เมื่อ “ผมสู้ชีวิตไม่ไหวแล้ว” จับสัญญาณฆ่าตัวตายในยุคโควิด-19

ข่าวการฆ่าตัวตายปรากฏตามหน้าสื่อถี่ขึ้น สร้างข้อถกเถียงตั้งแต่ปีที่แล้ว ตัวเลขปี 63 ก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่การฆ่าตัวตายซับซ้อนกว่าที่คิด ปัจจัยด้านเศรษฐกิจแรงขึ้นในระดับหนึ่ง แต่ที่ต้องจับตาดูคือหลังวิกฤตโควิดผ่านพ้น

“ผมสู้ชีวิตไม่ไหวแล้ว”

คำพูดสุดท้ายของคนขับแท็กซี่รายหนึ่งก่อนจะกระโดดลงแม่น้ำเจ้าพระยาจากสะพานพระราม 7 เหลือไว้แค่รองเท้าหนึ่งคู่ที่ถอดทิ้งไว้

นับเป็นข่าวคราวการฆ่าตัวตายที่ชวนหดหู่อีกข่าวหนึ่งที่ปรากฏบนหน้าสื่อซึ่งมีให้เห็นถี่ขึ้น เลี่ยงไม่ได้ที่ความคิดเห็นของสังคมจะเชื่อมโยงการฆ่าตัวตายเข้ากับความซบเซาทางเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19 และความสามารถของรัฐบาลในการบริหารจัดการสถานการณ์

ประเด็นการฆ่าตัวตายไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งถูกพูดถึง มันเป็นข้อถกเถียงกันมาตั้งแต่ปี 2563 ปีแรกของการระบาด เมื่องานสำรวจของโครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง (ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พบว่า นับแต่วันที่ 1 ถึง 21 เมษายน 2563 มีการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 38 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 28 คน อีก 10 คน ยังไม่เสียชีวิต

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างจำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 และผู้ที่ฆ่าตัวตายอันเนื่องมาจากผลกระทบจากนโยบายและมาตรการของรัฐในช่วงเวลาเดียวกัน (วันที่ 1 ถึง 21 เมษายน 2563) พบว่า จำนวนของผู้เสียชีวิตและผู้ที่ฆ่าตัวตายอยู่ในจำนวนที่เท่ากันคือ 38 ราย โดยผู้ที่ฆ่าตัวตายเป็นเพศชาย 27 ราย เพศหญิง 11 ราย ประกอบอาชีพเป็นลูกจ้าง/ผู้ประกอบการอิสระ 35 ราย เป็นผู้ประกอบการ/เจ้าของธุรกิจรายย่อย 3 ราย และมีอายุเฉลี่ยที่ 40 ปี

เป็นเหตุให้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิตในเวลานั้นออกมาโต้ใน 3 ประเด็นว่า งานดังกล่าวเป็นเพียงบทวิเคราะห์สื่อและการนำเสนอปัจจัยสาเหตุจากมุมมองของสื่อมวลชน ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้เป็นตัวแทนหรือใช้เป็นข้อเท็จจริงที่สะท้อนปัญหาการฆ่าตัวตายในสังคมไทยได้ เนื่องจากโดยปกติแล้วงานวิจัยด้านสุขภาพจิตต้องใช้นักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในการเก็บข้อมูลปัจจัยด้านสุขภาพจิต, การนำเสนอและวิเคราะห์เลือกแสดงข้อมูลเพียงเดือนเมษายนเท่านั้น โดยขาดการเปรียบเทียบกับข้อมูลการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายของประชากรในเดือนก่อนหน้านี้ และการนำข้อมูลเปรียบเทียบกับการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 นั้น ก่อให้เกิดการตีความและความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และประการสุดท้าย-การอภิปรายผลการวิจัยโดยขาดการทบทวนวรรณกรรมหรืองานวิจัยสุขภาพจิตที่มีมาก่อนหน้านี้ รวมถึงไม่อยู่บนพื้นฐานทฤษฎีด้านสุขภาพจิต อาจสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างมากให้ประชาชน

จับตาการฆ่าตัวตายหลังวิกฤตโควิด

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขอัตราการฆ่าตัวตายที่ปรากฏบนเว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ก็พบว่าตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

หากดูสถิติอัตราการฆ่าตัวตายต่อแสนประชากร 5 ปีย้อนหลัง ปี 2559 ตัวเลขอยู่ที่ 6.35 ปี 2560 เท่ากับ 6.03 จากนั้นตัวเลขขยับสูงขึ้นเป็นลำดับคือ 6.32, 6.64 และ 7.37 ในปี 2561, 2562 และ 2563 เมื่อดูเฉพาะปี 2562 และ 2563 จะเห็นการกระโดดขึ้นของตัวเลข

เมื่อดูสถิติย้อนหลังกลับไปไกลกว่านั้น ช่วงที่ประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดอยู่ในปี 2542 คือ 8.59 หลังเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง 2 ปี กว่าตัวเลขอัตราการฆ่าตัวตายจะลดต่ำกว่า 7 ก็ล่วงเลยถึงปี 2547

นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตาย

นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายและผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กล่าวว่า ปกติอัตราการฆ่าตัวตายต่อแสนประชากรของคนไทยอยู่ที่ประมาณ 6.0-6.5 หรือราวๆ 4,000 ถึง 4,400 คนมาโดยตลอด เขากล่าวต่อการเพิ่มขึ้นของอัตราการฆ่าตัวตายไม่ได้เกิดขึ้นทีเดียวในช่วงวิกฤต แต่จะใช้เวลาในการไต่ระดับขึ้นหลังจากนั้นประมาณปีถึงสองปี

“เหตุผลที่อธิบายได้ก็คือว่ามันเป็นช่วงที่กำลังฟื้นตัว คนถามว่าเป็นช่วงฟื้นตัวแล้วทำไมถึงฆ่าตัวตาย ก็เพราะมันมีคนฟื้นตัว มันก็เลยมีคนที่ไม่ฟื้นตัวด้วย มันจึงเป็นเหตุผลหนึ่ง แต่ถามว่า 7 กว่าสะท้อนภาพวิกฤตไหมก็ keep in mind ว่ามันเป็นไปได้ และถ้าเกิดปี 2563 ซึ่งเป็นปีวิกฤตมันวิ่งขึ้นเท่านี้ เป็นผมก็จะจับตาดูปี 2564 ว่าจะเกิดแบบต้มยำกุ้งหรือเปล่า

“ปีนี้อัตราการฆ่าตัวตาย 3 เดือนแรกที่ได้จากใบมรณะบัตรค่อนข้างไม่สูงเมื่อเทียบกับ 3 เดือนแรกของปี 2563 ต้องยอมรับว่าภาพ 3 เดือนแรกของปี 2563 ค่อนข้างมาสูง แต่ปีนี้ 3 เดือนแรกค่อนข้างปกติธรรมดา ซึ่งแค่ 3 เดือนยังบอกอะไรไม่ได้ น่าจะเห็นอะไรในช่วงตั้งแต่พฤษภาคมเป็นต้นไปซึ่งข้อมูลยังไม่เข้ามา เพราะเราจับตาดูอยู่ โดยทั่วๆ ไปตัวเลขการฆ่าตัวตายจะไม่ตอบทันทีกับเหตุการณ์ในสังคม มันจะตอบทีหลังประมาณเดือนสองเดือน ตอนนี้ยังพูดชัดไม่ได้เพราะข้อเท็จจริงยังไม่มา”

ปัจจัยด้านเศรษฐกิจแรงขึ้นระดับหนึ่ง

แน่นอนว่าเมื่อกล่าวถึงการฆ่าตัวตาย คำถามที่หนีไม่พ้นคือสาเหตุ ซึ่งมีอยู่ 5 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ปัญหาด้านความสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ในครอบครัว ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ปัญหาจากโรคเรื้อรัง ทั้งโรคเรื้อรังทางกายและโรคเรื้อรังทางจิต ปัญหาด้านเศรษฐกิจ การบริโภคสุรา และการใช้สารเสพติด

“ปกติกลุ่มแรกจะมีสัดส่วนเยอะที่สุดเสมอคือราวๆ 50-60 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด ซึ่งก็เป็นอย่างนี้มาตลอดไม่ว่าจะเกิดวิกฤตอะไร ปัญหาความสัมพันธ์ก็จะคงอันดับ 1 อย่างนี้มาตลอดอยู่แล้ว กลุ่มโรคเรื้อรังจะเป็นอันดับที่ 2 เสมอ ซึ่งโรคเรื้อรังทางกายกับทางจิตจะมีสัดส่วนพอๆ กัน อันดับที่ 3 ของคนไทยมักจะเป็นเรื่องแอลกอฮอล์ แล้วอันดับที่ 4 จะเป็นเศรษฐกิจ อันดับที่ 5 เป็นสารเสพติด อันนี้พูดในแง่การจัดลำดับของสัดส่วนปกติเป็นแบบนี้”

แต่ในปี 2563 ปัจจัยด้านเศรษฐกิจขยับขึ้นแซงปัจจัยจากการบริโภคสุรา อย่างไรก็ตาม นพ.ณัฐกร กล่าวว่า

“ปี 2563 เกิดอะไรขึ้น ต้องยอมรับว่าเรื่องเศรษฐกิจแซงแอลกอฮอล์ ผมไม่ได้บอกว่าเศรษฐกิจมันแรงขึ้น เพราะส่วนหนึ่งแอลกอฮอล์ปัญหามันลดลง ปี 2563 มันมีมาตรการหรืออะไรบางอย่างในสังคมที่ทำให้คนดื่มน้อยลง โดยเฉพาะอย่างช่วงที่มีมาตรการของคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อหลายจังหวัดควบคุมการบริโภคสุราหรือการจำหน่ายสุรา อันนี้มีผลมาก เพราะฉะนั้นปัจจัยจากแอลกอฮอล์ลดลง ปัจจัยทางเศรษฐกิจแรงขึ้นอยู่ระดับหนึ่งก็ต้องยอมรับ ส่งผลให้ปัจจัยด้านเศรษฐกิจตีคู่กับปัจจัยด้านโรคเรื้อรังพอสมควร ในแต่ละเดือนจะตีคู่กันแบบนั้น ในบางเดือนต้องยอมรับว่าปัจจัยด้านเศรษฐกิจขึ้นมาเป็นอันดับ 2 โรคเรื้อรังอันดับ 3 แต่บางเดือนโรคเรื้อรังก็อันดับ 2”

ประเด็นที่ต้องคำนึงถึงเสมอคือการที่คนคนหนึ่งตัดสินใจฆ่าตัวตายมีความซับซ้อนเกินกว่าจะบอกได้ว่าเพราะสาเหตุใดเป็นหลัก ปัญหาความสัมพันธ์อาจนำไปสู่การดื่มสุรา หรือปัญหาเศรษฐกิจก็สามารถทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวมีปัญหาได้ ดังนั้น แม้จะบอกได้ว่าปัจจัยที่ทำให้คนฆ่าตัวตายมีอะไรบ้าง แต่ก็ไม่สามารถจัดอันดับชี้ชัดได้ว่าปัจจัยใดเป็นตัวหลัก

สุขภาพ-เศรษฐกิจ-สังคม

นพ.ณัฐกร กล่าวว่า การฆ่าตัวตายของคนไทยเป็นปัญหาเชิงสังคมที่มีความสลับซับซ้อน หากมองเป็นปัญหาสุขภาพอย่างเดียวจะทำให้ตกหล่นมิติทางสังคมและเศรษฐกิจ  การแก้ไขจึงต้องเป็นไปอย่างรอบด้าน

“ถ้าเรารู้ว่าปี 2563 ปัจจัยด้านเศรษฐกิจมาแรง และในบางพื้นที่เราก็มีข้อมูลว่ากลุ่มแรงงานมาแรง บางพื้นที่กลุ่มที่ไม่มีรายได้มาแรง บางพื้นที่กลุ่มเกษตรกรไม่แรง กลุ่มค้าขายไม่แรง เราก็จะได้โฟกัสถูกว่าถ้าพื้นที่แรงงานแรง เราประสานกับแรงงานได้ไหม ในพื้นที่ที่ผู้สูงอายุมาแรงเราประสานกับหน่วยงานที่ดูแลผู้สูงอายุได้หรือเปล่า มันจะเป็นมิติของการบูรณาการการทำงานหลายภาคส่วน ไม่ได้มองปัญหาฆ่าตัวตายเป็นปัญหาด้านสุขภาพ แต่เป็นปัญหาทางสังคมเศรษฐกิจที่มีความสลับซับซ้อนกับปัจจัยของตัวบุคคล”

จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่และจะเป็นไป ต้องรอดูกันว่ารัฐบาลจะมีความสามารถในการจัดการ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การจัดหาวัคซีน การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงการลำดับความสำคัญของการใช้งบประมาณมากน้อยแค่ไหน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท