Skip to main content
sharethis

'เพนกวิน-รุ้ง-ไมค์-โตโต้' เข้าแจง กมธ.ป.ป.ช. ปมเคลื่อนย้ายผู้ต้องหายามวิกาล 'เพนกวิน' เผยอยากให้สอบกรณีอาจมีการดักฟังข้อมูลต่อสู้คดี ขณะที่ 'ธีรัจชัย' ฝากรมว.ยธ.ตรวจสอบ ลั่นหากไม่คืบหน้าจะลุยเอง โฆษก กมธ.ป.ป.ช. สผ. ตั้งข้อสังเกต การตรวจโควิด-19 กับ 4 ผู้ต้องขังนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ยามวิกาล อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อเวลา 11.45 น. วันที่ 16 มิถุนายน ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) ที่มีพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทยเป็นประธานกมธ.ได้มีการเชิญ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง แกนนำราษฎร และปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ วีโว่ เข้าชี้แจงกรณีการเคลื่อนย้ายผู้ต้องหาทางการเมือง 7 คนจากเรือนจำธนบุรีสู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยมีเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจหาโควิด-19 จำนวน 4 ครั้ง โดยธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะโฆษก กมธ. ได้ให้ทั้ง 4 คนเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้กมธ.ฟัง

โดยภาณุพงศ์ กล่าวว่า หลังจากอัยการมีคำสั่งฟ้องและศาลมีคำสั่งฝากขังในวันที่ 8 มีนาคมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หลังจากนั้นเรายังไม่ได้ทำเรื่องประกันตัวเลย แต่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตน ปนัสยา และจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ไปขึ้นรถเรือนจำ ตอนแรกเส้นทางมุ่งไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แต่หลังจากนั้นมีการนำปนัสยาไปแค่คนเดียวและนำตนกับจตุภัทรไปที่เรือนจำธนบุรี โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า เมื่อไปถึงเรือนจำธนบุรีมีการตรวจคัดกรองโควิด มีการสแกนอุณหภูมิและมีการทำประวัติ ซึ่งเจ้าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้เข้าไปทำประวัติของพวกตนที่เรือนจำธนบุรี และมีการจัดพวกตนแยกห้องขังรวมกับผู้ต้องขังคนอื่น ซึ่งคนที่เข้าไปในเรือนจำธนบุรีวันนี้มี 3 คนคือตน จตุภัทร์ และปิยรัฐ หลังจากที่พวกตนเข้าไปอยู่ที่เรือนจำแล้ว มีการแจ้งว่าพรุ่งนี้เช้าจะมีการตรวจ swab test และมาตรวจจริงในเวลา 08.00 น.

ด้านปิยรัฐ กล่าวว่า ความจริงแล้วตนเข้าไปในวันเดียวกันกับภาณุพงศ์กับจตุภัทร์แต่คนละคดี ซึ่งศาลได้สั่งให้ไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แต่เจ้าหน้าที่ได้นำตนมาที่เรือนจำธนบุรีในเวลาประมาณ 20.00-21.00 น. โดยทางผบ.เรือนจำได้แจ้งว่าเจ้าหน้าที่การแพทย์กลับไปหมดแล้วและเป็นเวลากลางคืนแล้ว จึงบอกว่าจะตรวจคัดกรองโควิดในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น

ขณะที่พริษฐ์ กล่าวว่า ตนถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งคดีของตนเป็นคนละกรณีกับภาณุพงศ์ เนื่องจากไม่ได้ย้ายมาจากเรือนจำธนบุรี โดยในวันที่ 15 มีนาคม ซึ่งตนและเพื่อนคนอื่นทั้งที่อยู่เรือนจำธนบุรีและเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้ไปที่ศาลในคดีการชุมนุม วันที่ 19 กันยายนด้วยกัน เมื่อกลับมาถึงเรือนจำเดิมทีเจ้าหน้าที่แจ้งว่าให้ใช้กระบวนการกักตัวตามปกติ ซึ่งวิธีการกักตัวของเรือนจำ คือคนที่เข้ามาใหม่หรือออกไปข้างนอกมาให้นอนอยู่ห้องเดียวกัน ซึ่งตนเคยถูกคุมขังหลายที่ไม่เคยมีที่ไหนที่จะมาเร่งรัดการตรวจโควิด-19 ในตอนกลางคืน เวลา 21.00 น. ได้ส่งเจ้าหน้าที่จำนวนมากมาบอกว่าจะมีการตรวจโควิด-19 นอกจากนี้ยังมีการไล่นักโทษคนอื่นๆ ออกไปด้วย ซึ่งเราก็ได้ถามตรงๆ ว่าอยากจับเราแยกใช่หรือไม่ เขาก็ตอบตรงๆ ว่าใช่ ซึ่งเราก็ปฏิเสธกระบวนการนี้ตลอด หากจะบอกว่าเร่งรีบก็ต้องตรวจตั้งแต่หน้าประตูแล้วไม่ใช่เวลานอน ถ้าในวันนั้นเจ้าหน้าที่พยายามนำตัวเราออกไปได้ มีใครรับประกันความปลอดภัยที่เกิดขึ้นยามวิกาลได้บ้าง

ด้านปนัสยา กล่าวว่า ในวันที่ 8 มีนาคมขณะที่อยู่ในห้องพิจารณาของศาลซึ่งมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เข้ามากระซิบว่าตน จตุภัทร์ ภาณุพงศ์ ไม่ได้รับการประกันตัว ทั้งที่ตนและทนายยังไม่ได้รับแจ้งจากศาล และได้นำตัวพวกตนไปที่รถเลยในขณะที่ทนายกำลังทำเรื่องอยู่ ซึ่งระหว่างที่ขึ้นรถไปเรือนจำ เจ้าหน้าที่ยังเถียงกันอยู่ว่าจะนำผู้ชายไปที่ไหน รถของจตุภัทร์และภาณุพงศ์ได้นำหน้ารถของตนไปยังเส้นทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จริง แต่เมื่อถึงทางแยกก็ไม่ทราบแล้วว่าไปที่ไหน

ขณะที่มีการชี้แจง ธีรัจชัยได้ถามว่า ขั้นตอนในการมาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้มีการตรวจสอบเหมือนเรือนจำธนบุรีหรือไม่ ภาณุพงศ์ กล่าวว่า มีการตรวจร่างกายหาสิ่งแปลกปลอม มีการวัดไข้และมีการทำประวัติ หลังจากนั้นก็เข้าเรือนจำไปที่แดน 2 โดยมีการวัดอุณหภูมิที่หน้าแดน ซึ่งในเรือนนอนมีพริษฐ์ สมยศ พฤกษาเกษมสุข อานนท์ นำภา ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงก์ และผู้ต้องขังคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ผู้ต้องหาทางการเมือง หลังจากเวลาประมาณ 21.30 น. มีเจ้าหน้าที่ที่เข้าเวรขึ้นมา 3 คน มาบอกว่าจะนำตัวตน จตุภัทร์และปิยรัฐแยกไปที่สถานพยาบาล เพราะมาจากพื้นที่เสี่ยงคือเรือนจำธนบุรี ซึ่งเราไม่ยินยอมที่จะไป

ด้านพริษฐ์ กล่าวว่า หลังจากเข้าเรือนจำและกักตัวประมาณ 1 เดือนก็ถูกจำแนกแดน ตนถูกจำแนกแดนไปที่แดน 5 สมยศไปอยู่ที่แดน 6 ปติวัฒน์ ไปอยู่ที่แดน 8 ซึ่งกรณีของตนและสมยศเป็นแดนของนักโทษเด็ดขาด ตอนจะออกไปที่ศาล ตนได้เตรียมเอกสารเพื่อไปแถลงเปิดคดีต่อศาล ตอนแรกเรือนจำจะไม่อนุญาตให้ตนนำเอกสารออกจากเรือนจำ โดยในวันที่ 15 มีนาคมหลังกลับมาจากศาลแล้วก็มีการวัดอุณหภูมิ ทำประวัติเข้าออกตามปกติและเข้าไปในห้องกักตัวเหมือนเดิม ซึ่งได้รับแจ้งว่าภาณุพงศ์ ปิยรัฐและจตุภัทร์จะย้ายมาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จนกระทั่งเวลา 21.00 น.ก็มีสัญญาณว่าเจ้าหน้าที่อยากแยกพวกตนออกไป

นอกจากนี้ ธีรัจชัย ถามอีกว่า ทัณฑสถานหญิงกลางมีการเร่งรัดตรวจโควิด-19 กลางดึกหรือไม่ ปนัสยา กล่าวว่า ไม่เคยมีเหตุการณ์เช่นนั้น การตรวจโควิด-19 ตามปกติจะตรวจกลางวัน ซึ่งเมื่อถึงเวลาพักผ่อน เจ้าหน้าที่จะเดินตรวจตราตามปกติแต่จะไม่มายุ่งกับผู้ต้องขังและไม่เคยมีการมาแยกตัวจากผู้ต้องขังอื่นในยามวิกาล

ธีรัจชัย ถามต่อว่า ข้อกฎหมายตามสิทธิมนุษยชนการที่ยังไม่ถูกศาลพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำความผิดในฐานะผู้ต้องขังคดีการเมือง การให้ไปอยู่กับนักโทษเด็ดขาดเช่นกรณีของพริษฐ์และสมยศถือเป็นการปฏิบัติกับผู้ต้องหาเหมือนผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ ปนัสยา กล่าวว่า จะกระทำเช่นนั้นไม่ได้ ผู้ที่ยังไม่ถูกศาลตัดสินโทษ ถือว่ายังบริสุทธิ์อยู่ ฉะนั้นถือว่าผิดตั้งแต่นำพวกเราเข้าใาในเรือนจำแล้วและยังผิดอีกที่พาพริษฐ์ สมยศ ปติวัฒน์ไปอยู่ที่แดนเด็ดขาด ไม่ใช่แดนที่ผู้ต้องหาอยู่

ธีรัจชัย ถามอีกว่า ตามหลักสิทธิมนุษยชนและรัฐธรรมนูญ ผู้ต้องหาสามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ การที่ยังไม่ถูกตัดสินว่าผิดแต่ถูกนำไปขังเหมือนผู้ต้องขังคดีแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เรามีสิทธิที่จะได้รับการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่เหมือนผู้ที่ยังไม่ถูกตัดสินใช่หรือไม่ ปนัสยา กล่าวว่า การต่อสู้คดีจากข้างในเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับทุกคนการคุยกับทนายผ่านห้องกระจกที่ใช้โทรศัพท์คุยกัน ถูกดักฟัง ตนสังเกตได้เลยว่าจะมีเสียงซ่าแทรกขึ้นตลอดและการคุยกับทนายบางครั้ง ผู้คุมรู้ได้อย่างไรก็ไม่ทราบเรื่องเอกสารที่เข้าออกเรือนจำก็ถูกตรวจสอบทุกครั้ง มีครั้งหนึ่งตนเขียนแถลงต่อศาลตั้งแต่ข้างในและนำออกไปข้างนอก เพื่อที่จะได้ไม่ต้องผ่านคนอื่น แต่เจ้าหน้าที่มีแถลงการณ์ฉบับคัดลอกได้อย่างไรก็ไม่ทราบ

ด้านพริษฐ์ กล่าวว่า เรื่องการตรวจสอบเอกสาร เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ คล้ายกับทัณฑสถานหญิงกลาง ตนจึงอากให้กมธ.เข้าไปตรวจสอบว่ามีการดักฟังจริงหรือไม่ เป็นมาตรฐานสากลหรือไม่

ธีรัจชัย กล่าวว่า ตนขอฝากไปที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้ตรวจสอบเรื่องการปฏิบัติตนต่อผู้ต้องหาให้สามารถแยกควบคุมตัวได้หรือไม่และขอฝากไปที่กระบวนการยุติธรรมโดยรวมให้พิจารณาหลักกฎหมายในเรื่องนี้ และกมธ.จะส่งหนังสือไปยังกระทรวงยุติธรรมในประเด็นต่างๆ เหล่านี้ด้วยซึ่งหากไม่มีความคืบหน้าจะมีการลงไปตรวจสอบอีกครั้ง

ขณะเดียวกัน โฆษก กมธ.ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร กล่าวเพิ่มเติมว่า กมธ.ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร ยังได้รับทราบข้อมูลสภาพปัญหาของเรือนจำทั่วประเทศไทย จากคณะนักเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้ง 4 คนข้างต้นด้วยว่า พบปัญหาอาหารที่ไม่มีคุณภาพ จึงขอให้ นายสมศักดิ์เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต้องมาชี้แจงต่อ กมธ.ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร ด้วยว่ามีการทุจริตงบระมาณค่าจัดซื้ออาหารในเรือนจำหรือไม่ 

นอกจากนี้ ยังพบปัญหา มีการนำผู้ขังที่ยังไม่ถูกตัดสินว่ากระทำผิด ไปขังรวมกับผู้ขังเสร็จเด็ดขาด จึงตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นการลงโทษล่วงหน้าก่อนศาลตัดสินหรือไม่ มีความยุติธรรม และเคารพสิทธิมนุษยชนหรือไม่ รวมทั้งพบปัญหาการแอบฟังและทำสำเนาเอกสาร เมื่อมีทนายความมาพบผู้ต้องขังด้วย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิทธิในการต่อสู้คดีของผู้ต้องหาด้วย พร้อมกันนี้ จึงขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ชี้แจงในกรณีปัญหาดังกล่าวทั้งหมดต่อไป 

อ้างอิง: มติชน, วิทยุรัฐสภา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net