Skip to main content
sharethis

รัตนาพร เขม้นกิจ และ ณัฐพนธ์ ปานอุดมลักษณ์ : สัมภาษณ์

อันนา หล่อวัฒนตระกูล : เรียบเรียง 

มีมี่ (คนกลาง แถวหน้า) ร่วมขบวนไพร่พาเหรด 8 พ.ย. 63

มีมี่ นักกิจกรรมเยาวชนวัย 17 ปีผู้เคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมทางเพศ กลายเป็นผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ หลังขึ้นปราศรัยในการชุมนุมที่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2563

จากสมาชิกกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกและหนึ่งในกลุ่มผู้อยู่เบื้องหลังการแสดงชุดสีดาลุยไฟ การแสดงที่ใช้การเต้นเพื่อสื่อสารถึงการต่อต้านวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่และความไม่เป็นธรรมอื่น ๆ ในสังคม ปัจจุบันมีมี่เป็นแอดมินเพจ Feminist FooFoo ที่เผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับความเป็นธรรมทางเพศ และร่วมเคลื่อนไหวกับขบวนการนักเรียนเพื่อต่อต้านพ.ร.บ. การศึกษาฉบับใหม่ที่กำลังจะเข้าสู่สภา

ประชาไทคุยกับมีมี่ถึงจุดเริ่มต้นของการออกมาเคลื่อนไหว ประสบการณ์การถูกดำเนินคดีในฐานะเยาวชนที่ออกมาแสดงออก และความสำคัญของความเป็นธรรมทางเพศในการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย

ก้าวแรกของการเคลื่อนไหว

มีมี่เล่าว่าพื้นฐานครอบครัวมีส่วนทำให้ได้เรียนรู้เรื่องประชาธิปไตยตั้งแต่เด็ก แต่ตนไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวจนเกิดกรณีการหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยชาวไทยที่ลักพาตัวไปจากคอนโดที่พักในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 โดยปัจจุบันยังไม่ทราบชะตากรรม

การหายตัวไปของวันเฉลิมจุดประกายให้เกิดคลื่นของการชุมนุมต่อต้านการบังคับสูญหาย ซึ่งต่อมากลายเป็นประเด็นหลักในขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยที่เริ่มต้นขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2563 มีมี่ก็เป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่รู้สึกว่าต้องออกมาเคลื่อนไหวในช่วงนั้น

ประชาชนชุมนุมที่หน้าสถานทูตกัมพูชาเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาสืบสวนการหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ 8 มิ.ย. 63

“ตอนวันเฉลิมถูกอุ้มหาย เรารู้สึกว่าเราไม่สามารถอยู่เฉย ๆ ได้อีกต่อไปแล้ว ต่อให้คนที่จะไปสถานทูตกัมพูชาน้อยแค่ไหนเราก็จะไป นั่นคือจุดเริ่มแรกที่เราออกมา” มีมี่เล่า

ถึงแม้ว่าการชุมนุมอาจถูกมองว่าไม่ใช่สิ่งที่เด็กควรทำ แต่มีมี่ก็มองว่าการที่เยาวชนออกมาแสดงจุดยืนเป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากเป็นการแสดงให้เห็นว่าพวกเขาก็มีสิทธิมีเสียงเช่นเดียวกัน เนื่องจากเยาวชนมักไม่มีสิทธิตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพวกเขาและถูกปิดกั้นไม่ให้แสดงออกเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาเป็นผู้ได้รับผลกระทบ

“เรารู้สึกว่าถ้าเราเป็นคนเหมือนกัน เราไม่ควรจะไปตัดสินชุดประสบการณ์ของใครด้วยชุดประสบการณ์ของเราเอง” มีมี่กล่าว “การที่ผู้ใหญ่บอกว่าเขาอาบน้ำร้อนมาก่อน เราคิดว่ามันเป็นการเหยียด การลดทอนการเรียกร้อง การลดทอนคุณค่า เราคิดว่าต่อให้เป็นเด็กอนุบาลหรือเด็กประถม เขาก็มีสิทธิที่จะบ่นว่าเหนื่อยเหมือนกัน เขาก็มีสิทธิที่จะบอกว่าคุณภาพชีวิตของเขามันไม่ดี”

มีมี่เริ่มต้นเคลื่อนไหวในประเด็นความเป็นธรรมทางเพศร่วมกับกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกและกลุ่ม Free Queer and Non-binary โดยเป็นหนึ่งในผู้จัดทำการแสดงชุดสีดาลุยไฟ ซึ่งดัดแปลงมาจากการแสดงชุด A Rapist in Your Path (Un Violador en Tu Camino) ของกลุ่มเฟมินิสต์ Las Tesis ในประเทศชิลี ที่ต่อมาถูกนำไปใช้โดยกลุ่มผู้เรียกร้องความเป็นธรรมทางเพศในประเทศต่าง ๆ เพื่อต่อต้านความรุนแรงทางเพศ วัฒนธรรมโทษเหยื่อ และโครงสร้างชายเป็นใหญ่ในสังคม

การแสดงสีดาลุยไฟฉบับภาษาไทยเกิดขึ้นครั้งแรกที่กิจกรรม ไพร่พาเหรดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งจัดโดยกลุ่มเสรีเทยพลัสและกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก ซึ่งในขณะนั้นใช้ชื่อกลุ่มว่าผู้หญิงปลดแอก โดยมีคณะกลองบีฟลอร์ร่วมแสดง และต่อมาเนื้อเพลงก็ได้ถูกดัดแปลงเพื่อนำไปใช้ในการสื่อสารประเด็นทางสังคมต่าง ๆ เช่นสิทธิทำแท้งปลอดภัย เสรีภาพในการแสดงออก กระบวนการยุติธรรม และการละเมิดสิทธิเยาวชนในโรงเรียน

มีมี่ (แถวหน้า ซ้ายสุด) ร่วมแสดงในการแสดงสีดาลุยไฟครั้งแรกที่กิจกรรมไพร่พาเหรด 7 พ.ย. 63

ปัจจุบันมีมี่ทำเพจชื่อ Feminist FooFoo ในทวิตเตอร์และอินสตาแกรม เผยแพร่เนื้อหาในประเด็นเพศและสังคม ความหลากหลายทางเพศและความเป็นธรรมทางเพศ และกล่าวว่าจะมีกิจกรรมเกี่ยวกับสิทธิทางเพศออกมาอีกเรื่อย ๆ

นอกจากนี้ มีมี่ยังร่วมเคลื่อนไหวกับขบวนการนักเรียนเพื่อต่อต้านร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาในเร็ว ๆ นี้ โดยมีมี่ระบุว่า พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวไม่คำนึงถึงผู้พิการ ชนพื้นเมือง และอัตลักษณ์ชายขอบอื่น ๆ นอกจากนี้ยังสร้างความชอบธรรมในการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กถ้าโรงเรียนดังกล่าวไม่สามารถบรรลุผลตามที่ พ.ร.บ.​กำหนดได้ อีกทั้งยังกำหนดให้ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนปฏิรูปประเทศ และมีการระบุว่าสิทธิคู่กับหน้าที่ แทนที่จะเป็นเสรีภาพ

“เราเป็นเยาวชนคนหนึ่ง แล้วก็ไม่ได้มีอำนาจอะไร ครอบครัวเราไม่ได้เป็นครอบครัวที่มีแหล่งอำนาจ ไม่ใช่ครอบครัวที่มียศอะไร แต่ว่าเราออกมาเพราะเราเห็นความไม่เป็นธรรม เราเห็นคนถูกกดทับ ซึ่งเราคิดว่าหลาย ๆ คนก็เห็นแต่ว่าไม่ออกมา เราจะบอกว่าเราไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้ถ้าเราอมความรู้นี้ไว้คนเดียว เราควรจะปล่อยมันออกมา แล้วก็ออกมาเคลื่อนไหว ไม่ว่าคุณจะทำในรูปแบบไหน อารยะขัดขืน หรือว่าออกมาบริจาค ออกมาชุมนุม ออกมาทำกิจกรรมอะไรก็ตาม เราคิดว่านั่นก็คือส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวแล้ว” ​มีมี่กล่าว

ชีวิตหลังคดี พ.ร.ก.​ ฉุกเฉิน

การออกมาทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทำให้มีมี่ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ จากการเข้าร่วมชุมนุมและปราศรัยเกี่ยวกับความเป็นธรรมทางเพศและวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรมในการชุมนุมที่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2563

มีมี่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนหลังเข้ารายงานตัวที่สน.ลุมพินีเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2564 ว่าเจ้าหน้าที่เข้าใจว่าผู้ปราศรัยคือภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ นักกิจกรรมนักศึกษา แต่เมื่อพบว่าผู้ปราศรัยคนดังกล่าวคือมีมี่ เจ้าหน้าที่จึงตั้งข้อหากับมีมี่แทน

มีมี่ (แถวหน้า คนที่สองจากขวา) ร่วมการแสดงชุดราษฎรลุยไฟ หลังเข้ารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสน. ลุมพินี

ประสบการณ์การต้องรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและสถานพินิจทำให้มีมี่มองว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีความเข้าใจในการดำเนินคดีกับเยาวชนและขาดความละเอียดอ่อนในประเด็นเกี่ยวกับเพศ มีมี่เล่าว่าเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหยิบประมวลกฎหมายออกมาค้นดูว่าต้องดำเนินการอย่างไรกับตนซึ่งเป็นเยาวชน และถึงแม้ว่าเจ้าหน้าสถานพินิจจะไม่ได้ถามมีมี่เกี่ยวกับเรื่องการมีเพศสัมพันธ์เหมือนที่เคยได้ยิน แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ถามมีมี่ว่านิยามตนเองเป็นเพศอะไร และไม่รู้ว่าความหลากหลายทางเพศหมายถึงอะไรแต่บอกกับมีมี่ว่าที่ต้องระบุเพศเพื่อจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

“พอเขาเห็นหน้าหนูปุ๊บ เขากาคำว่านางสาวเลย ซึ่งจริง ๆ แล้วหนูอาจจะนิยามตัวเองว่าเป็น Mx หรือเป็นคนที่ไม่อยู่ในนางสาวหรือนาย คือหนูนิยามตัวเองเป็นนอนไบนารี่ แต่เขาไม่ได้ใส่ใจตรงเพศของหนูเลย และสิ่งที่ทำให้หนูช๊อกมากก็คือเขาไม่รู้จักคำว่า LGBT คือถ้าคุณไม่รู้จักคำว่า LGBT แล้วการที่คุณบอกว่าถามเพศเพื่อให้ปฎิบัติกับเราถูกนี่มันใช่เหรอ” มีมี่กล่าว

มีมี่ยังเล่าอีกว่าเจ้าหน้าที่สถานพินิจใช้คำถามชุดเดียวกันกับเยาวชนทุกคนที่ดำเนินคดีไม่ว่าจะเป็นคดีการเมืองหรือคดีอื่น ๆ เช่นคำถามเรื่องรสนิยมทางเพศ ซึ่งตนมองว่าอาจไม่จำเป็นในคดีการเมือง โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้ถามคำถามเหล่านี้กับมีมี่โดยตรง แต่เขียนคำตอบไปเองตามที่เจ้าหน้าที่คาดเดา

“สถานพินิจขาดความเข้าใจในหลายเรื่องมาก เขาขาดความเข้าใจในประเด็นที่เรากำลังเรียกร้อง” มีมี่กล่าว “เขาไม่เข้าใจว่าเฟมินิสต์คืออะไร เขาไม่เข้าใจว่า LGBT คืออะไร เราไม่ได้คาดหวังว่าทุกคนจะต้องรู้เรื่องนี้เพราะว่าคนที่รู้เรื่องนี้ส่วนมากจะต้องเป็นคนมีสิทธิในการเข้าถึงการศึกษา แต่อย่างน้อยเราคิดว่าสถานพินิจที่ทำเรื่องเด็ก เราคิดว่าเขาควรรู้เรื่องนี้”

มีมี่กล่าวว่าการถูกดำเนินคดีทำให้ตนเสียเวลา เนื่องจากการต้องพบทนายและต้องไปรายงานตัวมีผลทำให้ต้องขาดเรียนและทำให้ไม่สามารถจัดการเวลาในชีวิตได้ นอกจากนี้ยังกล่าวว่าค่อนข้างรู้สึกไม่ปลอดภัยที่โรงเรียน และต่อให้ยังไม่มีการคุกคามเกิดขึ้นก็ยังมีเรื่องของสายตาและคำพูดจากคนอื่นที่ต้องเผชิญ

นอกจากนี้มีมี่ยังเล่าว่าตนมักจะรับมือกับการแสดงความเป็นห่วงไม่เก่ง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เครียดกับการได้รับหมายเรียก แต่ก็มีความลำบากในการต้องอธิบายกับคนใกล้ตัวที่แสดงความเป็นห่วงว่าตนสบายดี ในส่วนของสุขภาพจิต มีมี่กล่าวว่าโดยปกติแล้วสามารถรับมือกับสุขภาพจิตตัวเองได้ดีเพราะมีความเข้าใจตัวเอง แต่กระบวนการยุติธรรมที่ไม่โปร่งใสก็ทำให้รู้สึกว่ามีความไม่แน่นอน อย่างไรก็ตาม มีมี่บอกว่า โดยส่วนตัวตนคิดว่ายังรับมือกับสถานการณ์ได้

“เราอยู่กับปัจจุบันค่ะ เราทำความเข้าใจกับตัวเอง ทำความเข้าใจแล้วก็คิดถึงสถานการณ์ที่แย่ที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้ แล้วก็คิดถึงวิธีรับมือกับมัน เราเตรียมพร้อมกับใจของเรา เราเลยคิดว่าต่อให้เราไปเจอสถานการณ์นั้นที่มันแย่ที่สุดเราก็ยังรับมือได้” มีมี่กล่าว

ล่าสุด คดียังอยู่ในระหว่างการรอฟังคำสั่งจากอัยการ โดยผัดฟ้องมาแล้วสองครั้ง มีมี่ระบุว่าตนไม่เคยพบเจอกับการถูกคุกคาม เพียงแต่กระบวนการทางกฎหมายล่าช้าเท่านั้น

ประชาธิปไตยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

สำหรับมีมี่ ถึงแม้การขบวนการสตรีนิยมหรือขบวนการเฟมินิสต์จะเริ่มต้นมาจากผู้หญิงที่ออกมาเรียกร้องสิทธิให้ตนเอง เนื่องจากในประวัติศาสตร์ผู้หญิงไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่สามารถทำงาน และมักถูกกำหนดให้ทำหน้าที่เป็นแม่และดูแลบ้าน แต่ขบวนการเฟมินิสต์ในปัจจุบันเรียกร้องความเป็นธรรมให้ทุกคน ไม่ใช่เฉพาะผู้ที่เกิดมามีเพศกำเนิดหญิงเท่านั้น นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการทำลายกรอบเพศแบบสองขั้วและการเพิ่มบทบาทของความหลากหลาย นอกจากนี้มีมี่ยังเล่าว่ากำลังศึกษาแนวคิดสตรีนิยมแบบอำนาจทับซ้อน หรือ Intersectional feminism อยู่ ซึ่งมีมี่เล่าว่าแนวคิดดังกล่าวต้องการจะสื่อว่าการกดทับไม่ได้มีแค่มิติของเพศเท่านั้น แต่ยังมีมิติอื่น ๆ ด้วย เช่นการกดทับทางชนชั้น ทางการเมือง หรือทางอัตลักษณ์อื่น ๆ

“เราคิดว่าทุกคนควรจะเป็นเฟมินิสต์ เพราะว่าถ้าเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ประชาชนควรจะต้องเป็นใหญ่ ซึ่งประชาชนทุกคนควรจะเท่ากันไม่ว่าเขาจะเป็นเพศอะไรหรือมีชนชั้นอะไร” มีมี่กล่าว “เราคิดว่าประชาธิปไตยที่เราฝันถึงมันไม่ใช่แค่คนทุกคนมีสิทธิมีเสียงเท่ากัน แต่เราคิดว่าไม่ว่าคุณจะมีพื้นฐานเรื่องเพศ พื้นฐานกำเนิด หรือว่าพื้นฐานในจิตใจคุณยังไง คุณควรจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่ากัน”

มีมี่กล่าวว่าอีกหนึ่งใจความสำคัญของขบวนการเฟมินิสต์คือการทำลายโครงสร้างชายเป็นใหญ่ในสังคม แต่มีมี่ก็บอกว่าตนคิดว่าคงไม่ใช่เรื่องง่ายและต่อให้ได้ประชาธิปไตยมาก็คงยังทำลายวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ไม่ได้อยู่ดี ดังนั้นจึงต้องเรียกร้องต่อไป

“ตรงนี้เราคิดว่ามันไม่หมดไปง่าย ๆ เพราะว่ามันอยู่มาเป็นพันปีแล้ว ประชาธิปไตยมันมีมาแค่กี่ร้อยปีเอง” มีมี่กล่าว “เราคิดว่าต่อให้เราได้เลือกตั้ง ได้ประชาธิปไตยมา แต่เราคิดว่าเราก็ยังทำลายวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ไม่ได้อยู่ดี เราก็ต้องเรียกร้องต่อไปในสิ่งที่เรารู้สึกว่าเราไม่ได้รับความเป็นธรรม”

หนึ่งในผู้เข้าร่วมการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาเพื่อเรียกร้องสิทธิในการเข้าถึงการทำแท้งอย่างปลอดภัยเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 63 ถือป้ายที่มีข้อความว่า “เพศสรีระไม่เท่ากับอัตลักษณ์ทางเพศ”

อย่างไรก็ตาม มีมี่มองว่าในโลกออนไลน์และโลกของคนรุ่นใหม่ แนวคิดเฟมินิสต์แพร่กระจายไปมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา และถึงแม้ว่าหลายคนจะไม่ได้ใช้คำว่าเฟมินิสต์ แต่ก็มีแนวคิดแบบเฟมินิสต์เพราะได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมและต้องการเรียกร้องความเป็นธรรม นอกจากนี้ก็ยังอาจมีหลายคนที่ไม่มีความรู้ในเชิงวิชาการเนื่องจากการกดทับทางชนชั้นทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้

“เราก็อยากฝากความคิดเรื่องเฟมินิสต์ไว้ เพราะว่าเราไม่อยากให้มันกระจุกอยู่แค่คนกลุ่มเดียว เข้าใจกันแค่คนกลุ่มเดียว” มีมี่กล่าว

ประชาชนถือธงสีรุ้ง สัญลักษณ์ของความหลากหลายทางเพศ ในกิจกรรมไพร่พาเหรด 7 พ.ย. 63

มีมี่คาดหวังอยากจะเห็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับสุขภาวะไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางอารมณ์ หรือทางจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้คนในสังคมใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข และอยากจะเห็นสังคมที่ไม่เลือกปฎิบัติ ที่เข้าใจและเคารพความแตกต่างหลากหลายของกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอัตลักษณ์ทางเพศ การแสดงออกทางเพศ​ รสนิยม หรือแรงดึงดูดทางเพศ

“ในสังคมเราตอนนี้มันมีกรอบไบนารี่ (ระบบสองขั้ว) คือกรอบชายและกรอบหญิง ซึ่งมันเป็นกรอบที่เป็นกรอบลงไปอีก แต่เราคิดว่ามันไม่ได้มีแค่นั้น เพศชายไม่ใช่เพศที่หนึ่ง เพศหญิงไม่ใช่เพศที่สอง และเพศหลากหลายไม่ใช่เพศที่สาม ทุกคนก็คือเพศ ไม่ว่าคุณจะนิยามตัวตนตัวเองเป็นอะไร” มีมี่กล่าว

สำหรับมีมี่ ถึงแม้ว่าจะมีเสรีภาพ แต่ถ้ายังไม่มีความเท่าเทียมและยังคงมีการเลือกปฏิบัติ เสรีภาพนั้นก็ไม่ใช่เสรีภาพที่แท้จริง ดังนั้นความเป็นธรรมทางเพศจึงเป็นสิ่งสำคัญ

“การไม่ถูกเลือกปฏิบัติ เราคิดว่ามันคือสิทธิมนุษยชน” มีมี่กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net