เครือข่ายภาค ปชช. ร่อน จม.เปิดผนึกถึง ส.ส. แสดงจุดยืนข้าง ปชต.พม่า-ดันมาตรการช่วยผู้ลี้ภัย

เครือข่ายภาคประชาสังคมฯ ร่อน จม.เปิดผนึกถึง ส.ส. ร่วมแสดงจุดยืนอยู่ข้างฝ่ายประชาธิปไตยเมียนมา ไม่ยอมรับการทำรัฐประหาร เรียกร้องกองทัพพม่ายุติความรุนแรงทั้งปวงต่อผู้ประท้วง พร้อมขอ ส.ส. ร่วมผลักดันแนวทางช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่องค์กร ปชช. และองค์กรสากล ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานอย่างใกล้ชิด

 

14 มิ.ย. 64 ผู้สื่อข่าวประชาไท ได้รับแจ้งวันนี้ (14 มิ.ย.) เครือข่ายภาคประชาสังคม นักวิชาการ ผู้ห่วงใยในปัญหามนุษยธรรม ร่อนจดหมายเปิดผนึกถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ผู้ได้รับเลือกจากประชาชน ออกมาร่วมแสดงจุดอันเป็นหนึ่งเดียวกับนักเมืองพม่าฝั่งประชาธิปไตย และประชาชนพม่า ไม่ยอมรับการทำรัฐประหาร พร้อมทั้งเรียกร้องให้กองทัพยุติความรุนแรง คุกคาม ข่มเหง กักขังผู้ประท้วง 

ในจดหมายขอให้ ส.ส. นำเรื่องสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา เข้าไปอภิปรายในสภาอย่างกว้างขวาง และร่วมกันตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะรัฐบาล ไม่ให้มีความเกรงอกเกรงใจคณะรัฐประหารพม่า 

สุดท้าย ขอให้ ส.ส. ผลักดันมาตรการการเปิดด่านชายแดนไทย-พม่า เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสามารถเข้าถึงผู้ลี้ภัย และมีการวางระบบช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ที่เปิดให้องค์กรสากล และเครือข่ายภาคประชาสังคม ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยของประเทศไทยนับเป็นจุดเด่นที่ได้รับเสียงชื่นชมบนเวทีนานาชาติตลอดมานับตั้งแต่สงครามอินโดจีน ซึ่งไทยควรรักษาชื่อเสียงตรงนี้ต่อไป

“สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะมีบทบาทในการขับเคลื่อนและเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยที่มีความห่วงใยและเอื้ออาทรต่อประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านเรา เพื่อความสงบสุขในภูมิภาคนี้ การเสนอญัตติเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา หรือออกคำแถลงการณ์ร่วมของสมาชิกรัฐสภาผู้รักในประชาธิปไตย และห่วงใยในมนุษยธรรม โดยเร็ว จักถือเป็นโอกาสที่ดียิ่งในการริเริ่มภารกิจอันสำคัญนี้” จดหมายทิ้งท้าย 

เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการ ผู้ห่วงใยในปัญหามนุษยธรรม
จดหมายเปิดผนึกถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
14 มิถุนายน 2564

เรียน  ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์รัฐประหารยึดอำนาจอธิปไตยจากปวงชนชาวเมียนมา และการล้มเลิกการเปิดสมัยประชุมรัฐสภาเมียนมา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 อันสืบเนื่องมาจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563  ดังเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วนั้น พวกเราบรรดาองค์กรภาคประชาสังคมที่มิใช่รัฐหรือมิค้ากำไร และเครือข่ายแวดวงวิชาการ นิสิต นักศึกษาสื่อมวลชน และผู้นำท้องถิ่น ได้มีโอกาสพบปะหารือกับฝ่ายต่างๆ ของเมียนมา และได้เพียรพยายามที่จะร่วมมือประสานกันในการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมต่อผู้หนีภัยจากเงื้อมมือของฝ่ายกองทัพเมียนมามาโดยตลอดระยะเวลากว่า 4 เดือนที่ผ่านมา

ในการนี้พวกเราเห็นว่าท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหลายเป็นนักประชาธิปไตย เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทยที่ผ่านการคัดเลือกมาโดยประชาชนพลเมืองด้วยวิธีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งตามครรลองประชาธิปไตย และในเมื่อเพื่อนนักการเมืองร่วมอุดมการณ์ประชาธิปไตยของเมียนมา และประชาชนพลเมืองเมียนมาเจ้าของอำนาจอธิปไตยต่างถูกฝ่ายกองทัพทหารเมียนมาเข้ามาทำการโดยมิชอบ ผิดกฎหมาย ไร้ความชอบธรรม ทำลายประชาธิปไตย ทำลายระบบรัฐสภา และทำลายอำนาจอธิปไตยของชนชาวเมียนมา  พวกเราจึงอยากเห็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยทั้งหมดได้ร่วมกันออกมาแสดงการคัดค้านการยึดอำนาจโดยฝ่ายกองทัพทหารเมียนมา ยุติการใช้ความรุนแรงและการข่มขู่ ข่มเหง กวาดต้อนคุมขังบรรดาชาวเมียนมาที่เห็นต่าง ที่รักและหวงแหนประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ  หรือนัยหนึ่งท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยเมียนมา และกับชาวเมียนมาเป็นการทั่วไป

นอกจากนั้น พวกเราก็ยังอยากเห็นสภาผู้แทนราษฎรมีการอภิปรายในเรื่องความเป็นไปในเมียนมา และนโยบาย และท่าทีของไทย ของประชาคมอาเซียนอย่างกว้างขวาง เพื่อช่วยกันนำประชาธิปไตยกลับสู่ประเทศเมียนมาเพื่อนบ้าน และเพื่อยุติผลกระทบจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ดังกล่าว ต่อความมั่นคงปลอดภัยตลอดแนวชายแดนไทย-เมียนมา และต่อภาระต่างๆ ของประเทศไทยที่เกี่ยวกับการป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ และการหลั่งไหลเข้ามาของผู้ลี้ภัยจากเงื้อมมือของฝ่ายกองทัพทหารเมียนมาอีกด้วย

พวกเราขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเรียกร้อง กำกับ ควบคุม และสอดส่องให้ฝ่ายบริหารโดยคณะรัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เห็นแก่สิทธิเสรีภาพความเป็นประชาธิปไตย ความปลอดภัย และความมั่นคงในชีวิตของชาวเมียนมาเป็นสำคัญ และยุติการเกรงอกเกรงใจฝ่ายกองทัพทหารเมียนมาโดยใช่เหตุ เพราะอยู่ในฐานะที่ผิดกฎหมายและไร้ความชอบธรรม

พวกเราใคร่ขอให้ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเรียกร้องและร่วมผลักดันให้มีการวางมาตรการการเปิดชายแดนไทย-เมียนมา การวางระบบการบริหารจัดการผู้ลี้ภัยจากเมียนมา โดยให้มีการร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับบรรดาองค์กรต่างๆ ขององค์การสหประชาชาติ และกับบรรดากลุ่มประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม 

ทั้งนี้ พวกเราเห็นว่าตลอดประวัติศาสตร์ความโอบอ้อมอารีของสังคมไทยนั้น ไทยเราได้เปิดพรมแดนให้ผู้หนีภัยเข้ามาสแสวงหาความร่มเย็นของสังคมไทยมาโดยตลอด ประเทศไทยมีประสบการณ์อย่างมากมายเป็นที่จดจำและยกย่องจากประชาคมโลก อาทิ การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมรับชาวเวียดนามสมัยสงครามอินโดจีน-ฝรั่งเศส  ชาวเวียดนามจากสงครามกลางเมือง ชาวเวียดนามที่หลั่งไหลเข้ามาทางทะเล ชาวกัมพูชาที่เข้ามาทั้งในช่วงการกดขี่ของฝ่ายเขมรแดง  การยึดครองกัมพูชาของเวียดนาม และสงครามกลางเมือง  การให้ความช่วยเหลือชาวลาวโดยเฉพาะชาวลาวชาติพันธุ์ม้ง และชาวเมียนมาในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา และยังอาจคั่งค้างอยู่ที่ค่ายอพยพอยู่อีกกว่าแสนคน และล่าสุดชาวเมียนมาชาติพันธุ์โรฮิงญา และชาวเมียนมาจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นแนวทางการดำเนินการที่เปิดเขตแดนอ้าแขนต้อนรับด้วยหลักมนุษยธรรมเป็นสำคัญ ที่พึงได้รับการพัฒนาต่อยอดต่อไป โดยทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะมีบทบาทในการขับเคลื่อนและเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยที่มีความห่วงใยและเอื้ออาทรต่อประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านเรา เพื่อความสงบสุขในภูมิภาคนี้ การเสนอญัตติเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา หรือออกคำแถลงการณ์ร่วมของสมาชิกรัฐสภาผู้รักในประชาธิปไตย และห่วงใยในมนุษยธรรม โดยเร็ว จักถือเป็นโอกาสที่ดียิ่งในการริเริ่มภารกิจอันสำคัญนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท