ถ.อักษะ ปี 63 กทม.จ้างปรับปรุงเสาหงส์ 28 ล้าน - ปี 61 เทศบาล ต.ศาลายา จัดซุ้มเฉลิมฯ 5 แสน

ถนนที่ได้ชื่อว่าสวยที่สุดของประเทศ ปี 63 กทม.จ้างปรับปรุงเสาหงส์ ถ.อักษะ กว่า 28 ล้านบาท ขณะที่ปี 61 เทศบาลตำบลศาลายา จัดซุ้มเฉลิมฯ 5 แสน ส่วนงบ ปรับปรุงฟื้นฟูภูมิทัศน์ ดูแลและบำรุงรักษาต้นไม้ที่มีเป็นระยะปี 59-63 รวม 59.3 ล้าน

จากกรณีการเปิดข้อมูล เสาไฟประติมากรรมกินรี อบต.ราชาเทวะ จ.สมุทรปราการ ที่มีประเด็นถึงความคุ้มค่าหรือไม่นั้น จนนำมาสู่การตรวจสอบเสาไฟประติมากรรมในที่อื่นๆ นั้น แต่อีกหนึ่งภาพจำเกี่ยวกับเสาไฟประติมากรรม คือ เสาไฟรูปหงส์ที่บริเวณถนนอุทยาน หรือถนนอักษะ เขตทวีวัฒนา กทม. ที่มากถึง 979 ต้น จนได้ชื่อว่าเป็นถนนที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

จากการสืบค้น เว็บไซต์ actai.co ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) พบว่า สำนักงานก่อสร้างและบูรณะ สำนักการโยธา กทม.

(ถนนอักษะ) จากถนนพุทธมณฑลสาย 3 ถึงสุดเขตกรุงเทพมหานคร พื้นที่เขตทวีวัฒนา โดยวิธีเฉพาะเจาะจง เมื่อ ส.ค.2563 งบประมาณ 28,350,000 บาท โดยมี บริษัท ฉื่อ จิ้น ฮั้ว จำกัด เป็นผู้รับจ้าง 

จ้างปรับปรุงไฟฟ้าสาธารณะบริเวณถนนอุทยาน

โดยเมื่อ 11 มี.ค.63 ไทยรัฐ รายงานว่า ธีรวัจน์ ห้วยหงษ์ทอง ผอ.สำนักการก่อสร้างและบูรณะ สำนักการโยธา กทม. เปิดเผยความคืบหน้าการปรับปรุงระบบไฟฟ้าส่องสว่างบริเวณถนนอุทยาน ซึ่งชำรุดเสียหาย ว่าขณะนี้สำนักการโยธา (สนย.) ได้รับจัดสรรงบประมาณสำหรับดำเนินการแล้วจำนวน 28 ล้านบาท หลังจากนี้จะเร่งหาผู้รับจ้างตามขั้นตอนการประกวด ราคาด้วยวิธี “อีบิดดิ้ง” (E-Bidding) คาดว่าจะใช้เวลาในการหาผู้รับจ้างประมาณ 2 เดือน กำหนดเวลาปรับปรุงระบบไฟฟ้าส่องสว่างให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน หรือประมาณ 6 เดือน ทั้งนี้ ถนนอักษะอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ 3,500 เมตร และอยู่ในพื้นที่เขต จ.นครปฐม 300 เมตร มีเสาไฟฟ้าส่องสว่างทั้งหมด 979 ต้น ชำรุดกว่าร้อยละ 50 จากการตรวจสอบพบว่าระบบไฟฟ้าชำรุดทั้งระบบ จึงจำเป็นต้องซ่อมแซมใหม่ทั้งระบบ

ส่วนการปรับปรุงไฟฟ้าส่องสว่างที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ประมาณ 300 เมตร สนย.จะแยกขอจัดสรรงบประมาณในการดำเนินการ เนื่องจากการใช้จ่ายงบประมาณนอกเขตพื้นที่กรุงเทพฯจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภา กทม.ก่อน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการเปิดประชุมสภา กทม. หากรอดำเนินการพร้อมกันอาจทำให้ล่าช้า ประชาชนได้รับความเดือดร้อน สนย.จึงขอจัดสรรงบประมาณ เพื่อดำเนินการเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ ก่อนประมาณ 908 ต้น

นอกจากนี้สืบค้น เว็บไซต์ actai.co เพิ่มเติมพบว่า ส.ค.61 เทศบาลตำบลศาลายา จ.นครปฐม ยังมีการจ้างโครงการก่อสร้างซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ภายในเขตเทศบาล จำนวน 2 ซุ้ม บริเวณเกาะกลางถนนอุทยาน (อักษะ) เชื่อมต่อกับถนนพุทธมณฑลสาย 4 (ทั้ง 2 ด้าน) โดยวิธีเฉพาะเจาะจง งบประมาณ 500,000 บาท 

โครงการก่อสร้างซุ้มเฉลิมพระเกียรติ

นอกจากนี้ยังมีงบประมาณ ปรับปรุงฟื้นฟูภูมิทัศน์ จ้างจ้างเหมาเอกชนดูแลและบำรุงรักษาต้นไม้ บริเวณถนนอุทยาน เช่น ปี 59 ปรับปรุงฟื้นฟูภูมิทัศน์ งบประมาณ 40,000,000 บาท ปี 61 จ้างจ้างเหมาเอกชนดูแลและบำรุงรักษาต้นไม้ งบประมาณ 4,588,039 บาท ปี 62 จ้างจ้างเหมาเอกชนดูแลและบำรุงรักษาต้นไม้ งบประมาณ 6,200,029 บาท ปี 63 จ้างจ้างเหมาเอกชนดูแลและบำรุงรักษาต้นไม้ งบประมาณ 8,604,492 บาท

ข้อมูลจากเว็บไซต์กรุงเทพมหานคร ระบุว่า ถนนอุทยาน หรือที่นิยมเรียกในชื่อเดิมว่า ถนนอักษะ เป็นถนนเชื่อมระหว่างถนนพุทธมณฑลสาย 3 ในเขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร ถึงถนนพุทธมณฑลสาย 4 ในอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม มีระยะทาง 4 กิโลเมตร พร้อมด้วยทัศนียภาพที่สวยงาม จนได้ชื่อว่าเป็นถนนที่สวยที่สุดในประเทศไทย ถนนอุทยานหรือเดิมชื่อ “ถนนอักษะ” เป็นถนนที่สร้างมุ่งไปพุทธมณฑลซึ่งได้เริ่มก่อสร้างใน พ.ศ.2498 สมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อเฉลิมฉลอง 25 พุทธศตวรรษ (พ.ศ.2500) โดยเริ่มดำเนินการเวนคืนที่ดินของราษฎรเพื่อสร้าง ถนนตั้งแต่ พ.ศ.2494 แต่การก่อสร้างพุทธมณฑลและถนนอักษะได้หยุดชะงักไปเมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม ถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารยึดอำนาจใน พ.ศ.2500 ต่อมาในสมัย พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้เริ่มรื้อฟื้นโครงการพุทธมณฑลขึ้น เนื่องจากใกล้การเฉลิมฉลองโอกาสที่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ครบ 200 ปีใน พ.ศ.2525 และเสร็จสมบูรณ์ในสมัยที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วนถนนอักษะได้รับอนุมัติให้ลงมือก่อสร้างในสมัยที่นายบรรหาร ศิลปอาชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

โครงการก่อสร้างถนนอักษะเป็นโครงการหนึ่งที่กรุงเทพมหานครดำเนินการเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ใน พ.ศ.2539 เพื่อเป็นการเสริมสร้างความสง่างาม แก่พุทธมณฑลซึ่งเป็นสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ และอำนวยความสะดวก ในพระราชพิธีที่พุทธมณฑล ถนนสายนี้ยาว 3,861 เมตร ใช้งบประมาณการก่อสร้าง 1,068,987,571 บาท และเสร็จ สมบูรณ์เปิดให้ประชาชนใช้ได้ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2542 สำหรับชื่อถนนอักษะซึ่งมาจากภาษาอังกฤษว่า Axis แปลว่า แกนกลางนั้นเป็นคำที่ใช้เรียก หมายถึง ประเทศฝ่ายอักษะ คือ เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ซึ่งทำสงคราม กับฝ่ายพันธมิตร คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ในสงครามโลกครั้งที่ 2 และรัฐบาลในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายอักษะ เมื่อสร้างถนนเสร็จแล้ว กรุงเทพมหานครได้ประสานงานกับกรมศิลปากร ในเรื่องชื่อถนนอักษะ ซึ่งกรมศิลปากรได้แนะนำให้ใช้ชื่อว่า ถนนอักษะ ซึ่งแปลว่าแกนกลาง เนื่องจากเป็นถนนเชื่อม ระหว่างถนนพุทธมณฑลสาย 3 กับถนนพุทธมณฑลสาย 4 ต่อมากรุงเทพมหานครได้ประสานงานกับกรมศิลปากร เพื่อขอพระราชทานชื่อถนนจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อถนนว่า "ถนนอุทยาน" ซึ่งเป็นชื่อที่สัมพันธ์กับพุทธมณฑล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท