Skip to main content
sharethis

คนทำงานในกัมพูชาเผชิญความยากลำบากช่วง COVID-19 มากกว่าครึ่งต้องถูกพักงานเป็นเวลา 3-4 เดือน และส่วนใหญ่ไม่สามารถดำรงชีพอย่างมีคุณภาพได้ด้วยเพียงการรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐบาล

คนทำงานในกัมพูชาเผชิญความยากลำบากช่วง COVID-19 มากกว่าครึ่งต้องถูกพักงานเป็นเวลา 3-4 เดือน และส่วนใหญ่ไม่สามารถดำรงชีพอย่างมีคุณภาพได้ด้วยเพียงการรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐบาล
คนทำงานในกัมพูชาเผชิญความยากลำบากช่วง COVID-19 มากกว่าครึ่งต้องถูกพักงานเป็นเวลา 3-4 เดือน และส่วนใหญ่ไม่สามารถดำรงชีพอย่างมีคุณภาพได้ด้วยเพียงการรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐบาล | ที่มาภาพประกอบ: Marcel Crozet/ILO (CC BY-NC-ND 2.0)

ในช่วงการระบาดใหญ่ของ COVID-19 คนทำงานประมาณครึ่งหนึ่งหรือมากกว่าในอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ของกัมพูชาต้องถูกพักงานเป็นเวลา 3-4 เดือน และส่วนใหญ่ไม่สามารถดำรงชีพอย่างมีคุณภาพได้ด้วยเพียงการรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐบาล 

จากการศึกษาของ Solidarity Center และ The Asia Foundation ที่ได้ทำแบบสอบถามคนทำงาน 1,525 คน ในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. 2563 พบว่าประมาณร้อยละ 53 ของคนทำงานภาคการท่องเที่ยวถูกพักงานเป็นเวลาเฉลี่ย 15 สัปดาห์ และร้อยละ 40 ของคนทำงานในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าของกัมพูชา ถูกพักงานโดยเฉลี่ย 11 สัปดาห์ 

คนทำงานหญิงมีรายได้น้อยกว่าชาย

ผู้หญิงถือเป็นคนทำงานส่วนใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมของกัมพูชา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และรองเท้าที่มีคนทำงานถึง 800,000 คน ก่อนที่ COVID-19 จะระบาดนั้น โดยทั่วไปแล้วผู้หญิงจะได้รับเงินน้อยกว่าผู้ชาย แม้ว่าพวกเธอจะกลับไปทำงานในช่วงเดือน ก.ค. 2563 ก็พบว่าพวกเธอยังได้รับเงินน้อยกว่าผู้ชายอยู่ ถึงแม้ว่าพวกเธอจะทำงานมากกว่าผู้ชายก็ตาม

นอกจากนี้ยังพบว่าคนทำงานทุกคนที่กลับมาทำงานในช่วงเดือน ก.ค. 2563 นั้นโดยเฉลี่ยแล้วมีชั่วโมงการทำงานน้อยและมีรายได้น้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดือน ก.ค. 2562

COVID-19 และการเอารัดเอาเปรียบโดยนายจ้าง

ผู้นำสหภาพแรงงานระบุว่าแม้ว่าธุรกิจจำนวนมากจะถูกบังคับให้ระงับการดำเนินการชั่วคราวหรือปิดกิจการอย่างถาวร ช่วงการระบาดของ COVID-19 ระลอกแรกในกัมพูชา แต่นายจ้างบางรายก็ฉวยโอกาสจากการระบาดนี้เลิกจ้างคนทำงาน 

นอกจากนี้ คนทำงานในอุตสาหกรรมภาคบริการ อุตสาหกรรมอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และรองเท้าที่กลับมาทำงานหรือยังคงทำงาน มักจะไม่ได้รับอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) หรือมาตรการที่เพียงพอเพื่อประกันความปลอดภัย ตามการให้ข้อมูลของผู้นำสหภาพแรงงานในกัมพูชา สหภาพแรงงานได้ขอให้นายจ้างรับผิดชอบรวมถึงการเจรจาต่อรองเพื่อมาตรการคุ้มครองที่ดีขึ้น 

มาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลยังคงไม่เพียงพอ

คนทำงานภาคอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าในกัมพูชาซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงกำลังขึ้นรถไปทำงาน
คนทำงานภาคอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าในกัมพูชาซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงกำลังขึ้นรถไปทำงาน | ที่มาภาพ: Solidarity Center/Ryan Shanley

เพื่อช่วยเหลือคนทำงานภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และรองเท้า รวมถึงภาคการท่องเที่ยว ในช่วงที่เกิดการระบาดของ COVID-19 ในประเทศ รัฐบาลกัมพูชาได้เปิดตัวโครงการต่าง ๆ รวมถึงการสนับสนุนทางการเงินสำหรับคนทำงานที่ถูกพักงานและโครงการฝึกอบรมพัฒนาทักษะ แต่คนทำงานที่ตอบแบบสอบถามระบุว่าได้รับการจ่ายเงินช่วยเหลือประมาณ 40-70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน (ประมาณ 1,257-2,201 บาท) นั้นไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายขั้นพิ้นฐานที่จำเป็นประมาณ 69 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน (ประมาณ 2,169 บาท) ได้

คนทำงานที่ตอบแบบสำรวจครึ่งหนึ่งระบุว่าเงินช่วยเหลือนี้เป็นรายได้เดียวของพวกเขาและเธอ และมากกว่าร้อยละ 50 ระบุว่าพวกเขาและเธอไม่มีเงินส่งกลับไปให้ครอบครัว และประมาณร้อยละ 40-60 ของคนทำงานที่ตอบแบบสำรวจระบุว่าพวกเขาและเธอต้องกู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่ายเพื่อเอาชีวิตให้รอด

รัฐบาลกัมพูชาประกาศในเดือน ก.ค. 2563 ว่าธุรกิจที่ปิดตัวลงในช่วง COVID-19 ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าแรงหรือเลิกจ้างแรงงาน โดยรัฐบาลกัมพูชาจะให้เงินชดเชยแก่แรงงานที่ถูกเลิกจ้าง อาทิ แรงงานในธุรกิจท่องเที่ยวได้รับเงินชดเชย 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน (ประมาณ 943 บาท) ขณะที่แรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และรองเท้าได้รับเงินชดเชย 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน (ประมาณ 2,201 บาท) ซึงมีการต่ออายุนโยบายนี้ในเดือน ส.ค. 2563 [1]

จำเป็นต้องมีการช่วยเหลือย่างเร่งด่วน ท่ามกลางการระบาดระลอกใหม่

ตั้งแต่ช่วงเดือน ก.พ. 2564 กัมพูชาเผชิญกับการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในประเทศ
ตั้งแต่ช่วงเดือน ก.พ. 2564 กัมพูชาเผชิญกับการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในประเทศ | แฟ้มภาพ: East Asia Forum

ตั้งแต่ช่วงเดือน ก.พ. 2564 กัมพูชาเผชิญกับการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในประเทศ โดยมีสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่าในปี 2563 เป็นอย่างมาก ซึ่งนำไปสู่วิกฤตการณ์ที่รุนแรงขึ้นสำหรับคนทำงาน เนื่องจากหลายเมืองใหญ่และหลายจังหวัดถูกล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด

ในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ คนทำงานในหลายอุตสาหกรรมกลับถูกละเว้นจากโครงการคุ้มครองทางสังคม เช่น การคุ้มครองสุขภาพ ซึ่งจากรายงานการศึกษาของ Solidarity Center และ The Asia Foundation ได้แนะนำให้ขยายผลประโยชน์เหล่านี้ให้กับผู้ที่เปราะบางที่สุด

รายงานยังแนะนำการขยายโปรแกรมการฝึกอบรมการพัฒนาทักษะและโอกาสในการจัดหาเงินทุนสำหรับงานหาเลี้ยงชีพชั่วคราวให้แก่คนทำงานที่ยังไม่มีงานทำ

หากไม่ได้รับการสนับสนุนดังกล่าว คนงานตัดเย็บเสื้อผ้า เช่น เอื้อง มาลี ก็จะกลับมาที่โรงงานของตนแม้จะมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ COVID-19 สูงก็ตาม

"ฉันต้องจ่ายค่าเช่า ค่าสาธารณูปโภค และใช้หนี้สิน" มาลี วัย 26 ปี กล่าว "ฉันก็กลัวว่าจะติดเชื้อจากการไปทำงาน โดยที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน แต่ฉันไม่มีทางเลือกอื่นจริง ๆ"

อนึ่งข้อมูลจาก Worldometers ณ วันที่ 19 มิ.ย. 2563 กัมพูชามีผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ 799 คน สะสม 41,581 คน รักษาหายแล้ว 35,940 คน และเสียชีวิตสะสม 394 คน


ที่มาเรียบเรียงจาก
SURVEY: CAMBODIAN WORKERS STRUGGLE TO SURVIVE IN COVID-19 (Tula Connell, 1 June 2021)
THE COVID-19 PANDEMIC AND WORKERS IN CAMBODIA (The Asia Foundation, March 2021)

อ้างอิงเพิ่มเติม
[1] https://kmc.exim.go.th/detail/economy-news/20200804121307

*อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 19 มิ.ย. 2564
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net