงพอ' อีกหนึ่งความทุกข์ของ 'คนทำงานภาคสาธารณสุข' ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพที่ดีของระบบการดูแลสุขภาพโดยรวมด้วย

'นอนหลับไม่เพียงพอ' อีกหนึ่งความทุกข์ของ 'คนทำงานภาคสาธารณสุข'
ที่มาภาพประกอบ: National Heart, Lung, and Blood Institute - NIH

การระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งทางร่างกายและจิตใจแก่คนทำงานภาคสาธารณสุข โดยเฉพาะการนอนหลับที่ไม่เพียงพอ

ทั้งนี้การนอนหลับไม่เพียงพอนั้นส่งผลเสียต่อความเป็นอยู่ที่ดี และมีการพิสูจน์ทางการแพทย์แล้วว่าการนอนหลับไม่เพียงพอเป็นสาเหตุทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากอาการหัวใจวายรวมถึงโรคหลอดเลือดสมอง

ซูมิ ลี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้าน Ageing studies แห่ง University of South Florida College of Behavioral & Community Sciences Internal Grant Program ได้เขียนบทความเกี่ยวกับปัญหาการนอนหลับไม่เพียงพอของคนทำงานภาคสาธารณสุขลงในสื่อ The Conversation โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ปัญหาการนอนหลับเป็นเรื่องปกติของคนทำงานภาคสาธารณสุข

มีงานศึกษาระบุว่าผู้ดูแลในสถานพยาบาลระยะยาว (โฮมแคร์) ส่วนใหญ่มีปัญหาในการนอนหลับ เช่น นอนหลับยาก และการตื่นกลางดึกบ่อยครั้ง
มีงานศึกษาระบุว่าผู้ดูแลในสถานพยาบาลระยะยาว (โฮมแคร์) ส่วนใหญ่มีปัญหาในการนอนหลับ เช่น นอนหลับยาก และการตื่นกลางดึกบ่อยครั้ง | ที่มาภาพประกอบ: agilemktg1 (Public Domain Mark 1.0)

คนทำงานภาคสาธารณสุขต้องเผชิญกับความเครียดมากมาย มีการศึกษาหลายชิ้นพบปัญหานี้ ตัวอย่างเช่นการทบทวนการศึกษาหลายชิ้นที่เกี่ยวกับอุปสรรคในการนอนหลับของพยาบาลเมื่อปี 2559 พบว่าร้อยละ 55 ทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และร้อยละ 30-70 ระบุว่านอนหลับน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อคืน 

ส่วนงานวิจัยของลี เองนั้นเน้นไปที่พยาบาลและผู้ดูแล เช่น ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยดูแลส่วนบุคคล และผู้ช่วยด้านสุขภาพที่บ้าน ก็พบว่ามีผลการวิจัยที่คล้ายคลึงกัน โดยพบว่าร้อยละ 57 ของผู้ดูแลในสถานพยาบาลระยะยาว (โฮมแคร์) และร้อยละ 68 ของพยาบาลในโรงพยาบาลมะเร็ง รระบุว่ามีปัญหาในการนอนหลับ เช่น นอนหลับยาก และการตื่นกลางดึกบ่อยครั้ง

ปัญหาการนอนมักพบในคนทำงานภาคสาธารณสุขมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคนงานในอุตสาหกรรมอื่น ๆ จากรายงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) จากข้อมูลปี 2556-2557 ในกลุ่มอาชีพหลัก 22 กลุ่มพบว่า 'ผู้ปฏิบัติงานด้านการดูแลสุขภาพ' และ 'แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป' มีระยะเวลาการนอนหลับสั้นสุดเป็นอันดับ 2 และ 3 ที่ได้นอนหลับไม่ถึง 7 ชั่วโมง โดยร้อยละ 40 ของผู้ปฏิบัติงานเหล่านี้ระบุว่าได้นอนหลับพักผ่อนในระยะเวลาที่สั้นมาก

การสูญเสียเวลาในการนอนหลับ ของคนทำงานภาคสาธารณสุขยังส่งผลกระทบในรูปแบบต่าง ๆ ทีมวิจัยที่ทำงานร่วมกับลี ได้เปรียบเทียบคุณภาพการนอนหลับของคนทำงานดูแล 1,220 คน กับคนทำงานประจำในภาคไอที 637 คน พบว่ามากกว่าร้อยละ 60 ของทั้ง 2 กลุ่มประสบปัญหาการนอนหลับอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เช่น การนอนหลับไม่เพียงพอ ระยะเวลาการนอนหลับสั้น หรือการตื่นกลางดึกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม คนทำงานดูแลมีลักษณะการนอนหลับที่แย่กว่าคนทำงานประจำในภาคไอทีในมิติการนอนหลับที่หลากหลาย (ความสม่ำเสมอ ความพึงพอใจ ความตื่นตัว ระยะเวลา) ซึ่งมีความสำคัญต่อการทำงานและสุขภาพ  

ความสูญเสียจากการนอนหลับไม่เพียงพอ


ในปี 2553 มีการประมาณการว่าการนอนไม่หลับสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถึง 63.2 พันล้านดอลลาร์ | ที่มาภาพ: Christian Erfurt/Unsplash

อาการนอนไม่หลับก่อให้เกิดภาระด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ในปี 2553 มีการประมาณการว่าการนอนไม่หลับทำให้คนทำงานในสหรัฐฯ ต้องสูญเสียผลผลิตรวม 252.7 วันต่อปี หรือประมาณ 63.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนทำงานภาคสาธารณสุข ระยะเวลาการนอนหลับไม่เพียงพอ คุณภาพการนอนหลับไม่ดีพอ อาจเพิ่มข้อผิดพลาดในการทำงานได้ จากการศึกษาในปี 2563 พบว่าความบกพร่องที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับนั้นสัมพันธ์กับโอกาสที่แพทย์จะรายงานข้อผิดพลาดทางการแพทย์ที่มีนัยสำคัญทางคลินิกถึงร้อยละ 97% การนอนหลับไม่เพียงพอยังสัมพันธ์กับความปลอดภัยของผู้ป่วยที่ลดลง และการให้คะแนนคุณภาพการดูแลของพยาบาลอีกด้วย

การนอนหลับไม่เพียงพอเพียงคืนเดียว สามารถลดประสิทธิภาพการเรียนรู้ได้มากถึงร้อยละ 25 นอกจากนี้ผลของการไม่ได้นอนหลับติดต่อกันเป็นระยะเวลานานต่อประสิทธิภาพการทำงานนั้น เปรียบได้กับความบกพร่องจากการดื่มแอลกอฮอล์ โดยพบว่าการไม่ได้นอนต่อเนื่อง 19 ชั่วโมงนั้นเทียบเท่ากับความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดที่ร้อยละ 0.05 และการไม่ได้นอนต่อเนื่อง 24 ชั่วโมงนั้นเทียบเท่ากับความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดที่ร้อยละ 0.10

ความเสี่ยงต่อสุขภาพของคนทำงานภาคสาธารณสุข

การนอนไม่หลับไม่เพียงแต่ทำร้ายผู้ป่วย แต่ยังส่งผลเสียต่อคนทำงานภาคสาธารณสุขอีกด้วย จากการศึกษาจำนวนมากพบว่าการนอนไม่หลับเรื้อรังจะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะต่าง ๆ รวมทั้งการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและกระดูก โรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดหัวใจ มีงานศึกษาที่ระบุว่าพยาบาลที่ทำงานสลับกะกลางคืนมานานกว่า 15 ปี มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าคนปกติ 1.79 เท่า และ มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่าคนปกติ 1.35 

สาเหตุของปัญหานี้ เกิดจากสภาพการทำงานของคนทำงานภาคสาธารณสุขเอง เช่น ชั่วโมงทำงานที่ไม่ได้มาตรฐาน ความใกล้ชิดกับโรคภัยต่าง ๆ ที่คุกคามชีวิต และความเป็นอิสระในชีวิตที่ลดลง อาจทำให้พวกเขาและเธอเสี่ยงต่อปัญหาการนอนหลับได้ง่ายขึ้น ส่วนปัจจัยอื่น ๆ เช่น การถูกปลุกระหว่างนอนหลับ หรือการปรับตัวระหว่างการเปลี่ยนกะการทำงาน เป็นต้น

สภาพที่ตึงเครียดเหล่านี้อาจประกอบกับภาระการดูแลทั้งผู้รับการดูแลหรือคนป่วย พยาบาลหลายคนพบว่าตัวเองทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วย 2-3 คนในเวลาเดียวกัน คนทำอาชีพพยาบาลไม่เพียงแต่ให้การดูแลผู้ป่วยในที่ทำงานเท่านั้น พวกเธอยังต้องทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลลูก และดูแลพ่อแม่ที่ชราภาพอีกด้วย

ภาวะที่ตึงเครียดเหล่านี้อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของพวกเขาและเธอ และเมื่อการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ทั่วโลกมาถึง ปัญหานี้ก็ดูจะซับซ้อนขึ้นไปอีก

จะปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับของคนทำงานภาคสาธารณสุขให้ดีขึ้นได้อย่างไร

การระบาดใหญ่ของ COVID-19 ส่งผลให้คนทำงานภาคสาธารณสุขทำงานหนักขึ้นหลายเท่า
การระบาดใหญ่ของ COVID-19 ส่งผลให้คนทำงานภาคสาธารณสุขทำงานหนักขึ้นหลายเท่า และได้พักผ่อนน้อยลงด้วยเช่นกัน | ที่มาภาพประกอบ: Diversity Nursing blog

ในบทความของลี ยังระบุว่าคนทำงานภาคสาธารณสุขเข้าใจอย่างชัดเจนว่าพวกเขาและเธอต้องการความช่วยเหลือในการปรับปรุงการนอนหลับให้มีคุณภาพดีขึ้น ในการสำรวจเจ้าหน้าที่ดูแลสุขภาพที่โรงพยาบาลและสถานสงเคราะห์ ทีมงานของลีพบว่าร้อยละ 92 ของพยาบาล และร้อยละ 66 ของผู้ดูแล ระบุว่ายินดีหากจะมีการยื่นมือ​เข้าไปช่วยเหลือเรื่องการแก้ไขปัญหาการนอนหลับที่เป็นนโยบายของที่ทำงานของพวกเขาและเธอ เช่น สวัสดิการด้านการบำบัดปัญหาการนอนไม่หลับ

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายก็คือการยื่นมือ​เข้าไปช่วยเหลือเรื่องการแก้ไขปัญหาการนอนหลับที่เป็นนโยบายของรัฐหรือที่ทำงานนั้นไม่เหมาะกับทุกคน งานศึกษาชิ้นหนึ่งของลีได้ตรวจสอบว่าการลดความเครียดจากการทำงาน เช่น ความขัดแย้งระหว่างงานและครอบครัว โดยการเพิ่มการควบคุมตารางเวลาของพนักงานและการสนับสนุนจากหัวหน้างานจะช่วยปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับได้หรือไม่ พบว่าแม้ว่าการยื่นมือ​เข้าไปช่วยเหลือนี้จะเพิ่มระยะเวลาการนอนหลับในหมู่พนักงานไอทีประมาณ 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่กลับไม่มีการเพิ่มระยะเวลาการนอนหลับในหมู่คนทำงานดูแลเลย การค้นพบนี้ชี้ให้เห็นว่าสภาพแวดล้อมการทำงานที่แตกต่างกันนั้น อาจส่งผลต่อการยื่นมือ​เข้าไปช่วยเหลือเรื่องการแก้ไขปัญหาการนอนหลับของที่ทำงาน

งานศึกษาของลียังได้ทำการค้นหาว่าการยื่นมือ​เข้าไปช่วยเหลือเรื่องการแก้ไขปัญหาการนอนหลับของที่ทำงานแบบใดจะได้ผลดีที่สุดสำหรับคนทำงานภาคสาธารณสุข โดยเมื่อถามพยาบาลพวกเธอตอบว่าต้องการการช่วยเหลือแบบไหน ส่วนใหญ่ชอบการบำบัดแบบ 'อาศัยสติ' (Mindfulness-based) มากกว่าการบำบัด 'ทางความคิดและพฤติกรรม' (Cognitive behavioral therapy) 

การบำบัดแบบอาศัยสติ (Mindfulness-based) เป็นการบำบัดด้วยการรู้อาศัยสตินั้นให้ เป็นการความสำคัญกับบุคคลในช่วงเวลาปัจจุบันมากขึ้น การสังเกตและยอมรับความคิดและความรู้สึกอย่างเป็นกลาง การทำสมาธิอาจช่วยให้อาการนอนไม่หลับดีขึ้นได้โดยการลดความตื่นตัวทางสรีรวิทยาและลดปัจจัยทางจิตวิทยา เช่น การครุ่นคิด เป็นต้น

ส่วนการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy) เป็นการบำบัดที่เชื่อว่าความคิดที่เกิดขึ้นมีผลต่อพฤติกรรมและอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง ด้วยเหตุนี้เองการเปลี่ยนแปลงความคิดหรือความเชื่อที่ไม่ถูกต้องบางอย่างจะมีผลทำให้พฤติกรรมการนอนหลับดีขึ้น และที่สำคัญผู้ป่วยจะมีภาวะความกังวลกับการหลับลดลง อาทิ เช่น ความเชื่อที่ว่าต้องนอนหลับ 8 ชั่วโมงต่อวัน และ การหลับได้เยอะทำให้ร่างกายแข็งแรง เป็นต้น [1]

อย่าปล่อยให้คนทำงานภาคสาธารณสุข ทนทุกข์กับการนอนไม่หลับอีกต่อไป

ในตอนท้ายของบทความ ลีระบุว่าการนอนหลับไม่ใช่แค่ปัญหาส่วนตัวเท่านั้น ปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรมหลายอย่างส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพการนอนหลับ และสำหรับคนทำงานภาคสาธารณสุข เป็นที่ชัดเจนว่าสภาพแวดล้อมในการทำงานของพวกเขาและเธอไม่เอื้อต่อการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ

คนทำงานภาคสาธารณสุขต้องการการนอนหลับที่เพียงพอ เพื่อให้พวกเขาและเธอสามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความชุกของอาการนอนไม่หลับในหมู่คนทำงานภาคสาธารณสุขไม่เพียงแต่สร้างความกังวลให้กับสวัสดิภาพของพวกเขาและเธอเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคุณภาพที่ดีของระบบการดูแลสุขภาพโดยรวมด้วย

เพื่อสนับสนุนคนทำงานภาคสาธารณสุข เราต้องปล่อยให้พวกเขาและเธอได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ. 

 

ที่มาเรียบเรียงจาก
Lack of sleep is harming health care workers – and their patients (Soomi Lee, The Conversation, 17 May 2021)

อ้างอิงเพิ่มเติม
[1] https://www.nonthavej.co.th/Insomnia-2.php
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net