กามีศศิลป์ เสรีภาพในห้องปิด

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ปลายมีนาคม 

คณะผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กลุ่มหนึ่งได้เดินทางไปที่ภาควิชามีเดียอาร์ต และทำการเก็บกวาดผลงานศิลปะของนักศึกษา แต่ยังไม่ทันที่รถขนย้ายจะออกไป นักศึกษาเจ้าของผลงานได้เข้ามาขัดขวางจนและเกิดเป็นการพิพาทกันขึ้น มีการไลฟ์สดทางเพจประชาคมมอชอ เราเห็นนักศึกษาเจ้าของผลงานคนหนึ่งนอนลงกับพื้นถนนเพื่อขวางรถ เห็นอาจารย์สวมเสื้อโปโลสีเหลืองคนนึงก้มหน้าลงไปใกล้ๆ พูดอะไรบางคำ แต่เราไม่ได้ยินคำพูดนั้น

ไม่กี่นาทีถัดมา เมื่อ ผศ.ทัศนัย เศรษฐเสรี หัวหน้าภาควิชามีเดียอาร์ตมาถึง เมื่อนั้น คำพูด ศิลปะไม่เป็นเจ้าขี้ข้า ศิลปะไม่เป็นเจ้านายใคร ก็กลายเป็นไวรัลขึ้นมา

ต่อมาคนก็ได้รู้ว่า ผลงานของนักศึกษาที่ถูกเก็บกวาดนั้นส่วนนึงเป็นของกลุ่ม artn't ที่อุดมไปด้วยแมสเสจทางการเมือง ต่อต้านการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และวิพากษ์มาตรา 112 ส่วนกลุ่มผู้บริหาของคณะที่เข้ามาเก็บผลงานนั้นมีแนวความคิดไปในทางชาตินิยมเชิดชูสถาบันกษัตริย์ 
  
เหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลสะเทือนรุนแรงกับวงการศิลปะ คำถามร้อนแรงระรัวถึงเสรีภาพในการแสดงออกของ งานศิลปะดังจากทั่วทุกมุมเมือง ไม่เว้นแม้แต่สมาคมศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยศิลปากร สถาบันที่คณบดีนามสกุลหวานจริงจบการศึกษามา

หลังจากนั้นไม่กี่วัน เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าระลอกสาม ขณะที่หลายคนกำลังหวาดระแวง หลายคนกำลังสั่นไหวว่าจะตกงานหรืออาจจะต้องปิดกิจการ 

15 เมษายน

เด็กหนุ่มชื่อเจโพสต์ภาพถ่ายจากฟิล์มชุดหนึ่งบนกลุ่มคนรักกล้องฟิล์มในเฟสบุ๊ค รูปชุดนั้นเป็นรูปนายแบบสวมเสื้อสกรีนภาพร่างกายเปลือยท่อนล่างของมนุษย์คนหนึ่งซึ่งมองดูคล้ายกับเพศหญิง ภาพในชุดมีหลายภาพ แต่ละภาพจัดคอมโพสต์เหมือนกัน ต่างกันเพียงสถานที่และองค์ประกอบข้างตัวนายแบบ มีคนเข้าไปดูโพสต์และมียอดไลก์อยู่จำนวนหนึ่ง แต่เพียงผ่านไปหนึ่งคืน โพสต์นั้นกลับหายไปจากกลุ่ม 

เจแชตไปตั้งคำถามกับแอดมินถึงเสรีภาพในการนำเสนองาน 

ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องมันก็น่าจะจบที่ตรงนั้น เพราะแอดมินกลุ่มนั้นย่อมถืออภิสิทธิ์ยึดถือตามกฎตรงตามตัวอักษรในการอนุมัติหรือลบโพสต์ แต่เรื่องดันไม่จบ เพราะหลังคำถามของเจ แอดมินกลุ่มได้นำเอาแคปหน้าจอที่แชตกับเจออกแบตั้งสเตตัสอีกโพสต์ถามความเห็นคนในกลุ่ม

และสิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นก็คือเจถูกถล่ม

ด้วยภาพหนึ่งในชุด ปรากฏร่างกายท่อนบนรวมถึงเห็นใบหน้าด้านข้างของพระสงฆ์รูปหนึ่งที่บังเอิญเดินผ่านมาพอดี แต่อาจคาดเดาได้ว่าช่างภาพคงตั้งใจที่จะกดชัตเตอร์ในจังหวะนั้น (และเข้าใจว่าไม่ได้ขออนุญาต) หลายคนบอกว่า ช่างภาพได้ละเมิดสิทธิคนอื่น บางคนตำหนิว่านั่นเป็นการกระทำที่ไม่รับผิดชอบ บางคนพูดตำหนิรุนแรงถึงขั้นว่า จะเป็นศิลปินเป็นมนุษย์ให้ได้ก่อน แล้วอีกหลายคนก็ตั้งข้อสงสัยในด้านความงาม สุนทรียะ และความเป็นศิลปะ ของภาพชุดนั้น

แน่นอนว่า ทั้ง artn't และเจ ย่อมรู้สึกว่าตนถูกจำกัดเสรีภาพ เราจึงลองใช้สองเคสที่คล้ายคลึงกันนี้เพื่อทบทวนเกี่ยวกับเสรีภาพ ความงาม และพื้นที่ของศิลปะกัน
 

ในแง่เสรีภาพ

เสรีภาพ คืออะไร เราจะขออ้างอิงคำพูดในยุคกรีกของอริสโตเติลซึ่งน่าจะเป็นครั้งแรกที่ได้พูดถึงเสรีภาพ “มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล ย่อมมีเสรีภาพในการเลือก และด้วยเหตุผลที่ถูกต้องย่อมช่วยให้เขาเข้าถึงธรรมชาติได้ และ ณ จุดนี้เองคือเสรีภาพที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์” 

หาก เสรีภาพ ในปัจจุบันนั้นย่อมไปพ่วงต่อกับ สิทธิ และกฎหมาย ของแต่ละประเทศ รวมไปถึงพื้นที่ปิดอย่างกลุ่มในเฟสบุ๊ค

กลุ่ม artn't นั้นไร้เสรีภาพ (ในพื้นที่) ถึงขั้นสุดถึงขั้นถูกละเมิดสิทธิ ผลงานที่เขาทำขึ้นถูกแยกชิ้น รื้อถอน ซึ่งทางกลุ่มก็ได้ไปแจ้งความวิ่งราวทรัพย์กับตำรวจแล้ว

ไม่ต่างกันนักกับเจ เสรีภาพในกลุ่มปิดนั้นมีจำกัด พูดง่ายๆ กลุ่มในเฟสบุ๊คก็คือพื้นที่ย่อยในโลกไซเบอร์ที่มีกฎกติกาเป็นของตัวเอง มีการจำกัดเสรีภาพด้วยการเซ็นเซอร์ตัวเอง ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องตรงตามกติกาสากลเสมอไป และแม้คนที่โพสต์ก็ย่อมต้องรับผิดชอบในฐานะเจ้าของผลงานอยู่แล้ว แต่เจก็ไม่สามารถจะไปเรียกร้องทางกฎหมายได้

เมื่อเราพูดถึงเคสละเมิดสิทธิเพราะเห็นหน้าคนในภาพของเจ เราลองไปดูข้อกฎหมายซึ่งได้ระบุไว้ว่า การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนั้นจะต้องเป็นภาพที่เห็นหน้าชัดเจน ซึ่งกับภาพพระสงฆ์ของเจนั้นคงต้องลองพิจารณาว่าเห็นหน้าชัดเจนเข้าข่ายหรือไม่

และเมื่อสืบค้นต่อ ปรากฏว่า ยังมีมาตรา 4 ที่เป็นข้อยกเว้นอยู่ ดังนี้ "บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่ทำการเก็บรวบรวมไว้เฉพาะ เพื่อกิจการสื่อมวลชน งานศิลปกรรม หรืองานวรรณกรรมอันเป็นไปตามจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ หรือเป็นประโยชน์สาธารณะเท่านั้น"

น่าเศร้าที่แม้แต่ตัวบทกฎหมายเองก็ยังให้การคุ้มครองภาพถ่ายแบบสตรีทโฟโต้ของเจ มากกว่าในโซเชียลมีเดียเสียอีก 
  
ด้วยทั้งแอดมินกลุ่มและกลุ่มผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์ต่างก็ย่อมคิดว่าตนมีอำนาจมีสิทธิที่จะกระทำได้ตามที่ตนจะเห็นว่าถูกต้องเหมาะสม หรือด้วยเหตุผลว่าเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ของตน 

กลุ่มผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์นั้นได้ให้เหตุผลไว้ว่าต้องการจะเก็บกวาดทำความสะอาด ต่อมาเมื่อเกิดความวุ่นวายขึ้นก็บอกว่าเป็นความเข้าใจผิด แต่ผู้คนต่างสงสัยกันว่า ทำไมผู้บริหารต้องถึงกับลงมือไปเก็บกวาดพื้นที่เอง และทำไมต้องเป็นในช่วงเวลานั้น อาจจะเป็นเพราะวันรุ่งขึ้นนั้นจะมีจะมีขบวนเสด็จมาที่จังหวัดเชียงใหม่หรือเปล่า แต่ก็มีการแย้งว่า พื้นที่ตรงนั้นโดยปกติมีแต่นักศึกษาจะไม่มีคนนอกผ่านไปมา และมีคำถามต่อว่า ทำไมจึงเลือกเก็บกวาดเฉพาะผลงานที่มีแมสเสจทางการเมือง ไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าจากคณะ และไม่มีหนังสือจากราชการแสดงในวันเกิดเหตุ 

หลังจากเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของคณะผู้บริหารทั้งจากคนทั่วไปและกลุ่มศิลปิน ก็มีข่าวกลุ่มคนออกมาแสดงความชื่นชมให้กำลังการกระทำดังกล่าวของคณบดี และตัวคณบดีเองก็ได้แสดงความคิดเห็นออกมาทีหลังว่า ที่ทำนั้นทำเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ 

จึงเป็นการยืนยันได้ว่า การลงมือเก็บกวาดนั้นมาจากเหตุผลทางการเมืองนั่นเอง  
     
ส่วนในกลุ่มของเจนั้น ความเห็นของสมาชิกบางคนบอกว่า มันสามารถทำให้กลุ่มถูกปิดได้หากมีคนรายงานไปว่ามีรูปภาพไม่เหมาะสม ซึ่งเหตุผลนั้นฟังขึ้น แตาเราก็มักพบเห็นกันอยู่เสมอว่า ในเฟสบุ๊คนั้นเต็มไปด้วยรูปหรือวิดีโอแบบอนาจารยั่วยุกามารมณ์ แม้แต่ในกลุ่มนั้นเองก็มีการลงรูปนู้ดที่ถ่ายด้วยฟิล์มอยู่เนืองๆ แถมเป็นรูปนู้ดที่ดูแล้วเกิดความรู้สึกทางเพศมากกว่ารูปถ่ายของเจเสียอีก แล้วถ้าเราจะใช้เกณฑ์ของความรู้สึกทางเพศมาตัดสิน ภาพนู้ดนั้นเป็นภาพที่เซ็นสิทีฟกับความเชื่อของบางศาสนา ไม่ว่าจะรุ่มรวยด้วยเทคนิคจะสวยงามหรือไม่ก็ตาม 

การที่ภาพถ่ายนู้ดสามารถแสดงอวดโฉมอยู่ได้ ก็คงเป็นเพราะนู้ดที่ฉาบเคลือบสุนทรียะนั้นเป็นสามารถใช้ข้ออ้างทางศิลปะเพื่อการเสพชมได้ แม้แต่คนที่มีความคิดแบบอนุรักษ์นิยมก็ยินดีจะโอบรับนู้ดโฟโตอันสวยงามเปี่ยมเทคนิคได้ง่ายกว่าภาพถ่ายเชิงวิพากษ์มากนัก ด้วยคนส่วนใหญ่มักปฏิเสธงานในเชิงความคิด เราคุ้นชินกับงานซึ่งทีี่นำเสนอความสวยงามแบบตรงไปตรงมาไม่ซับซ้อน เพียงห่อหุ้มด้วยเทคนิค คนก็จะยอมรับงานชิ้นนั้นๆ ว่ามีคุณค่าได้โดยสะดวกใจ แต่ถ้าหากศิลปินปล่อยงานที่ท้าทายความคิดออกมา แน่นอนว่าจะต้องถูกผู้ชมตั้งแง่กั้นกำแพงด้วยสมองของมนุษย์นั้นมีฟังก์ชั่นนี้อยู่ 

แต่ทุกอย่างย่อมมีข้อยกเว้นเสมอ การนำเสนอปรัชญาหรือท้าทายความคิดซับซ้อนนั้นถ้าถูกนำเสนอด้วยโปรดักชั่นหรูหราอลังการ คนเสพก็จะเฝ้ามองความหรูหราหยดย้อยนั้นก่อน และค่อยขบคิดถึงความซับซ้อนของเนื้อหาทีหลัง ในกรณีนี้ขอให้นึกถึงหนังอย่าง INCEPTION, INTERSTELLA หรือ TENET ของคริสโตเฟอร์ โนแลน จะเห็นภาพได้ชัดเจน

เป็นไปได้ว่าถ้าภาพของเจนำเสนออวัยเพศเชิงเปรียบเทียบด้วยความวิจิตรพิสดาร งดงามราวเทพสร้างสรรค์ ไม่แน่ว่า ผู้คนอาจจะยอมรับเพราะหลงติดอยู่กับความวิจิตรเชิงช่างนั้นจนอาจจะหลงลืมความหมายของอวัยวะเพศ แต่ในเมื่อเจตั้งใจนำเสนอในแบบเรียบง่ายดิบเถื่อน ผู้คนก็ไม่ได้ถูกเทคนิคล่อหลอก ปฎิกิริยาเขาจึงออกมาในทางตรงข้าม 
  
อวัยวะเพศนั้นเป็นสิ่งต้องห้ามและอ่อนไหวเสมอ หากใครหยิบขึ้นมาหาญกล้าหยิบขึ้นมาใช้ในพื้นที่สาธารณะเมื่อใด ไม่ว่าจะเป็น ภาพ หรือ เสียง หรือเพียงตัวหนังสือ ก็ต้องเตรียมรับกับแรงเสียดทาน กับเคสของเจก็ไม่ต่างกัน อาจจะยิ่งแรงขึ้นด้วยสิ่งที่เจเลือกจะไปถ่ายด้วยล้วนเป็นเรื่องอ่อนไหวสำหรับคนหมู่มาก อย่างศาสนา หรือสถาบันกษัตริย์

แต่ อวัยวะเพศหญิงนั้นปรากฏในงานศิลปะมาทุกยุคสมัย ตั้งแต่ 35,000 ปีก่อนคริสตกาลทีเดียว ถึงกับมีชื่อเรียกเฉพาะว่า ศิลปะเชิงสังวาส หรือ กามิศศิลป์ (เปิดให้เห็นอวัยวะเพศ หรือการร่วมเพศ) แล้วเหตุใดในปัจจุบันที่ความเจริญทางวัตถุ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี พุ่งถึงขีดสุด ไฟสว่างส่องไปถึงแทบทุกมุมโลก แต่บางประเทศถึงยังอ่อนไหวอยู่มากกับเรื่องเหล่านี้ ใน พ.ศ.นี้เราก็ยังพบเห็นความเชื่อแบบ ผู้หญิงห้ามนุ่งกางเกงเข้าวัด ห้ามผู้หญิงขึ้นเวทีมวย เข้าไปในที่ศักดิ์สิทธิ์ มีข้อห้ามสำหรับผู้หญิงมีประจำเดือน หรือ เหตุการณ์ประท้วงโดยใช้ผ้าถุงหรือผ้าอนามัยประท้วงในพม่าเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
  
ซึ่งอาจไม่ต่างนักกับกรณี "คนใส่เสื้อรูปจิ๋มไปยืนอยู่ข้างพระ" โดยความเชื่อว่า รูปนั้น (หรือจะพูดให้ถูกคือ จิ๋ม จะทำให้เสื่อม ไปลบหลู่ ความศักดิ์สิทธิ์

บางคนจะมองว่ามันคือ ความงมงาย ส่วนมันจะทำให้เสื่อมได้จริงหรือไม่อาจบอกได้ยาก แต่ที่บอกได้แน่นอน คือมันอ่อนไหวต่อคนจำนวนหนึ่ง และสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือ งานของทั้ง arnt't และเจ ต่างก็ไปสั่นไหวความรู้สึกของคนหลายคน ทั้งในแง่การเมือง และศาสนา

แต่กับศิลปินที่แท้จริง เขาคงมิอาจปฏิเสธงานเชิงความคิดและการวิพากษ์ได้ เพราะนั่นเป็นปัจจัยอันสำคัญต่องานศิลปะ
  
งานของกลุ่ม artn't เองก็ไม่ได้อาศัยความวิจิตรของงานฝีมือมาลบเหลี่ยมความรุนแรงของแมสเสจให้กลมมนน่าลูบไล้ หากเพียงใช้ไอเดียสดใหม่กับเทคนิคง่ายๆ แบบป็อบอาร์ต ดัดแปลงวัสดุที่หาได้รอบตัว ฉาบเคลือบแนวความคิดอันแหลมคม และท้าทาย งานของ artn't นั้นเซ้นสิถีฟเพราะพูดถึงการเมืองการปกครองในเวลาที่ทุกอย่างที่ว่ามานั้นแสนจะอ่อนไหว เป็นสาเหตุให้พวกเขาถูกเพ่งเล็งทั้งโดยรัฐ (มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาถึงภาควิชาในยามวิกาล) และโดยผู้บริหารซึ่งเป็นอาจารย์สอนศิลปะเอง ตามมาซึ่งการใช้มีอำนาจเข้ารื้อถอนเก็บกวาดผลงานซึ่งกำลังอยู่ระหว่างกระบวนการและกำลังจัดแสดง

ต่อมาที่ประเด็นความสวยงาม คุณค่าที่มีคนหยิบยกมาโจมตี ทั้งภาพถ่ายของเจ และงานของกลุ่ม artn't 

อันที่จริง สองอย่างนี้ไม่น่าจะเป็นประเด็นอีกแล้วใน พ.ศ.นี้ เพราะแนวความคิดที่ว่า ศิลปะจำเป็นต้องสวยมั้ย นั้นอาจเลิกถามกันมานานหลายสิบปีแล้วกระมัง อย่างที่พูดไปก่อนหน้าแล้วว่า เมื่อภาพของเจจัดเป็นภาพถ่ายสตรีทโฟโต้ การจะตัดสินความสวยงามของภาพแบบนี้ก็คงต้องดูว่า สตรีทโฟโต้ตัดสินความงามกันอย่างไร มองกันที่ตรงไหนบ้าง 

สตรีทโฟโต้้คือภาพถ่ายผู้คน สังคมตามท้องถนนไปตามธรรมชาติโดยไม่ได้มีการเซ็ตอัพจัดวางจัดแสง มีการเลือกใช้ สี แสงเงา วัตถุ หรือองค์ประกอบภาพเพื่อสื่อความหมายบางอย่าง แน่นอนว่ามันก็ควรมีทฤษฎีทางศิลปะรองรับอยู่บ้าง แต่ค่านิยมหรือมาตรฐานของสิ่งเหล่านี้ มันเปลี่ยนแปลงเลื่อนไหลไปได้ตลอดเวลาตามสมัยตามกระแสสังคมอยู่แล้ว แม้แต่หลักทฤษฎีทางวิชาการเองก็ยังเปลี่ยนแปรอยู่เสมอ

ประเด็นเป็นศิลปะหรือไม่ โลกศิลปะน่าจะเลิกถกเถียงเรื่องนี้ไปนานนมแล้ว ตั้งแต่ที่มีคนเอาโถฉี่มาวางในมิวเซียม แอนดี้ วอร์ฮอล์ เอากระป๋องมาเพ้นต์เป็นป๊อบอาร์ต โน่นแล้วกระมัง ส่วนเรื่องชอบไม่ชอบ เห็นด้วยหรือไม่ งามหรือไม่ อาจจะมีทั้งคนที่คิดว่า สวย หรือ คนที่ว่ามันไม่สวย 

สุดท้ายเอาเข้าจริงแล้ว ความสวยนั้นเป็นเรื่องรสนิยมส่วนบุคคลหรือมิใช่?

คงต้องยอมรับอย่างชัดเจนว่า งานทั้งสอง แม้จะต่างคนทำต่างประเภทต่างประเด็นต่างกรรมต่างวาระ แต่ล้วนเป็นการสื่อสารอะไรบางอย่างกับสังคม เพราะเจ้าของผลงานนั้นมีชุดความคิดอธิบายได้ชัดเจน หลายคนก็พอจะมองเห็นความหมายนั้นหากเรานับว่า ศิลปะคือการสื่อความหมาย งานของทั้งคู่ก็ย่อมคืองานศิลปะ 

ทั้งพื้นที่ของกลุ่มในเฟสบุ๊ค และภาควิชามีเดียอาร์ต ต่างก็พูดได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีไว้สำหรับงานศิลปะ หากแต่คนที่กุมอำนาจบริหารจัดการดูแลสถานที่นั้นกลับใช้ข้ออ้างหลักเกณฑ์อื่น (การเมือง, ศาสนา) มาตัดสินว่า งานชิ้นไหนควรอยู่หรือไม่ควรอยู่

หรือจริงๆ แล้วทั้งคนผู้บริหารดูแลพื้นที่ทั้งสองนั้นเพียงไม่ยอมรับผลงานที่ขัดกับรสนิยมความเชื่อส่วนตน ว่าเป็นงานศิลปะ ผลงานที่สอดคล้องกับความเชื่อของตนเท่านั้นจึงจะเป็นศิลปะได้

มันคงไม่แปลกอะไรถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นในชุมชุมที่มีความคิดแบบคอนเซอเวทีฟ หรือถ้าหากกลุ่มช่างภาพนั้นเชื่อว่าการถ่ายภาพมีความหมายเป็นเพียงแค่งานเชิงทักษะเทคนิคสร้างความสวยงามสู่สุนทรียะทางสายตาเท่านั้น หาใช่ศิลปะแขนงหนึ่งไม่ (แต่เชื่อว่าจะมีช่างภาพจำนวนมากปฎิเสธความคิดแบบนี้) แต่ถ้าหากถ้าพวกเขาคิดว่า แต่เมื่อภาพถ่ายนั้นถูกยอมรับว่าเป็นศิลปะแขนงหนึ่งไปนานแล้ว กับชุมชนที่คลับคล้ายว่าจะเป็นชุมชนคนศิลปะ มันจึงเกิดความรู้สึกกระอักกระอ่วน ที่พื้นที่ทางศิลปะกลับไร้เสรี มิยินยอมให้ภาพถ่ายศิลปะเชิงวิพากษ์นั้นมีตัวตนอยู่ได้ในกลุ่ม

แต่่พื้นที่เสรีภาพของศิลปะจะหลงเหลืออะไร เมื่อคณาจารย์แห่งคณะวิจิตรศิลป์ที่เป็นผู้สอนวิชาศิลปะไม่ยอมรับว่า พื้นที่ของภาควิชานั้นเป็นควรเป็นพื้นที่สำหรับงานศิลปะ 

ศิลปะกับเสรีภาพนั้นเป็นอะไรที่มีความใกล้เคียงสอดคล้องกันอยู่ไม่น้อย คุณไม่อาจจะมีเสรีภาพเพียงครึ่งกลางๆ ทางเลือกเพียงสอง คือ มี หรือ ไม่มี ศิลปะก็เช่นกัน 

ถ้าเข้าใจศิลปะและเสรีภาพ คุณก็ไม่มีความจำเป็นต้องกักขังสิ่งใด

สุดท้ายแล้ว เจบอกเราว่า ภาพของเขานั้นเป็นภาพของผู้ชายที่เก็บท่อนลึงก์หนีบซ่อนไว้ตรงหว่างขา เท่านั้นเอง 

 

 

ปล. ศิลปินสองคนในกลุ่ม arn't ถูกแจ้งข้อหา 112 เหตุเพราะงานชิ้นหนึ่งในชุดนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท