'Re-Solution' ชี้ยกเลิก รธน.60 ร่างใหม่ดีสุด ถ้าไม่ได้อย่างน้อยต้องรื้อระบอบประยุทธ์

“ไอติม-พริษฐ์” ตัวแทนกลุ่ม “Re-Solutionถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่” ชี้ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพลังประชารัฐเพียงแค่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มการเมืองแม้จะแก้ระบบเลือกตั้งแต่ไม่ได้แก้ปัญหาความเป็นกลางองค์กรอิสระและยังต่ออำนาจให้กับ คสช. เสนอพรรคร่วมฝ่ายค้านร่วมกันคว่ำร่างของพลังประชารัฐ ด้าน “ก้าวไกล” เสนอทางที่ดีสุดให้ประชามติถามประชาชน แก้รายมาตราเป็นแค่เบี่ยงประเด็นยกเลิกรัฐธรรมนูญของ คสช.

15 มิ.ย.2564 ที่อาคารไทยซัมมิท กลุ่ม “Re-Solutionถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่” ที่เป็นการร่วมกันของคณะก้าวหน้า พรรคก้าวไกล กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้าและไอลอว์เพื่อรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับพ.ศ.2560 จัดแถลงข่าวการเปิดการรับรายชื่อประชาชนที่ต้องการเข้าร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวว่าจากที่เล็งเฆ็นว่ารัฐธรรนูญฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีปัญหาตั้งแต่ที่มากระบวนการและเนื้อหา และกลายเป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจของคสช.และประเทศไทยจะไม่มีทางที่จะกลับมาสู่ระบบประชาธิปไตยเหมือนนานาประเทศถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังคงอยู่ จึงเห็นว่าควรจะต้องมีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แม้ว่าความพยายามในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเพิ่งถูกคว่ำเมื่อต้นปีและจะกลายเป็นการแก้ไขรายมาตราแทน

เลขาฯ คณะก้าวหน้ากล่าวต่อว่าทางกลุ่ม Re-Solution ก็เห็นว่าเมื่อสุดท้ายจะต้องกลับมาแก้ไขรายมาตราแทนก็จำเป็นที่ต้องแก้ประเด็นสำคัญใน 4 ประเด็นหลักที่ค้ำจุนระบอบประยุทธ์ การล้มวุฒิสภาให้ประเทศไทยกลายเป็นสภาเดี่ยว โละศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระแล้วปฏิรูปใหม่ เลิกยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศและล้างมรดกรัฐประหารที่ขัดขวางประชาธิปไตย ทั้งนี้พรรคการเมืองหลายพรรคเริ่มพูดถึงความพยายามเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่รัฐสภาโดยที่ข้ามยัตติที่ค้างกันในรัฐสภาอยู่ก่อนแล้วขึ้นมาทำให้เห็นว่าแผนของพวกเขายังคงดำเนินไป ทำให้ภาคประชาชนจำเป็นต้องกลับมาคุยกันว่าจะเดินหน้าต่อกันอย่างไรและต้องพยายามรวบรวมรายชื่อให้ครบ 50,000 รายชื่อ ทั้งที่ตามแผนเดิมของทางเครือข่ายคิดว่าจะเป็นการทำงานทางความคิดในระยะยาว

พริษฐ์ วัชรสินธุ กล่าวในฐานะตัวแทนของกลุ่ม Re-Solution ว่าถึงแนวทางการขับเคลื่อนของเครือข่ายว่าเบื้องต้นคือ มีสองทางคือเส้นทางแรกต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อมาทดแทนฉบับที่ใช้อยู่ตอนนี้ที่ไม่มีความชอบธรรมและอีกเส้นทางคือการแก้ไขรายมาตรา โยที่ในเวลานี้การแก้ไขรายมาตรามีอยู่ถึง 14 ร่าง 18 ประเด็นจากพรรคการเมืองต่างๆ

พริษฐ์สรุปข้อมูลว่า กลุ่มแรกเป็นของพรรคพลังประชารัฐที่มีอยู่ 1 ร่าง 5 ประเด็น พรรคร่วมรัฐบาลที่นำโดยประชาธิปัตย์เสนอไว้ 7 ร่าง 7 ประเด็น กลุ่มพรรคร่วมฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคเพื่อไทยเสนอไว้ 5 ร่าง 5 ประเด็น และสุดท้ายคือกลุ่ม Re-Solution ซึ่งเป็นการรวบรวมรายชื่อจากประชาชนเสนอ 1 ร่าง 4 ประเด็น ซึ่งจากทั้งหมดนี้สามารถแยกข้อเสนอของแต่ละกลุ่มออกมาได้ 3 ประเภท

ประเภทแรก หรือข้อเสนอเกรดเอ คือข้อเสนอที่ส่งเสริมประชาธิปไตยและแก้ปัญหาต้นตอของรัฐธรรมนูญ 60 ที่ถูกนำมาใช้ในการสืบทอดอำนาจของ คสช. ดังนั้นข้อเสนอใดที่เป็นการตัดอำนาจโครงสร้างองค์กรที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจจะถูกจัดอยู่ในประเภทนี้ เช่นการตัดอำนาจวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ปฏิรูปที่มาองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นกลางและถูกผูกขาดโดยสมาชิกวุฒิสภา หรือข้อเสนอเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ประเภทที่สองข้อเสนอเกรดบี คือข้อเสนอที่อาจจะส่งเสริมประชาธิปไตยให้เข้มแข็งขึ้น แต่ว่าไม่แตะปัญหาการสืบทอดอำนาจ เช่น ข้อเสนอที่ให้แก้ไขเพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพบางประเด็น การกระจายอำนาจ หรือเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบการทุจริต

ประเภทสุดท้ายคือข้อเสนอเกรดซี ที่ไม่ได้ส่งเสริมประชาธิปไตยเป็นการเสนอที่อาจจะไปเอื้อประโยชน์กับบางกลุ่มการเมือง เช่น การแก้ไขมาตรา 144 และ 185 ที่ให้ส.ส.เข้าไปยุ่งกับงบประมาณแผ่นดินและการทำงานของหน่วยงานราชการง่ายขึ้น และรวมถึงข้อเสนอที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งก็เข้าข่ายเพราะเนื่องจากการออกแบบระบบเลือกตั้งไม่ได้มีเพียงแค่การกลับไปใช้ระบบเดียวกับฉบับ 40 เท่านั้นแต่ยังมีอีกหลากหลายแบบ ทั้งนี้กรณีที่เกิดขึ้นในไทยก็คือความเป็นกลางในการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือองค์กรอิสระ เช่นเรื่องการแบ่งเขต ดังนั้นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุก้ต้องไปดูเรื่องที่มาขององค์กรอิสระมากกว่า

พริษฐ์ วัชรสินธุ ตัวแทนกลุ่ม Re-Solution

พริษฐ์กล่าวต่อว่าทางกลุ่มเห็นว่าข้อเสนอใดที่เป็นข้อเสนอเกรดเอควรจะต้องทำทันที ส่วนที่เป็นเกรดบีนั้นถ้าเป็นไปได้ก็ทำถ้าทำไม่ได้ก็อาจจะต้องพูดคุยกันในสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ส่วนข้อเสนอเกรดซีมองว่าเก็บประเด็นนี้ไว้ถกเถียงกันใน สสร.เช่นกัน

ส่วนแนวทาง พริษฐ์กล่าวว่ามีสามแนวทางคือ แนวทางแรกเสนอให้ทุกพรรคร่วมกันคว่ำข้อเสนอของพรรคพลังประชารัฐเพราะว่าเข้าข่ายเป็นข้อเสนอประเภทซีทั้งหมด เพราะตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้ข้อเสนอใดที่มีเสียงพรรคฝ่ายค้านไม่ถึง 20% จะไม่สามารถผ่านไปได้ แนวทางที่สองคือให้พรรคร่วมฝ่ายค้านเข้าร่วมการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่ริเริ่มโดยพรรคพลังปประชารัฐเพราะว่าถ้าไม่ระวังอาจจะไปเข้าทางระบอบประยุทธ์ แม้ว่าบางร่างของงพรรคร่วรัฐบาลหรือพรรคร่วมฝ่ายค้านอาจจะมีบางประเด็นแตะเรื่อง สว. หรือมีข้อเสนอเกรดเอ แต่ร่างใดจะผ่านไปได้ต้องอาศัยเสียงของ สว. ใน 3 ที่เห็นชอบด้วยก็จะเห็นว่าเป็นเสียงที่รัฐบาลสามารถคุมได้และยังคุมลำดับการเสนอแต่ละร่างได้ร่างเดียวที่อาจจะผ่านไปได้คือร่างที่เกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งที่ไม่ได้แก้ต้นตอของปัญหาสืบทอดอำนาจของ คสช.

พริษฐ์ได้เชิญชวนประชาชนร่วมกันลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของกลุ่ม Re-Solution ซึ่งเป็นแนวทางสุดท้ายเพราะตอนที่ทำร่างนี้ขึ้นมาจะมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขต้นตอปัญหาโดยขจัดกลไกที่ระบอบประยุทธ์ใช้ในการสืบทอดอำนาจ ทั้งการยกเลิก สว. ปฏิรูปองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะเป็นการล้มล้างผลพวงของการรัฐประหาร

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ กล่าวถึงปัญหาที่ประชาชนต้องประสบจากประสิทธิภาพของรัฐบาลทั้งการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ไม่สามารถหาวัคซีนมาได้อย่างเพียงพอและทันท่วงทีอีกทั้งยังมีประเด็นเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนที่ไม่รู้ว่าจะสามารถคุมการแพร่ระบาดได้หรือไม่ การบริหารทางเศรษฐกิจที่ล้มเหลวจนกระทบต่อปากท้องของประชาชน ปัญหาการตกงานของเด็กที่เรียนจบใหม่ต้องใช้ชีวิตอย่างสิ้นหวัง

ภัสราวลีกล่าวว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่เป็นดอกผลของการรัฐประหารจึงทำให้มีรัฐบาลสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารและมีนายกรัฐมนตรีที่ไร้ความสามารถ แต่เมื่อประชาชนพยายามจะแก้ไขปัญหาต้นตอด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ถูกขัดขวางโดยผู้ที่สนับสนุนระบอบประยุทธ์และคนเหล่านี้ยังถูกสั่งได้จากอำนาจศูนย์กลางที่สามารถแต่งตั้งพวกเขามามีอำนาจ ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกลไกในระบอบประชาธิปไตยทำได้ยาก จึงทำให้ตั้งคำถามได้ว่าการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นอำนาจจากปลายกระบอกปืนและการรัฐประหารเท่านั้นเพื่อประโยชน์ของชนชั้นนำเพียงไม่กี่คนใช่หรือไม่ แต่เมื่อเป็นข้อเรียกร้องของประชาชนที่จะทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้นกลับทำไม่ได้เลย

ภัสราวลีชักชวนให้ประชาชนร่วมกันลงชื่อเพื่อผลักดันให้ร่างของประชาชนเป็นร่างหลักในการพิจารณาในสภาเพื่อยุติการสืบทอดอำนาจ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และหากรัฐธรรมนูญยังเป็นฉบับปัจจุบันก็จะทำให้ได้รัฐบาลที่ไม่เห็นหัวประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิดที่ดีกว่านี้ได้ในประเทศนี้

เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช นักวิชาการ ชี้ปัญหาที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับ 60 ที่รัฐบาลทหารในเวลานั้นมีการปิดกั้นการแสดงออกถึงการไม่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญรวมถึงการดำเนินคดีกับคนเหล่านั้น ทำให้ร่างฉบับนั้นได้มาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และเขายังชี้ปัญหาของรัฐธรรมนูญไว้ 4 กลุ่ม

กลุ่มแรก คือปัญหาที่เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจถูกลดทอนลงจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 และ 50 กลุ่มที่สองเป็นเรื่องโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมการเข้าถึงทรัพยากรและการใช้ชีวิตของประชาชนเช่นเรื่องการกระจายวัคซีนด้านสุขภาพสาธารณสุข ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากการที่รัฐธรรมนูญไม่เปิดช่องทางในการตรวจสอบรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้รัฐบาลใช้อำนาจได้อย่างเต็มที่โดยที่ไม่ถูกตรวจสอบ

เอกพันธ์กล่าวต่อว่า กลุ่มที่สามก็คือเรื่องอำนาจและที่มาของสภาโดยเฉพาะวุฒิสภาที่การออกเสียงเป็นเหมือนคนเดียวกันและไปในทิศทางเดียวกันตลอดซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกเป็นเช่นนี้การมีวุฒิสภาแบบนี้ก็ไม่มีเลยจะดีกว่า ดังนั้นกระบวนการได้มาของ สว.จึงส่งผลให้สภามีสภาพแบบนี้และไม่สามารถเป็นที่พึ่งพาให้แก่ประชาชนได้และยังรวมไปถึงที่มาและอำนาจขององค์กรอิสระด้วยที่มีการตีความเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด และประเด็นสุดท้ายคือในรัฐธรรมนูญมีส่วนที่เป็นปัญหาที่ถูกใส่ไว้ในส่วนของการสืบทอดอำนาจของ คสช. ยุทธศาสตร์ชาติ และอื่นๆ ซึ่งควรจะต้องถูกตัดออกไป เพื่อให้สามารถฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยกลับมา นอกจากนั้นทางกลุ่มยังมีจุดยืนและพยายามสร้างวัฒนธรรมที่จะไม่ทำให้เกิดการรัฐประหารอีก

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้าแถลงเป็นคนสุดท้ายกล่าวว่าที่ผ่านมาการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับบนี้เกิดขึ้นโดยประชาชนร่วมกันกดดันจนรัฐสภาต้องยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาและที่ประชุมร่วมของรัฐสภาก็รับหลักการในวาระแรกให้มีการทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แต่ ส.ส.และส.ว.ส่วนหนึ่งก็ยื่นเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญถามถึงอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่าสามารถแก้ไขทั้งฉบับได้หรือไม่ ซึ่งศาลก็บอกว่าทำได้แต่ต้องมีประชามติก่อน แต่ต่อมารัฐสภาก็มีมติปัดร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตกทั้งหมด นอกจากนั้นในการประชุมพิจารณาร่างพ.ร.บงประชามติฯ ก็มีการปิดประชุมทำให้ร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ ยังค้างอยู่ในที่ประชุม แต่มาถึงวันนี้กลับมีการเสนอให้มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญโดยข้ามการพิจารณา พ.ร.บ.ประชามติฯ ไป

ธนาธรชี้ว่า ทั้งที่หากมีความตั้งใจแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับจริงๆ และศาลรัฐธรรมนูญยังมีคำวินิฉัยแล้ว ก็ควรให้มีการทำประชามติจึงจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะนำมาสู่การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ แต่ผู้มีอำนาจก็ไม่เลือกแล้วมาเสนอแก้รายมาตราและประเด็นที่สำคัญคือการแก้รายมาตราที่ว่าด้วยระบบการเลือกตั้ง

ธนาธรอธิบายโดยยกสถิติการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อมีนาคม 2562 พรรคที่พูดชัดเจนว่าสนับสนุพลงองประยุทธ์ จันทรโอชาและชัดเจนว่าจะสนับสนุนการสืบทอดอำนาจนี้ รวมกันสามพรรคได้คะแนน 25.04% ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ขณะที่พรรคที่พูดชัดเจนว่าไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจและสนับสนุนให้พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีโดยเขารวมพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยเข้ามาด้วยเพราะมีการแสดงจุดยืนชัดเจนพรรคเหล่านี้รวมกันได้คะแนนถึง 67.82% ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง จนถึงวันนี้เป็นเวลา 2 ปี 3 เดือนเหลือเวลาอีกแค่ 1 ปี 9 เดือนจะถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไป

“ดังนั้นเพื่อทำให้เกิดความมั่นใจว่าระบอบประยุทธ์จะยังคงอยู่จึงต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยมุ่งเน้นที่เรื่องระบบการเลือกตั้ง นี่เป็นความพยายามในการสืบทอดอำนาจรอบที่สอง” ธนาธรชี้ประเด็นของการที่มีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราโดยฝ่ายรัฐบาล

“ประวัติศาสตร์ในทุกสังคมสอนพวกเราว่าสิทธิ เสรีภภาพ ความเสมอภาคไคยได้มาจากความเมตตาของชนชั้นนำ ประวัติศาสตร์ในทุกสังคมสอนเราว่าประชาธิปไตยไม่เคยได้มาจากการร้องขอ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้มาจากการเรียกร้องจากการยืนหยัดต่อสู้ของประชาชนอย่างมั่นคงและยาวนาน” ธนาธรกล่าวและเชิญชวนประชาชนมาร่วมลงชื่อผลักดันร่างรัฐธรรมนูญของ Re-Solution เพื่อยกเลิกองค์กรอิสระ ยุทศาสตร์ชาติและปฏิรูปล้างมรดกการรัฐประหาร

ก้าวไกลยันยกเลิก รธน.60 และฉบับใหม่ต้องมาจากประชาชน

นอกจากการแถลงขอกลุ่ม Re-Solution แล้ววันเดียวกัน ที่อาคารรัฐสภา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล และ รังสิมันต์ โรม รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล รวมแถลงผลการการประชุม ส.ส. พรรคก้าวไกล ต่อประเด็นเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญด้วย โดยทางทีมสื่อสารของพรรคก้าวไกลรายงานถึงพิธาที่แถลงรายละเอียดมติของประชุมว่ามีดังต่อไปนี้

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

(1) พรรคก้าวไกลเห็นว่า หนทางที่ดีที่สุดในการออกจากวิกฤตรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน คือ การยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมาจากการรัฐประหาร แล้วจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน โดยขั้นแรก คือ การจัดทำประชามติขอความเห็นชอบจากประชาชน ผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้ร่าง พ.ร.บ. ออกเสียงประชามติยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา ดังนั้น พรรคก้าวไกลขอคัดค้านหากประธานรัฐสภาจะเตะถ่วงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ออกเสียงประชามติที่ค้างอยู่ แล้วนำวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราขึ้นมาพิจารณาก่อนตามความต้องการของพรรคพลังประชารัฐทั้งๆ ที่ไม่มีเหตุความจำเป็นเร่งด่วนแต่อย่างใด ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาปลายเดือนนี้ประธานรัฐสภาต้องกำหนดวาระตามปกติ ให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติแล้วเสร็จก่อนเข้าสู่วาระอื่น

(2) พรรคก้าวไกลเห็นว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐในหลายมาตรานั้น เป็นความพยายามเบี่ยงเบนเป้าหมายของการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกจากการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. และยุติกลไกการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร แล้วดำเนินการ “ต่ออายุ” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปอีก ผ่านการแก้ไขระบบการเลือกตั้งที่ตนเองคิดว่าจะได้เปรียบจากการใช้อำนาจรัฐและอำนาจทุน และผ่านการเปิดช่องให้นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลสามารถเข้าไปเบียดบังงบประมาณและแทรกแซงข้าราชการได้ง่ายขึ้น

(3) การพยายามเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 หลากหลายมาตราตามที่พรรคพลังประชารัฐเสนอนั้น มีแต่จะทำให้เกิดความสับสน หรือแย่กว่านั้นคือไปช่วยกันตกแต่งให้รัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ดูดีขึ้น และช่วยต่ออายุให้ระบอบประยุทธ์ ดังนั้น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตราในสถานการณ์ปัจจุบันควรพุ่งเป้าให้ชัดเจนไปยังการปลดกลไกสำคัญในการสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร

ที่ประชุม ส.ส. ของพรรคก้าวไกลจึงเห็นชอบให้เสนอ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ยกเลิกอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. 250 คน ที่มาจากการคัดเลือกโดย คสช. ดังนั้น ส.ส. พรรคก้าวไกลจะลงชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นนี้ร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านแล้วยื่นต่อประธานสภาในวันพรุ่งนี้

(4) ที่ประชุม ส.ส. พรรคก้าวไกลมีมติไม่ร่วมลงชื่อกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคเพื่อไทยที่เสนอแก้ไข ม.256 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เนื่องจากเราไม่เห็นด้วยกับการไปจำกัดอำนาจของ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ห้ามแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ

“พรรคก้าวไกลยืนยันมาโดยตลอดว่า การกำหนดห้ามดังกล่าวเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองที่ผิด ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในระยะยาว และเป็นการไม่เคารพต่ออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชน พรรคก้าวไกลเชื่อมั่นเสมอว่า สสร. ที่มาจากประชาชนมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทุกหมวด และ สสร. ควรเป็นเวทีที่เปิดกว้างให้แก่ทุกฝ่าย เคารพอำนาจของประชาชน เพื่อนำไปสู่ฉันทามติใหม่ของสังคมไทยร่วมกัน”

(5) สำหรับเรื่องระบบการเลือกตั้งนั้น พรรคก้าวไกลเห็นว่า หากจะมีการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ต้องมีเป้าหมายในการสร้างระบบการเลือกตั้งที่ดี ไม่ใช่มีเป้าหมายเพียงแค่การแสวงหาระบบเลือกตั้งที่พรรคการเมืองใหญ่ได้ประโยชน์มากที่สุด

“ระบบการเลือกตั้งที่ดี ต้องทำให้เสียงทุกเสียงมีความหมาย สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้ดีที่สุด รวมถึงเป็นระบบที่ช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันพรรคการเมือง และสร้างประสิทธิภาพของระบบรัฐสภากับรัฐบาล

“ระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ใช่ระบบที่ดี ขณะที่ระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ยังมีข้อด้อยที่ควรต้องปรับปรุง ซึ่งพรรคก้าวไกลเห็นว่า ระบบการเลือกตั้งที่ดี ควรเป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ กล่าวคือ เลือก ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 1 ใบ และเลือกพรรคการเมืองอีก 1 ใบ โดยนำคะแนนเลือกพรรคการเมืองมาใช้คำนวณจำนวน ส.ส. พึงมีของแต่ละพรรค เพื่อให้เสียงของประชาชนไม่ตกน้ำ และได้สัดส่วน ส.ส. ของแต่ละพรรคตามเจตนารมณ์ของประชาชนมากที่สุด ซึ่งนั่นหมายถึงว่า เสียงของประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ต้องการต่ออายุให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีก ทุกเสียงต้องถูกนับ”

สุดท้ายนี้ พรรคก้าวไกลขอย้ำว่า ทางออกจากวิกฤตรัฐธรรมนูญในปัจจุบันไม่ใช่การเข้าร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญตามเกมของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งต้องการพิทักษ์รัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหารและต่ออายุให้ระบอบประยุทธ์ แต่ต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดการลงประชามติเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 คู่ขนานไปกับการทำลายหัวใจในการสืบทอดอำนาจด้วยการ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ก่อน การแก้ไขระบบเลือกตั้งหรือประเด็นปลีกย่อยอื่นใดโดยไม่ยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น ย่อมเป็นการเดินเข้าสู่กับดักและขนมล่อทางการเมืองของระบอบประยุทธ์ จันทร์โอชา

ในการตอบคำถามของสื่อมวลชน พิธา ระบุว่า สาเหตุที่ไม่ร่วมลงชื่อในการแก้ไข มาตรา 256 ร่วมกับพรรคเพื่อไทยนั้น ประการแรกคือ ต้องทำตามกระบวนการ เนื่องจากการเสนอญัตตินี้คราวก่อน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าต้องทำประชามติจึงต้องไปดำเนินการตามนั้น อีกประการหนึ่งคือพรรคก้าวไกลเองก็จะร่างแก้ไขมาตรานี้ในแนวทางของพรรค อย่างไรก็ตาม กระบวนการเหล่านี้ต้องหลังจากผ่านการประชามติแล้ว ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราจึงอยากมุ่งไปที่ มาตรา 272 ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการปิดสวิตช์ ส.ว.

“ตามลำดับความสำคัญของกฎหมาย สภาควรจะต้องพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ประชามติก่อน การแถลงข่าวในวันนี้จึงเป็นการเรียกร้องไปยังประธานรัฐสภาด้วยว่า จะต้องไม่นำเอาเจตจำนงของพรรคการเมืองไหนมาเหนือประธานรัฐสภา สำหรับที่ถามมาว่าพรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วยกับรูปแบบการเลือกตั้งแบบบัตรสองใบเพราะเสียประโยชน์หรือไม่ เรายืนยัน่าพร้อมต่อสู้ในทุกระบบการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งแบบจำนวนบัตรสองใบเราเห็นด้วย แต่ระบบบัตรสองใบก็มีหลายแบบ ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบปี 40 เท่านั้น ซึ่งเราต้องการระบบการเลือกตั้งที่ตอบสนองเจตจำนงของประชาชนที่สุด เสียงต้องไม่ตกน้ำหรือไม่ใช่การเลือกตั้งที่ผลออกมาแล้วไม่เป็นพรรคใหญ่ก็มีแค่พรรคเล็กไปเลย ระบบบัตรสองใบเป็นเรื่องดี เพราะประชาชนสามารถเลือกคนที่ใช่ เลือกพรรคที่ชอบได้ แต่วิธีการคำนวณจัดสรร ส.ส.แบบเขตกับบัญชีรายชื่อมีหลายแบบ ซึ่งระบบ MMP แบบเยอรมันเป็นระบบที่ไม่มีเสียงตกน้ำ เราจึงเชื่อว่าเป็นระบบที่เหมาะสมและตอบสนองเจตจำนงประชาชนมากที่สุด”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท