Skip to main content
sharethis

ชาวบ้านบางกลอย 6 คน เดินทางมาศาล จ.เพชรบุรี เพื่อรับทราบข้อหา หลังครบกำหนดฝากขัง แล้วอัยการไม่สั่งฟ้อง ศาลจึงมีคำสั่งปล่อยตัว และอัยการนัดฟังคำสั่งจะฟ้องหรือไม่ฟ้อง 29 ก.ค. 64 ที่สำนักงานอัยการเพชรบุรี ขณะที่กลุ่มศิลปินช่วยเหลือค่ารถชาวบ้าน เดินทางมาศาล 20,000 บาท และได้นำเกลือ อาหารแห้ง ฟักทอง มอบให้ชาวบ้านบางกลอยในการดำรงชีพ 

ชาวบ้านบางกลอย 6 คนขณะเดินทางมาศาลจังหวัดเพชรบุรี เพื่อรับทราบข้อหา เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 64

18 มิ.ย. 64 ผู้สื่อข่าวประชาไท ได้รับแจ้งวันนี้ (18 มิ.ย.) ชาวบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี 6 คน ผู้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีด้วยกัน 3 ข้อ ประกอบด้วย ฝ่าฝืนมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ละเมิด พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 โดยสองข้อหาหลัง เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งเพิ่มเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 64 เดินทางมายังศาลจังหวัดเพชรบุรี เพื่อลงนามรับทราบข้อกล่าวหา ตามกำหนดของศาลเพชรบุรี ที่ครบกำหนดฝากขังแล้ว อัยการเพชรบุรียังไม่สั่งฟ้องชาวบ้านบางกลอยทั้งหมด 6 คน ศาลจึงมีคำสั่งให้ปล่อยตัว และอัยการลงนามรับทราบกำหนดนัดฟังคำสั่งจะฟ้องหรือไม่ฟ้อง เป็นวันที่ 29 ก.ค. 64 ที่สำนักงานอัยการเพชรบุรี ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับผู้ต้องหา 22 คน  

อนึ่ง ชาวบ้านบางกลอย ผู้ถูกกล่าวหา 6 คน ประกอบด้วย 1.นายบุญส่ง ลาเดาะ 2.นายมีชัย ต้นน้ำเพชร 3.นายชัยพร บัวศรี 4.นายจอเหาะ ปลาดุก 5. นายพงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร และ 6.นายสามารถ ต้นน้ำเพชร

นายวีรวัฒน์ อบโอ ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ได้แจ้งว่าคดีนี้ทางผู้ต้องหาได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการเพื่อให้ดำเนินการสอบข้อเท็จจริงพยานเพิ่มเติม จำนวน 11 ปาก เพื่อประกอบการพิจารณามีคำสั่งว่าจะฟ้องหรือไม่ตามขั้นตอนของกฏหมายต่อไป ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการยื่นขอร้องความเป็นธรรมให้สอบพยานไปแล้ว 7 ปาก รวมพยานที่จะต้องสอบข้อเท็จจริงรวมทั้งสิ้น 18 ปาก

ชาวบ้าน 1 ในผู้ต้องหาทั้ง 6 คน ให้สัมภาษณ์ว่า คณะกรรมการทั้ง 5 ชุด ที่แต่งตั้งขึ้นโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปัญหาชาวบ้านบางกลอย น่าจะมีความชัดเจน และจริงใจต่อการแก้ไขปัญหาชาวบ้านให้มากกว่านี้ เพราะตอนนี้ชาวบ้านไม่รู้เรื่องอะไรเลยว่ามีความคืบหน้าไปถึงไหน และจะแก้ไขปัญหาอย่างไรต่อไป

“พวกเราแทบไม่เหลือความหวังใดๆ เลย เพราะทุกอย่างเงียบหายไปหมด ทุกวันนี้ชาวบ้านต้องอยู่อย่างลำบาก  ไม่มีหน่วยงานไหนเข้าไปช่วยเหลือเหมือนที่เคยพูดไว้เมื่อตอนชาวบ้านขึ้นไปอยู่ข้างบน ขณะนี้พวกเรามีแต่ข้าวที่ได้รับการบริจาคไว้กิน แต่ไม่มีพืชผักตามฤดูกาลไว้กินเลย หากเข้าป่าไปเก็บก็กลัวกฎหมายอุทยานจะเล่นงานซ้ำอีก เราจะเข้าไปหาผักต่างๆ หน่อไม้ เห็ด หรือ ปลา ก็กลัวเจ้าหน้าที่อุทยานจับกุม เราไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว อยู่ในหมู่บ้านลูก ๆ ก็ต้องอดมื้อกินมื้อ พออพยพกลับถิ่นฐานเดิมข้างบนเพื่อทำไร่ก็ถูกจับ” ชาวบ้านบางกลอย กล่าว

ชาวบ้าน กล่าวว่า การเดินทางมาครั้งนี้ได้นำแม่บ้านลูกอ่อนที่ป่วยมาหาหมอในตัวเมืองเพชรด้วย เพราะมีอาการตัวเหลืองและไม่มีน้ำนมให้ลูกซึ่งหมอแจ้งว่าเกิดจากอาการครรภ์เป็นพิษและให้ยากลับไปกิน แต่เด็กไม่สามารถกินนมแม่ได้จึงต้องกินนมผงแทน

ขณะที่กลุ่มศิลปิน “คิดถึงใจแผ่นดิน” ได้ช่วยเหลือค่ารถเดินทางของชาวบ้านบางกลอย ในการลงมาขึ้นศาลครั้งนี้ 20,000 บาท และได้นำเกลือ อาหารแห้ง ฟักทอง มอบให้ชาวบ้านบางกลอยในการดำรงชีพ

กลุ่มศิลปิน “คิดถึงใจแผ่นดิน” นำอาหารแห้ง เกลือ และฟักทอง มามอบให้ชาวบ้านบางกลอย
 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน การพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โดยมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ และภายหลังการประชุมนัดแรก คณะกรรมการฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมา 5 ชุด ประกอบด้วย 1. คณะอนุกรรมการศึกษาประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานชุมชน และผลกระทบจากการประกาศอุทยานแห่งชาติ และการอพยพชุมชน 2. คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหากฎหมาย

คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน การพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
 

อนุกกรรมการแก้ไขปัญหาคดีความ 3. คณะกรรมการศึกษาแนวทางและผลกระบต่อระบบนิเวศวิทยา สัตว์ป่า และการให้การบริการทางนิเวศ กรณีการกลับไปอยู่อาศัยและทำกินที่บางกลอยบน 4. คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และ 5. พัฒนาคุณภาพชีวิตบ้านบางกลอยล่าง

ข่าวแจ้งว่า การทำงานของคณะอนุกรรมการฯ บางชุดเป็นไปอย่างเชื่องช้า บางชุดแทบยังไม่เคยเรียกประชุม ขณะที่บางชุดมีตัวแทนของส่วนราชการเข้ามาป่วนและคอยขัดขวางทุกครั้งเมื่อมีการเสนอให้ตรวจสอบหาข้อเท็จจริงบางเรื่องของกรมอุทยานฯ ทำให้กรรมการหลายคนจากภายนอกรู้สึกอึดอัดต่อท่าทีของกรรมการที่เป็นตัวแทนส่วนราชการ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net