Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ฤดูกาลฝึกงาน เวียนมาถึงอีกครั้ง วันนี้ทุก อย่างยังคงเหมือนเดิม ‘ผู้ฝึกงาน’ ทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย ยังคง ‘ไร้ตัวตน’ ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา การฝึกงานกลายเป็นเหมือนวัฒนธรรมของ สถานศึกษาทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย เมื่อการฝึกงานกลายเป็นวัฒนธรรมที่จำเป็นต้องกระทำ จึงส่งผลให้ เงื่อนไข เป้าหมาย และรายละเอียดที่สำคัญของกระบวนการฝึกงานถูกมองข้ามไป เกิดการฝึกงานที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน ไม่มีสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน และที่สำคัญไม่มีประสิทธิภาพในการไปช่วยเพิ่มทักษะให้ผู้ฝึกงานตามเป้าหมายที่วางไว้

แม้ว่าสถานศึกษาส่วนใหญ่จะพยายามบอกว่า ‘กระบวนการฝึกงาน’ นั้นเป็นส่วนสำคัญในการศึกษาเรียนรู้นอกเหนือจากความรู้ทางวิชาการที่ได้จากห้องเรียน แต่นั่นดูเหมือนว่าจะเป็นเพียงคำกล่าวลอยๆ ของสถานศึกษาเพียงเท่านั้น สถานศึกษาหลายแห่งจัดให้มีการฝึกงานแบบ ‘ขอไปที’ ส่งนักเรียน นิสิต นักศึกษา ไปฝึกงานตามสถานที่ต่างๆ เพื่อให้จบหลักสูตรเป็นรุ่นๆ ไป โดยขาดการวางมาตราฐานเงื่อนไขควบคุมคุณภาพของการฝึกงาน ขาดการกำหนดควบคุมคุณภาพแผนการฝึกงานที่หน่วยฝึกงานมีให้แก่นักศึกษา ไม่ใส่ใจสภาพแวดล้อมในสถานที่ฝึกงาน ไม่คำนึงถึงโอกาศในการเข้าถึงสถานที่ฝึกงานที่มีคุณภาพของคนแต่ละระดับรายได้ และที่สำคัญที่สุด คือ วาระทางสิทธิมนุษยชนอย่างเรื่อง ค่าแรงที่เป็นธรรม การคุ้มครองแรงงาน ความปลอดภัยในการทำงาน ยังไม่ถูกให้ความสำคัญอย่างจริงจัง 

อีกทั้งยังรวมไปถึง หมุดหมายสำคัญของการฝึกงานอย่างทักษะในการทำงานถูกมองข้ามโดยวิธีการบิดเบือนให้การฝึกงานกลายเป็นแค่เพียง การไปทำงานเพื่อหาประสบการณ์ โดยไม่ได้สนใจว่าประสบการณ์ที่ได้รับมานั้นส่งผลต่อทักษะการเรียนรู้ของผู้ฝึกงานมากน้อยเพียงใด ในทางรูปธรรม สถานศึกษา ยังคงส่งนักศึกษาไปฝึกงาน หรือโฆษณาให้กับโครงการฝึกงานของบริษัทหลายแห่งที่นำนักศึกษาไปใช้แรงงานราคาถูกจนถึงการเป็นแรงงานฟรี โดยไร้การคุ้มครองระหว่างการทำงานจากกฎหมายใดๆ

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า การที่หลายสถานศึกษาพยายามอธิบายว่า ‘กระบวนการฝึกงาน’ นั้นเป็นส่วนสำคัญในการศึกษาเรียนรู้นอกเหนือจากความรู้ทางวิชาการที่ได้จากห้องเรียน นั้นเป็นเพียงวัฒนธรรมทำตามกันไปเท่านั้น ไม่ได้มีการใส่ใจในรายะเอียดกระบวนในช่วงการระหว่างการฝึกงานของ นิสิต นักเรียน นักศึกษา ที่แต่ละสถานศึกษาต้องใส่ใจดูแลอย่างมีความรับผิดชอบมากกว่าการที่ส่งไปฝึกงานให้ผ่านหลักสูตรแล้วรออ่านเอกสารรายงานการฝึกงาน ที่ก็ไม่รู้ว่าเป็นความจริงแค่ไหน จากนักศึกษาหรือจากบริษัท แค่ตอนหลังฝึกงานเพียงเท่านั้น


ปัญหา การฝึกงาน ความไม่เป็นธรรมระดับโลก
ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการฝึกงานนี้ เกิดขึ้นในทั่วโลกแม้แต่ในประเทศที่มีรายได้สูง ก็ยังคงเกิดปัญหานี้ขึ้น เช่นกัน เมื่อกระบวน การฝึกงาน ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นการเรียนรู้หลายที่จึงมองข้ามรายละเอียดของ การฝึกงานไปเสียหมด มันเริ่มต้นจาก ความเชื่อในลัทธิเสรีนิยม ที่พยายามทำให้ทุกคนในสังคมเชื่อเหมือนกันว่า การศึกษาเรียนรู้ คือ ‘การลงทุน’ และกระบวน การฝึกงาน ก็ถูกจับมัดรวมให้เป็นหนึ่งในกระบวนการศึกษา จึงไม่น่าแปลกใจนักที่ในหลายประเทศจะมองว่า การฝึกงาน ไม่ควรที่จะต้องได้รับค่าจ้างหรือสวัสดิการใดๆ เพราะ การฝึกงาน ไม่ใช่การจ้างงาน แต่เป็นการที่ ผู้ฝึกงาน เดินเข้ามาในองค์กรเพื่อขอความเมตตาให้องค์กรมอบประสบการณ์ในการทำงานให้ ความเลวร้ายมากกว่านี้ คือ ในปัจจุบันมีสถานศึกษาหลายแห่งไร้ความรับผิดชอบถึงขั้น มองข้ามประสิทธิภาพของการฝึกงาน ที่ต้อง มีแผนการฝึกงานเพื่อเพิ่มทักษะผู้ฝึกงาน , มีการวัดผลประเมินผลให้ตรงตามแผนงาน ไปแล้วด้วยซ้ำแล้วนำวิธีการฝึกงานแบบ ‘ขอไปที’ คือ การส่ง นักเรียน นิสิต นักศึกษา ไปฝึกงานให้จบๆ หลักสูตรไป เข้ามาใช้แทน

กระบวนการฝึกงานที่ไม่ได้ถูกดูแลเอาใจใส่อย่างรับผิดชอบ ยังส่งผลให้บริษัทขนาดใหญ่ใช้ประโยชน์จากช่องว่างส่วนนี้ เช่น กรณี ผู้พิพากษาในนิวยอร์กระบุว่าบริษัท Fox ได้ ละเมิดกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ โดย ไม่จ่ายเงินให้เด็กฝึกงานในกองถ่ายภาพยนตร์เรื่อง ‘Black Swan’ แนวทางปฏิบัติของกระทรวงแรงงานสหรัฐระบุว่า การฝึกงานต้องเป็นประโยชน์ต่อผู้ฝึกงานมากกว่าการเป็นลูกจ้าง Tracking Intern Lawsuits[1] ได้รวบรวมรายละเอียดทางคดีไว้ พบว่า คดีการฟ้องร้องที่ผู้ฝึกงานได้ลุกขึ้นมาดำเนินคดีกับการฝึกงานฟรีโดยไม่ได้รับค่าจ้างยังมีอีกมาก

หลังจากการพิจารณาคดี Black Swan จบลงด้วยชัยชนะของนักศึกษาฝึกงาน บริษัทขนาดใหญ่ในหลายอุตสาหกรรมที่งานค่อนข้างยืดหยุ่น เช่น สื่อและสิ่งพิมพ์ ที่มีการใช้แรงงานนักศึกษาฝึกงานฟรีมาโดยตลอดก็เริ่มถูกตั้งคำถามตามมา กรณีของ บริษัทยักษ์ใหญ่ซึ่งทำหน้าที่สร้างโลกจินตนาการเป็นขวัญใจของเด็กๆ หลายๆ คนอย่าง Disney World

หลังเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจหลายครั้ง ดิสนีย์ ได้ทำการลดจำนวนพนักงานเต็มเวลาลง ในขณะเดียวกันก็เพิ่มจำนวนผู้ฝึกงานขึ้นเกือบเท่ากับจำนวนพนักงานเต็มเวลาที่ได้ลดไป นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นที่ดินแดนแห่งความฝันของเด็กๆ หลายคน เฉพาะที่ดิสนีย์เวิลด์ มีการดำเนินโครงการฝึกงานที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในแต่ละปี รับนักศึกษาฝึกงาน 7,000 ถึง 8,000 คน เป็นนักศึกษาวิทยาลัยและคนรุ่นใหม่ที่พึ่งจบการศึกษา คนเหล่านี้ ทำงานเต็มเวลา ค่าแรงฟรีไปถึงได้รับแบบขั้นต่ำ การฝึกงานตามโครงการ ที่ Disney World จะใช้เวลาสี่ถึงห้าเดือน แต่ บางโปรแกรมอาจใช้เวลานานถึงเจ็ดเดือน

ตารางการฝึกงานของดิสนีย์ ถูกกำหนดโดยความต้องการกำลังคนของบริษัทเป็นหลัก โดยกำหนดให้นักเรียนต้องระงับการเรียนชั่วคราวและฝึกงานตามเงื่อนไขงานของดิสนีย์ ผู้ฝึกงานทำงานทั้งหมดตามความประสงค์ของบริษัทโดย ไม่มีวันหยุดหรือลาป่วย โดยไม่มีขั้นตอนการร้องทุกข์  โดยไม่มีการรับประกันค่าตอบแทนคนงาน ไม่มีการป้องกันการล่วงละเมิด หรือการป้องกันการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม การทำงานเป็นกะเป็นเวลาสิบสองชั่วโมงเป็นเรื่องปกติของนักศึกษาฝึกงานที่นั่น หลายคนเริ่มงานเวลา 6 โมงเช้าหรือเวลาเที่ยงคืน ผู้ฝึกงานลงทะเบียนเข้ามาโดยไม่ทราบรายละเอียดงานที่ได้รับมอบหมายหรือค่าตอบแทนใดๆ

งานของพวกเขาเหมือนกับสิ่งที่พนักงานประจำทำ และไม่มีการกำกับดูแล ไม่มีการฝึกอบรม หรือการให้คำปรึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับงาน องค์ประกอบด้านการศึกษาใดๆ สิ่งที่เข้าใกล้คำว่าการฝึกงานมากที่สุด คือ ชั้นเรียนสามหรือสี่ชั่วโมงในแต่ละสัปดาห์ สถานศึกษาหลายแห่งอนุญาตให้นักศึกษาเข้ามาฝึกงานในที่แห่งนี้ได้เพราะดิสนีย์เชี่ยวชาญในการสร้างภาพแบรนด์ให้น่าหลงไหล และแน่นอนว่าภาพของโครงการฝึกงานที่นี่ถูกฉายออกไปสู่สาธารณะให้เป็นภาพของโอกาสที่น่าตื่นเต้นในการทำงานที่นี่ “เราไม่ได้อยู่ที่นั่นเพื่อพลิกเบอร์เกอร์หรือให้อาหารแก่ผู้คน เราอยู่ที่นั่นเพื่อสร้างเวทย์มนตร์” ผู้ฝึกงานหน้าร้านอาหารจานด่วนคนหนึ่งบอกกับแหล่งข่าวของ Associated Press (AP)

อดีตนักศึกษาฝึกงานดิสนีย์ Wesley Jones ได้เขียนหนังสืออธิบายถึงดินแดนแห่งความฝันนี้ ชื่อว่า ‘Mousecatraz : The Disney College Program’[2] ในหนังสือบางช่วงกล่าวว่า “จะมีแขกคนไหนรู้บ้างว่าถ้าไม่มีนักศึกษาฝึกงาน วันหยุดพักผ่อนอันแสนจะมีความสุขของพวกเขาจะไม่เกิดขึ้น”  

ภาพสหภาพแรงงาน ที่รีสอร์ทดิสนีย์แลนด์และดิสนีย์เวิลด์ชนะการรณรงค์และให้สัตยาบันสัญญา
สหภาพใหม่สามฉบับ ที่รีสอร์ท Disney World ในฟลอริดาหลังจากโดนกดค่าแรงมาโดยตลอด :
https://www.jwj.org/disney-world-is-anything-but-magical-for-its-employees

จากปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ การประท้วงต่อต้านการฝึกงานที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนก็กำลังเพิ่มสูงขึ้น เช่น กรณีการนัด ‘หยุดงานประท้วง’ ในปี 2018 ของนักเรียนอาชีวะ (CEGEP) และนักศึกษามหาวิทยาลัย ในรัฐควิเบก (Quebec) ออกมาเดินประท้วงประเด็นการฝึกงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างแม้ว่าพวกเขาต้อง ‘ทำงาน’ ภายใต้คำบัญญัติใหม่อย่างคำว่า ‘ฝึกงาน’ อย่างหนัก มีนักศึกษาหลายร้อยคนเดินขบวนไปยัง Place Emilie - Gamelin และมีนักศึกษาในควิเบกมารวมตัวกันต่อสู้ในครั้งนี้มากถึง 58,000 คน จากมหาวิทยาลัยสามแห่งและ สถาบันอาชีวะ (CEGEP) สี่แห่งที่ได้เข้าร่วมการหยุดงานประท้วงในครั้งนี้

“มันยากจริงๆ เพราะฉันต้องฝึกงานวันละแปดชั่วโมง จากนั้นฉันต้องไปทำงานเข้ากะ หกชั่วโมง หลังจากฝึกงาน” Maria Alexandra นักศึกษาของ CEGEP กล่าว “ตอนนี้ฉันทำงานพาร์ทไทม์อยู่ 3 งาน รวมถึงการฝึกงาน และการที่ต้องเรียนในชั้นเรียนด้วย” Matthew Savage นักศึกษาจาก McGill's school of social work กล่าว และนี่คือเสียงบางส่วนของนักศึกษาฝึกงานที่เข้าร่วมการเดินขบวนในครั้งนี้ 

ภาพนักเรียนกว่า 20,000 คนทั่วควิเบกเตรียมประท้วง 18 มีนาคม ไฟล์รูปภาพ Elisa Barbier : https://thelinknewspaper.ca/article/date-of-unlimited-strike-against-unpaid-internships-confirmed

อีกทั้งยังเกิดองค์กรที่ทำงานขับเคลื่อนในประเด็นนี้ขึ้น เช่น Intern Aware ในสหราชอาณาจักร Génération Précaire ในฝรั่งเศส และ Repubblica degli Stagisti ในอิตาลี องค์กรเหล่านี้ทำหน้าที่รวบรวมความไม่พอใจต่อการฝึกงานที่ไม่เป็นธรรม และเสนอข้อมูลทางกฎหมาย จัดระเบียบการประท้วง และรายงานข่าวลุกขึ้นต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในกระบวนการฝึกงานขึ้นหลายครั้ง


ปัญหาการฝึกงานในประเทศไทย จากที่เคยเป็น ความเงียบ วันนี้ เริ่มส่งเสียง
ในสังคมไทยเราต่างก็เคยได้รับทราบข่าวความเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับ นักศึกษาฝึกงานอยู่หลายกรณี เช่น เกิดเหตุนักศึกษาฝึกงานตกบ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงานจนเสียชีวิต[3] การที่นักศึกษาฝึกงานเข้าไปทำงานในสถานที่เสียงอันตรายเช่นนั้นสะท้อนว่า ขอบเขตในการทำงานของนักศึกษาฝึกงานไม่ได้ต่างอะไรกับพนักงานของบริษัทเลย หรือในกรณีปัญหาอื่นๆ ที่พบเกี่ยวกับการฝึกงานในสังคมไทย ซึ่งอาจจะเลวร้ายกว่าในประเทศพัฒนาแล้วอยู่บ้าง อย่างเช่น การใช้งานนักศึกษาฝึกงานหนักกว่าพนักงานทั่วไป การถูกล่วงละเมิดในด้านสิทธิมนุษยชน การทำงานจนเกิดอุบัติ และการไม่ได้มีโปรแกรมฝึกงานในขณะฝึกงานอย่างจริงจังจนขาดประสิทธิภาพในการพัฒนาทักษะไป

การฝึกงานที่เต็มไปด้วยความไม่เป็นธรรมถูกพูดถึงบ่อยครั้งขึ้นในสังคมไทย มีนักศึกษาฝึกงานจากมหาวิทยาลัย รวมถึงอาชีวะศึกษา หลายแห่งเข้าร้องต่อ กรรมาธิการแรงงานรัฐสภา ให้หาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ในด้านกฎหมายปัจจุบัน ผู้ฝึกงาน ยังไร้ตัวตน มีหลายคนเข้าใจผิดไปว่า ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้รับการฝึกเตรียมเข้าทำงาน ที่มีการกำหนดให้มีการคุ้มครองและจ่ายเบี้ยเลี้ยงแก่ผู้ฝึกงานนั้น เป็นกฎหมายที่บังคับใช้คุ้มครองนักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมถึงคนฝึกงานอื่นๆ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ แบบนั้น ประกาศกระทรวงฉบับนี้ แหล่งข่าวจาก อดีตข้าราชการระดับบริหาร กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้ข้อมูลว่า “ประกาศฉบับนี้บังคับใช้เฉพาะการฝึกทักษะฝีมือแรงงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเท่านั้น” ซึ่งสอดคล้องกับแนวคำตอบในเอกสารหารือ[4]ประเด็นนี้ ของ สำนักคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน

 

หลายฝ่ายพยายามสร้างความชอบธรรมให้ การฝึกงานที่ ไร้การคุ้มครองแรงงาน ไร้ค่าตอบแทน
ถึงแม้ว่าจะมีผลการศึกษาออกมามากมายว่าการฝึกงานที่มีมาตรฐานการคุ้มครองแรงงานและค่าแรงที่เป็นธรรมจะส่งผลต่อสิทธิมนุษยชนและเศรษฐกิจมากกว่าการฝึกงานแบบ ‘ขอไปที’ มากมายเพียงใด ปัญหานี้ก็ไม่ไม่เคยถูกหยิบยกมาแก้ไขอย่างจริงจัง ไม่เคยถูกผลักเป็นวาระสำคัญทางสังคมเสียที น่าสนใจว่า หลายฝ่ายพยายามหาความชอบธรรมให้กับกระบวนการฝึกงานแย่ๆ แบบปัจจุบัน เพียงเพราะว่าอยากที่จะรักษาอัตรากำลังของพื้นที่ฝึกงานเดิมไว้ ทั้งที่หลายฝ่ายก็ทราบกันดีว่า การที่บริษัทหรือหน่วยงานต่างๆ มีอัตรากำลังที่มากมายไว้สำหรับรับนักเรียน นิสิต นักศึกษาเข้าไปฝึกงานนั้น มันเป็นการฝึกงานที่ไม่มีมาตรฐานตาม หลักสิทธิมนุษยชน

ดังนั้นเมื่อมีการเสนอว่า การฝึกงาน ต้องได้รับค่าแรง เพราะการฝึกงานนั้นถือว่าเป็น การทำงาน ให้กับองค์กร คำถามที่ตามมาจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมดั้งเดิม คือ ทำไมผู้ไปขอฝึกงานแสวงหาประสบการณ์ถึงต้องได้รับค่าจ้างด้วย สถานะของผู้ฝึกงานในสายตาฝ่ายอนุรักษ์นิยมเป็นเหมือน เด็กน้อยที่กำลังไปอ้อนวอนขอความเมตตาจากผู้ใหญ่ให้มอบประสบการณ์อันล้ำค่าให้ หรือแม้แต่ในสายตาเหล่าเสรีนิยม ก็ยังมีความกังวลว่าเมื่อการฝึกงานมีมาตรฐาน ค่าแรง การคุ้มครองแรงงานที่จัดเจน การปฏิเสธรับผู้ฝึกงานจะเกิดขึ้น จำนวนการฝึกงานแบบในปัจจุบันจะลดลง ดังนั้นไม่ควรมีการบังคับใช้มาตรฐานใดๆ กับกระบวนการฝึกงานให้มากมายนัก

จากมุมมองทั้งสองฟากฝั่งที่ได้ยกตัวอย่างมาข้างต้น เป็นมุมมองที่น่าตั้งคำถามต่อไปอย่างมาก สถานะของผู้ฝึกงานในสายตาฝ่ายอนุรักษ์นิยมเป็นเหมือนเด็กน้อยที่กำลังไปอ้อนวอนขอความเมตตาจากผู้ใหญ่ให้มอบประสบการณ์อันล้ำค่าให้ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีค่าตอบแทนหรือการคุ้มครองใดๆ เลวร้ายที่สุดคือ การอ้าง‘ประสบการณ์ในการทำงาน’ ภายใต้มายาคติที่ทางสังคมที่ว่า ประสบการณ์ ไม่ว่าจะดีหรือเลวล้วนมีคุณค่าในตัวมันเอง จุดนี้นำไปสู่ความเพิกเฉยต่อคุณภาพของตัวประสบการณ์ที่ผู้ฝึกงานควรจะต้องได้รับไม่สนใจว่าผู้ฝึกงานจะได้ประสบการณ์ที่ดีในการทำงานจนนำไปสู่การพัฒนาทักษะความรู้ หรือประสบการณ์ที่ต้องถูกกดขี่ขูดรีดและไม่ได้ฝึกงานตามความต้องการจริงๆ

อีกมุมมองหนึ่งที่ว่า หากมีการกำหนดมาตรฐานฝึกงานที่รัดกุม ในด้านค่าแรงที่เป็นธรรม ด้านการคุ้มครองแรงงาน จะส่งผลให้การเปิดรับเข้าฝึกงานลดลง นี่เป็นมายาคติที่ไม่ได้สนใจปัญหาที่เกิดขึ้น สิ่งหนึ่งในปัจจุบันที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับร่วมกันก่อน คือ กระบวนการฝึกงานทุกวันนี้แม้ว่าจะเปิดรับผู้ฝึกงานจำนวนมาก แต่ในการฝึกงานจำนวนมากนั้นล้วนเต็มไปด้วยสถานที่ฝึกงานกระบวนการฝึกงานที่ ‘มีปัญหา’ ทั้งด้านค่าแรง คุ้มครองแรงงาน และประสิทธิภาพของแผนการฝึกงานที่แสนจะเลื่อนลอย ดังนั้นหากเราต้องการแก้ไขปัญหาก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยนั่น คือ จำนวนที่ฝึกงานที่ไม่ได้มาตรฐาน จะต้องยุบหายไป คำถามที่ควรตั้งต่อไปจากมุมมองนี้คือ เราจะยอมให้ การฝึกงานที่ไร้ประสิทธิภาพ กดขี่แรงงานขูดรีด ละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยการไม่จ่ายค่าแรง ยังคงอยู่ต่อไป หรือ เราจะสร้างมาตรฐานใหม่ สร้างการฝึกงานให้มีประสิทธิภาพ มีความเป็นธรรม ขึ้นมาในสังคม

กระบวนการฝึกงานที่ควรจะเป็นการเรียนรู้การทำงานที่มีประสิทธิภาพผ่านการลงมือปฏิบัติงาน ด้วยช่องว่างทางกฎหมาย แนวคิดวัฒนธรรม ส่งผลให้ การฝึกงาน กลายมาเป็น กระบวนการที่แฝงไปด้วยความไม่เป็นธรรม เกิดการกดขี่ขูดรีดผู้ฝึกงานในฐานะ แรงงานฟรี ละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านแรงงานด้วยวิธีการต่างๆ ประสบการณ์อันเลวร้ายจากการถูกกดขี่ในฐานะแรงงานฟรีถูกนับว่าเป็นประสบการณ์อันล้ำค่า การไร้ความคุ้มครองแรงงาน การทำงานฟรีไร้ค่าแรง การต้องจำยอมกับแรงกดดันในการทำงาน การต้องทำในสิ่งที่ไร้ประสิทธิภาพระหว่างฝึกงาน สิ่งเหล่านี้ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติที่ผู้ฝึกงานต้อง ยอมจำนน เพื่อให้ผ่านฝึกงานกระบวนการที่ทำให้ความผิดปกติที่ถูกทำให้ปกติเหล่านี้เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานในสังคมโลก และ เมื่อความผิดปกติทางสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ถูกส่งต่ออย่างชอบธรรมภายใต้คราบของ กระบวนการฝึกงาน ที่มีผู้สมรู้ร่วมคิดผลิตซ้ำเป็น สถานศึกษา รัฐ และเอกชน

โดยหลักการแล้ว นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผู้ฝึกงานควรจะต้องได้รับ ทักษะในการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ได้เรียนรู้การมองเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นผ่านการทำงาน ด้านซึมซับประเด็นสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองแรงงานระหว่างการทำงาน แต่ในทางกลับกัน ปัจจุบันพวกเขาต้องจำทนผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายทำงานเป็นแรงงานฟรี ไร้การคุ้มครองแรงงาน โดนกดขี่ขูดรีดอื่นๆ สารพัด ประสบการณ์อันเลวร้ายเช่นนี้อาจส่งผลให้มุมมองของผู้ที่ผ่านมันแย่ลง แล้วมองได้ว่า เรื่องที่พวกเขาถูกกดขี่ขูดรีดนั้นคือเรื่องปกติ และหากว่าพวกเขามองสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ สิ่งที่ตามมาคือพวกเขาเหล่านั้นจะกลายเป็นผู้ส่งต่อสิ่งเหล่านี้สู่สังคม แน่นอนว่าสังคมที่เชื่อว่า การกดขี่ขูดรีด ใช้แรงงานฟรี เป็นเรื่องปกติไม่ใช่สังคมที่คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์คนที่ได้ประโยชน์คือกลุ่มทุนชนชั้นนำ ที่น่าเศร้ากว่านั้นคือสังคมที่กลุ่มชนชั้นนำได้ประโยชน์ สังคมทุนนิยม เช่นนี้พาพวกเราห่างไกล ‘ความเท่าเทียมเป็นธรรม’

 

อ้างอิง

Ross Perlin , (2013) , Unpaid Interns: Silent No More , The New York Times , Retrieved from : https://www.nytimes.com/2013/07/21/jobs/unpaid-interns-silent-no-more.html?searchResultPosition=1

Ella Delany , (2013) , Interns Resist Working Free , The New York Times , Retrieved from : https://www.nytimes.com/2013/09/30/us/interns-resist-working-free.html?searchResultPosition=6

Ross Perlin , (2011) , Down and Out in the Magic Kingdom , Guernica / A Magazine of Art and Politics , Retrieved from : https://www.guernicamag.com/perlin_5_1_11/

Steven Greenhouse , (2010) ,The Unpaid Intern, Legal or Not , The New York Times , Retrieved from : https://www.nytimes.com/2010/04/03/business/03intern.html?searchResultPosition=13

CTV Montreal , (2018) , CEGEP, university students walk out in protest over unpaid internships , Retrieved from : https://montreal.ctvnews.ca/cegep-university-students-walk-out-in-protest-over-unpaid-internships-1.4187345?fbclid=IwAR1TcxHAJjA3uhsvvrnzCtxMmI1C7IareFHAS8LGxRm7nag-OWyLJPEwzuo

[1] Tracking Intern Lawsuits , https://projects.propublica.org/graphics/intern-suits

[2] Wesley Jones , (2010) , Mousecatraz: The Disney College Program .

[3] มติชน , (2017) , สลด ! ‘5 คนงานซีพีเอฟ-นิสิตจุฬาฯ’ ตกบ่อบำบัดน้ำเสีย บ.ซีพีเอฟดับ , สืบค้นจาก : https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_587946

[4] กองนิติการ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน , (2010) , หารือประเด็น การจ่ายค่าตอบแทนให้นักศึกษาฝึกงานในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ,http://legal.labour.go.th/attachments/article/79/255303.pdf

 

ที่มาภาพปก: https://theconversation.com/how-youth-activism-is-kicking-unpaid-internships-to-the-curb-95994 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net