Skip to main content
sharethis

ปแญะลยันเอ่าง์ ผู้รักษาประตู ทีมชาติเมียนมา แสดงเจตจำนงขอลี้ภัยที่ญี่ปุ่น ไม่กลับประเทศบ้านเกิด เหตุกังวลความปลอดภัยต่อชีวิต หลังเขาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต้านรัฐประหาร โดยการชูสามนิ้วขณะยืนเคารพเพลงชาติ ก่อนเริ่มการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกกับทีมชาติญี่ปุ่น

ปแญะลยันเอ่าง์ ผู้รักษาประตูทีมชาติพม่า (ที่มา เพจเฟซบุ๊ก Pyae Lyan Aung)
 

17 มิ.ย. 64 สำนักข่าวสิงคโปร์ ‘Channel News Asia’ และ ‘Kyodo News’ รายงานวันนี้ (17 มิ.ย.) เมื่อกลางดึกวันที่ 16 มิ.ย. 64 ที่สนามบินนานาชาติคันไซ จังหวัดโอซาก้า ปแญะลยันเอ่าง์ ผู้รักษาประตูทีมชาติเมียนมา ปฏิเสธเดินทางกลับประเทศ และต้องการขอลี้ภัยในประเทศญี่ปุ่นหลังเขาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อต่อต้านการทำรัฐประหาร โดยการชูสามนิ้ว พร้อมข้อความที่เขียนไว้ We need justice ขณะยืนเคารพเพลงชาติ ก่อนดวลแข้งฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกกับประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่เมืองชิบะ ใกล้กรุงโตเกียว 

ประเทศเมียนมาเดินทางเข้าสู่วิกฤตการเมืองหลังกองทัพพม่าทำรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 64 จนทำให้เกิดการลุกฮือประท้วงในหลายพื้นที่ทั่วประเทศพม่า และเกิดการสู้รบระหว่างกองทัพพม่า กับกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่ไม่เอาทหารพม่า

เมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา ปแญะลยันเอ่าง์ โกลทีมชาติพม่า ชูสามนิ้วขณะเคารพเพลงชาติ ก่อนเริ่มการแข่งขันรอบคัดเลือกฟุตบอลโลกกับประเทศญี่ปุ่น 

โชโกะ วาตานาเบะ ทนายความของปแญะลยันเอ่าง์ กล่าวว่า แต่เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 64 ซึ่งเป็นกำหนดเดินทางกลับประเทศของทีมฟุตบอลเมียนมา ผู้รักษาประตูชาวพม่าแจ้งความประสงค์กับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบินนานาชาติคันไซว่า เขาไม่ต้องการโดยสารเครื่องบินกลับไปประเทศพม่า 

“หลังจากยืนยันความต้องการของเขา เราจะดำเนินการตามขั้นตอนขอสถานะผู้ลี้ภัยที่โอซาก้า ไม่ก็ที่กรุงโตเกียว” วาตานาเบะ กล่าว

“ชัดเจน (ผู้สื่อข่าว - ว่าเขาเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง) หลังจากเขาชูสามนิ้ว… ผมหวังว่าสถานะผู้ลี้ภัยของเขาจะได้รับการรับรองเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” ทนายความ กล่าว พร้อมระบุเพิ่มเติมว่า โดยปกติ กระบวนการขอสถานะผู้ลี้ภัยในญี่ปุ่นอาจต้องใช้เวลานานหลายเดือน

นอกจากนึ้ สถานีโทรทัศน์แห่งชาติ NHK เผยแพร่ภาพวิดีโอบางส่วนขณะที่ปแญะลยันเอ่าง์ กำลังพูดกับล่ามที่สนามบินคันไซ เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 64 

“ถ้าผมกลับไปที่เมียนมา ชีวิตผมต้องตกอยู่ในอันตราย ผมเลยตัดสินใจอยู่ที่ญี่ปุ่น” คำพูดของผู้รักษาประตูเมียนมาขณะคุยกับล่ามแปลภาษาที่สนามบินคันไซ

โกลชาวพม่ากล่าวถึงเหตุการณ์ในวันนั้นว่า ตอนแรกเขาเกือบถอดใจไปแล้วที่จะแจ้งความประสงค์ขอลี้ภัยในประเทศญี่ปุ่น แต่ก็งัดเอาความกล้าที่เก็บไว้ออกมาขณะกำลังเดินขึ้นเครื่องบิน  

ปแญะลยันเอ่าง์ เปิดเผยต่อว่า เขาจะกลับประเทศก็ต่อเมื่อรัฐบาลพลเรือนนำโดยอองซานซูจี กลับมามีอำนาจบริหารประเทศอีกครั้ง และสาเหตุที่เขาเลือกชูสามนิ้วก่อนการแข่งขันฟุตบอลกับญี่ปุ่น เพราะเชื่อว่ามันมีพลังหนักแน่นพอที่จะส่งสารไปถึงนานาชาติได้ 

“ผมอยากให้รัฐบาลญี่ปุ่น และนานาชาติ สนับสนุนพวกเรา เพื่อให้เราสามารถฟื้นคืนสังคมที่เท่าเทียมและยุติธรรม” ผู้รักษาประตูชาวเมียนมา กล่าว 

แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะเลือกลี้ภัยในญี่ปุ่นแล้ว แต่เขาก็ยังกังวลถึงผลลัพธ์การตัดสินใจเขาว่า อาจทำให้เพื่อนร่วมทีม และครอบครัวของเขาที่ประเทศพม่าเดือดร้อน 

“ถ้ามีอันตรายเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมทีม หรือสมาชิกครอบครัวของผม ผมคงยอมกลับไปที่พม่าให้เจ้าหน้าที่จับกุม” โกลชาวพม่า กล่าว 

สำหรับกรณีการลี้ภัยของนักบอลพม่า สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของญี่ปุ่นยังไม่แสดงความเห็นถึงกรณีดังกล่าว ขณะที่ตัวแทนจากฝากฝั่งรัฐบาลญี่ปุ่น คัตสึโนบุ คาโต เลขาธิการใหญ่คณะรัฐมนตรี กล่าวว่า “ทางรัฐบาลจะตอบสนองอย่างเหมาะสม โดยรับฟังความปรารถนาของเขา”

ทนายโยชิโนะ โซราโนะ กล่าวว่า ปแญะลยันเอ่าง์ เข้าประเทศญี่ปุ่นมาช่วงปลายเดือน พ.ค. ด้วยวีซ่า (ที่มีระยะพำนักในญี่ปุ่น) ไม่เกิน 90 วัน หรืออีกนัยหนึ่งคือ เขาสามารถอยู่ในประเทศญี่ปุ่นอย่างถูกกฎหมายได้จนถึงเดือน ส.ค.

นอกจากนี้ โซราโนะ กล่าวอย่างมั่นใจว่า 'สำนักงานบริการตรวจคนเข้าเมืองภูมิภาคโอซาก้า' จะให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่โกลชาวเมียนมาคนนี้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ เมื่อ 28 พ.ค. 64 ทางตำรวจตรวจคนเข้าเมืองประเทศญี่ปุ่น ออกนโยบายขยายเวลาพำนักให้ชาวเมียนมาที่อาศัยในญี่ปุ่นเป็นกรณีฉุกเฉิน ส่งผลให้ชาวพม่าในญี่ปุ่น จำนวนกว่า 35,000 คน สามารถอยู่แดนปลาดิบต่อได้ตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 1 ปีแม้วีซ่าขาดอายุ นอกจากนี้ ชาวพม่าสามารถดำเนินเรื่องเพื่อขอใบอนุญาตทำงานในญี่ปุ่นได้อีกด้วย

ทางการญี่ปุ่น ระบุเพิ่มว่า มาตรการนี้มีผลทันทีในวันที่ 28 พ.ค. 64 และอาจมีการพิจารณาขยายเวลาพำนักในประเทศญี่ปุ่นให้ชาวเมียนมาเพิ่ม หากสถานการณ์วิกฤตการเมืองในเมียนมายังไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น 

ทั้งนี้ มาตรการขยายเวลาพำนักในประเทศญี่ปุ่นของชาวพม่าเกิดขึ้นก่อนที่ญี่ปุ่นจะต้องเป็นเจ้าภาพจัดงานกีฬาระดับโลก โอลิมปิก เพียงเดือนเดียว ทำให้หลายคนมีข้อสงสัยว่า นักกีฬาพม่าคนอื่น ๆ ที่มาแข่งขันกีฬาโอลิมปิก จะสามารถขอลี้ภัยที่ญี่ปุ่นเหมือนกรณีนักบอลชาวเมียนมาได้หรือไม่   

ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ยาวนานกับประเทศพม่า และเรียกตัวเองว่า เป็นประเทศที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจแก่เมียนมาเยอะเป็นอันดับหนึ่ง 

อย่างไรก็ตาม หลังเกิดรัฐประหาร รัฐบาลญี่ปุ่นระงับโครงการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจใหม่ในประเทศพม่าเป็นการชั่วคราว และรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของญี่ปุ่น เคยออกมาเตือนด้วยว่า แม้แต่โครงการที่เริ่มดำเนินงาน หรืออนุมัติไปแล้ว ก็มีสิทธิ์ถูกสั่งระงับได้เช่นกันหากกองทัพพม่ายังดึงดันใช้ความรุนแรงต่อผู้ประท้วง 

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Myanmar soccer goalie who gave protest salute to seek asylum in Japan

Myanmar footballer to seek asylum in Japan

Japan takes measures to let Myanmar people stay

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net