ผู้คุมฟังผู้ต้องขังปรึกษาคดี ศูนย์ทนายฯ ชี้ขัด กม. อธิบดีราชทัณฑ์อ้างมีระเบียบอนุญาต

หลังแกนนำราษฎรแจง กมธ.ป.ป.ช. เรื่องถูกผู้คุมฟังผู้ต้องขังปรึกษาทนายความ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ชี้ทำได้ตามระเบียบภายใน แต่ทนายความสามารถขอปรึกษาเป็นการลับได้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์โต้อธิบดีว่า ระเบียบภายในจะขัดกับ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ที่ให้สิทธิผู้ต้องขังปรึกษากับทนายความเป็นการเฉพาะตัวไม่ได้และไม่ใช่เรื่องที่ทนายความต้องร้องขอ

ศูนย์ทนายฯ ออกแถลงการณ์ ชี้การดักฟังลูกควมปรึกษาทนายในเรือนจำผิดกฎหมาย

18 มิ.ย. 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์ต่อกรณีที่วันนี้สำนักข่าวสยามรัฐ ไทยโพสต์และแนวหน้า รายงานข่าวทางกรมราชทัณฑ์ โดยอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นผู้ชี้แจงถึงกรณีพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง, และปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ เปิดเผยต่อคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ป.ป.ช.) ถึงการดักฟังและคุณภาพอาหารในเรือนจำแย่

รายงานข่าวระบุถึงคำชี้แจงของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ถึงประเด็นเรื่องดักฟังว่า เป็นระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการเยี่ยมการติดต่อของบุคคลภายนอกกับผู้ต้องขัง และการเข้าดูกิจการ หรือติดต่อการงานกับเรือนจำ พ.ศ. 2561 ข้อ 9 (5) กำหนดไว้ชัดเจนว่าบุคคลภายนอกที่ได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมหรือติดต่อกับผู้ต้องขังต้องยินยอมให้เจ้าพนักงานเรือนจำฟังการสนทนา บันทึกภาพ หรือเสียง และตัดการสื่อสาร หากเห็นว่า ข้อความที่สนทนาเป็นไปโดยไม่เหมาะสม อย่างไรก็ดี ข้อ 18 ระบุว่า หากทนายความต้องการจะสงวนข้อความที่พูดกับผู้ต้องขังเป็นความลับให้แจ้งเจ้าพนักงานเรือนจำทราบ ซึ่งในกรณีของพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ไม่มีทนายความที่ขอใช้ระเบียบในข้อนี้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์มีแนวทางปฏิบัติในการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง ที่แจ้งให้ทนายความและญาติถือปฏิบัติอย่างชัดเจน

“การดักฟังการสนทนาระหว่างทนายความและลูกความ นอกจากจะขัดกับสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม และขัดต่อมาตรา 61 พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 แล้ว ยังส่งผลร้ายแรงต่อกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบด้วย คำแถลงของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ซึ่งอ้างระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการเยี่ยมการติดต่อของบุคคลภายนอกกับผู้ต้องขัง และการเข้าดูกิจการ หรือติดต่อการงานกับเรือนจำ พ.ศ. 2561 นั้นไม่สามารถยอมรับได้ สิทธิในการได้พบทนายความเป็นการเฉพาะตัวนั้นเป็นหลักการพื้นฐานในกฎหมายอาญา ไม่อาจยกเว้นได้โดยระเบียบ และไม่ใช่กรณีที่ทนายความต้องร้องขอ” เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ ระบุในแถลงการณ์ในฐานะหัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

แถลงการณ์ยังระบุอีกว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิในการพบทนายความอย่างร้ายแรง และคำชี้แจงอธิบดีกรมราชทัณฑ์เท่ากับยอมรับว่ามีการฟังการสนทนาและบันทึกเสียงระหว่างทนายความและผู้ต้องขังเป็นหลักแต่ให้การสงวนเป็นความลับเป็นข้อยกเว้น

ศูนย์ทนายฯ ระบุว่าสิทธิในการพบทนายความนี้เป็นไปตามข้อ 14 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม รวมทั้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7/1 (1) ยังรับรองสิทธิของผู้ถูกจับ หรือผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมหรือขัง มีสิทธิที่จะพบและปรึกษาผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว รวมถึงยังมียังมีการรับรองสิทธินี้ไว้ใน พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ตามมาตรา 61 ที่ระบุว่า ให้เรือนจำจัดสถานที่ให้ผู้ต้องขังได้พบและปรึกษากับทนายความหรือผู้ซึ่ง จะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัวได้ตามที่กําหนดในระเบียบกรมราชทัณฑ์

แถลงการณ์ของศูนย์ทนายฯ ระบุข้อเรียกร้องถึงรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมสภาทนายความ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง และดำเนินการแก้ไขระเบียบดังกล่าว เนื่องจากอาจส่งผลต่อการต่อสู้คดี ซึ่งทำให้สิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ของจำเลยไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง

'เพนกวิน-รุ้ง-ไมค์-โตโต้' แจง กมธ.ป.ป.ช. ปมเคลื่อนย้ายผู้ต้องหายามวิกาล และอาจมีการดักฟัง

การชี้แจงของทางกรมราชทัณฑ์ครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2564 ที่รัฐสภา กมธ.ป.ป.ช. ที่มีพ ล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทยเป็นประธาน เชิญปนัสยา, พริษฐ์, ภาณุพงศ์, และปิยรัฐ ชี้แจงกรณีมีการย้ายห้องขังและตรวจโควิด-19 กลางดึก ผู้ต้องหาบางรายถูกนำตัวไปขังร่วมกับผู้ต้องขังคดีเด็ดขาด

ทั้งนี้ประเด็นหนึ่งที่มีการพูดถึงในการชี้แจงครั้งนั้นคือเรื่องสิทธิในการได้รับปรึกษาทางกฎหมายกับทนายความอย่างเป็นส่วนตัว โดยปนัสยาชี้แจงเรื่องนี้ว่า การต่อสู้คดีโดยที่ไม่ได้รับสิทธิประกันตัวเป็นไปอย่างยากลำบาก จากการต้องคุยกับทนายความผ่านห้องกระจกโดยใช้โทรศัพท์คุยกัน แต่ก็พบว่าระหว่างการพูดคุยมีเสียงซ่าดังแทรกและผู้คุมก็รับรู้ถึงเรื่องที่ปรึกษากันกับทนายความ นอกจากนั้น เอกสารที่เข้าออกเรือนจำก็ถูกตรวจสอบทุกครั้ง คำแถลงที่เธอเขียนไว้เพื่อนำไปอ่านในศาลเจ้าหน้าที่ก็มีสำเนา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท