Skip to main content
sharethis

วิถีชาวประมงลุ่มน้ำอิงกำลังหดหาย เหตุจากการสร้างเขื่อนที่เป็นกระสอบ และฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง ทำให้น้ำแห้งขอด-จำนวนปลาลดลง ชาวบ้านหลายคนต้องเปลี่ยนไปรับจ้าง-อพยพเข้าเมือง แนะแก้ปัญหาโดยอนุรักษ์พื้นที่ป่าชุ่มน้ำ แหล่งอนุบาลพันธุ์ปลา เพื่อให้มีปลาธรรมชาติในท้องถิ่นตลอดปี ขณะที่นักวิจัยเสนอภาคบัญญัติท้องถิ่นให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมกับการฟื้นฟู    

ลุ่มแม่น้ำโขง

17 มิ.ย. 64 ที่ศาลาวัดปากอิงเหนือ อ.เชียงของ จ.เชียงราย มีการประชุมประเมินการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศกับผลกระทบต่อระบบนิเวศ วิถีชีวิตลุ่มน้ำอิง-โขง โดยมีชาวบ้านจากหลายหมู่บ้านในลุ่มแม่น้ำอิง นักอนุรักษ์ธรรมชาติ และนักวิชาการเข้าร่วม ภายใต้การดำเนินโครงการส่งเสริมตัวเลือกในการปรับตัวตามระบบนิเวศที่ขับเคลื่อนโดยชุมชนและการสื่อสารสำหรับพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิง จากการสนับสนุนของ IKI, BMUB , IBRRI โดยความร่วมมือ จาก IUCN สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ภายใต้แผนงาน Mekong wet 

นายอวยชัย คงสวน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านปากอิงใต้ กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา สภาพแวดล้อมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเยอะมากโดยเฉพาะปี 2564 แม่น้ำอิง และแม่น้ำโขง เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก หมู่บ้านปากอิงหาเคยหาปลาเป็นอาชีพแต่ในรอบ 10 ปี อาชีพหาปลาเปลี่ยนแปลง เพราะน้ำขึ้นแล้วแห้งเร็ว ส่งผลกระทบต่อการหาปลาอย่างมาก เมื่อตอนปี พ.ศ. 2550 มีเรือหาปลา 70 ลำออกหาปลาวันละสองเที่ยว แต่เดี๋ยวนี้เหลือเรือหาปลาเหลืออยู่ไม่ถึง 20 ลำ จากที่คนทั้งชุมชนเคยหาปลา 80% ตอนนี้เหลือไม่ถึง 30% เชื่อว่าสาเหตุหนึ่งเกิดจากเขื่อน และฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง เพราะจู่ๆ น้ำก็ขึ้น ทำให้คนที่ปลูกผักไม่ปลูกได้ เพราะน้ำท่วม ชาวบ้านต้องหันมาทำงานรับจ้าง 

“15 ปีที่ผ่านมา ปลาในแม่น้ำหายไปเยอะมาก เดี๋ยวนี้พวกเราออกหาปลาแทบไม่ได้เลย เหลือปลาที่จับได้ไม่ถึง 10 ชนิด เมื่อก่อนตื่นเช้ามาเราก็หาปลา เพราะง่ายที่สุด” นายอวยชัย กล่าว

นายเมือง ศรีสม ประธานป่าชุ่มน้ำบ้านม่วงชุม อ.เชียงของ กล่าวว่า ประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา รู้สึกแม่น้ำอิงไม่เหมือนเก่า เวลาหน้าแล้งแม่น้ำขาดช่วงโดยมีเนินทรายอยู่ทั่วไปเชื่อว่าเกิดจากภัยแล้ง และการสร้างเขื่อนทั้งเขื่อนที่เป็นกระสอบ และประตูน้ำกักน้ำไว้ ทำให้ไม่มีน้ำไหลลงแม่น้ำอิง และแม่น้ำโขง ไม่เหมือนก่อน เพราะในอดีตแม่น้ำโขงหนุนทำให้น้ำไหลเข้าแม่น้ำอิง แต่ตอนหลังน้ำโขงไม่หนุนแม่น้ำอิงมาตั้งแต่ปี 2551 ทำให้ไม่มีปลาจากแม่น้ำโขงเข้าสู่แม่น้ำอิงโดยเฉพาะปีนี้แทบไม่เหลือเลย ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนจับปลาได้ปลาเป็นกระสอบ ขณะที่ต้นไม้ในพื้นที่ชุ่มน้ำป่าม่วงชุมก็มีหนอนมาเจาะ ทำให้ต้นไม้ยืนต้นตาย เพราะน้ำไม่ไหลเข้าป่ามาร่วม 10 ปี หนองน้ำก็ไม่มีน้ำและแห้งลงทุกที ปีที่ผ่านมาถึงขนาดไม่ได้เกี่ยวข้าวเพราะความแห้งแล้งทำให้ต้นข้าวตาย

“เราทำเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา พอน้ำแห้งปลาก็ไม่มีที่อยู่ และหายไปเยอะมาก พอหาปลาไม่ได้ วังอนุรักษ์ยังเป็นพื้นที่แห่งเดียวที่ให้ปลาอยู่ได้ ถ้าไม่มีการอนุรักษ์เอาไว้ในแม่น้ำอิงก็จะไม่เหลือปลาเลย” นายเมือง กล่าว

นายไกรทอง เหง้าน้อย ผู้ประสานงานโครงการฯ กล่าวว่า สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบกับชุมชนในลุ่มน้ำอิง และน้ำโขง จังหวัดเชียงราย ในหลายด้าน ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะด้านระบบนิเวศแม่น้ำอิง ที่มีพื้นที่ป่าชุ่มน้ำกว่า 26 ผืนป่า ต่างประสบกับปัญหาภัยแล้งต่อเนื่องมาหลายปี น้ำอิงไม่หนุนเข้าท่วมป่า ที่โดยปกติน้ำอิงจะต้องท่วมป่าในฤดูน้ำหลากในทุกๆ ปี ขังอยู่นานกว่า 3 เดือน ในรอบ 5-6 ปีมานี้ สภาพภูมิอากาศเปลี่ยน ภัยแล้งยาวนาน น้ำอิงแห้งขอด น้ำไม่เข้าป่า ระบบนิเวศป่าเปลี่ยนไป พืชอาหารลดลง ต้นไม้ยืนต้นตายนับร้อยต้น และเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ เกิดจากแมลง หนอนเข้าเจาะต้นไม้ ชุมชนที่เคยทำอาชีพหาปลาเป็นหลักต้องเปลี่ยนอาชีพ อพยพไปรับจ้างต่างถิ่น เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่งผลต่อระบบนิเวศป่า  แม่น้ำ ความหลากหลายด้าน พืช สัตว์ ที่ลดปริมาณลง สิ่งที่ชุมชนเคยพึ่งพาหายไป ส่งผลต่อวิถีชีวิตคนที่เปลี่ยนไป ซึ่งถ้ามองจากนี้อีก 10 ปี ข้างหน้าถือว่ามีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่ชุมชนจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ มีความจำเป็นที่จะต้องรู้เท่าทันและตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ป่าชุ่มน้ำบ้านป่าข่า อ.ขุนตาล จ.เชียงราย โดยเป็นช่วงที่น้ำหลากไหลท่วมป่า ซึ่งเป็นระบบนิเวศของป่าชุ่มน้ำริมแม่น้ำอิง ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ และชาวบ้านต่างได้หาปลาที่เข้ามากินอาหาร และต้นไม้ส่วนใหญ่คือต้นส้มแสงขนาดใหญ่ที่เป็นพืชอยู่กับน้ำท่วมขังได้เป็นอย่างดี และลูกส้มแสงเป็นอาหารที่สำคัญของปลา ป่าส้มแห่งนี้ผืนใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางนิเวศ ซึ่งมีเยาวชนมาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

ป่าข่า อ.ขุนตาล ป่าชุมน้ำริมแม่น้ำอิง ช่วงน้ำท่วม
 

นายสอน เทพสมบัติ ผู้ใหญ่บ้านป่าข่า กล่าวว่า ป่าชุ่มน้ำผืนนี้มีพื้นที่ 70 ไร่ โดยเป็นป่าโบราณที่อยู่มาตั้งแต่ตั้งชุมชนโดยปกติในฤดูฝนน้ำจะท่วม 3-4 เดือน ทำให้ปลาจากแม่น้ำโขงและแม่น้ำอิงเข้ามาหากิน และวางไข่ เมื่อถึงเดือนตุลาคม น้ำจะเริ่มลดลง และปลาจะว่ายกลับไปอยู่ตามแม่น้ำ และท้องร่อง อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังปลาจากแม่น้ำอิง และแม่น้ำโขง ได้หายไป แต่ชาวบ้านก็ได้ร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์ปลามาแล้ว 5 ปี โดยมีหนองน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่งในเนื้อที่ราว 100 ไร่ เมื่อถึงฤดูน้ำหลากปลาในหนองน้ำอนุรักษ์จำนวนหนึ่งได้ออกไปยังป่าส้มแสงช่วยแพร่พันธุ์ ทำให้มีปลาอยู่ในธรรมชาติตลอดทั้งปี 

“ป่าคือป่า บ้านคือบ้าน ปลาฟักไข่ก็ต้องให้เขาออกไป ผมอยากให้พื้นที่ลุ่มน้ำอิงมีป่าชุ่มน้ำเยอะๆ การอนุรักษ์ป่าและอนุรักษ์น้ำเอาไว้จะทำให้ลูกหลานได้มีอยู่มีกิน” นายสอน กล่าว

ผศ.ดร.สหัทยา วิเศษ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา ให้สัมภาษณ์ว่า ลุ่มน้ำอิงมีระบบนิเวศแตกต่างจากที่อื่นในภาคเหนือโดยตอนบนเป็นที่ราบลุ่มภูเขา แต่ตอนล่างเป็นป่าชุ่มน้ำ ซึ่งนอกจากเป็นพื้นที่รับน้ำแล้วยังเป็นแหล่งทำมาหากินของชาวบ้าน ดังนั้น ป่าชุ่มน้ำจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งต่อระบบนิเวศ และชุมชน โดยในฤดูฝนหรือฤดูน้ำหลากน้ำจากแม่น้ำโขงได้เอ่อสูง ทำให้น้ำไหลเข้าสู่ป่าชุ่มน้ำและเกิดความอุดมสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม พื้นที่ป่าชุ่มน้ำกำลังถูกคุกคามทั้งจากโครงการของรัฐ และตัวชาวบ้านเอง ที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว แต่ชุมชนก็ได้รวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายสภาประชาชนลุ่มน้ำอิง เพื่อช่วยกันดูแลและฟื้นฟูป่าชุ่มน้ำ

ผศ.ดร.สหัสทยา กล่าวว่าทำวิจัยเรื่องการพัฒนาข้อบัญญัติท้องถิ่นในการอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำอิง พบว่า การมีข้อบัญญัติของท้องถิ่นจะช่วยเป็นเครื่องมือให้ชาวบ้านได้ร่วมกันดูแลป่าโดยสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมทั้งเรื่องการจัดการทรัพยากรและป่า โดยข้อบัญญัตินี้ไม่ได้ยึดหลักกฎหมายอย่างเดียว แต่ต้องยึดจารีตและกติกาของชุมชนที่มีอยู่ด้วย เช่น เรื่องการจัดปลา บางที่ชุมชนมีกติกาห้ามและถูกปรับ แต่มีบุคคลภายนอกเข้ามาจับบางทีก็บังคับใช้ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นข้อบัญญัติท้องถิ่นก็สามารถดำเนินการได้

“ข้อบัญญัติท้องถิ่นจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างจิตสำนึกและฟื้นฟูธรรมชาติ แต่ตอนนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่เข้าใจ เพราะมุ่งเน้นโครงสร้างพื้นฐาน แต่หลายพื้นที่ก็เริ่มเข้าใจ เพราะหากท้องถิ่นเข้าไปคลุกคลีกับปัญหาของชาวบ้านอย่างแท้จริงเขาก็ต้องลงไปหาชาวบ้านเพื่อจัดทำแผนและความรวมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง” ผศ.ดร.สหัสทยา กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net