สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 11-17 มิ.ย. 2564

กลุ่มคนทำงานธุรกิจกลางคืนขอเยียวยา หลังเจอสั่งปิดเหมารวมช่วง COVID-19

17 มิ.ย. 2564 ที่รัฐสภา สมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง นำโดยนายนนทเดช บูรณะสิทธิพร ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.) เพื่อขอมาตรการผ่อนปรนและมาตรการเยียวยาให้กับกลุ่มผู้ประกธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง ที่ได้รับผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19

โดยนายนนทเดชกล่าวว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในระลอกที่ 3 ทางศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้มีการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 19) วันที่ 9 เม.ย.64 โดยระบุหัวข้อหลัก 3 ข้อ ว่าด้วยการกำหนดให้มีการปิดสถานบริการ หรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพรโรค, การพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการและการตรวจสอบการดำเนินการตามมาตรการการป้องกันโรคและการจัดระเบียบ จากคำสั่งดังกล่าวได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงทั้งหมด ซึ่งไม่ได้มีแต่เจ้าของธุรกิจ หรือผู้ประกอบการแต่รวมไปถึงลูกจ้างทุกประเภททั้งที่เข้าระบบประกันสังคม และกลุ่มอาชีพอิสระที่รับค่าจ้างแบบรายวัน ซึ่งที่ผ่านมายังมีผู้ได้รับผลกระทบและไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยาจากภาครัฐได้อย่างครบถ้วน ทางสมาพันธ์ฯ จึงขอเรียกร้องมาตรการเยียวยาดังนี้

1.ยกเลิกคำสั่งปิดสถานบันเทิงแบบเหมารวม

2.ขอให้มีคำสั่งปลดล็อกเพื่อให้ธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงได้กลับมาเปิดบริการ และสามารถจัดกิจกรรมต่างๆ ได้ภายในวันที่ 1 ก.ค.64 โดยให้คงการปฏิบัติตามมาตรการคำสั่งของ ศบค. เพื่อรักษามาตรฐานการควบคุมโรค

3.ผ่อนปรนให้สามารถขายแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคในร้านค้าได้

4.ผ่อนปรนให้มีการจัดงานมหรสพโดยให้คงการปฏิบัติตามมาตรการคำสั่งของ ศบค. เพื่อรักษามาตรฐานการควบคุมโรค

5.พิจารณาการจัดสรรฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ และหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานประกอบการธุรกิจกลางคืน และธุรกิจบันเทิงโดยเร็วที่สุด

6.พิจารณาให้มีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการเยียวยา การพักชำระหนี้ และหรือการกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ

7.เปิดโอกาสให้ภาคเอกชน และหรือประชาชนในกลุ่มภาคธุรกิจที่ได้รับความเดือดร้อนเข้าร่วมรับฟัง, เสนอแนะ, พูดคุย ในกระบวนการการออกมาตรการและนโยบายต่างๆ

8.เปิดช่องทางสื่อสาร เพื่อรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนที่เดือดร้อน

ด้าน นพ.ชลน่านกล่าวว่า กลุ่มนี้มักจะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบช่วงโควิด เพราะมาตรการของรัฐที่ใช้ เช่น การสั่งปิดแบบเหมารวม แล้วมีมาตรการเยียวยาที่ไม่ครอบคลุมทั่วถึง ซึ่งข้อเรียกร้องที่ทางสมาพันธ์ฯยื่นมานั้นเป็นการดูแลช่วยเหลือเร่งด่วน ซึ่งแนวทางของสภาเรานั้น เราจะดูให้ครอบคลุมว่ามาตรการที่เราจะสามารถไปช่วยขับเคลื่อนในนามของการเป็นผู้แทนของประชาชน เราคงต้องดูแนวทางว่าจะทำอย่างไรและจะเสนอไปยังนายกรัฐมนตรี ซึ่งกลไกลที่เราทำอยู่ง่ายและเร็วคือ การตั้งกระทู้ด้วยวาจา หรือสอบข้อเท็จจริงในชั้นกรรมาธิการ เพราะเราสามารถเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงได้ ซึ่งแนวทางทั้งหมดนี้เราก็จะดำเนินการให้

ที่มา: มติชนออนไลน์, 17/6/2564

ศบค.ระบุพบคลัสเตอร์ COVID-19 ในโรงงาน 27 จังหวัด

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค.เผยถึงจังหวัดที่มีรายงงานคลัสเตอร์โควิด-19 ในโรงงาน ตั้งแต่ 1 เม.ย.-16 มิ.ย. 2564 มีทั้งสิ้น 27 จังหวัด ดังนี้ 1.พิษณุโลก 2.นครสวรรค์ 3.นครนายก 4.นนทบุรี 5.ปทุมธานี 6.พระนครศรีอยุธยา 7.ลพบุรี 8.สระบุรี 9.นครปฐม 10.ประจวบคีรีขันธ์ 11.เพชรบุรี 12.ราชบุรี 13.สมุทรสงคราม 14.สมุทรสาคร 15.สุพรรณบุรี 16.ฉะเชิงเทรา 17.ชลบุรี 18.ปราจีนบุรี 19.ระยอง 20.สมุทรปราการ 21.นครราชสีมา 22.นครศรีธรรมราช 23.ระนอง 24.ตรัง 25.ปัตตานี 26.สงขลา 27.กรุงเทพมหานคร

ส่วนคลัสเตอร์โควิด-19 ระบาดใหม่ พบ 8 คลัสเตอร์กระจายใน 5 จังหวัด ดังนี้ 1.นนทบุรี ที่บริษัทกระจกและอะลูมิเนียม อ.ไทรน้อย พบผู้ป่วยรายใหม่ 19 ราย และบริษัทอะลูมิเนียม อ.บางบัวทอง พบผู้ป่วยรายใหม่ 6 ราย 2.สมุทรปราการ ที่บริษัทไม้แขวนเสื้อพลาสติก อ.พระประแดง พบผู้ป่วยรายใหม่ 26 ราย บริษัทผลิตผ้า อ.เมือง พบผู้ป่วยรายใหม่ 8 ราย บริษัทผลิตซอสปรุงรส อ.เมือง พบผู้ป่วยรายใหม่ 8 ราย 3.สมุทรสาคร โรงงานอาหารทะเลแช่แข็ง อ.เมือง พบผู้ป่วยรายใหม่ 23 ราย 4.ปทุมธานี บริษัทนำเข้าเครื่องจักร อ.ลาดหลุมแก้ว พบผู้ป่วยรายใหม่ 78 ราย และ 5.พระนครศรีอยุธยา โรงงานอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ พบผู้ป่วยรายใหม่ 7 ราย

ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ, 17/6/2564

เผยยอด 7 วันผู้ประกันตน ม.33 ฉีดวัคซีน COVID-19 ไปแล้วกว่า 2.5 แสนคน

16 มิ.ย. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน พร้อมด้วย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ตรวจเยี่ยมการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ณ ศูนย์ฉีดศูนย์บริษัท โรงงานฟุตบอลไทย สปอร์ตติ้ง กู๊ดส์ จำกัด ถ.ฉลองกรุง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครเขตพื้นที่ 10 มีศักยภาพการฉีดวันละ 1,000 คน มีทีมแพทย์ พยาบาล เภสัชกรจากโรงพยาบาลนวมินทร์ 1 เป็นผู้ดำเนินการ โดยมีนายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาฯรมว.แรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายธีระวิทย์ วงศ์เพชร คณะที่ปรึกษารมว.งแรงงาน นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ร่วมตรวจเยี่ยมในครั้งนี้ด้วย โดย นายกมล โชคไพบูลย์กิจ ประธานกรรมการบริษัท โรงงานฟุตบอลล์ไทย สปอร์ตติ้งกู๊ดส์ จำกัด พร้อมด้วยผู้ประกอบการภายในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ให้การต้อนรับ ทั้งนี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งแต่วันที่ 7-11 และ 14-15 มิ.ย. 2564 มีผู้ประกันตนได้รับการฉีดวัคซีนแล้วทั้งสิ้นจำนวน 254,631 คน

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า การลงพื้นที่ของกระทรวงแรงงานร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในวันนี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าการฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะนี้มีความก้าวหน้าไปมาก รัฐบาลและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน มีความตั้งใจที่จะลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานประกอบการโรงงาน รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่แก่แรงงาน ให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อให้ภาคธุรกิจได้มีการขับเคลื่อนต่อไปได้โดยเร็ว

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 16/6/2564

“กสร.” เร่งช่วยเหลือ-ชี้แจงสิทธิกลุ่มลูกจ้างอัลฟ่า หลังถูกเลิกจ้างกะทันหันกว่า 200 คน

นางโสภา เกียรตินิรชา รองอธิบดีและโฆษกกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า กรณีที่บริษัท อัลฟ่า เพอร์ฟอร์มานซ์ กรุ๊ป จำกัด (อัลฟ่า) ได้มีหนังสือประกาศเลิกจ้างลูกจ้างเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2564 โดยปิดกิจการเนื่องจากประสบปัญหาทางธุรกิจการขนส่งพัสดุอีคอมเมิร์ซซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วและมีการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้พนักงานประมาณ 407 คน ถูกเลิกจ้างทันที โดยนายสุชาติ ชมกลิ่นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจึงได้สั่งการให้ กสร. เร่งดำเนินการช่วยเหลือโดยเร็วเพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธิตามกฎหมายอย่างครบถ้วน

โดยเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมาตัวแทนลูกจ้างและลูกจ้าง บริษัท อัลฟ่าฯ จำนวน 200 คน ได้เดินทางเข้ามาปรึกษาพูดคุยกับพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 5 ที่กระทรวงแรงงาน เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ช่วยเหลือกรณีบริษัทปิดกิจการ โดยยังไม่ได้รับค่าจ้าง ค่าชดเชย ค่าจ้างเงินแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินประกันในการทำงาน เจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และแนะนำขั้นตอนการดำเนินการยื่นคำร้องตามอำนาจหน้าที่ของกรมให้กลุ่มลูกจ้างได้รับทราบ

ทั้งนี้ภายหลังจากการปรึกษาพูดคุยลูกจ้างทั้งหมดยังไม่ประสงค์จะยื่นคำร้องในวันนี้ โดยจะกลับไปเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้อง และจะแต่งตั้งตัวแทนลูกจ้างมายื่นคำร้อง ในวันจันทร์ที่ 21 มิ.ย. 2564 ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 5 (สรพ.5) ซึ่งกรมจะได้เร่งรัดพูดคุยกับนายจ้างให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายและดูแลสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างให้เป็นไปตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดต่อไป

ที่มา: สยามรัฐ, 16/6/2564

มติ ครม.เห็นชอบ ลดเงินสมทบผู้ประกันตน ม.40 ยันไม่กระทบเงินชราภาพ

15 มิ.ย. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราการจ่ายเงินสมทบของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน ในกรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. .... (โควิด-19) ลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนต้องจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมตามมาตรา 40 เหลือร้อยละ 60 ของเงินสมทบเดิม เป็นระยะเวลา 6 เดือน และร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมสำหรับบุคคลซึ่งสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน ในกรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. .... ลดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลต้องจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งนี้ จะมีผลหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

สำหรับการลดเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ เหลือร้อยละ 60 ของเงินสมทบเดิม เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยส่งเงินสมทบ 3 ทางเลือกดังนี้

ทางเลือกที่ 1 (ได้ประโยชน์ทดแทน 3 กรณี) อัตราเงินสมทบใหม่ 42 บาท/เดือน จากอัตราเงินสมทบเดิม 70 บาท/เดือน

ทางเลือกที่ 2 (ได้ประโยชน์ทดแทน 4 กรณี) อัตราเงินสมทบใหม่ 60 บาท/เดือน จากอัตราเดิมที่ 100 บาท/เดือน

ทางเลือกที่ 3 (ได้ประโยชน์ทดแทน 5 กรณี) อัตราเงินสมทบใหม่ 180 บาท/เดือน จากอัตราเดิมที่ 300 บาท/เดือน

สำหรับเงินสมทบที่รัฐบาลชำระเข้ากองทุนประกันสังคม ให้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงแต่ไม่เกินกึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน ดังนี้

ทางเลือกที่ 1 อัตราเงินสมทบใหม่ 21 บาท/เดือน จากอัตราเงินสมทบเดิม 30 บาท/เดือน

ทางเลือกที่ 2 อัตราเงินสมทบใหม่ 30 บาท/เดือน จากอัตราเดิมที่ 50 บาท/เดือน

ทางเลือกที่ 3 อัตราเงินสมทบใหม่ 90 บาท/เดือน จากอัตราเดิมที่ 150 บาท/เดือน

สำหรับการปรับลดอัตราการจ่ายเงินสมทบเป็นระยะเวลา 6 เดือน จะส่งผลให้ผู้ประกันตนนำส่งเงินสมทบลดลง 378 ล้านบาท ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนและเพิ่มกำลังซื้อมากขึ้น จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในระหว่างการระบาดของโควิด-19 ขณะที่รัฐบาลลดนำส่งเงินสมทบลง 189 ล้านบาท รวมทั้งแรงงานนอกระบบมีแนวโน้มที่จะเลือกส่งเงินสมทบตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ ซึ่งเป็นแบบสมัครใจเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่มีการลดอัตราการจ่ายเงินสมทบดังกล่าว โดยกระทรวงแรงงานคาดว่าจะมีเงินสมทบลดลงหลังจากการปรับลดอัตราการจ่ายเงินสมทบ 6 เดือน จำนวน 567 ล้านบาท เหลือจำนวน 850.5 ล้านบาท จากจำนวนเดิม 1,417.5 ล้านบาท แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ เนื่องจากสำนักงานประกันสังคมจัดสรรเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพตามอัตราปกติ

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 15/6/2564

สมาคมภัตตาคารไทยจี้รัฐอุ้มร้านอาหารเล็ก หวั่นแรงงาน-ซัพพลายเชนล้มโดมิโน่

ฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า ทางสมาคมฯจึงฝากโจทย์ไปยัง ธปท.ว่ามีมาตรการใดบ้างที่ “ตอบโจทย์” ธุรกิจร้านอาหารโดยตรง เหมือนอย่างมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset Warehousing) ที่ผู้ประกอบการโรงแรมได้ประโยชน์และเข้าถึงโดยตรง

ทั้งนี้สมาคมฯพบว่าจากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีธุรกิจร้านอาหารมาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแค่ประมาณ 15,000 ราย แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว “ร้านอาหารขนาดเล็ก” เช่น ตามห้องแถว สตรีทฟู้ด ต่างเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภงด.90) และทาง “กรมสรรพากร” ได้ลงพื้นที่ประเมินรายได้ต่อปีและเก็บภาษีครบทุกเม็ดทุกหน่วย! จึงมองว่าทางกรมสรรพากรน่าจะมีฐานข้อมูลผู้เสียภาษีที่เป็นร้านอาหารขนาดเล็ก โดยทางสมาคมฯประเมินว่าน่าจะมีหลักแสนราย แต่กลับยังไม่ได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ หลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3

“สมาคมฯจึงอยากให้รัฐบาลออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารรายเล็กด้วย เพราะคนตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้ก็เป็นหนึ่งในผู้เสียภาษีเหมือนกัน โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือด้านการเงิน ให้เข้าถึงเงินกู้อย่างน้อย 30% ของฐานรายได้ที่เสียภาษีต่อปี โดยอาจจะอ้างอิงจากฐานฯเมื่อปี 2562 เพื่อนำเงินกู้มาหมุนเวียนจ่ายค่าใช้จ่ายประจำ เช่น เงินเดือนพนักงาน ค่าเช่า ค่าน้ำค่าไฟ และอื่นๆ”

หลังยอดขายของธุรกิจร้านอาหารตกลงเนื่องจากวิกฤติโควิด-19 โดยเดือน มิ.ย.นี้คาดว่าร้านอาหารส่วนใหญ่มียอดขายฟื้นตัวอยู่ที่ระดับไม่เกิน 30% จากยอดขายปกติ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาซึ่งยอดขายหดตัวรุนแรงเหลือเพียง 10% ทั้งยังส่งผลกระทบต่อ “ซัพพลายเชน” เชื่อมโยงไปยังผู้ผลิตวัตถุดิบและผู้ให้บริการประเภทต่างๆ รวมถึง “การจ้างงาน” ประกอบกับธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจที่เน้นใช้เงินสดนำมาหมุนเวียน ส่วนใหญ่สายป่านสั้น อยู่ได้นานประมาณ 3 เดือน แต่วิกฤติโควิด-19 อยู่มานานกว่า 15 เดือนแล้ว จึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารอย่างตรงจุด

และจากการสำรวจผลกระทบหลังศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ออกมาตรการเว้นระยะห่างเพื่อควบคุมโรค ให้ผู้บริโภคสามารถนั่งทานอาหารในร้านแค่ 25% ต่อรอบ แต่พบว่าผู้บริโภคก็ยังไม่มา ต่อให้ทาง ศบค.ประกาศปรับมาตรการอนุญาตให้นั่งได้เต็ม 100% ขณะนี้ ทางสมาคมฯก็ยังไม่มั่นใจว่าจะมีคนกลับไปนั่งทานในร้านอาหารเต็มพื้นที่เหมือนเดิม เพราะผู้บริโภคก็อาจจะยังกลัว ไม่ต้องการอยู่ในที่แออัด เพราะหวั่นว่าจะมีการแพร่ระบาดซ้ำ

“ต้องยอมรับว่าเวลานี้คนลำบากจริงๆ จากวิกฤติโควิด-19 ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น รัฐบาลเองก็พยายามอย่างดีที่สุด เช่น ออกนโยบายแจกเงินผ่านโครงการต่างๆ เพื่อเติมเงินในระบบเศรษฐกิจ แต่สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลยังไม่ได้ทำเลย และทางสมาคมฯหวังว่าจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านก้อนใหม่ ควรจะต้องให้ภาคเอกชน โดยเฉพาะเอสเอ็มอีได้เข้าถึงความช่วยเหลือ เพราะธุรกิจร้านอาหารไม่มีสินทรัพย์ขนาดใหญ่แบบโรงแรม แต่เรามีคน มีซัพพลายเชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนตัวเล็กๆ ของประเทศและมีจำนวนมหาศาล ถ้าล้ม ก็จะล้มครืนเป็นโดมิโน่ไปเรื่อยๆ”

ฐนิวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางสมาคมฯได้ยื่นเรื่องไปยังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อขอฉีดวัคซีนแก่พนักงานร้านอาหารวันละ 1,000 คนในสัปดาห์ที่ผ่านมาที่สถานีกลางบางซื่อ และสัปดาห์นี้อาจจะได้จำนวนต่อวันมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้สมาคมฯได้ส่งหนังสือถึงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อขอให้มีการฉีดวัคซีนแก่พนักงานร้านอาหาร 40,000 คนทั่วประเทศ

นอกจากนี้แรงงานส่วนหนึ่งของร้านอาหารเป็น “แรงงานต่างด้าว” ซึ่งยังไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีน เมื่อวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าได้รับการจัดสรรแก่คนไทยตามแผนของรัฐบาล ก็คงจะมีการจัดสรรให้แรงงานต่างด้าวครอบคลุมทุกประเทศในลำดับถัดไป

“ในเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มองว่าร้านอาหารเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการระบาดของโรคโควิด-19 และเกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ ก็ควรจะมีการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่พนักงานร้านอาหารซึ่งถือเป็นบุคลากรด่านหน้า มีความเสี่ยงในการติดโรคจากลูกค้าและผู้ที่มาติดต่ออื่นๆ เช่นกัน” นายกสมาคมภัตตาคารไทยกล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 15/6/2564

เจาะเลือดหาภูมิคุ้มกันแรงงานแคมป์หลักสี่ หลังติดเชื้อ COVID-19 ว่ามีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อหรือไม่ หากมีภูมิคุ้มกันร้อยละ 80-90 จะพิจารณาเปิดแคมป์งานก่อสร้าง

14 มิ.ย. 2564 แรงงานก่อสร้าง บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ที่อาศัยอยู่ภายในแคมป์คนงานซอยยายผล เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ทั้งแรงงานคนไทยและแรงงานข้ามชาติ ทยอยเดินทางมาเจาะเลือดและตรวจน้ำลายหาเชื้อ COVID-19 เพื่อติดตามการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน หลังการติดเชื้อ COVID-19 และเพื่อศึกษาวิจัยปัจจัยความแตกต่างทางพันธุกรรมของโควิด เนื่องจากพบไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา (สายพันธุ์อินเดีย) จำนวน 36 คน

นายไพฑูรย์ งามมุข ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานเขตหลักสี่ เปิดเผยว่า การตรวจครั้งนี้จะดำเนินการตรวจระหว่างวันที่ 14-15 มิ.ย. บริเวณไซต์งานก่อสร้างโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยสำนักงานเขตหลักสี่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง และศูนย์บริการสาธารณสุข 53 ทุ่งสองห้อง ซึ่งจะร่วมกันตรวจภูมิคุ้มกัน COVID-19 คนงานหลังหายป่วย รวมถึงคนงานไม่ติดเชื้อที่ไซต์งานก่อสร้างเพื่อหาระดับภูมิต้านทานของเชื้อ หากมีภูมิคุ้มกันร้อยละ 80-90 จะพิจารณาเปิดแคมป์งานก่อสร้าง

“ยังติดตามสถานการณ์อยู่ เราเพิ่งเปลี่ยนสถานะจากสีแดงมาเป็นสีเหลือง ไม่พบผู้ป่วย 14 วัน ต่อไปเราจะเปลี่ยนสถานะเป็นสีเขียว ถ้า 28 วันไม่มีผู้ป่วยเลย เราก็จะเข้าสู่ระยะปลอดภัยได้”

สำหรับความคืบหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในแคมป์คนงานก่อสร้างอิตาเลียนไทยฯ ขณะนี้ไม่พบการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในกลุ่มคนงานของแคมป์ฯ เป็นเวลา 17 วันต่อเนื่อง ตั้งแต่วันสุดท้ายที่พบผู้ติดเชื้อคือ วันที่ 26 พ.ค. - 11 มิ.ย. 2564

กองบัญชาการควบคุมรักษาความปลอดภัย COVID-19 ประจำพื้นที่แคมป์อิตาเลียนไทย เขตหลักสี่ รายงานว่า คนงานก่อสร้างของ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ทั้งหมด 1,724 คน ติดเชื้อ 1,483 คน ไม่ติดเชื้อ 241 คน หายป่วยแล้ว 1,459 คน และยังอยู่ระหว่างการรักษา 24 คน ไม่พบผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง 17 วัน

ที่มา: Thai PBS, 14/6/2564

เร่งให้ความช่วยเหลือคุ้มครองตามกฎหมาย ลูกจ้างบริษัท อัลฟ่าฯ 400 ชีวิตถูกเลิกจ้าง

14 มิ.ย. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณี บริษัท อัลฟ่า เพอร์ฟอร์มานซ์ กรุ๊ป จำกัด ได้ส่งหนังสือบอกเลิกจ้างพนักงาน โดยให้มีผลเลิกจ้างพนักงานทันทีในวันที่ 13 มิ.ย. ทำให้พนักงานประมาณ 400 คนถูกเลิกจ้างทันที และยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการได้เงินชดเชยนั้น ในเรื่องนี้ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานในพื้นที่ เข้าไปติดตามสาเหตุการประกาศหยุดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน รวมทั้งเร่งให้ความช่วยเหลือเยียวยาสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายโดยด่วน และได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้ความช่วยเหลือคุ้มครองตามกฎหมาย

ด้าน นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 พบว่า บริษัท อัลฟ่า เพอร์ฟอร์มานซ์ กรุ๊ป จำกัด (อัลฟ่า) มีสำนักงานตั้งอยู่ที่เลขที่ 338 ถนนรัชดาภิเษก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ได้ส่งหนังสือบอกเลิกจ้างพนักงานเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2564 โดยให้มีผลเลิกจ้างพนักงานในวันที่ 13 มิ.ย. 2564 ทำให้พนักงานประมาณ 400 คนถูกเลิกจ้างทันที และยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการได้เงินชดเชย ซึ่งบริษัทแจ้งต่อพนักงานว่าจะมีการประชุมพูดคุยกันเรื่องค่าชดเชยในวันที่ 14 มิ.ย. 2564

สำหรับสาเหตุการหยุดกิจการเนื่องจากบริษัทประสบปัญหาทางธุรกิจการขนส่งพัสดุอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างรวดเร็วและมีการแข่งขันที่รุนแรงทำให้ต้องหยุดดำเนินธุรกิจและเลิกกิจการ

นายอภิญญา กล่าวต่อว่า สำหรับการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 ได้เข้าติดตามให้มีการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายและได้ประสานหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือตามภารกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น การให้คำปรึกษาข้อกฎหมาย สิทธิประโยชน์ การใช้สิทธิประกันการว่างงาน การหาตำแหน่งงานว่างให้การฝึกทักษะทางด้านอาชีพตามความต้องการ การขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากกองทุนประกันสังคม กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง เป็นต้น

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 14/6/2564

บริษัท อัลฟ่าฯ ผู้ให้บริการส่งพัสดุด่วนสำหรับอีคอมเมิร์ซ ส่งจดหมายบอกเลิกจ้างพนักงาน กะทันหัน

13 มิ.ย. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท อัลฟ่า เพอร์ฟอร์มานซ์ กรุ๊ป จำกัด ผู้ให้บริการส่งพัสดุด่วนสำหรับอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจออนไลน์ และธุรกิจค้าปลีก ได้ส่งหนังสือบอกเลิกจ้างแก่พนักงานลงวันที่ 11 มิถุนายน 2564 และมีผลวันนี้ (13 มิ.ย.)

โดยหนังสือดังกล่าว ระบุว่า อย่างที่ท่านได้ทราบเป็นอย่างดี หลายปี ที่ผ่านมาการขนส่งพัสดุอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีการแข่งขันที่รุนแรง อัลฟ่าได้แข่งขันและถูกจัดอันดับสูงสุดในเรื่องของคุณภาพการให้บริการที่ดี โดยลูกค้าของเรา ทั้งนี้ อัลฟ่า ซาบซึ้ง และขอขอบคุณทุกท่านมาก กับการมีส่วนร่วมของท่านทั้งหลาย

แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานโยบายการแข่งขันในอุตสาหกรรมของเราได้กลายเปลี่ยนจากคุณภาพการให้บริการเป็นการตัดราคามากขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดราคาในปีนี้ได้เป็นไปในระดับที่ไม่ยั่งยืนเป็นการตัตราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน ผู้เล่นในอุตสาหกรรมของเราส่วนใหญ่ ยังขาดทุนและใช้วิธีแก้ไขการขาดทุน

โดยการระดมทุนมากขึ้น น่าเสียดายที่แม้อัลฟ่าจะมีความพยายามมากมาย สุดท้ายแล้วเราก็ไม่สามารถระดมทุนเพิ่มเติมจากนักลงทุน เพื่อต่อสู้กับอุตสาหกรรมที่มีค่าใช้จ่ายสูงนี้ได้อีก ดังนั้น เราจึงไม่สามารถให้บริการทางธุรกิจของเราต่อไปได้ เราต้องหยุดการดำเนินธุรกิจและเลิกกิจการ โดยอัลฟ่ามีความเสียใจที่แจ้งให้ท่านทราบว่าพนักงานทุกคนจะถูกเลิกจ้าง โดยมีผลในวันที่ 13 มิถุนายน 2564

ผู้สื่อข่าวรายงาน เพิ่มเติมว่า จากการติดต่อเข้าไปยังบริษัท อัลฟ่า เพอร์ฟอร์มานซ์ กรุ๊ป จำกัด พบว่าพนักงานไม่ได้รับสาย โดยระบบอัตโนมัติแจ้งให้ติดต่อกลับมาอีกครั้งในวันทำการระหว่างวันจันทร์ถึงเสาร์

ขณะเดียวกัน ข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า บริษัท อัลฟ่า เพอร์ฟอร์มานซ์ กรุ๊ป จำกัด จดทะเบียนบริษัท วันที่ 25 มิถุนายน 2556 มีทุนจดทะเบียน 12 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์ ประกอบกิจการซื้อขายสินค้า และบริการโดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์

สำหรับผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี (ปี2561-2563)พบว่า ขาดทุนต่อเนื่อง โดยปี 2561มีรายได้รวม 281ล้านบาท ขาดทุน 98 ล้านบาท ปี 2562 มีรายได้รวม 297 ล้านบาท ขาดทุน 87 ล้านบาทและปี2563 มีรายได้รวม 242 ล้านบาท ขาดทุน 47 ล้านบาท

ที่มา: ข่าวสด, 13/6/2564

รมว.แรงงาน มอบ กกจ.-กสร.โน้มน้าวสถานประกอบการจ้างเหมาบริการสร้างงานคนพิการ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการมีงานทำให้แก่ประชาชน และให้ความช่วยเหลือแรงงานกลุ่มเปราะบาง ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างยิ่ง โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการที่ยังมีทั้งศักยภาพ และความต้องการในการทำงาน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างโอกาสการมีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ อย่างเหมาะสมและยั่งยืน เพราะตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป จ้างคนพิการเข้าทำงานในอัตราส่วน 100 : 1 หากไม่สามารถดำเนินการได้ จะต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในอัตรา 114,245 บาทต่อปี ตามจำนวนคนพิการที่ไม่ได้จ้าง ซึ่งกองทุนฯ จะนำเงินดังกล่าว ไปส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการต่อไป

ทั้งนี้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย รวมทั้งกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มคนพิการ ดังนั้นเพื่อช่วยเหลือให้คนพิการมีงานทำ มีรายได้สามารถดูแลตนเองและครอบครัว โดยได้รับการจ้างงานจากสถานประกอบการในรูปแบบอื่น ที่เป็นทางเลือกตามกฎหมายและสามารถดำเนินการได้ จึงมอบหมายกรมการจัดหางาน (กกจ.) ให้ประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้สถานประกอบการเลือกใช้วิธีการจ้างเหมาบริการคนพิการปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐในจังหวัดที่คนพิการอาศัยอยู่ ซึ่งเป็น 1 ในกิจกรรมการดำเนินการตามมาตรา 35 ที่จะทำให้คนพิการเกิดรายได้ทันที สามารถมีงานทำและได้รับการจ้างงานโดยตรง

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ล่าสุดได้สั่งการสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 และสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานประกอบการ โดยมีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ร่วมบูรณาการภารกิจ ตามนโยบายรัฐมนตรี เพื่อสำรวจความต้องการจ้างงานของสถานประกอบการ รวมทั้งสร้างการรับรู้แนวทางการดำเนินการตามมาตรา 35 และโน้มน้าวให้นายจ้าง/สถานประกอบการหันมาใช้การส่งเสริมการจ้างงงานคนพิการเชิงสังคม ประเภทการจ้างเหมาบริการ โดยจ้างงานคนพิการเป็นพนักงานเพื่อปฏิบัติงานสนับสนุนองค์กรในท้องถิ่นที่มีภารกิจสาธารณประโยชน์ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงเรียน/ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์ฟื้นฟูอาชีพคนพิการ ศูนย์บริการคนพิการของท้องถิ่น/เทศบาล ซึ่งช่วยให้คนพิการในพื้นที่ห่างไกล ได้รับโอกาสมีอาชีพ มีงานทำอย่างทั่วถึง สามารถพึ่งพาตนเองได้ทัดเทียมคนทั่วไป

“สำหรับสถานประกอบการที่สนใจร่วมโครงการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม มาตรา 35 สามารถสอบถามได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1–10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694” อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าว

ที่มา: เดลินิวส์, 12/6/2564

4 วัน รับวัคซีนโควิด ม.33 กว่า 1.7 แสนคน โฆษก ก.แรงงาน แจงปิดระบบชั่วคราวปรับยอดขอฉีด

11 มิ.ย. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นำคณะไปตรวจเยี่ยมการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ศูนย์ฉีดศูนย์ฉีดวัคซีน บริษัท โรงงานฟุตบอลไทย สปอร์ตติ้ง กู๊ดส์ จำกัด ถนนฉลองกรุง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กรุงเทพมหานคร เขตพื้นที่ 10 มีศักยภาพการฉีดวันละ 1,000 คน มีทีมแพทย์ พยาบาล เภสัชกรจากโรงพยาบาล (รพ.) นวมินทร์ 1 เป็นผู้ดำเนินการ

นายสุชาติ เปิดเผยว่า การตรวจเยี่ยมจุดฉีดวัคซีนผู้ประกันตน ม.33 ครั้งนี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าการให้บริการฉีดวัคซีน ซึ่งจากผลการดำเนินการ 4 วันที่ผ่านมา มีผู้มาฉีดวัคซีนจำนวน 174,193 คน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 87.09 จากเป้าหมายที่ตั้งไว้วันละ 50,000 คน 4 วัน จะต้องฉีดได้ 200,000 คน

“การฉีดวัคซีนผู้ประกันตนมาตรา 33 รัฐบาลและกระทรวงแรงงาน มีความตั้งใจที่จะลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานประกอบการ เพื่อให้กิจการต่างๆ สามารถดำเนินต่อไปได้ “นายสุชาติ กล่าว

ด้าน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) กล่าวถึงกรณี สปส.จำเป็นต้องปิดระบบการให้บริการฉีดวัคซีนแก่ผู้ประกันตน ม.33 ทั้ง 45 จุดทั่วกรุงเทพฯ เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน และจะเปิดให้บริการใหม่ในวันที่ 28 มิถุนายน ว่า เพื่อปรับปรุงระบบการให้บริการ ทั้งนี้เนื่องจากพบว่า ตลอดช่วงที่ให้บริการมาเป็นเวลา 4 วัน พบปัญหาอุปสรรคในการให้บริการ 1.พบว่าตัวเลขผู้ประกันตนที่สถานประกอบการหรือนายจ้างส่งให้ สปส.กับจำนวนผู้ประกันตนที่เข้าไปรับบริการไม่ตรงกัน เช่น ส่งชื่อไป 1,000 คน แต่ไปฉีดจริงหลักร้อยคน

นางเธียรรัตน์ กล่าวว่า 2.เนื่องจากจุดให้บริการบางแห่ง เป็นพื้นที่ภายนอกอาคาร ไม่มีระบบปรับอากาศ ประกอบกับในระหว่างให้บริการอากาศร้อน ทำให้ผู้ที่ไปรอฉีดวัคซีนความดันสูง อีกทั้งยังมีฝนตกและลมกระโชกแรงในบางเวลา ทำให้ต้องยุติการฉีดซึ่งทำให้การบริการยิ่งล่าช้า

“ดังนั้น จากปัญหาทั้ง 2 เรื่องนี้ จึงได้พิจารณาและขอปิดการให้บริการชั่วคราว เพื่อให้จัดหาสถานที่ใหม่ เป็นอาคารที่มีระบบปรับอากาศ อีกทั้งต้องให้สถานประกอบการและ สปส.ได้ทบทวนจำนวนผู้ประกันตนที่จะขอรับวัคซีนจริง เพื่อให้การบริการที่จะเปิดใหม่ดำเนินการไปอย่างราบรื่น และสะดวก สบายแก่ผู้เข้าใช้บริการ” โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 11/6/2564

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท