เอลซัลวาดอร์รับรองให้บิตคอยน์ถูกกฎหมายเป็นประเทศแรก

เอลซัลวาดอร์กลายเป็นประเทศแรกของโลกที่รับรองให้บิตคอยน์กลายเป็นสกุลเงินถูกกฎหมาย หลายฝ่ายวิจารณ์ว่ารัฐบาลผ่านกฎหมายบิตคอยน์อย่างรวดเร็ว แต่คนใช้จริงในประเทศมีน้อย ส่วนการออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิอื่น ๆ กลับเชื่องช้า

บูเคเล อดีตนายกเทศมนตรีของกรุงซานซัลวาดอร์ (เมืองหลวงของเอลซัลวาดอร์) ที่ชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเมื่อ 2 ปีก่อนมีชื่อเสียงในฐานะเป็นผู้ชื่นชอบเทคโนโลยี นอกจากนี้ บูเคเลยังรู้วิธีการชิงพื้นที่สื่อผ่านการใช้สิ่งน่าตื่นเต้นได้เป็นอย่างดี

แม้จะมีความกังวลว่านโยบายใหม่นี้จะทำให้การเจรจากับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) หรือ IMF ยากขึ้น โดยเอลซัลวาดอร์กำลังพยายามขออนุมัติโครงการกับ IMF เป็นเงินมูลค่ากว่า 1 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ แต่กฎหมายดังกล่าวก็ผ่านสภาในช่วงคืนของวันอังคารก่อนอย่างราบรื่นด้วยคะแนนเสียง 62 ต่อ 84 สภาคองเครสอยู่ใต้การควบคุมของพรรคการเมืองของประธานาธิบดีบูเคเลและพันธมิตร

กฎหมายที่อนุญาติให้ประชาชนสามารถใช้บิตคอยน์เพื่อชำระหนี้ได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย ควบคู่กับสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ นั้นจะมีผลบังคับใช้ภายใน 90 วัน และอัตราการแลกเปลี่ยนระหว่างบิตคอยน์และดอลล่าร์ ชาวเอลซัลวาดอร์จะสามารถจ่ายภาษีเป็นบิตคอยน์ได้ และผู้ขายสินค้าและบริการทั้งหมดจะต้องยอมรับการจ่ายเงินเป็นบิตคอยน์ด้วย เว้นเสียแต่ว่าไม่มีเทคโนโลยีที่จำเป็นในการรับจ่ายเงินเป็นบิตคอยน์เท่านั้น

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา บูเคเลในวัย 39 ปีได้ประกาศนโยบายดังกล่าวในงานสัมมนาบิตคอยน์ในเมืองไมอามี่ ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

“นโยบายนี้จะสร้างเงินและช่วยมอบการเข้าถึงบริการทางการเงินให้กับประชาชนหลายพันคนที่อยู่นอกเศรษฐกิจในระบบ ส่วนในระยะกลางและระยะยาวเราหวังว่าการตัดสินใจเล็ก ๆ นี้อย่างน้อยจะสามารถช่วยผลักดันมนุษยชาติไปในทางถูกได้เล็กน้อย” บูเคเลกล่าว

บูเคเล ซึ่งในอดีตเคยเป็นฝ่ายบริหารการตลาด เคยชี้ว่าบิตคอยน์จะสามารถทำให้ชาวเอลซัลวาดอร์ในต่างประเทศส่งเงินกลับมาให้ครอบครัวในประเทศได้ ซึ่งใน ค.ศ. 2019 มีมูลค่าสูงถึง 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ฯ หรือนับเป็น 1 ใน 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product หรือ GDP)

ประธานาธิบดีบูเคเล ซึ่งกล่าวว่ากฎหมายฉบับใหม่จะ “นำมาซึ่งการเข้าถึงบริการทางการเงิน การลงทุน การท่องเที่ยว นวัตกรรม และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศของเรา” ก่อนหน้านี้ได้โพสต์รูปตัวเองมีตาเป็นเลเซอร์ลงในทวิตเตอร์ เหมือนกับผู้สนับสนุนการใช้บิตคอยน์ที่มีชื่อเสียงคนอื่น ๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม การออกกฎหมายฉบับใหม่ดังกล่าวก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เช่นเดียวกัน

บาทหลวงโจเซ่ มาเรีย โทเจอิรา ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนของมหาวิทยาลัยอเมริกากลาง ระบุว่าชาวเอลซัลวาดอร์ที่มีเทคโนโลยีสามารถเข้าถึงบิตคอยน์ได้จริง ๆ แล้วมีอยู่น้อยมาก

“การตัดสินใจครั้งนี้ค่อนข้างยากที่เข้าใจ มันดูเหมือนเป็นเรื่องเกี่ยวกับการโชว์ ซึ่งในหนึ่งในลักษณะของรัฐบาลนี้มากกว่า กล่าวคือมีโฆษณาชวนเชื่อมากมาย แต่มีความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างเพื่อช่วยเหลือประชากรที่ยากจนน้อยมาก” บาทหลวงกล่าว

เดวิด โมราเลส จากกลุ่มคริสโตซัล ซึ่งส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคอเมริกากลาง ระบุว่ากฎหมายดังกล่าวเป็น “การตลาดทางการเมือง” และความเร็วของการตัดสินใจเรื่องนี้ของรัฐบาลช่างแตกต่างจากเรื่องอื่น ๆ มากเหลือเกิน เช่น การปฏิเสธไม่ยอมพิจารณากฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิเกี่ยวกับการใช้น้ำหรือการแก้กฎหมายที่ต่อต้านขัดขวางการทำแท้งเป็นต้น

“มันความคิดที่ผุดขึ้นมาในหัวประธานาธิบดีและกลายเป็นกฎหมายภายในไม่กี่ชั่วโมง” โมราเลสกล่าว “การตัดสินใจที่สำคัญเช่นนี้เกิดขึ้นในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การตลาด แทนที่จะมีการถกเถียงในระดับชาติอย่างแท้จริง”

คาร์ลอส คาร์คัช ศาสตราจารย์วิทยาลัยเศรษฐกิจและธุรกิจขั้นสูงของประเทศเอลซัลวาดอร์ ระบุว่าบิตคอยน์มีความผันผวนสูงมาก หมายความว่านักลงทุน “เสี่ยงที่จะกลายเป็นคนรวย และเป็นคนจนในวันถัดมา” แต่คาร์คัชก็เสริมว่าการใช้บิตคอยน์ “ทั้งไม่จำเป็น และไม่สะดวก...แต่ตราบที่ยังมีใครยอมรับการจ่ายเป็นบิตคอยน์อยู่ เช่นเดียวกับที่พวกเขารับเงินดอลล่าร์ มันก็คงไม่มีปัญหาอะไร”

แม้บูเลเลกล่าวว่าประชาชนกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของเอลซัลวาดอร์จะขาดการเข้าถึงบริการทางการเงินแบบกระแสหลัก แต่การใช้บิตคอยน์เพื่อส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวในระดับโลกยังมีอยู่เป็นหย่อม ๆ เท่านั้น การแลกเปลี่ยนระหว่างบิตคอยน์กับสกุลเงินท้องถิ่นมักต้องอาศัยตัวกลางนอกระบบและราคามีความผันผวนสูง นอกจากนี้ การซื้อขายยังมีความซับซ้อนและต้องอาศัยความรู้ทางเทคนิคเป็นอย่างมาก

นักวิเคราะห์ระบุว่าการทดลองของเอลซัลวาดอร์จะเป็นประเด็นที่ได้รับการจับตามองอย่างใกล้ชิดในประเทศอื่น ๆ

ริชาร์ด กาลวิน ของกองทุนคริปโต Digital Asset Capital Management กล่าวว่า “จากนี้ตลาดจะให้ความสนใจกับการนำ [เงินคริปโต] มาใช้ โดยดูประเทศเอลซัลวาดอร์และดูว่าประเทศอื่น ๆ จะทำตามหรือไม่ นี่อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญสำหรับบิตคอยน์ต่อไปใน 2-3 ปีข้างหน้า”

เมื่อกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ชื่อของบูเคเลปรากฎอยู่ตามพาดหัวของสื่อต่าง ๆ ทั่วโลกเมื่อเขาพาทหารที่เหนื่อยล้าจากการรบเข้ามาในสภาคองเกรสและบอกให้สมาชิกนิติบัญญัติผ่านกฎหมายเงินกู้สำหรับยุทโธปกรณ์ใหม่ ไม่เช่นนั้นทหารกลุ่มดังกล่าวจะถูกเรียกมาอีกในการประชุมครั้งหน้าภายใน 7 วัน

การกระจุกตัวของอำนาจอยู่กับตัวประธานาธิบดี การโจมตีผู้วิพากษ์วิจารณ์ และการแสดงออกความชิงชังอย่างเปิดเผยต่อการตรวจสอบการใช้อำนาจของประธานาธิบดีก่อให้เกิดความกังวลต่อเส้นทางของประเทศเอลซัลวาดอร์ อย่างไรก็ตาม บูเคเลยังคงมีฐานเสียงสนับสนุนเป็นวงกว้าง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกลุ่มพรรคการเมืองเก่าที่ปกครองประเทศมากกว่า 30 ปีล้มเหลวในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ขณะเดียวกันบูเคเลก็ยังสามารถมอบผลประโยชน์ให้กับกลุ่มต่าง ๆ ได้ในระยะสั้น

เรียบเรียงจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท