Skip to main content
sharethis

สรุปเสวนาออนไลน์หัวข้อ "สภาวะความทรงจำในวัฒนธรรมดิจิทัล: สำรวจ 'สิ่งที่กำลังจะกลายเป็น' จากความทรงจำดิจิทัล" จัดโดย SAC gallery ที่พูดถึงการตีความคำว่า 'ความทรงจำ' ในยุคดิจิทัลที่ถูกจัดเก็บอย่างกระจัดกระจาย และมิติเวลาแบบเส้นตรงที่ถูกทำลายลง โดยมี เก่งกิจ กิติเรียงลาภ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมเสวนา

17 มิ.ย. 2564 SAC gallery จัดการเสวนาออนไลน์ผ่าน Zoom และเฟซบุ๊กไลฟ์ในหัวข้อ "สภาวะความทรงจำในวัฒนธรรมดิจิทัล: สำรวจ 'สิ่งที่กำลังจะกลายเป็น' จากความทรงจำดิจิทัล" เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ที่ผ่านมา งานเสวนาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ The Place of Memories โดยมีภัทฐิชา ฐิติธรรมาภรณ์ คิวเรเตอร์จากโครงการ Start! Art Curator, เก่งกิจ กิติเรียงลาภ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศิลปินจากนิทรรศการ The Place of Memories ได้แก่ ทิวไพร บัวลอย, ธณวัฒน์ นุ่มเจริญ และวัชรนนท์ สินวราวัฒน์ เป็นผู้ร่วมเสวนา

ภัทฐิชา เริ่มต้นการเสวนาด้วยการอธิบายว่า สภาวะของความทรงจำดิจิทัลนั้นได้ทำลายสำนึกของระบบเวลาที่เป็นเส้นตรง โดยความทรงจำที่กระจัดกระจายหรือ ถูกเก็บไว้ในโทรศัพท์มือถือ และแพลตฟอร์มต่างๆ ได้ทำให้ความทรงจำส่วนบุคคลทั้งในทางกายภาพและในโลกดิจิทัลไม่เป็นเนื้อเดียวกันหรือ เกิดความรู้สึกที่ขัดแย้งกัน เป็นความทรงจำที่ท้ายที่สุดแล้วกลายเป็นโครงข่ายเชื่องโยงระหว่างเหตุการณ์ต่างๆ และการตีความหมายในรูปแบบใหม่

เมื่อกล่าวถึงการจดจำและการลืมเลือน ซึ่งเป็นคู่ตรงกันข้ามอยู่เสมอในความทรงจำ คำถามที่ตามมา คือ ความทรงจำจากวัตถุหรืออื่นๆ เป็นเหมือนการอ่านความทรงจำผ่านภาษาและวัฒนธรรม โดยสิ่งเหล่านี้ได้มอบความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งอื่นให้กับความทรงจำเสมอ กล่าวคือ ความทรงจำได้ถูกตีความในสภาวะของสิ่งที่กำลังจะเกิดหรือ สิ่งที่กำลังจะกลายเป็น ความทรงจำโดยตัวมันเองจึงไม่ใช่สิ่งที่เป็นจริง แต่เป็นสิ่งที่เหมือนกับกำลังจะกลายเป็นจริงทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งเมื่อสิ่งเหล่านี้ได้ผนวกเข้ากับกระบวนการอ่านหรือ กระบวนการสร้างเรื่องเหล่าย้อนหลังจากมุมมองของปัจจุบันของผู้อ่านจึงทำให้เกิดการตีความที่ลื่นไหลของสิ่งที่ความทรงจำจะกลายเป็นอยู่เสมอ ซึ่งผลงานของศิลปินทั้ง 3 คน ได้เสนอรูปแบบของความทรงจำออกมาในคนละแบบ 

Harddisk โดย ทิวไพร บัวลอย

ภาพจาก SAC Gallery
 

เป็นที่ทราบกันดีว่ามนุษย์สามารถเก็บข้อมูลไว้ในฮาร์ดดิสก์ได้ และสามารถระบุว่าข้อมูลอยู่ตำแหน่งใด อย่างไรก็ตามมนุษย์ไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าเนื้อหาของข้อมูลที่เก็บไว้นั้นมีอะไรบ้าง ผลงานได้แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของความทรงจำ เหตุเพราะมนุษย์มักคิดว่าสิ่งนี้สามารถเก็บข้อมูลได้ในจำนวนมากและเก็บไว้ได้นาน แต่มื่อใดที่สิ่งนี้พังสภาวะของความเปราะบางจะปรากกฎขึ้นในสำนึกการรับรู้

This Room is too Small for Many People โดย ธณวัฒน์ นุ่มเจริญ

ภาพจาก SAC Gallery
 

ในงานชิ้นนี้เป็นการหยิบเอาสิ่งของต่าง ๆ จากความทรงจำของศิลปินมารวมกันในพื้นที่เดียวกัน โดยแกนของงานคือ การนำวิธีการเล่นของเด็กที่มีการเรียนรู้ผ่าน “รูปแบบ” (form) ว่ารูปแบบดังกล่าวสามารถสร้างวัตถุขึ้นมาได้อย่างไร และมีวิธีการใช้งานอย่างไร ซึ่งวิธีการดังกล่าวนั้นได้ตรงกับวิธีการทำงานของ AI เวลาสร้างสิ่งใดขึ้นมาสักอย่าง ทั้งนี้ผลงานดัวกล่าวได้แสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงของวัตถุต่างๆ ที่วางอยู่บนโต๊ะ โดยผ่านการเชื่อมโยงจากประสบการณ์ร่วมที่ไม่ดั้งอยู่บนเส้นเวลาเดียวกันสุดท้ายจึงทำให้การตีความหมายของผลงานมีความหลากหลายยิ่งขึ้น

Countryside Before Memory โดย วัชรนนท์ สินวราวัฒน์

ภาพจาก SAC Gallery

งานชิ้นนี้เป็นการนำเอาความทรงจำที่พูดถึงการปะทะกันระหว่างความทรงจำในมุมประวัติศาสตร์กับความทรงจำส่วนบุคคลของศิลปิน ซึ่งศิลปินนั้นไม่ได้รู้สึกว่าความทรงจำของตนถูกกลืนไปกับความทรงจำทางประวัติศาสตร์ที่รัฐและสังคมได้สร้างภาพของความเป็นชนบทขึ้นมา ซึ่งศิลปินได้ทำการหาข้อมูล หาความหมายเข้าไปในประวัติศาสตร์ว่าเหตุใดจึงต้องสร้างความทรงจำแบบนี้ขึ้น และได้แสดงรูปภาพชนบทในรูปแบบเข้าใจกันอย่างดาษดื่ล กับชนบทในความทรงจำของตนว่ามีความต่างกันอย่างไร

โดยผ่านรวมจะเห็นได้ว่าทั้ง 3 งานนั้นมีความต่างกัน แต่จุดเชื่อมโยงที่น่าสนใจคือ ความทรงจำต่าง ๆ ที่ถ่ายทอดออกมาต่างต้องการการตีความจากผู้ชมที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์ และสร้างเครือข่ายเรื่องเล่า ซึ่งตรงกับคอนเซ็ปต์ของความทรงจำดิจิทัลที่ได้ทำลายระบบของเวลาจากพื้นที่สำนึกของมนุษย์

ข้อเสนอว่าด้วยสภาวะความทรงจำในวัฒนธรรมดิจิทัล

ในส่วนสุดท้ายเป็นการตั้งข้อสังเกต 14 ข้อเสนอว่าด้วยสภาวะความทรงจำในวัฒนธรรมดิจิทัล โดย เก่งกิจ กิติเรียงลาภ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

  1. ความทรงจำเป็นเรื่องของคนที่มีชีวิตอยู่
  2. ความทรงจำคือเรื่องของปัจจุบัน ไม่ใช่อดีต
  3. ความทรงจำนั้นคร่อมข้ามสื่อหลายประเภท
  4. การจำสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นและหลงลืมสิ่งที่เคยเกิดขึ้นไม่ใช่สิ่งผิดปกติ
  5. ความทรงจำและการหลงลืมเป็นสภาวะปกติ เพราะมันถูกวัดจากมุมมองของปัจจุบัน ไม่ใช่อดีต
  6. ความทรงจำสำคัญกับการก่อรูปของจิตสำนึกทางประวัติศาสตร์และความคิดเรื่องเวลา
  7. ระบบทุนนิยมดิจิทัลในปัจจุบันกำลังทำลายเวลาและประวัติศาสตร์
  8. การทำลายเวลาก็นำมาสู่การทำลายการก่อรูปของตัวตนของมนุษย์
  9. เวลาแบบปัจจุบันเป็นอุปสรรคของการก่อรูปองค์ประธาน
  10. หากไร้ประวัติศาสตร์ มันก็ย่อมจะปราศจากอนาคต
  11. อำนาจแบบเผด็จการทำงานผ่านการทำลายเวลาและความเป็นประวัติศาสตร์
  12. ข้อเสนอของ Byung-Chul Han ว่าด้วยเวลาที่อ้อยอิ่งนั้นติดอยู่ในกรอบของสารัตถะนิยม
  13. การก่อรูปขององค์ประธานไมได้เกิดจากความต่อเนื่อง แต่เกิดจากความคงเส้นคงวา และศักยภาพที่เปิดให้เกิด “การกำลังกลายเป็น” ไม่ใช่การกลับไปหาการเป็น
  14. การกอบกู้ความเป็นประวัติศาสตร์และองค์ประธานจำเป็นต้องต่อต้านทำลายระบบทุนนิยม

เก่งกิจ กล่าวสรุปไว้ว่า “ความทรงจำเป็นเงื่อนไขที่สำคัญต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องของมนุษย์ที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันและอนาคต แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ภายใต้ระบบทุนนิยมแบบดิจิทัลมันได้ทำลายความสามารถที่จะจดจำหรือความสามารถที่จะปะติดปะต่อถักทอการสร้างความทรงจำของมนุษย์ให้มันไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นในเงื่อนไขที่มนุษย์จะสามารถกอบกู้ความทรงจำของตัวเอง เงื่อนไขที่สำคัญก็คือ การที่มนุษย์จำเป็นที่จะต้องท้าทายหรือทำลายเงื่อนไขที่ระบบทุนนิยมแบบดิจิทัลสร้างขึ้นมา นั่นก็คือการทำให้เวลาแตกกระจาย หมายความว่าเรากำลังเรียกร้องให้เราเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ผ่านการโค่นล้มและตั้งคำถามกับระบบทุนนิยมมากขึ้น ไม่ใช่การกลับไปหาอดีตในความหมายที่เราคิดว่าอดีตเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ อยู่แล้วในอดีตหรือ เคยเกิดขึ้นมาแล้ว”

ในส่วนถัดมาเป็นช่วง Q&A ซึ่งมีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า “การที่เราพยายามย้อนกลับไปตั้งคำถามว่า ‘การแตกสลายของตัวตนมนุษย์’ ที่เก่งกิจได้เสนอนั้น มันเหมือนกับว่ากำลังทำให้ตัวตนส่วนหนึ่งของมนุษย์แตกสลายไปพร้อมกันในพื้นที่กายภาพ และการเข้าถึงที่ต่าง ๆ พร้อมกันจากเทคโนโลยีในแต่ละช่วงเวลาที่แตกกระจาย จึงทำให้เกิดความรู้สึกจากการขัดแย้งของตัวตนตลอดเวลา ซึ่ง Han ได้เสนอวิธีแก้ไขปัญหานี้โดย การใช้เวลาและผัสสะในการใคร่ครวญกับตนเอง”

ในทางตรงกันข้าม เก่งกิจให้ความเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ Han ที่เชื่อว่ามนุษย์จะหาทางออกจากระบบทุนนิยมแบบดิจิทัลได้ด้วยการมีเวลา เพราะสำหรับเก่งกิจ Han ทำประหนึ่งว่าตัวตนของมนุษย์มีขอบเขตและมีสารัตถะบางอย่าง และถูกแตกกระจายโดยเทคโนโลยีแบบดิจิทัล

"สำหรับผม คิดว่าความเป็นมนุษย์ไม่ได้มีขอบเขตหรือสารัตถะที่ชัดเจน ฉะนั้นถ้าจะบอกว่าสารัตถะของมนุษย์คืออะไรนั้น คำตอบคือ ความหลากหลายหรือศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงตัวตน เพราะฉะนั้น การที่จะทำให้เงื่อนไขของความเป็นมนุษย์ ซึ่งหมายถึงการกลายเป็นสิ่งอื่น ดำเนินไปได้นั้นคือ กระบวนการของการปะติตปะต่อสิ่งที่หลากหลายเข้าไว้ด้วยกันหรือการทำให้ความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ เข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งความสัมพันธ์ที่ว่านี้เกิดขึ้นในปัจจุบันและทับถมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนก่อรูปเป็นความทรงจำ ดังนั้น ความทรงจำจึงเป็นเรื่องของปัจจุบัน และถูกสร้างขึ้นเพื่อที่เราจะดำเนินชีวิตในปัจจุบันและอนาคต" เก่งกิจ กล่าว

สิ่งสุดท้ายที่ เก่งกิจ กล่าวอย่างน่าสนใจไว้คือ “ถ้าเราเปลี่ยนประวัติศาสตร์หรือเปลี่ยนสังคมไทยให้เป็นประชาธิปไตยได้ เรื่องเล่าต่าง ๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีตจะถูกเปลี่ยนใหม่หมด ฉะนั้นการจะเปลี่ยนประวัติศาสตร์ เราต้องยืนยันถึงความสำคัญของปัจจุบันและอนาคต เมื่อเราเปลี่ยนปัจจุบันอนาคตจะมีอีกทิศทางหนึ่ง ซึ่งเมื่ออนาคตและปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอดีตจะถูกจดจำแตกต่างออกไปจากที่เคยถูกจดจำ”

ปกกมล พิจิตรศิริ ผู้รายงานชิ้นนี้เป็นนักศึกษาวิทยาลัยสหวิทยาการ สาขาปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net