Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นักเรียนอักษรศาสตร์รุ่นผมชอบนึกว่าตัวมีความรู้ด้านภาษาดีกว่าคนทั่วไป แต่ที่จริงก็เป็นความรู้ที่ไม่ตั้งอยู่บนหลักวิชาอะไรนัก เพียงแต่การเรียนทำให้ต้องใส่ใจกับภาษามากกว่าคนอื่น จึงสังเกตเห็นอะไรในภาษามากกว่าที่ผู้ไม่ใส่ใจละเอียด แล้วก็เดาไปสุ่มๆ ว่ามันคงเป็นอย่างโน้นอย่างนี้

ที่จะคุยต่อไปนี้ก็เป็นผลจากการเดาสุ่มนั่นแหละครับ

มีคนบ่นเรื่องสรรพนามในภาษาไทยมานานแล้วว่า ยากชิบเป๋ง เพราะภาษาไทยไม่มีสรรพนามทั้งสามบุรุษตายตัว ต้องเปลี่ยนไปตามสถานะทางสังคม, การเมือง, เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ของผู้พูด, ผู้พูดด้วย และผู้ที่ถูกพูดถึงตลอดเวลา ร้ายยิ่งไปกว่านั้น แม้ในคนที่มีสถานะเท่าเทียมกัน ก็ยังมีสรรพนามให้พลิกผันได้หลายคำ เพื่อแสดงความใกล้ชิดสนิทสนม และความสัมพันธ์ที่ไม่เท่ากันหรือเหมือนกัน เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่เจ้าของภาษาได้เรียนรู้มานานเท่านั้น จึงจะพลิกผันคำได้ “ถูก”

ทันทีที่คนไทยเปล่งเสียงพูดกับใคร ก็จัดสถานะระหว่างกันไว้ในทันที มึงแค่ไหน กูแค่ไหน รู้กันได้ตั้งแต่นาทีแรกที่สนทนา ไม่เฉพาะแต่สรรพนามที่เลือกใช้ต่างกันเท่านั้น แต่รวมถึงการเลือกคำซึ่งมี “ศักดิ์” ไม่เท่ากัน ไปจนถึงน้ำเสียงและหางเสียง

ผมมาพบด้วยความประหลาดใจว่า ภาษาเขียนของไทยสมัยโบราณใช้สรรพนามน้อยมาก หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือใช้คำนามโดยไม่เอาสรรพนามมาแทนที่ โดยเฉพาะสรรพนามบุรุษที่สาม เช่น “กูบำเรอแก่พี่กูด้วยซื่อ” แทนที่จะเป็น “กูบำเรอแก่มันด้วยซื่อ” เพียงแต่นักเขียนไทยรู้จักใช้คำนามที่มีความหมายบ่งไปถึงสิ่งเดียวกันให้หลากหลาย จึงอ่านได้โดยคนไทยสมัยหลังว่าไม่ซ้ำคำจนน่าเบื่อ

จนถึงภาษาเขียนไทยในรุ่นผม ยังไม่มีสรรพนามใช้กับคำหรือวลีที่เป็นนามธรรม เช่น “ความรักทำให้ตาบอด” ถ้าจะพูดถึงความรักอีกว่าทำให้ตาบอดก็จริง แต่รู้สึกเหมือนตาสว่าง จะแทนที่คำว่า “ความรัก” ด้วยสรรพนามอะไร? “เขา” ก็ไม่ได้ เพราะในภาษาไทยใช้แทนบุคคลหรือสัตว์เท่านั้น “มัน” ก็ไม่ได้ เพราะฟังดูแปร่งๆ ทั้งๆ ที่ก็อ่านเข้าใจได้

วิธีเดียวที่จะไม่ใช้คำซ้ำใกล้ๆ กัน คือเปลี่ยนไปใช้คำนามอื่นแทนคำว่า “ความรัก” เช่น เปลี่ยนเป็น “ความรู้สึกอันหอมหวานเช่นนั้น…” หรืออะไรอื่นที่ทำให้ผู้อ่านรู้ว่าหมายถึงความรักนั่นแหละ

แต่นับวันคนไทยก็พูดถึงอะไรที่เป็นนามธรรมบ่อยขึ้นและมากขึ้นทุกที จะเปลี่ยนประธานหรือกรรมของประโยคว่า “ความไม่เป็นประชาธิปไตยของสังคมไทย” อย่างไร จึงจะไม่ซ้ำคำจนน่าเบื่อ กว่าจะเขียนเสร็จหน้าเดียว ก็ทั้งรู้สึกงุ่มง่ามและเหนื่อยชิบเลย

ภาษาไทยรุ่นหลังจากผมจึงใช้ “มัน” แทนคำนามประเภทนี้อย่างไม่ต้องกระดากเหมือนผม ยิ่งมาถึงภาษาพูดไทยของคณะราษฎร 2563 ความหมายของ “มัน” แบบเก่า ที่ใช้แทนสัตว์หรือคนและสิ่งที่ถูกเหยียด หายไปหมดเลย กลายเป็นสรรพนามแท้ๆ ที่แทนนามซึ่งเป็นนามธรรมโดยไม่แฝงนัยยะอื่นอีกเลย จะพูดว่าเป็นอิทธิพลภาษาอังกฤษก็ได้ แต่ภาษาอังกฤษมีอิทธิพลได้ในที่ซึ่งภาษาไทยอ่อนแอนะครับ ไม่ใช่นักเลงใหญ่ที่ระรานภาษาไทยทั่วไปหมด

ในขณะที่สรรพนามในภาษาไทยมีน้อย แต่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น และใช้อย่างซับซ้อนกว่าคำแทนนามเฉยๆ ยังแปรเปลี่ยนอยู่จนถึงปัจจุบัน ผมมาพบด้วยความประหลาดใจว่า สรรพนามในภาษาอังกฤษแต่ละคำนั้นใช้กันมาเก่าแก่มาก ส่วนใหญ่มีมาก่อนจะมีภาษาอังกฤษด้วยซ้ำ (คือมาจากภาษาอินโด-ยุโรป ค่อยๆ กลายเสียงไปจนกลายเป็นสรรพนามในหลายภาษาของยุโรป)

ทำไมภาษาอินโด-ยุโรปจึงต้องใช้สรรพนามมากมาแต่โบราณผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน จะเดาว่าเพราะเป็นภาษาที่ต้องแปรเปลี่ยนคำตามการก อันเป็นลักษณะที่ไม่มีในภาษาไทย ก็ไม่รู้ว่าการกไปเกี่ยวกับการต้องมีสรรพนามใช้มากได้อย่างไร

ผมเข้าใจว่า คนจีนอาจกราบทูลฮ่องเต้ด้วยคำว่า “อั๊ว” ได้เหมือนพูดกับคนขายบะหมี่ ทั้งๆ ที่ภาษาจีนไม่ต้องแปรคำตามการกสักหน่อย แต่ทั้งนี้อาจเข้าใจผิด

อาศัยแต่ความจำ โดยไม่ได้กลับไปค้นคว้าเก็บข้อมูลจริง ผมอยากฟันธงว่า สรรพนามที่ใช้กันมานานและน่าจะเก่าแก่ที่สุดในภาษาไทยคือสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง “พ่อกูชื่อศรีบดินทราทิตย์” นั่นแหละครับ

ในปัจจุบัน ภาษาไทยมีสรรพนามบุรุษที่หนึ่งใช้หลายคำมาก แต่น่าสังเกตว่าทุกคำล้วนเป็นคำที่เหยียดตนเองให้ต่ำลงทั้งนั้น “ผม” คงมาจากคำเต็มว่า “เกล้ากระผม” หมายถึงส่วนสูงสุดของร่างกาย ซึ่งน้อมลงพูดกับผู้อื่นอันอาจเป็นเพียง “ใต้เท้า” ของเขาเท่านั้น “ข้า” คือทาส “ข้าพเจ้า” อาจจะมาจาก “ข้าพ่อเจ้า” (ที่พบในเอกสารโบราณ) ฉัน, ดิฉัน, ดิฉาน ว่ากันว่ามาจากคำ “เดรฉาน”

ผมไม่ทราบว่าคำว่า “กู” ในสมัยที่จารึกหลักนั้นถูกเขียนขึ้น (ไม่ว่าจะเป็น ร.3, ต้นอยุธยา หรือสุโขทัย) มีความหมายเชิงเหยียดตนเองหรือไม่ แต่ในสมัยที่ผมเป็นเด็ก จำได้ว่า “กู” ถูกใช้เป็นสรรพนามบุรุษที่หนึ่งในภาษาพูดกับคนที่เสมอกัน แต่กระฎุมพีในกรุงเทพฯ ถือเป็นคำไม่สุภาพ (เพราะ “ชาวบ้าน” ใช้กันกระมัง)

ดังนั้น “กู” จึงเป็นสรรพนามบุรุษที่หนึ่งเพียงคำเดียวในภาษาไทยที่ไม่แสดงสถานะของผู้พูดกับผู้พูดด้วย คือเป็นสรรพนามแห่งความเสมอภาค และนี่คงเป็นเหตุผลให้กลายเป็นสรรพนามที่เหมาะเหม็งที่สุดสำหรับนักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ใช้กัน เพราะสิ่งที่พวกเขาเรียกร้องคือความเท่าเทียม “กู” คำเดียวบอกทั้งหมดได้เกลี้ยงเกลาหมดจดเลย

ผมมาพบในภายหลังว่า คำว่า “กู” ใช้กันในหมู่คนที่พูดภาษาไท-ไตกันกว้างไกลมาก จากลุ่มน้ำชินดวินในพม่า (เลยไปถึงพรหมบุตรในอินเดียหรือไม่ผมไม่ทราบ) ไปจนถึงกวางสีในจีนและตังเกี๋ยในเวียดนาม

ดังนั้น ที่บางคนกล่าวว่าคำนี้มาจากภาษามลายูว่า “อะกู” จึงน่าสงสัยอยู่ ทั้งๆ ที่ในภาษามลายู นอกจากใช้เป็นสรรพนามบุรุษที่หนึ่งแล้ว ยังใช้เป็นปัจจัยเพื่อลงท้ายคำกิริยาหรือนาม เพื่อบอกว่าตนเองเป็นผู้กระทำหรือเป็นเจ้าของ (และใช้ “มู” ซึ่งก็คือ “มึง” ในภาษาไทยเพื่อทำอย่างเดียวกัน)

ที่น่าสงสัยก็เพราะคนที่พูดภาษาไท-ไตบนเขาสูงทางตอนเหนือจากจีน, เวียดนาม ถึงอินเดียไม่น่าจะได้อิทธิพลภาษามลายู แต่ก็ไม่แน่เหมือนกัน เพราะเรารู้อะไรเกี่ยวกับผู้คนอันหลากหลายบนพืดเขาสูงแห่งนี้น้อยมาก

ผมอยากจะเดาต่อไปว่า คำว่า “กู” นี้ น่าจะสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสรรพนามบุรุษที่สองและสามในภาษาไทยด้วย

ในภาษาถิ่นที่เรียกกันว่า “คำเมือง” มีคำอยู่คำหนึ่งว่า “ตัวเก่า” ซึ่งปัจจุบันใช้ในความหมายว่า “ตัวเอง” ในภาษาไทยภาคกลาง แต่ผมถาม “คนเมือง” รุ่นเก่าๆ ว่า ในสมัยก่อน ใช้คำนี้เรียกตนเองหรือไม่ ได้คำตอบว่าใช้ หนุ่มสาวมักใช้คำนี้เรียกตนเองเมื่อสนิทชิดชอบกัน นอกจากใช้เรียกตนเองแล้ว ยังใช้เรียกบุรุษที่สอง หรือบุรุษที่สามได้ด้วย “ตัวเก่า” คำเดียวนี้ใช้แทนฉัน, เธอ และเขาได้เสร็จ

เหมือนคำว่า “เปิ้น” ในคำเมืองรุ่นหลัง ก็ใช้เป็นสรรพนามได้ทั้งสามบุรุษ จะหมายถึงใครขึ้นอยู่กับบริบทของประโยค (ด้วยความที่ไม่ค่อยได้อ่านเอกสารในภาษาไทยยวน ขอจำกัดว่าในภาษาพูดเพียงอย่างเดียว) อันที่จริงก็คล้ายกับภาษาไทยภาคกลาง คำว่า “ตัวเอง” ใช้เป็นสรรพนามบุรุษที่หนึ่งก็ได้ สองก็ได้ แต่ไม่เคยได้ยินใช้เป็นบุรุษที่สาม

มีคนเขียนอธิบายในเฟซบุ๊กว่า ในภาษาอีสานเก่า คำว่า “เจ้าของ” ถูกใช้เป็นสรรพนามบุรุษที่หนึ่งในภาษาของหนุ่มสาว แล้วก็มีอีกคนมาอธิบายเพิ่มว่าที่จริงใช้เป็นสรรพนามบุรุษที่สองและสามได้ด้วย ตรงกับคำว่า “ตัวเก่า” ในภาษาเหนือเลย

ในปัจจุบัน เมื่อพูดว่า “ตัวเก่า” มักเข้าใจว่า “เก่า” แปลว่า “เดิม” ในภาษาไทยภาคกลาง ครั้นถามว่าทำไมถึงเก่าและเดิมจึงหมายถึงตัวเอง มันเก่าหรือเดิมมาจากไหนหรือ คำตอบที่ได้น่าตกใจอยู่ เพราะเขาอ้างว่ามันแฝงนัยะทางอภิปรัชญาว่า ชีวิตคือความสืบเนื่อง ตัวที่พูดนั้นจึงสืบเนื่องมาจากตัวเก่าหรือตัวเดิม

ฟังดูแล้ว เหมือนคนเมืองน่าจะมาจากเอเธนส์หรือพาราณสี มากกว่าเชียงใหม่

ผมเลยเดาสุ่มว่า “เก่า” ในคำนี้น่าจะมาจากคำว่า “เกา” ซึ่งแปลว่า “กู” และพบได้ในวรรณกรรมรุ่นเก่าของภาคกลาง (แต่ในภาษาไทยวนจะออกเสียงคำนี้ด้วยวรรณยุกต์อะไรผมไม่ทราบ) ฉะนั้น ตัวเก่าก็คือตัวกู และขอให้สังเกตด้วยว่า “ตัวกู” หมายถึง “ตัว” หรือร่างกายของตนเอง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือร่างกายนั่นแหละเป็นฐานสำหรับแยกสรรพนามทั้งสามบุรุษ

เช่นเดียวกับ “เจ้าของ” ในภาษาอีสาน ถามว่าเจ้าของอะไร ผมก็อยากเดาว่าเจ้าของร่างกายของผู้พูด

“ตัว” ในภาษาไทยภาคกลางถูกนำมาใช้ในภายหลังเป็นบุรุษที่สอง และมักใช้กับเด็กหรือคนที่ต่ำกว่า โดยนัยยะคือผู้ที่เราพูดด้วยนั้นไม่มีอะไรเลยนอกจากร่างกายหรือ “ตัว” (ไม่มีตำแหน่ง, ไม่มีสถานะให้อ้างถึง, ไม่มีเกียรติยศหรือคุณงามความดีอะไรอื่น)

พอเห็นเค้าว่า “ตัว” หรือร่างกายเป็นบุรุษที่สองก็ได้ และผมเลยตีขลุมเอาว่าเป็นที่สามก็ได้อีก ดังนั้น “ตัวเก่า” และ “เจ้าของ” จึงถูกใช้ได้ทั้งสามบุรุษ แล้วแต่บริบทของข้อความ

ในวัฒนธรรมไทย ร่างกายมีความหมายถึง “ตัวตน” ที่ลึกลงไปกว่าก้อนเนื้อ เพราะร่างกายเป็นที่สถิตของขวัญ ภาษา “ผู้ดี” ไทยจึงใช้ร่างกายแทนสรรพนามกันแยะมาก เกล้ากระผม-ใต้เท้า เป็นคู่พื้นฐานที่ขยายไปใช้กับลำดับขั้นได้หลายคู่ เช่น กราบทูลพระเจ้าแผ่นดินว่า ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท คือกำลังพูดกับขี้ฝุ่นใต้ตีนเท่านั้น ไม่อาจเอื้อมไปพูดกับส่วนใดของร่างกายพระเจ้าแผ่นดินได้ สรรพนามบุรษที่สองเช่นนี้จะลดระดับความหรูหราลงไปตามฐานันดรของผู้ที่พูดด้วย จากเจ้าฟ้าลงมาถึงหม่อมเจ้า จากฝ่าละอองพระบาท ซึ่งก็ยังพูดกับขี้ฝุ่นอยู่ ลงมาถึงร่างกายส่วนล่างสุดคือฝ่าพระบาท และฝ่าบาทในชั้นหม่อมเจ้า

สรรพนามบุรุษที่หนึ่งในภาษา “ผู้ดี” ไทย คือการกดตนเองให้ต่ำลงจนเรี่ยพื้น ซึ่งก็เหมือนการจัดร่างกายในการสนทนากัน นับตั้งแต่หมอบคลานไปจนถึงทำตัวงอๆ แล้วรวบมือไว้ที่เป้ากางเกง อย่างที่ข้าราชการทำกันได้อย่างคล่องแคล่ว

กฎหมายโบราณที่ราชสำนักออกมาบังคับใช้ มีข้อกำหนดเกี่ยวกับร่างกายอยู่มาก นับตั้งแต่การแต่งเนื้อแต่งตัว คนระดับใดจะใช้ทองคำเป็นเครื่องประดับได้ ระดับใดจึงสามารถเอาร่างกายไปอยู่บนเสลี่ยงคานหามหรือเรือประเภทใดได้บ้าง ทั้งหมดนี้เป็นเฟอร์นิเจอร์ของร่างกาย ซึ่งรวมเครื่องนุ่งห่ม, ชุดหีบหมาก, กระโถน และจำนวนของไพร่ที่แห่กันมาแวดล้อมร่างกายของนาย

น่าสังเกตด้วยนะครับว่า เพราะร่างกายเป็นบ่อเกิดของสรรพนามไทย โดยเฉพาะในภาษา “ผู้ดี” และภาษาเขียน สรรพนามไทยจึงใช้แทนที่นามที่เป็นบุคคลเท่านั้น เราไม่มีสรรพนามที่ใช้แทนที่นามชนิดอื่น นามที่เป็นนามธรรมได้กล่าวแล้วข้างต้น แต่ว่าที่จริงแล้ว นามที่เป็นรูปธรรมก็ไม่มี เช่น สถานที่ จะเอาสรรพนามอะไรมาแทนคำว่า “พระบรมมหาราชวัง”, พาหุรัด, ศรีราชา ฯลฯ

จะเอาสรรพนามอะไรมาแทนองค์กรในความหมายเชิงรูปธรรม เช่น กระทรวงกลาโหม, สหกรณ์ออมทรัพย์, กองทัพไทย, โรงเรียนอัสสัมชัญ ฯลฯ

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_432293

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net